จะสร้างสุขในองค์กรในภาวะวิกฤติได้อย่างไร


การเติมเต็มทุนทางจิตวิทยาให้แก่สมาชิกองค์กรแต่ละท่าน ผ่านการประชุมระดมสมองเชิงบวก, การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และฝึกทักษะเชิงจิตวิทยา, การริเริ่มแนวคิดจากกลุ่มเล็กที่มีก่อน

 

ดร. นพ. ยุทธนา ภาระนันท์ MD., FP., Ed.D.

[email protected]

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการให้คำปรึกษาและเวชศาสตร์ครอบครัว

 

1.     วิธีสร้างสุขในองค์กรยุควิกฤติทำอย่างไร

ผมเน้นไปที่เติมเต็มทุนทางจิตวิทยา (Psycap: Psychological capital) ให้กับสมาชิกในองค์กร ซึ่งประกอบด้วย 4 ตัว ย่อว่า SHORE : Self-efficacy = ความเชื่อมั่นในสมรรถนะของตน, Hope= ความหวัง, Optimism= การมองโลกในแง่ดี, Resilience= ความหยุ่นตัว ผมขอเล่าให้ฟังโดยสังเขปว่าทำอย่างไรดังนี้ครับ

ราวเดือนมีนาคม ผมจัดประชุมระดมสมองถึงสิ่งที่ทีมงานของผมต้องการจะเห็นใน 1-3 ปีข้างหน้า 2 ครั้ง ทำให้ทีมงานแต่ละคนเริ่มมีความหวังและมองด้านบวกว่าแม้ท่ามกลางวิกฤติ แต่เราก็ยังสามารถทำอะไรบางอย่างได้ อันเป็นการสร้างมุมมองเชิงบวกว่า “แม้ถูกขนาบรอบข้าง แต่ก็ไม่ถึงกับกระดิกไม่ไหว”

ตลอดไตรมาสแรก ผมจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานและใช้ชีวิตในเชิงบวกเมื่อเผชิญปัญหา โดยจัดขึ้นสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งบางครั้งผมก็ให้ทำworkshopและฝึกทักษะเชิงจิตวิทยาเพื่อรับมือกับปัญหาด้วยตัวเองได้ดียิ่งขึ้น เช่น ทักษะซ้ายขวาหารือ (Self Talk), ทักษะตั้งเข็มทิศชีวิต (Setting life compass), ทักษะคิดบวก (Optimism), ทักษะค้นศักยภาพ (Searching potential) เป็นต้น ซึ่งทำให้ทีมงานมองด้านบวกต่อตนเอง ต่อสถานการณ์และต่อรูปแบบการใช้ชีวิต เพื่อถ่ายทอดทัศนะที่ว่า “จิตใจที่ร่าเริง เป็นยาอย่างดี” และ “ปัญหาเป็นที่เริ่มต้นของปัญญา”

 

2.     ข้อเสนอวิธีขยายผลการสร้างสุขให้เกิดในองค์กรอื่นๆ ทำอย่างไร

ผมหาโอกาสขยายผลการเติมเต็มทุนทางจิตวิทยา ให้กับสายงานอื่นๆและองค์กรอื่นๆ ด้วยหลายช่องทาง ผมขอเล่าให้ฟังโดยสังเขปว่าดังนี้ครับ

ช่วงเดือนที่ผ่านมา ผมหาโอกาสทำความรู้จักคุ้นเคยกับผู้บริหารระดับสูงขององค์กร โดยนัดพบส่วนตัวบ้าง โทรติดต่อบ้าง จนวันหนึ่งก็ได้นั่งคุยกัน ผมนำเสนอปัญหาและความต้องการ และเสนอทางออกอย่างเป็นรูปธรรมผ่านโครงการ ชมรมคนคิดบวก (Positive thinker club) ซึ่งนำผลการประชุมระดมสมองจากทีมงานมาเป็นฐานคิด ทำให้ผู้บริหารสนใจและจัดประชุมคณะกรรมการบริหารองค์กรเพื่อขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนชมรมคนคิดบวกด้วย ว่าให้มีการจัดกิจกรรมของชมรมเป็นประจำสม่ำเสมอ ซึ่งกิจกรรมของชมรมผมเน้นให้สมาชิกทุกท่านในองค์กรเข้าร่วมสมัครและร่วมเป็นเจ้าภาพได้ตามสโลแกนว่า “1 คน อาสา 1 อย่าง” บางท่านก็อาสาเป็นผู้สอนภาษาจีนที่ใช้บ่อยในการทำงานและชีวิตประจำวัน, บางท่านก็อาสาช่วยตรวจเยี่ยมดูแลสุขภาพผู้เจ็บป่วย ไม่สบาย เป็นต้น

ยิ่งกว่านั้น สำหรับต่างองค์กร ผมได้เปิดเวปไซต์ (www.HowAreYou.co.th) และจัดรายการวิทยุ “ถอดรหัสชีวิต” FM102 ทุกวันเสาร์ 1600-1700น. เป็น Guest speaker ให้แก่ช่องรายทีวีต่างๆ เขียนบทความแก่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ตลอดจนเขียนหนังสือเชิงจิตวิทยาประยุกต์ เพื่อนำเสนอทักษะและหลักสูตรต่างๆ ที่ช่วยสร้างสุขในการทำงาน ทำให้หลายองค์กรก็เชิญผมไปเป็นวิทยากรในเรื่องเหล่านี้ เช่น บริษัท ไทยประกันชีวิต, ธนาคารแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เป็นต้น ทำให้ผมได้ขยายผลการใช้ทักษะเชิงจิตวิทยาเพื่อพัฒนาทุนทางจิตวิทยาให้แก่สมาชิกองค์กรได้หลากหลายแห่งมากขึ้น

 

กล่าวโดยสรุป ผมสร้างสุขในองค์กรยุควิกฤติโดยการเติมเต็มทุนทางจิตวิทยาให้แก่สมาชิกองค์กรแต่ละท่าน ผ่านการประชุมระดมสมองเชิงบวก, การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และฝึกทักษะเชิงจิตวิทยา, การริเริ่มแนวคิดจากกลุ่มเล็กที่มีก่อน จากนั้นขยายผลสู่สายงานอื่นและองค์กรอื่นๆ ผ่านทางการนำเสนอแนวคิดแก่ผู้บริหารระดับสูง, การเป็นวิทยากร, การทำเวปไซต์สร้างสุข, การออกสื่อต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์, ทีวี, วิทยุ บนความเชื่อที่ว่า “เปลี่ยนความคิด ชีวิตเปลี่ยน”

 

-----------

หมายเลขบันทึก: 290607เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2009 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 00:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท