การเขียนคำกล่าวต่าง ๆ ที่ใช้ในงานประชุม สัมมนา


นักประชาสัมพันธ์จะต้องเขียน คำกล่าวรายงาน เมื่อมีการจัดแถลงข่าว หรือจัดการประชุม สัมมนาในวาระต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นคำกล่าวรายงานทั้งในกรณีที่เปิดและปิดการประชุม หรือเปิดและปิดการฝึกอบรมสัมมนา และเมื่อจะต้องทำหน้าที่ร่างคำกล่าวเช่นนั้น จะรู้สึกว่าร่างยากเพราะไม่คุ้นเคย ไม่ง่ายเหมือนกับการเขียนข่าวแจกซึ่งปฏิบัติอยู่เป็นปกติ ดังนั้น นักประชาสัมพันธ์จึงควรศึกษาถึงรูปแบบการเขียนคำกล่าวต่าง ๆ ที่ใช้ในงานประชุม สัมมนา

การเขียนคำกล่าวรายงานในพิธีเปิด

               

การเขียนคำกล่าวรายงานนั้น จะมีแบบฉบับที่ใช้กันจนเป็นที่นิยม ซึ่งสามารถนำไปพลิกแพลงปรับใช้ในกรณีต่าง ๆ  ได้ ดังนี้

                                   คำกล่าวรายงานในพิธีเปิดจะมีสาระสำคัญเป็นขั้นตอนเรียงตามลำดับ คือ คำกล่าวขึ้นต้น  การขอบคุณผู้เป็นประธาน   การชี้แจงความเป็นมาของเรื่องที่ทำพิธีเปิด  และการกล่าวเชิญประธานทำพิธีเปิด โดยแต่ละขั้นตอนจะมีรายละเอียดดังนี้ (ประวีณ ณ นคร, 2541, หน้า 175 - 176)

 

1. คำกล่าวขึ้นต้น

 

      คำขึ้นต้นของคำกล่าวรายงานในพิธีเปิดจะต้องใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมกับผู้เป็นประธานในพิธีเปิด ได้แก่

                                  1.1 คำขึ้นต้นในกรณีพระบรมวงศานุวงศ์ทรงเป็นประธาน เช่น ในกรณีที่  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นประธานในพิธี  ควรใช้คำขึ้นต้นในการกราบบังคมทูลว่า  "ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม"

 ในกรณีที่สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนี  สมเด็จพระยุพราช (สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร) สมเด็จพระบรมราชกุมารี เช่น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นประธานในพิธี ควรใช้คำขึ้นต้นในการกราบบังคมทูลว่า  "ขอพระราชทานกราบบังคมทูล ทราบฝ่าละอองพระบาท"

ในกรณีที่สมเด็จเจ้าฟ้า เช่น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ทรงเป็นประธานในพิธี ควรใช้คำขึ้นต้นในการกราบทูลว่า   "ขอพระราชทานกราบทูล ทราบฝ่าพระบาท"

 ในกรณีที่พระบรมวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า เช่น พระราชโอรส และพระราชธิดา ในองค์พระมหากษัตริย์ไม่ว่ารัชกาลใดทรงเป็นประธานในพิธี ควรใช้คำขึ้นต้นในการกราบทูลว่า "ขอประทานกราบทูล ทราบฝ่าพระบาท"

 ในกรณีที่พระอนุวงศ์ พระราชนัดดาในองค์พระมหากษัตริย์ไม่ว่ารัชกาลใด  ชั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอ เช่น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี และพระวรวงศ์เธอ (ทรงกรม) ทรงเป็นประธานในพิธี  ควรใช้คำขึ้นต้นในการกราบทูลว่า   "กราบทูล ทราบฝ่าพระบาท"

 ในกรณีที่พระอนุวงศ์ ชั้นพระวรวงศ์เธอ (ที่มิใช่ทรงกรม) และหม่อมเจ้า ทรงเป็นประธานในพิธี ควรใช้คำขึ้นต้นในการทูลว่า  "ทูลฝ่าพระบาท ทรงทราบ"

 ในกรณีที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ใดผู้หนึ่งมาเป็นประธานในพิธี แทนพระองค์ ให้ใช้คำขึ้นต้นตามคนที่มาแทน เช่น ถ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เสด็จแทนพระองค์ ก็ใช้คำขึ้นต้นว่า "ขอพระราชทานกราบบังคมทูล ทราบฝ่าละอองพระบาท"    

  ถ้าองค์มนตรีที่เป็นบุคคลธรรมดามาแทนพระองค์ ก็ใช้คำขึ้นต้นว่า "กราบเรียน ฯพณฯ องคมนตรี"  เป็นต้น

1.2  คำขึ้นต้นในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้ใช้คำขึ้นต้นว่า "กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี"

  คำขึ้นต้นในกรณีที่รัฐมนตรีเป็นประธาน ให้ใช้คำขึ้นต้นว่า "เรียน ฯพณฯ รัฐมนตรี (เรียนท่านรัฐมนตรี)..............................................(ระบุตำแหน่ง)"

1.3  คำขึ้นต้นในกรณีที่บุคคลทั่วไปเป็นประธาน ให้ใช้คำขึ้นต้นว่า "เรียนท่าน.............................................................................................(ระบุตำแหน่ง)"

 

2. การขอบคุณผู้เป็นประธาน

 

     การขอบคุณผู้เป็นประธาน มีรูปแบบที่นำไปเป็นหลักในการเขียนได้  คือ

                                 2.1 คำขอบคุณในกรณีพระบรมวงศานุวงศ์ทรงเป็นประธาน ในกรณีที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นประธานในพิธี  ควรกราบบังคมทูล ดังนี้  "ข้าพระพุทธเจ้า (จะระบุชื่อผู้กราบบังคมทูลด้วยก็ได้) ในนามของ.................มีความปิติยินดีเป็นล้นพ้น ที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เสด็จพระราชดำเนินมา................ในวันนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่เปรียบมิได้"

 ในกรณีที่ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระยุพราช (สยามมกุฎราชกุมาร) สมเด็จพระบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานในพิธี กราบบังคมทูลว่า "ข้าพระพุทธเจ้า (จะระบุชื่อผู้กราบบังคมทูลด้วยก็ได้) ในนามของ....................มีความปิติยินดีเป็นล้นพ้น ที่ใต้ฝ่าละอองพระบาท เสด็จมา............ในวันนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม"

 ในกรณีที่ พระบรมวงศ์ ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า เช่น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ และพระบรมวงศ์ ชั้นพระองค์เจ้า ทรงเป็นประธานในพิธี กราบทูลว่า"ข้าพระพุทธเจ้า (จะระบุชื่อผู้กราบบังคมทูลด้วยก็ได้) ในนามของ....................มีความปิติยินดีเป็นล้นพ้น ที่ใต้ฝ่าพระบาท เสด็จมา........................ในวันนี้ นับเป็นพระกรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม"

 ในกรณีที่ พระอนุวงศ์ ชั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอ ทั้งทรงกรมและไม่ทรงกรม เช่น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี และ พระวรวงศ์เธอ (ที่ทรงกรม) ทรงเป็นประธานในพิธี กราบทูลว่า              "เกล้ากระหม่อม (ถ้าสตรีกราบทูล ใช้ว่า "เกล้ากระหม่อมฉัน" ทั้งนี้ จะระบุชื่อผู้กราบทูลด้วยก็ได้) ในนามของ............................มีความปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง และรู้สึกวาบซึ้งในพระกรุณา ที่ฝ่าพระบาท เสด็จมา............................ในวันนี้"

 ในกรณี พระอนุวงศ์ ชั้นพระวงรวงศ์เธอ (ที่มิได้ทรงกรม) และชั้นหม่อมเจ้าทรงเป็นประธานในพิธี ทูลว่า                "กระหม่อม (ถ้าสตรีทูล ใช้ว่า "หม่อมฉัน" ทั้งนี้ จะระบุชื่อผู้ทูลด้วยก็ได้) ในนามของ..................มีความปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง และรู้สึกซาบซึ้งในพระกรุณา (ถ้าทูลหม่อมเจ้า ใช้ว่า  "ความกรุณา")   ที่ฝ่าพระบาทเสด็จมา.............................ในวันนี้"

ในกรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้ใดผู้หนึ่งมา แทนพระองค์ คำกล่าวขอบคุณประธาน ต้องกล่าวว่า รู้สึกเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้นั้นมาแทน เช่น ถ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาเสด็จแทนพระองค์ ก็กราบบังคมทูลว่า "ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใต้ฝ่าละอองพระบาท เสด็จแทนพระองค์มา......................ในวันนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม"

ถ้าองคมนตรีที่เป็นบุคคลธรรมดา มาแทนพระองค์ ก็กราบเรียนว่า "ตามที่ได้ทราบพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ ฯพณฯ เป็นผู้แทนพระองค์มา.................................ในวันนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม"

               

2.2 คำขอบคุณในกรณีที่บุคคลทั่วไปเป็นประธาน นิยมใช้ดังนี้ "ผม (กระผม) ในนามของ.....................................รู้สึกซาบซึ้งในความกรุณาที่ท่าน (ฯพณ") ...........(ระบุตำแหน่ง) ได้สละเวลา (ให้เกียรติ) มาเป็นประธานในพิธีเปิด................................................ในวันนี้"  หรือ "ผม (กระผม) ในนามของ.....................................................................ขอขอบคุณ (ขอบพระคุณ) ท่าน (ฯพณฯ) .......................(ระบุตำแหน่ง) อย่างยิ่ง ที่ได้กรุณาสละเวลา (ให้เกียรติ) มาเป็นประธานในพิธีเปิด............................................................ในวันนี้"

 

3.  การชี้แจงความเป็นมาของเรื่องที่ทำพิธีเปิด

 

การชี้แจงความเป็นมาของเรื่องที่ทำพิธีเปิด ควรจะชี้แจงให้มีเนื้อหาสาระพอสมควรที่ประธานและผู้ที่มาร่วมพิธีได้รู้ความเป็นมาของเรื่องที่ทำพิธีเปิดนั้น อย่างน้อยก็ให้ตอบคำถามได้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อใด  เช่น ถ้าเป็นพิธีเปิดสัมมนา ก็ชี้แจงว่า สัมมนาเรื่องอะไร ใครจัด ได้รับความร่วมมือช่วยเหลือจากใครบ้าง ผู้เข้าสัมมนาเป็นใคร มีเหตุผลความจำเป็นอย่างไรจึงได้จัดสัมมนาครั้งนี้ขึ้น จะสัมมนากันที่ไหน เมื่อใด หัวข้อเรื่องและเนื้อหาหรือหลักสูตรที่สัมมนามีอย่างไร วิธีการสัมมนาทำอย่างไร สัมมนากันเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์หรือเป้าหมายอย่างไร จะได้ผลเป็นประโยชน์แก่ใคร อย่างไรบ้าง เป็นต้น

นอกจากจะชี้แจงเกี่ยวกับความเป็นมาของเรื่องที่ทำพิธีเปิดโดยตรงแล้ว ยังอาจรายงานเกี่ยวกับหน่วยงานที่ดำเนินกิจการเรื่องนี้ด้วยก็ได้ โดยอาจเลือกรายงานเรื่องใด ๆ ตามควรแก่กรณี เช่น รายงานเกี่ยวกับประวัติโดยสังเขปของหน่วยงานที่ดำเนินกิจการเรื่องนี้ ภารกิจโดยทั่วไปของหน่วยงานที่ดำเนินกิจการเรื่องนี้ องค์กรและผู้มีส่วนในการดำเนินการเรื่องนี้ ผู้สนับสนุนกิจการนี้ อาคารสถานที่ อุปกรณ์ และงบประมาณในการดำเนินงานนี้ การพัฒนาหน่วยงานที่ดำเนินกิจการเรื่องนี้ และผลงานของหน่วยงานนี้ เป็นต้น

ทั้งนี้ การขึ้นต้นคำชี้แจงความเป็นมาของเรื่องที่ทำพิธีเปิด  ควรกล่าวขอโอกาส รายงานกิจการหรือความเป็นมาของเรื่องนั้นก่อน ดังนี้

3.1 ในกรณีที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ หรือ พระราชวงศ์ ทรงเป็นประธาน จะต้องกราบบังคมทูล กราบทูล หรือทูลขอโอกาสรายงานความเป็นมา หรือรายงานกิจการ เช่น การกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า "ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส กราบบังคมทูลพระกรุณารายงานความเป็นมา (รายงานกิจการ) ของ.....................................................ดังต่อไปนี้"

การกราบบังคมทูล สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระยุพราช สมเด็จพระบรมราชกุมารี ว่า "ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานพระราชวโรกาส กราบบังคมทูล รายงานความเป็นมา (รายงานกิจการ) ของ..................................ดังต่อไปนี้..........................................."

การกราบทูล สมเด็จเจ้าฟ้า เช่น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ว่า "ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานพระวโรกาส กราบทูล รายงานความเป็นมา (รายงานกิจการ) ของ.............................................ดังต่อไปนี้.........................................."

การกราบทูล พระบรมวงศ์ ชั้นพระองค์เจ้า ว่า "ข้าพระพุทธเจ้า ขอประทานพระวโรกาส กราบทูล รายงานความเป็นมา (รายงานกิจการ) ของ..........................................ดังต่อไปนี้.............................................."

การกราบทูล พระอนุวงศ์ ชั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอ (ที่ทรงกรมและมิได้ทรงกรม) เช่น พระเจาวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี และ พระอนุวงศ์ ชั้นพระวรวงศ์เธอ (ที่ทรงกรม) ว่า  "เกล้ากระหม่อม (ถ้าสตรีกราบทูล ใช้ว่า "เกล้ากระหม่อมฉัน") ขอประทานพระวโรกาส กราบทูล รายงานความเป็นมา (รายงานกิจการ) ของ........................ดังต่อไปนี้..........................."

การทูล พระอนุวงศ์ ชั้นพระวรวงศ์เธอ (ที่มิได้ทรงกรม) ว่า  "กระหม่อม (ถ้าสตรีทูล ให้ใช้ว่า "หม่อมฉัน") ขอประทานพระวโรกาส ถวายรายงานความเป็นมา (รายงานกิจการ) ของ..........................ดังต่อไปนี้................................"

การทูลพระราชวงศ์ ชั้นกระหม่อม ว่า "กระหม่อม (ถ้าสตรีทูล ใช้ว่า "หม่อมฉัน") ขอประทานวโรกาส ถวายรายงานความเป็นมา (รายงานกิจการ) ของ.................................ดังต่อไปนี้........................."

3.2  การขอโอกาสชี้แจงความเป็นมาของเรื่องที่ทำพิธีเปิด ซึ่งประธานเป็นบุคคลธรรมดา ให้ใช้ว่า  "กระผม (ผม) ขอโอกาสกราบเรียน (เรียน) รายงานความเป็นมา (รายงานกิจการ) ของ..........................................ดังต่อไปนี้..................................................."

 

4.  การเชิญประธานทำพิธีเปิด

 

       การกล่าวเชิญประธานทำพิธีเปิด มีหลักการคล้ายคลึงกับการกล่าวรายงาน คือต้องคำนึงถึงประธานที่เป็นผู้ทำพิธีเปิด ดังนี้

       4.1 ในกรณีพระบรมวงศานุวงศ์ทรงเป็นประธาน กล่าวคือ ในกรณี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นประธานในพิธี นิยมใช้  ดังนี้

"บัดนี้ ได้เวลา (ถึงเวลา) อันเป็น มหามงคลฤกษ์ (มหาอุดมฤกษ์, อุดมมงคลฤกษ์, ศูภมงคล) แล้ว ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส กราบบังคมทูลพระกรุณาอัญเชิญใต้ฝ่าละอองธุลี   พระบาท ทรงประกอบพิธีเปิด.................และพระราชทานพระบรมราโชวาท เพื่อเป็นศิริสวัสดิ์พิพัฒน มงคลแก่.....................................สืบไป ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ"

 ในกรณีที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี และ พระราชวงศ์ทรงเป็นประธานในพิธี ให้ใช้คำสรรพนาม และคำกริยาตามพระอิสริยศักดิ์ เช่นเดียวกับการเขียนคำขึ้นต้นในการขอบคุณผู้เป็นประธาน ตามหัวข้อ 2  และในการเขียนชี้แจงความเป็นมาของเรื่องที่ทำพิธีเปิด ตามหัวข้อ 3 ดังกล่าวแล้ว

ส่วนการ "ขอโอกาส" สำหรับ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินีสมเด็จพระบรมราชชนนี  สมเด็จพระยุพราช และ สมเด็จพระบรมรากุมารี ให้ใช้ว่า "ขอพระราชทานพระราชวโรกาส"  

การขอโอกาสสำหรับ  พระบรมวงศ์ ชั้นเจ้าฟ้า ใช้ว่า "ขอพระราชทานพระวโรกาส"

สำหรับ พระราชวงศ์ พระองค์อื่น นอกจากนี้ ใช้ว่า  "ขอประทานพระวโรกาส"   ยกเว้นแต่สำหรับหม่อมเจ้า  ใช้ว่า  "ขอประทานวโรกาส"

                                        ส่วนการ "ให้โอวาท" สำหรับ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินีสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระยุพราช และ สมเด็จพระบรมราชกุมารี ใช้ว่า  "พระ"

4.2  การเชิญประธานเปิดงาน ซึ่งประธานเป็นบุคคลธรรมดา ให้ใช้ว่า  "กราบเรียน (เรียน) เชิญ.........................................."

 

ตัวอย่างคำกล่าวรายงานในพิธีเปิด

 

คำกล่าวรายงาน

โดย เลขานุการคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ

ในงานสัมมนา เรื่อง "ภาวะโลกร้อน : สถานการณ์ ปัญหาและทางออก"

วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน 2550 ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ 306 - 308 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2

 

กราบเรียนท่าน พลเอก จรัล กุลละวณิชย์ รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่ง ท่านพิชัย วาสนาส่ง ท่านประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ ท่านกรรมาธิการ ท่านสมาชิกและแขกผู้มีเกียรติที่รักทุกท่าน

วันนี้เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง ในนามคณะกรรมาธิการการต่างประเทศร่วมกับคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน เรามีความยินดีที่จะนำเสนอการสัมมนาซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ อันนี้ต้องกราบขอบพระคุณท่านประธานกรรมาธิการ ซึ่งท่านเป็นคนดำริเรื่องของ global warming เรื่องของภาวะโลกร้อน

จริง ๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะดูแล้วเหมือนว่าไกลตัว แต่ก็ไม่ใช่อยู่รอบ ๆ เรา แล้วก็อยู่ใกล้ ๆ เรามากเลย ประเทศไทยที่ผ่านมานั้นก็ได้มีทำอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แล้วก็ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีกรอบอนุสัญญาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2537 ซึ่งลงนามในสัตยาบันที่พิธีสารเกียวโต ซึ่งเรียกว่า เกียวโตโปรโตคอล แล้ววันที่ 28 สิงหาคม 2545 ด้วย

เพราะฉะนั้นตอนนี้ปัญหาภาวะโลกร้อนเริ่มเป็นสิ่งที่จำเป็นมีผลโดยชัดเจนต่อการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม แล้วก็มีผลเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ หรือสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ทั่วไปทั้งในประเทศ แล้วก็ทั่วโลกด้วยนะครับ จนขณะนี้มีการทำการค้า ทำธุรกิจเรื่องของคาร์บอนเทรดดิ้งก็ดี เรื่องของสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มากมายก็ดี

การส่งสินค้าออกจากประเทศไทยไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น สหภาพยุโรปนั้น ถ้าไม่ผ่านเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ผ่านเรื่องกำหนดต่าง ๆ ด้าน safety ก็ดี หรือด้านสิ่งแวดล้อมก็ดี ก็จะมีปัญหาว่าอาจจะถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปได้ด้วย ฉะนั้นคงไม่ใช่เป็นเรื่องของการทำความดีให้กับตัวเองอย่างเดียว แต่เมื่อสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมเพื่อชาติด้วย

ฉะนั้นจุดประสงค์ซึ่งทางคณะกรรมาธิการได้จัดขึ้นในวันนี้ก็เพื่อที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของภาวะโลกร้อนร่วมกัน จริง ๆ แล้วท่านผู้ร่วมสัมมนาหลาย ๆ ท่าน ที่ผมเห็นหน้าท่านมีความรู้ มีความเข้าใจมากมาย ผมก็คิดว่าวันนี้ นอกจากองค์ปาฐก ซึ่งจะมีท่านอาจารย์พิชัย ท่านกรุณาปาฐกถาพิเศษก่อน แล้วก็จะมีท่านผู้รู้อีก 4 ท่าน คือ ท่านโคทม อารียา ซึ่งท่านเป็น สนช. และประธานคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน ท่านศิวะพร ทรรทรานนท์ ท่านโฆษกของกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์ กัณฑรีย์ บุญประกอบ ท่านเป็นคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ท่านประเสริฐสุข จามรมาน ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติด้วย ซึ่งท่านอาจารย์ประทุมพร วัชรเสถียร ท่านโฆษกคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของเขาจะกรุณาเป็นผู้ดำเนินอภิปราย แล้วนอกเหลือจาก 5 ท่านแล้ว ทุก ๆ ท่าน

วันนี้ก็อยากจะเชิญชวนให้ช่วยกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แล้วก็มีข้อแลกเปลี่ยนที่จะไปทำงานเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อนได้มากขึ้นด้วยนะครับ

บัดนี้ ได้เวลาสมควรแล้วผมขอกราบเรียนเชิญท่านรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่งท่าน พลเอก จรัล กุลละวณิชย์ ได้กรุณากล่าวเปิดสัมมนาและให้ข้อคิดต่อการสัมมนาครั้งนี้ด้วยครับ ขอบพระคุณมากครับ (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, 2550, หน้า 5)

คำสำคัญ (Tags): #การเขียน
หมายเลขบันทึก: 291244เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2009 14:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ถ้าอ้างอิงตาม ลิงค์นี้ ก็ไม่ต้องมี ฯพณฯ ในระดับนายกรัฐมนตรี ใช่ไหมค่ะ

http://gotoknow.org/blog/happylife/94588

อุตส่าห์อธิบายราชาศัพท์ น่าจะยกตัวอย่างคำกราบบังคมทูล กราบทูล ทูล  กลับไปยกตัวอย่างคำรายงานซะงั้น น่าเสียดาย แต่ก็ให้กำลังใจครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท