ชีวิตที่พอเพียง : ๘๒๐a. ไปเปลี่ยนใจตัวเอง จากบริการสุขภาพปฐมภูมิ สู่ระบบสุขภาพชุมชน (๕) โรงพยาบาลน้ำพอง


 

ตอนที่ ๑ 

ตอนที่ ๒

ตอนที่ ๓

ตอนที่ ๔

          โรงพยาบาลน้ำพองถือเป็นโรงพยาบาลชุมชนที่อยู่ใกล้เมือง คือตัวจังหวัดขอนแก่น  การคมนาคมสะดวก   และเป็นอำเภอขนาดใหญ่   และจุดเด่นที่สุดของที่นี่เมื่อเทียบกับอีก ๒ แห่งที่เราไปเยี่ยมชื่นชมคราวนี้คือ การสร้างคน สำหรับเข้าไปทำงานในชุมชน   ทั้งสร้างคนใหม่ และพัฒนาคนเก่าที่มีอยู่แล้ว

          ยิ่งคิดไตร่ตรอง ผมก็ยิ่งเห็นจุดสำคัญที่ทั้ง ๓ โรงพยาบาลพัฒนาขึ้นมาเป็นดาวเด่น ในกลุ่มโรงพยาบาลชุมชนทั้งประเทศ   มี ๒ จุดที่เกื้อกูลพึ่งพากัน คือ   (๑) ผู้อำนวยการ (ผู้นำ) อยู่ติดที่ ไม่ย้ายไปกินตำแหน่งใหญ่ขึ้น   (๒) การเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง และของผู้อื่น  

          คุณหมอวิชัย อัศวภาคย์ ผู้อำนวยการ ถือได้ว่าพูดเก่งน้อยที่สุดใน ๓ คน    แต่ดูจะเป็นนักคิดและลงมือทำไม่แพ้กัน   และต่างก็เป็นแพทย์ชนบทที่ได้รับการยกย่องด้วยรางวัลต่างๆ รวมทั้งได้รับการยอมรับจากทุกวงการ

          ผมไปค้นใน อินเทอร์เน็ต พบข้อมูลพัฒนาการของ รพ. น้ำพอง ดังนี้   จะเห็นว่าโรงพยาบาลน้ำพองได้ผ่านพัฒนาการในการทำหน้าที่โรงพยาบาลชุมชน สั่งสมประสบการณ์มายาวนาน   และโชคดีที่ในวันที่ ๑๕ ส.ค. ๕๒ ที่เราไปเยี่ยมชื่นชม   ได้รับแจก PowerPoint ของการนำเสนอกลับมาด้วย   จึงได้รายละเอียดของพัฒนาการดังนี้

•    พ.ศ. ๒๕๓๕ – ๒๕๓๙ Community Health Project (JICA), Ayudhya Model (Antwerp, Belgium), Integrated Health System
•    พ.ศ. ๒๕๔๐  Health Care Reform, ศูนย์เวชปฏิบัติครอบครัว, เวทีสามพราน
•    พ.ศ. ๒๕๔๒ – ๒๕๔๔  โรงพยาบาลสุงเสริมสุขภาพ, สุขภาพ ๔ มิติ, การกระจายอำนาจ, ชุมชนเข้มแข็ง
•    พ.ศ. ๒๕๔๔  พยาบาลชุมชน/อปท. (พยาบาลอยู่โรงพยาบาล ๑ วัน  หมู่บ้าน ๔ วัน), พยาบาลชุมชน/เศรษฐกิจพอเพียง
•    พ.ศ. ๒๕๔๕ – ๒๕๔๘  โครงการพยาบาลชุมชน ของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน (อบต. น้ำพอง)
•    พ.ศ. ๒๕๔๙ – ๒๕๕๐  พยาบาลชุมชน  อปท./กองทุนชุมชน ส่งเรียน, Humanized Health Care, โครงการเยาวชนจิตอาสา
•    พ.ศ. ๒๕๕๑  พยาบาลชุมชน  อปท./กองทุนชุมชน/เอกชน/มูลนิธิ ส่งเรียน, พยาบาลอยู่ในโรงพยาบาล ๒ วัน หมู่บ้าน ๓ วัน
•    พ.ศ. ๒๕๕๒  พยาบาลชุมชน  อปท./กองทุนชุมชน/เอกชน/มูลนิธิ/เงินบำรุงโรงพยาบาล ส่งเรียน (มข. และวิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย), รพ. สต. ๑๐๐% (รักษาพยาบาลเชิงรุก/สร้างสุขภาพ/เศรษฐกิจพอเพียง, พยาบาลชุมชน + จนท. สส. ๑ คน : ๒ หมู่บ้าน), ขอนแก่นจังหวัดที่น่าอยู่ที่สุดในโลก

          สรุปได้ว่า รพ. นำพองดำเนินการระบบสุขภาพชุมชน โดยใช้พยาบาลชุมชนเป็นแกนนำ    โรงพยาบาลชุมชนหนุน   ความน่าตื่นตาตื่นใจอยู่ที่รายละเอียดด้านการจัดการเพื่อให้ได้ตัวเด็กที่มีคุณสมบัติ มีจิตใจ เหมาะสมที่จะส่งไปเรียนเพื่อมาเป็นพยาบาลชุมชน   และการจัดการเรียนรู้ร่วมกับทีมของ รพ. น้ำพองทุกเดือน   เพื่อบ่มเพาะอุดมการณ์การทำงานเพื่อชุมชนของ รพ. น้ำพอง   ที่เป็นการบ่มเพาะร่วมกับผู้นำชุมชนด้วย    ระหว่างนั่งฟัง ผมนึกไปถึงการส่งนักเรียนไทยไปเรียนต่อต่างประเทศ ที่ไร้การจัดการที่ดี   ผมคิดว่า กพ., สกอ., กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ  รวมทั้งกระทรวง/หน่วยงานอื่นๆ ที่ทำหน้าที่จัดการนักเรียนทุนไปศึกษาต่างประเทศน่าจะไปรับฟังวิธีการจัดการทุนศึกษาต่อที่ รพ. น้ำพอง   

          คุณหมอวิชัยย้ำแล้วย้ำอีกว่า การดำเนินโครงการพยาบาลชุมชน  สุขภาพชุมชน ไม่ใช่เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล   เป้าหมายที่แท้จริงคือ เพื่อให้ชาวบ้านมีสุขภาพดี

 

วิจารณ์ พานิช
๒๓ ส.ค. ๕๒

 

ไปถึง รพ[1]. น้ำพองเลยเที่ยงไปนานแล้ว  ต้องกินก่อน

นพ[1]. วิชัย อัศวภาคย์ กล่าวต้อนรับและ

แนะนำพยาบาลชุมชนแต่ละรุ่นที่มาร่วมเล่าเรื่อง

 

นักเรียนทุนพยาบาลชุมชน ปี ๑  วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย

 

นักเรียนทุนพยาบาลชุมชน ปี ๓  มข[1].

 

พยาบาลชุมชนที่จบออกไปทำงานแล้ว กำลังเล่าประสบการณ์

 

 

คุณมยุรี อดีตหัวหน้าหน่วยส่งเสริมสุขภาพ ที่ลาออกจาก

ตำแหน่งหัวหน้าออกไปทำงานพยาบาลชุมชน ๔ วัน ทำงานใน รพ[1]. ๑ วัน

 

 ถ่ายภาพร่วมกันหลังเรียนรู้เรื่องกิจกรรมสุขภาพชุมชนตำบลบัวเงิน อำเภอน้ำพอง

ต้นโพธิที่สง่างามร่มเย็น

 

หมายเลขบันทึก: 290551เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2009 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 02:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ประทับใจพี่วิชัย ในการยืนหยัดมั่นคง พัฒนาระบบสุขภาพชุมชน อย่างยิ่งครับ

อาจารย์ค่ะน่าสนใจมากค่ะ เป็นความฝันของโรงพยาบาลชุมชน รูปแบบการจัดการ ประทับใจมาก ในประโยคที่ว่า " การดำเนินโครงการพยาบาลชุมชน สุขภาพชุมชน ไม่ใช่เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล เป้าหมายที่แท้จริงคือ เพื่อให้ชาวบ้านมีสุขภาพดี " ขออนุญาตนำไปแลกเปลี่ยนที่จังหวัดนะค่ะ จากพยาบาลชุมชนตัวน้อย โรงพยาบาลนาหว้า นครพนม

จากบทความมีสิ่งที่หน้าสนใจ2ประเด็นที่ต้องการความคิดเห็นจากท่านทั้งหลายคือ

1โรงพยาบาลน้ำพองดำเนินการระบบสุขภาพชุมชนโดยใช้พยาบาลชุมชนเป็นแกนนำ

2เป็นโรงพยาบาลชุมชนที่มีความหน้าตื่นตาตืนไจในการจัดการเรียนรู้ร่วมกัน

ประเด็นที่ 1 เป็นการนำชุมชนเข้ามาร่วมในกิจกรรม

ประเด็นที่ 2 เป็นโรงพยาบาลที่มีการจัดการเรียนรู้ที่ดี

เป็นโรงพยาบาลชุมชนที่ดี

นายภาณุมาศ ฑิตะลำพูน, นายกฤชวรุจน์ วงศ์สุวรรณ

เป็นการที่ดีมาก ที่จะมีการอบรมให้หน่วยงานต่างๆ ได้มีการจัดระเบียบการให้ทุนนักเรียนไปเรียนต่อต่างประเทศ เพราะถ้าไม่มีการจัดการที่ดี เงินที่ได้ส่งเสริมก็จะไม่ได้ไปสู่คนที่มีความต้องการและสามารถมาจริงๆและยังเป็นการฝึกทักษะทางวิชาชีพให้แก่พยาบาลรุ่นใหม่ในการไปให้บริการอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท