หกปีศาจร้ายแห่งความกลัว


ความกลัวเป็นสภาวะจิตใจอย่างหนึ่ง และสภาวะจิตใจก็เป็นสิ่งที่คุณสามารถควบคุมและชี้นำมันได้

 

 

หกปีศาจร้ายแห่งความกลัว

 

มีอยู่กี่ตัวที่ขวางทางคุณอยู่

 

ก่อนที่คุณจะสามารถนำปรัชญานี้ไปใช้เพื่อความสำเร็จ ต้องเตรียมจิตใจของคุณให้พร้อมที่จะรับมันเสียก่อน ซึ่งการเตรียมก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร เริ่มต้นจากการศึกษา วิเคราะห์และทำความเข้าใจกับศัตรูสามประการอย่างถ่องแท้คือความไม่กล้าตัดสินใจ ความลังเลสงสัย และความกลัว

สัมผัสที่หกจะไม่ทำงานในขณะที่ศัตรูทั้งสาม หรือตัวใดตัวหนึ่งอยู่ในจิตใจคุณ ศัตรูทั้งสามนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เมื่อเจอศัตรูตัวหนึ่งก็มักจะมีอีกสองตัวอยู่ใกล้ๆเสมอ

จงจำไว้ว่าความไม่กล้าตัดสินใจเป็นตัวบ่มเพาะความกลัว ความไม่กล้าตัดสินใจจะตกผลึกเป็นความลังเลสงสัย สองสิ่งนี้จะรวมตัวกันกลายเป็นความกลัว ขั้นตอนในการรวมตัวกันจะเกิดขึ้นช้าๆ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมศัตรูพวกนี้จึงอันตรายมาก พวกมันก่อตัวและเจริญเติบโตโดยเราไม่ทันสังเกตเห็น

ส่วนที่เหลือของบทนี้จะเป็นการบรรยายสภาวะจิตใจที่คุณต้องมี ก่อนที่จะนำปรัชญามาใช้ในการปฏิบัติ

ในบทนี้จะได้วิเคราะห์เงื่อนไขที่นำผู้คนมากมายไปสู่ความยากจน และมันจะเผยข้อเท็จจริงซึ่งคนที่ร่ำรวยต้องเข้าใจ ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเงินทอง หรือสภาวะจิตใจซึ่งอาจมีคุณค่าเหนือกว่าเงินทองก็ตาม

จุดมุ่งหมายของบทนี้เน้นความสนใจไปที่สาเหตุและการแก้ไขความกลัวพื้นฐานหกประการ ก่อนที่คุณจะจัดการกับศัตรู เราต้องรู้จักชื่อ นิสัยของมันและจุดที่เราจะโจมตีมันเสียก่อน ขณะที่คุณอ่านหนังสือ จงวิเคราะห์ตัวเองอย่างระมัดระวังและพิจารณาตัวคุณเองว่ามีความกลัวทั้งหก ซ่อนอยู่ด้วยหรือไม่ และจำไว้ว่าบางทีพวกมันอาจซ่อนตัวอยู่ในจิตใต้สำนึกก็ได้ ซึ่งเป็นการยากที่จะค้นพบและยากยิ่งกว่าในการกำจัดมัน

 

ความกลัวพื้นฐานหกประการ

 

มีความกลัวพื้นฐานหกประการที่ทำให้คนเราทุกคนต้องเป็นทุกข์ คนที่โชคดีมักไม่ต้องเผชิญกับความกลัวทั้งหกนี้

รายชื่อเรียงตามลำดับที่พบบ่อย คือ

กลัวความยากจน

กลัวการถูกตำหนิติเตียน

กลัวความเจ็บป่วย

กลัวการสูญเสียคนอันเป็นที่รัก

กลัวความแก่ชรา

กลัวความตาย

ความกลัวที่นอกเหนือจากนี้ไม่ค่อยมีความสำคัญนักและเป็นเพียงข้อปลีกย่อยของความกลัวเหล่านี้

ความกลัวเป็นสภาวะจิตใจอย่างหนึ่ง และสภาวะจิตใจก็เป็นสิ่งที่คุณสามารถควบคุมและชี้นำมันได้

คุณจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆได้ก็ต่อเมื่อคุณได้เริ่มสร้างรูปแบบแห่งพลังความคิดขึ้นมาก่อน

ข้อความต่อไปนี้มีความสำคัญมาก : เมื่อพลังความคิดเริ่มแปรเปลี่ยนตัวเองไปเป็นรูปธรรม ไม่ว่าความคิดนั้นจะเกิดขึ้นโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามหรือแม้ว่าจะเป็นพลังความคิดที่เข้ามาโดยบังเอิญ (ความคิดที่ออกมาจากจิตใจของผู้อื่น)อาจเป็นตัวกำหนดการเงิน ธุรกิจ อาชีพ หรือโอกาสทางสังคมของคุณได้เช่นเดียวกับความคิดที่คุณตั้งใจสร้างสรรค์ขึ้นมาเอง

ด้วยเหตุผลนี้ มันได้ช่วยอธิบายว่าทำไมบางคนจึงดูเหมือนโชคดี ในขณะที่คนอื่นซึ่งมีความสามารถ มีการฝึกอบรม มีประสบการณ์และศักยภาพสมองเท่าเทียมกันหรือมากกว่าด้วยซ้ำ แต่กลับดูเหมือนอับโชค คำอธิบายก็คือคุณมีความสามารถที่จะควบคุมจิตใจตัวเองได้ ด้วยการควบคุมนี้ คุณอาจจะเปิดใจเพื่อรับพลังความคิดที่ออกมาจากสมองคนอื่นหรือคุณสามารถปิดประตูใจและเลือกรับเฉพาะพลังความคิดที่คุณต้องการเท่านั้น

ธรรมชาติได้ให้อำนาจมนุษย์ในการควบคุมทุกสิ่งแต่ยกเว้นอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือความคิด ข้อเท็จจริงนี้ควบคู่ไปกับความจริงที่ว่าทุกสิ่งที่เราสร้างสรรค์ขึ้นล้วนแล้วแต่ตั้งต้นมาจากความคิดก่อนซึ่งนำเราไปสู่หลักการที่ว่าเราอาจจะสามารถจัดการกับความกลัวได้

ถ้าเป็นความจริงว่าทุกความคิดมีแนวโน้มที่จะปรับแต่งตัวมันเองไปรูปธรรม(และนี่เป็นความจริงซึ่งเหนือเหตุผลใดๆ) จึงเป็นความจริงเช่นกันว่าพลังความคิดแห่งความกลัวและความยากจนจะไม่สามารถแปรเปลี่ยนไปสู่ความกล้าหาญและผลประโยชน์ทางการเงินได้เลย

 

หมายเลขบันทึก: 289961เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2009 12:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท