Rain
นางสาว วารุณี จิรัญเวทย์

เปิดสำรับการเรียนรู้…..ฉบับแดจังกึม


การหนีปัญหาเป็นสิ่งที่ดี แต่การเผชิญหน้ากับมันย่อมดีกว่า

ละครเกาหลีเรื่อง แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง  เป็นละครยอดนิยมที่ใคร ๆ  ต่างก็กล่าวขวัญถึง  ผู้เขียนเองเมื่อได้ดูละครเรื่องนี้แล้ว  ก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมละครเรื่องนี้จึงเป็นที่ติดอกติดใจของคนดู   ละครเรื่อง แดจังกึม ได้สร้างโดยอิงประวัติศาสตร์ของเกาหลี  ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพต่าง ๆ   ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมของเกาหลี     โภชนาการ   โภชนาบำบัด  สมุนไพร   การบริหารคน    หรือกระบวนการเรียนรู้      นอกจากความบันเทิงแล้วสิ่งเหล่านี้ทำให้คนดูได้รับประโยชน์อย่างมากมาย  ในคราวนี้จะขอสะท้อนภาพการเรียนรู้จากละครเรื่อง แดจังกึม  ก่อนก็แล้วกัน

                                แดจังกึม เป็นเรื่องราวของตัวเอกที่ชื่อ   ซอจังกึม       ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนเด็กสาวที่เข้าไปเป็นนางในของห้องเครื่องประจำตำหนักใหญ่  ในวังหลวง  ตั้งแต่อายุแปดขวบ  เพื่อที่จะเรียนรู้การทำอาหาร   กระบวนการเรียนรู้ของเด็กสาวเหล่านี้น่าสนใจมาก   กระบวนการเรียนรู้ในการทำอาหารต่าง ๆ  จะผ่านคุณครู  (ตำแหน่งซังกุง) ทั้งหลาย  ซึ่งล้วนแต่มีกลวิธีในการสอนที่น่าสนใจทั้งสิ้น    สำรับการเรียนรู้  สำรับนี้    มีทั้งหมด  5   ถ้วย   เรามาเปิดดูถ้วยแรกกันเลยดีกว่า

                                ถ้วยที่ 1   ปรัชญาการศึกษา   -    เหล่าซังกุงทั้งหลายมีความเชื่อเหมือนกันว่า  อาหารนั้นนอกจากจะเป็นสิ่งที่ใช้บำรุงร่างกายให้เจริญเติบโตแล้ว    ยังเป็นเครื่องบำบัดโรคภัยที่มาเบียดเบียนร่างกายนอกเหนือไปจากยารักษาโรคอีกด้วย   เราจะเห็นได้ว่าซังกุงทั้งหลายในเรื่องจะช่วยกันตอกย้ำความเชื่อนี้ให้แก่ผู้เรียนทุกคน  จากคำพูดที่ว่า   อาหารที่ดีไม่เพียงแต่จะเลิศรสเท่านั้น ยังต้องช่วยบำรุงร่างกายและจิตใจของคนที่กินอาหารให้พบแต่ความสุขด้วย  

                                ถ้วยที่ 2    เป้าหมายของการศึกษา   -   ตามความเชื่อดังกล่าวข้างต้น    การจัดการเรียนรู้จึงมีเป้าหมายที่จะสร้างผู้เรียนทุกคนให้เป็นผู้ที่มีความสามารถในการทำอาหารที่เลิศรส และมีความรอบรู้ในคุณสมบัติและสรรพคุณของอาหารแต่ละชนิด (ถือว่าเป็นมาตรฐานขั้นต่ำ)

                                ถ้วยที่ 3    การจัดการเรียนรู้    -    ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้มีลำดับขั้นตอนในการฝึกผู้เรียนคือ  เริ่มต้นจะมีการทดสอบไหวพริบและปฏิภาณของผู้เรียน  โดยการสัมภาษณ์และตอบคำถาม  เพื่อดูความสามารถพื้นฐานของผู้เรียน  จากนั้นจะแบ่งผู้เรียนให้ซังกุงแต่ละคนเป็นผู้ดูแลฝึกฝนในระดับต่อไป         โดยเริ่มต้นจากงานเก็บล้างภาชนะและพืชผักก่อน    แล้วจึงเลือกผู้เรียนที่มีแววในการทำอาหาร  ไปเรียนรู้การทำอาหารต่อไป 

การเรียนรู้การทำอาหารนั้น  ซังกุงแต่ละคนจะฝึกฝนผู้เรียนในความรับผิดชอบของตน

แตกต่างกันไป  แต่ที่เหมือนกันก็คือ  ผู้เรียนทุกคนได้เรียนรู้การทำอาหารโดยเริ่มต้นจากการฝึกประสาทสัมผัสทั้งห้า  ผู้เรียนจึงต้อง สัมผัส  สังเกต  ชิม   ฟัง  ดม  วัตถุดิบทุกชนิดที่ใช้ในการประกอบอาหารแต่ละชนิด  จนสามารถแยกแยะความแตกต่างของวัตถุดิบแต่ละชนิดได้อย่างแม่นยำ  ทั้งยังต้องจดจำให้ได้ว่าวัตถุดิบแต่ละชนิดมีคุณสมบัติและสรรพคุณอย่างไร   ในขั้นตอนนี้ผู้เรียนจะได้รับความรู้ทั้งจากการบอกกล่าวของซังกุงเอง   ทั้งจากการศึกษาค้นคว้าจากตำรา  และจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านที่ตนเองได้พบได้รู้มา  จากนั้นจึงได้ลงมือทำอาหารจริง ๆ   โดยมีซังกุงแต่ละคนเป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด

                                ถ้วยที่  4    สื่อที่ใช้ในการเรียนการสอน    -   จะเห็นได้ว่าในละครเรื่องนี้สื่อที่ผู้เรียนได้ใช้ในการเรียนรู้ เป็นของจริงเป็นส่วนใหญ่  (ไม่ได้เอาปลาทะเลจำลองมาให้ผู้เรียนได้สัมผัส  ดู  หรือ ดม )  นอกจากสื่อของจริงแล้วก็ยังมี  ตำราจากห้องสมุด    และตำราที่สร้างขึ้นโดยซังกุง     ซึ่งจดบันทึกเทคนิคการปรุงอาหารที่ตนเองค้นพบเอาไว้ให้ซังกุงรุ่นหลังได้ศึกษา     

                                ถ้วยที่  5    การวัดผลและประเมินผล    -     กระบวนการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนในเรื่องนี้   เป็นเรื่องที่ผู้ชมติดอกติดใจกันมากเหลือเกิน  เพราะเมื่อมีการวัดผลประเมินผลแต่ละครั้ง  ล้วนแต่ทำให้ผู้ชมทั้งหลายคอยลุ้นระทึกว่า  นางเอกของเรื่องจะผ่านการประเมินหรือไม่  การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนจะวัดทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ  กล่าวคือในภาคทฤษฎีนั้นจะมีการให้ผู้เรียนตอบคำถามเกี่ยวกับความรู้เรื่องอาหารชนิดต่าง ๆ    ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติหรือสรรพคุณของอาหาร    ไปจนถึงตำนานหรือที่มาของอาหารกันเลยทีเดียว ( ผู้ชมก็พลอยได้รับความรู้เรื่องอาหารไปด้วย โดยไม่ต้องเสียเวลาค้นคว้า )    เมื่อสอบภาคทฤษฎีแล้วก็มาสอบภาคปฏิบัติ   ซึ่งมีแบ่งเป็น  2   ตอน  คือ   

ตอนที 1      มีการกำหนดวัตถุดิบในการปรุงอาหารให้แล้วปรุงอาหารตามที่ครู

กำหนด   ( เป็นตัวชี้วัดว่านักเรียนทุกคน  ควรทำได้   คือผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำของหลักสูตรนั่นเอง  )  จากนั้นจึงเป็น

ตอนที่ 2  ที่ให้นักเรียนเลือกทำอาหารที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถของตนมา

สร้างสรรค์อาหารขึ้นเอง  จึงได้อาหารที่แปลกใหม่ตามแต่ความคิดของผู้เรียนแต่ละคน    อาหารที่ผู้เรียนทำแต่ละชนิดนั้นจะมีเกณฑ์การตัดสินเป็นระดับคุณภาพ  (ไม่เป็นคะแนน)  ซึ่งเกณฑ์การตัดสินได้แก่   รสชาติของอาหาร   สีสันและความสวยงาม    คุณสมบัติหรือสรรพคุณของอาหาร    ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  และกระบวนการแก้ปัญหาของผู้เรียน    ขณะดูละคร ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่า  นี่ชาวเกาหลีเขามีกระบวนการเรียนรู้ที่ทันสมัย (มานานมาก)  หรือพวกเรากำลังทำในสิ่งที่ล้าสมัย (ในเกาหลี )กันแน่    สิ่งที่ประทับใจคนดูละครโดยทั่วกันก็คือ  การกำหนดโจทย์การแข่งขันจากในเรื่อง  ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันของเด็กสาว ๆ  ที่เป็นนางใน   หรือการแข่งขันระหว่างซังกุงด้วยกัน  เพื่อชิงตำแหน่งซังกุงสูงสุด  เช่น 

เนื่องจากภาวะข้าวยากหมากแพง  ให้ทำอาหารอะไรก็ได้ที่ใช้วัตถุดิบ จากสิ่งที่ชาวบ้าน

ไม่ใช้ประโยชน์แล้ว  หรือทิ้งไป 

                                ให้ทำอาหารจากของทะเลสด ๆ โดยใช้กินได้ตลอดปีในเรื่องนี้ของทะเลสดเป็นสิ่งที่หาได้ยาก เนื่องจากไม่มีตู้เย็น  จึงไม่สามารถเก็บไว้นาน ๆ

                                จะเห็นได้ว่ากระบวนการเรียนรู้ในละครเรื่อง  แดจังกึม ฯ  เป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดการเรียนการสอนตามแนวปฏิรูปการเรียนรู้  ซึ่งกำลังขับเคลื่อนกันอยู่ชนิดตัวเป็นเกลียวหัวเป็นน็อต  ละครเรื่องนี้จะสะท้อนให้เห็นว่า   ซังกุง (คุณครู) แต่ละคน ล้วนมีความรู้ความสามารถในวิชาชีพของตนเองอย่างแท้จริง   ทั้งยังมีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์  ตลอดจนการดูแลฝึกฝนให้ผู้เรียนในความดูแลของตน  ผ่านมาตรฐานการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี  กระบวนการเรียนรู้นี้  นอกจากจะเรียนรู้เรื่องการทำอาหารแล้ว  ยังสอดแทรกกระบวนการคิดวิเคราะห์   กระบวนการแก้ปัญหา         และคุณธรรม จริยธรรมไว้โดยตลอดอีกด้วย  สิ่งที่น่าประทับใจก็คือการฝึกให้ผู้เรียน เป็นคนช่างสังเกต  คิดวิเคราะห์  และเรียนรู้โดยผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า  จากขั้นไม่ได้การ  เป็นขั้นชำนาญ  และเชี่ยวชาญในที่สุด    

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 291336เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2009 17:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท