ประวัติเมืองเลย


ประวัติเมืองเลย

ประวัติศาสตร์ จังหวัดเลย

ประวัติเมืองเลย

ยุคก่อนประวัติศาสตร์

ดินแดนที่เป็นที่ตั้งจังหวัดเลยในปัจจุบัน เป็นชุมชนมาแต่โบราณ โดยมีหลักฐานทางโบราณคดี อาทิเช่น เครื่องมือหินซึ่งเป็นโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีขวานหินขัด กำไลหินขัดแถบอำเภอเชียงคาน ซึ่งเชื่อกันว่ากลุ่มชนแถบนี้ดำรงชีวิตภายใต้สังคมเกษตรกรรม มีการกำหนดอายุไว้ประมาณ 9,000 ปี 4,000-2,000 ปี ยุคสัมฤทธิ์ พบหลักฐานที่ทำให้สันนิษฐานได้ว่ามีการขุดแร่เหล็กและทองแดง ในบริเวณอำเภอปากชมและอำเภอเมืองเลย ขึ้นมาใช้

ยุคประวัติศาสตร์

พบหลักฐานใบเสมาในพื้นที่อำเภอวังสะพุง อายุประมาณ 1,000-2,000 ปี ซึ่งเป็นยุคทวารวดี และแหล่งโบราณคดีในพื้นที่อำเภอภูหลวง คาดว่ามีอายุใกล้เคียงกัน และในพื้นที่นี้มีชุมชนซึ่งมีความเจริญ จนมีสภาพเป็นเมือง อาทิ เมืองด่านซ้าย เมืองเชียงคาน เมืองท่าลี่ ส่วนเมืองเลย ได้ยกฐานะจากชุมชนบ้านแฮ่ ที่ตั้งอยู่ริมห้วยน้ำหมาน ซึ่งไหลจากภูเขาชื่อภูผาหมาน ขึ้นเป็นเมืองในปี พ.ศ.2396 โดยตั้งชื่อเมืองตามแม่น้ำใหญ่ว่า "เมืองเลย" ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ขึ้นกับเมืองหล่มสัก พร้อมทั้งแต่งตั้งหลวงศรีสงครามเป็นเจ้าเมืองคนแรก (ท้าวคำแสน)

ปี 2426 นักสำรวจชาวฝรั่งเศสชื่อ เอเจียน แอมอนิเย ได้เดินทางมาค้นหาศิลาจารึกและมาถึงเมืองเลย เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2546 บรรยายสภาพเมืองเลยและอ้างบันทึกของมูโอร์ (Mouht) นักสำรวจชาวฝรั่งเศสซึ่งเดินทางมาถึงเมืองเลย ปี 2404 ว่า "....สภาพบ้านแฮ่ ตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งห้วยน้ำหมาน ประกอบด้วยกระท่อมประมาณ 200 หลัง บนพื้นที่สูงน้ำไม่ท่วมถึง หมู่บ้านตั้งเรียงรายอยู่ใต้ร่มไม้ผลใกล้กับทุ่งนา แม่น้ำเลยสามารถเดินเรือได้ในฤดูน้ำหลาก....

".........ประชาชนครึ่งหนึ่งเป็นเกษตรกร และอีกครึ่งหนึ่งเป็นกรรมกร ทำงานอุตสาหกรรม ผลิตอุปกรณ์การไถและมีดอีโต้เพื่อจำหน่ายไปทั่วจังหวัดข้างเคียง จนถึงจังหวัดที่อยู่เลยโคราชขึ้นไปอีก แต่ว่าไม่มีโรงงาน ไม่มีเครื่องจักรไอน้ำ แล้วก็เป็นที่น่าสนใจเมื่อเห็นว่า การตั้งเตาที่จะตีเหล็กนั้น มีราคาต่ำที่สุด คือจะมีการขุดหลุมกว้าง 1 เมตรครึ่งที่ตีนเขาแล้วช่างจะเอาก้อนแร่ใส่เข้าไปในหลุมนั้น แล้วเผาด้วยถ่านไฟที่มีความร้อนสูง เมื่อร้อนได้ที่แล้ว เหล็กก็จะไหลไปในหลุมที่พื้นดิน หลังจากนั้นก็จะนำเอาเหล็กเป็นก้อน ออกจากหลุมดังกล่าวไปทำการตีเป็นเครื่องมือที่โรงตีเหล็ก..."

".......ที่นี่ก็จะมีหลุมในดินและมีไฟเผา ซึ่งจะมีเด็กคอยสูบลมด้วยท่อลมแฝด 2 ท่อ ซึ่งทำด้วยท่อนไม่กลวง โดยเอาปลายด้านหนึ่งฝังลงในดิน ภายในท่อสูบลมนี้จะมีลูกสูบทำด้วยสำลีจากตัวท่อสูบ ลมนี้จะมีหลอดไม้ไผ่ 2 หลอด ต่อไปที่เตาเผาเหล็ก เพื่อนำอากาศเข้าไปในเตาเผา ซึ่งจะทำให้ไฟลุกกล้า..."
"......คนเมืองเลยไปคล้องช้างป่าแถบภาคใต้ของจังหวัดในเขตภูหลวงและภูเขียว เวลาออกเดินทางพวกเขาจะทำการบวงสรวงวิญญาณเชือกยาว ซึ่งมีบ่วงคล้องช้างด้วยข้าว เหล้า เป็ดและไก่เสียก่อน นอกจากนั้นนายพรานจะให้คำแนะนำว่า ห้ามภรรยาทำการตัดผมหรือรับแขกต่างบ้านให้พักค้างคืนในบ้านเด็ดขาด ถ้าไม่ปฏิบัติตามข้อห้ามเหล่านี้ จะทำให้ช้างที่คล้องมาได้หลุดมือไป...."

ปี 2434 (ร.ศ.110) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสังเกตเห็นว่าฝรั่งตั้งท่าจะรุกรานพระราชอาณาเขต จึงได้จัดการปกครองพระราชอาณาเขต และปี 2435 กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้จัดระบบการปกครองใหม่ เมืองเลยจึงแยกออกจากเมืองหล่มสัก ยกฐานะขึ้นเป็นเมือง โดยขึ้นกับมณฑลลาวพวน ที่ตั้งบัญชาการที่เมืองหนองคาย ก่อนจะย้ายมาที่บ้านหมากแข้ง ในปี 2436 (ร.ศ.116) และเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอุดรภายหลัง และยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2476

ดินแดนซึ่งเป็นที่ก่อตั้งของจังหวัดเลย มีหลักฐานและประวัติความเป็นมาว่าก่อตั้งโดยชนเผ่าไทยที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษ ที่ก่อตั้งอาณาจักรโยนก โดยพ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมือง ได้อพยพผู้คนจากอาณาจักรโยนกที่ล่มสลายแล้ว ผ่านดินแดนล้านช้าง ข้ามลำน้ำเหืองขึ้นไปทางฝั่งขวาของลำน้ำหมันจนถึงบริเวณที่ราบ พ่อขุนผาเมืองได้ตั้งบ้านด่านขวา ส่วนพ่อขุนบางกลางหาวได้แบ่งไพร่พลข้ามลำน้ำหมันไปทางฝั่งซ้าย สร้างบ้านด่านซ้าย จากนั้นได้อพยพขึ้นไปตามลำน้ำและได้สร้างบ้านหนองคูขึ้น พร้อมกับนำชื่อหมู่บ้านด่านซ้ายมาขนานนามหมู่บ้านหนองคูใหม่เป็นเมืองด่านซ้าย และอพยพไปอยู่ที่บางยางในที่สุด

ต่อมามีชาวโยนกกลุ่มหนึ่งได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนระหว่างชายแดนตอนใต้ ของอาณาเขตล้านช้างอยู่ระยะหนึ่งก่อนที่จะอพยพหนีภัยสงครามข้ามลำน้ำเหืองมาตั้ง เมืองเซไลขึ้น จากหลักฐานสมุดข่อยที่มีการค้นพบเมืองเซไลอยู่ด้วยความสงบร่มเย็น มาจนกระทั่งถึงสมัยเจ้าเมืองคนที่ 5 เกิดทุพภิกขภัยขึ้นจึงได้พาผู้คนอพยพไปตามลำแม่น้ำเซไลและได้ตั้งบ้านเรือนขึ้น ขนานนามว่า
"ห้วยหมาน"

ในปี 2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพิจารณาเห็นว่าหมู่บ้านแฮ่ ซึ่งตั้งอยู่ริมห้วยน้ำหมานและอยู่ใกล้กับแม่น้ำเลย มีผู้คนเพิ่มมากขึ้น สมควรจะได้ตั้งเป็นเมืองเพื่อประโยชน์ในการปกครองอย่างใกล้ชิด จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเป็นเมือง เรียกชื่อตามนามของแม่น้ำเลยว่า "เมืองเลย"

ต่อมาในปี พ.ศ. 2440 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองพื้นที่ ร.ศ.116 แบ่งการปกครองเมืองเลยออกเป็น 4 อำเภอ อำเภอที่ตั้งเมืองคือ อำเภอกุดป่อง ในปี พ.ศ.2442-2449 ได้เปลี่ยนชื่อเมืองเลยเป็นบริเวณลำน้ำเหือง และในปี 2450 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2450 ยกเลิกบริเวณลำน้ำเหืองให้คงเหลือไว้เฉพาะเมืองเลย โดยให้เปลี่ยนชื่ออำเภอกุดป่อง เป็น อำเภอเมืองเลย จนถึงปัจจุบัน

หมายเลขบันทึก: 289810เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2009 20:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 10:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท