คำปราศรัย


ในการแถลงข่าวและการจัดประชุม สัมมนาต่าง ๆ ของหน่วยงาน องค์กร และสถาบัน ผู้บริหารอาจจะต้องกล่าวคำปราศรัย นักประชาสัมพันธ์จึงมีหน้าที่อีกประการหนึ่ง คือ การเขียนร่างคำปราศรัยให้แก่ผู้บริหาร คำปราศรัยที่ดีจากปากผู้บริหารหรือผู้พูดคนอื่น ๆ ที่เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของหน่วยงาน องค์กร และสถาบันย่อมจะสร้างความประทับใจแก่ผู้ฟัง และส่งผลต่อการประชาสัมพันธ์หน่วยงาน องค์กร และสถาบัน

คำปราศรัย เป็นคำกล่าวที่เป็นพิธีการ มีลักษณะเช่นเดียวกับสุนทรพจน์ เนื้อเรื่องของคำปราศรัยจะต้องน่าสนใจ ใช้ภาษาไพเราะ น่าฟัง เป็นการพูดเฉพาะเรื่อง เฉพาะโอกาส ที่ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด ข้อสังเกต หรือคำแนะนำของผู้พูด ซึ่งผู้ใหญ่หรือหัวหน้าหน่วยงาน องค์กร และสถาบันกล่าวกับผู้น้อยและผู้เสมอกัน ให้นำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติของหน่วยงานนั้น ๆ  (ลักษณา สตะเวทิน, 2536, หน้า 289)

 

การเขียนคำปราศรัย

 

คำปราศรัยจัดเป็นสุนทรพจน์ประเภทหนึ่ง และเหมาะที่จะพูดหรือกล่าวในที่ชุมนุมชน ด้วยถ้อยคำที่ไพเราะและเหมาะสมแก่โอกาสต่าง ๆ  เช่น กล่าวต้อนรับสมาชิกใหม่หรือพนักงานใหม่ กล่าวในโอกาสวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันครบรอบก่อตั้งหน่วยงาน องค์กร และสถาบัน กล่าวต้อนรับผู้เยี่ยมเยือนหน่วยงาน กล่าวในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ กล่าวสดุดีเกียรติคุณพนักงาน ผู้ร่วมงาน หรือบุคลากรในหน่วยงาน เป็นต้น

ดังนั้น การเขียนคำปราศรัย จึงมีข้อควรปฏิบัติ (Reilly, 1981, p. 167) ดังนี้

 

1. ศึกษาข้อมูลผู้พูด

 

      ผู้เขียนควรศึกษาและทำความรู้จักกับลักษณะนิสัยของผู้พูด และเขียนในสิ่งที่คิดว่าจะเหมาะกับลักษณะของผู้พูด ผู้เขียนอาจจะพูดคุยหรือสัมภาษณ์ผู้พูดก่อนเขียน เพื่อสอบถามว่าผู้พูดต้องการจะพูดเรื่องอะไร เพื่อวัตถุประสงค์อะไร เช่น บอกกล่าว ให้ทัศนะความคิดเห็น ความบันเทิงใจ หรือโน้มน้าวใจ เป็นต้น

 

2. เขียนร่าง

 

      เมื่อผู้เขียนได้แนวคิดและข้อมูลแล้ว ให้ร่างคำกล่าวปราศรัย แล้วค่อย ๆ ขัดเกลาแต่งเติมให้ดีขึ้นจนผู้เขียนพอใจ จึงค่อยส่งให้ผู้พูดพิจารณา เพื่อผู้พูดจะเพิ่มเติม แก้ไข ปรับปรุงให้

 

3. เขียนตามองค์ประกอบ

 

 การเขียนคำปราศรัยให้เขียนตามองค์ประกอบของการเขียนทั่วไป ซึ่งมี  3 ส่วน คือ มีส่วนของคำกล่าวขึ้นต้นหรือคำนำ มีส่วนเนื้อเรื่อง และมีส่วนสรุปจบคำกล่าว

 

4. เขียนคำขึ้นต้น

 

    คำขึ้นต้นของคำปราศรัย เป็นการกล่าวปฏิสันถารหรือกล่าวทักทาย โดยใช้หลักการให้เกียรติผู้ฟัง ด้วยการเอ่ยถึงผู้ฟังเรียงไปตามลำดับตำแหน่งจากสูงสุด แล้วรองลงไป ต่อจากนั้นจะเป็นการอารัมภบทถึงโอกาสของการกล่าวคำปราศรัย หรือโอกาสของงาน รวมทั้งกล่าวถึงจุดมุ่งหมายของงาน ฯลฯ การเขียนอารัมภบทในคำปราศรัยควรหลีกเลี่ยงคำแถลงออกตัว และคำขออภัย เช่น การมีเวลาเตรียมตัวน้อย หรือไม่มีเวลาเตรียมตัว และการขออภัยหากมีข้อผิดพลาดในการจัดงาน เป็นต้น

 

5. เขียนเนื้อหา

 

     คำปราศรัยจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับหน่วยงานและกิจกรรมที่จัดขึ้น เช่น ความสำคัญในโอกาสที่กล่าว กิจกรรมดีเด่นที่ผ่านมา หลักการดำเนินงาน อดีต ปัจจุบัน และความหวังในอนาคตต่อหน่วยงาน นอกจากนี้ หากเนื้อหามีความยาวมาก การยกคำพูดและตัวอย่างที่ตลกขบขันมาสลับบ้างจะทำให้ผู้ฟังไม่เบื่อ แต่เรื่องขบขันที่ยกมานั้นควรเกี่ยวข้องกับเรื่องที่กำลังปราศรัยอยู่ด้วย และเรื่องขบขันนั้นต้องแสดงรสนิยมที่ดี ไม่เป็นมุขตลกที่หยาบโลน หรือเก่ามากเกินไป

 

6. เขียนสรุป

 

      ส่วนท้ายของคำปราศรัยควรจะใช้คำที่มีน้ำหนัก และทิ้งท้ายให้คิดด้วยคำกล่าวที่ประทับใจ หรือแสดงการคาดหวังในความร่วมมือและความก้าวหน้าเพื่ออนาคตของผู้ฟัง หน่วยงาน องค์กร และสถาบัน รวมทั้งสังคม ประเทศชาติ แต่ไม่ควรจบคำปราศรัยโดยการสั่งสอนเทศนา

 

การนำเสนอคำปราศรัยเพื่อการประชาสัมพันธ์

 

                นักประชาสัมพันธ์สามารถนำเสนอคำปราศรัยเพื่อการประชาสัมพันธ์ได้ 2 วิธี คือ

               

1. การนำเสนอคำปราศรัยโดยการพูด

 

     การนำเสนอคำปราศรัยโดยการพูดจะอาศัยช่องทางการสื่อสารผ่านสื่อต่าง ๆ ได้แก่ สื่อวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการกล่าวคำปราศรัยในที่ชุมนุมชนต่าง ๆ

 

2. การนำเสนอคำปราศรัยโดยการเขียน

 

                          เป็นการนำเสนอคำปราศรัยด้วยการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านทางสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น คำปราศรัยที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือ หนังสือพิมพ์ รายงานประจำปี เอกสารแนะนำหน่วยงาน เอกสารแนะนำโครงการ นิตยสาร และวารสาร เป็นต้น

 

ตัวอย่างคำปราศรัย

 

คำปราศรัย

ของ ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี

ในโอกาสเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติ

แก่ ฯพณฯ รองประธานาธิบดีแห่งสมาพันธ์สวิสและภริยากับคณะ

ณ ทำเนียบรัฐบาล  วันที่ 20 เมษายน 2513

....................................................................

        ฯพณฯ รองประธานาธิบดี ฯพณฯ, ท่านสุภาพสตรี และสุภาพบุรุษ

ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสกล่าวต้อนรับ ฯพณฯ รองประธานาธิบดีแห่งสมาพันธ์สวิส และมาดามคเนกิ ในคืนวันนี้ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์และประเทศไทยมีความสัมพันธ์อย่างผาสุกและอบอุ่นมาเป็นเวลาช้านาน และการมาเยือนของ ฯพณฯ ก็เป็นสิ่งแสดงอีกประการหนึ่งถึงความปรารถนา ในอันจะให้มีการกระชับมิตรภาพและความร่วมมือที่มีอยู่มานานระหว่างประเทศของเราทั้งสอง ข้าพเจ้าหวังว่า ฯพณฯ มาดามคเนกิ และคณะของท่าน คงจะได้รับความสะดวกสบายระหว่างพำนักอยู่ในประเทศนี้เรามีความชื่นชมยินดีกับกำลังใจอันแน่วแน่ และความชำนาญการอย่างมีระเบียบของประชาชนชาวสวิสผู้ที่ไม่รู้จักท้อถอยงานฝีมืออันละเอียดประณีตของชาวสวิสเป็นสิ่งมหัศจรรย์ในทาง

การผลิตในโลกทุกวันนี้ และนาฬิกา ตลอดจนเครื่องกำหนดเวลา อันเป็นที่นิยมชมชอบรู้จักใช้กันอย่างแพร่หลายในโลกอนึ่ง นโยบายเป็นกลางอย่างแท้จริง และการทำหน้าที่อย่างสร้างสรรค์ในกิจการระหว่างประเทศของรัฐบาล ของ ฯพณฯ ท่ามกลางความฝันแปรของโลกที่กำลังประสบความยุ่งยากนี้ทำให้ประชาชาติสวิสได้รับความนิยมนับถืออย่างจริงใจจากประชาชาติอื่น ๆ รวมทั้ง ประเทศไทยซึ่งได้พยายามทำให้ประชาชาติต่าง ๆ มีความรู้สึกในอันที่จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในส่วนภูมิภาคและนำมาซึ่งสันติและความสงบสุขต่อภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก

                พวกเราในประเทศไทย ยังมีเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะชื่นชมยินดีต่อความผูกพันอย่างใกล้ชิด และฉันมิตร กับรัฐบาลของ ฯพณฯ และชนชาติสวิส เนื่องมาจากความจริงที่ว่าพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่เทิดทูนของเรา ได้ประทับอยู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์อยู่ตลอดเวลา

ส่วนใหญ่ ขณะที่ยังทรงพระเยาว์มีคนไทยผู้มีเกียรติหลายคนได้รับการศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาชั้นสูง ณ ที่นั้นยิ่งกว่านั้นสวิตเซอร์แลนด์ยังเป็นที่รู้จักกันในด้านการมีส่วนช่วยส่งเสริมอย่างจริงจังต่อกิจการระหว่างประเทสอันมีประโยชน์ ดังเช่น สภากาชาดสากล     ซึ่งได้รับการก่อตั้งและมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เจนิวา ดังที่ ฯพณฯ ได้ทราบอยู่แล้วว่าสภากาชาดได้มีบทบาทอย่างสำคัญอยู่ในประเทศไทย โดยมีสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถทรงเป็นองค์สภานายิกา

ท่านรองประธานาธิบดี ไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งซึ่งกำลังพัฒนาความสับสนคึกคักของกรุงเทพ ฯ ทางหลวงสายใหม่หลายสายและเขื่อนต่าง ๆ เป็นพยานแสดงให้เห็นถึงความจริงนี้ความก้าวหน้าดังกล่าว มีผลมาจากการวางแผนเศรษฐกิจระยะยาวและจริงจัง ซึ่งความสำเร็จในการนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ สิ่งหนึ่งได้แก่การลงทุนอย่างเพียงพอ และดำเนินการไปอย่างเรียบร้อยสวิตเซอร์แลนด์มีชื่อเสียงมานานแล้วว่าเป็นศูนย์

การเงินแห่งหนึ่งของโลก และในการนี้อาจจะมีวิถีทางที่จะร่วมมือเพื่อประโยชน์ต่อกันระหว่างประเทศของเราทั้งสองซึ่งจะยังมีส่วนให้เกิดความมีเสถียรภาพ และก้าวหน้าแก่ภูมิภาคสำคัญแห่งนี้ของโลก

        บัดนี้.. ข้าพเจ้าใคร่ขอเชิญชวนท่านทั้งหลายได้ดื่มอวยพรให้แก่ ฯพณฯ รองประธานาธิบดีแห่งสมาพันธ์สวิสและมาดามคเนกิ      และเพื่อความยั่งยืนในสัมพันธ์ฉันมิตร และใกล้ชิดระหว่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์และประเทศไทยสืบต่อไป  (ไพรถ เลิศพิริยกมล 2543, หน้า 21-23)

 

สรุป

 

ในการจัดประชุม สัมมนา และกิจกรรมอื่น ๆ ของหน่วยงาน องค์กร และสถาบัน ซึ่งจะต้องมีผู้กล่าวรายงานในพิธีเปิด-ปิด หรือมีประธานในพิธีเปิด-ปิด รวมทั้งต้องมีการกล่าวแนะนำบุคคลในลักษณะต่าง ๆ ตลอดจนมีโอกาสที่จะเป็นผู้กล่าวคำปราศรัยในงานต่าง ๆ ดังนั้น นักประชาสัมพันธ์จึงควรมีหลักในการเขียนสำหรับโอกาสเหล่านั้น ดังนี้

คำกล่าวรายงานในพิธีเปิด-ปิด มีหลักในการเขียนตามลำดับ คือ  คำขึ้นต้น   ขอบคุณผู้เป็นประธาน   ชี้แจงความเป็นมาของเรื่องที่จะทำพิธีเปิด-ปิด   และเชิญประธานทำพิธีเปิด-ปิด

คำกล่าวของประธานในพิธีเปิด-ปิด มีหลักในการเขียนตามลำดับ คือ  คำขึ้นต้น การแสดงความยินดี การแสดงความรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาทำพิธีเปิด-ปิด การแสดงความชื่นชมและเห็นความสำคัญในกิจกรรมนี้ การให้ข้อสังเกต ข้อแนะนำ การชี้ให้เห็นประโยชน์ของกิจกรรม การขอบคุณผู้เกี่ยวข้องในการจัดงานและผู้ให้การสนับสนุน การกล่าวเปิด-ปิดงาน การกล่าวอวยพรการจัดงานและผู้ร่วมงาน และการแสดงความยินดีในผลสำเร็จ (ในกรณีที่เป็นพิธีปิด)

การเขียนเพื่อแนะนำบุคคลในการประชุมต่าง ๆ   จะต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องของบุคคลที่จะแนะนำ จึงเขียนร่างการแนะนำให้สั้นแต่มีสาระสำคัญครบถ้วน ไม่เขียนยกยอมากเกินไป และไม่ควรแนะนำเรื่องส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่พูด รวมทั้งแนะนำชื่อผู้พูดก่อน แล้วตามด้วยประวัติและผลงาน ยกเว้นสำหรับชาวตะวันตกที่นิยมกล่าวถึงประวัติและผลงานก่อน แล้วจึงลงท้ายด้วยชื่อ

การเขียนร่างคำปราศรัยให้แก่ผู้บริหาร คำปราศรัยคือการพูดหรือกล่าวในที่ชุมชน ด้วยถ้อยคำที่ไพเราะและเหมาะสมแก่โอกาสต่าง ๆ  การเขียนคำปราศรัยมีข้อควรปฏิบัติ ได้แก่ ศึกษาข้อมูลผู้พูด เขียนร่าง เขียนตามองค์ประกอบ เขียนตามคำขึ้นต้น เขียนเนื้อหา และเขียนสรุป การนำเสนอคำปราศรัยเพื่อการประชาสัมพันธ์สามารถทำได้ 2 วิธี คือ การนำเสนอคำปราศรัยโดยการพูด และการนำเสนอคำปราศรัยโดยการเขียน

คำสำคัญ (Tags): #การเขียน
หมายเลขบันทึก: 291247เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2009 14:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่าสนใจมาก

เป็นประโยชน์กับเรามาก

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท