มานิเทศภายในกันเถิด


นิเทศภายใน กุญแจสู่การบริหารจัดการที่ประสบผลแบบยั่งยืน

          ผมรู้จักคำว่าการปฏิรูปการศึกษามาเกือบจะยี่สิบปี แล้ว เดี๋ยวรัฐก็กำหนดนโยบายและมาตรการให้
ทำอย่างโน้น ทำอย่างนี้  ส่วนใหญ่ก็เป็นการประชุม  อบรม  สัมมนา  ประชุมปฏิบัติการ ทั้งอบ ทั้งรม ทั้ง
ในจังหวัด ต่างจังหวัด  กรุงเทพมหานคร ตลอดจนมีคณะไปศึกษาดูงาน ณ ต่างประเทศ ทั่วโลกก็ว่าได้
แต่สุดท้ายแล้วดูเหมือนว่า เมื่อสิ้นสุดการประชุม อบรม สัมมนาต่าง ๆ ส่วนใหญ่ก็มีผลผลิตระดับกระทรวง
ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับเครือข่ายโรงเรียน แต่จะเงียบหายในระดับโรงเรียน  
          คำว่า "เงียบหาย" ไป  ในที่นี้ ก็อย่างเช่น  สพท.ให้ ร.ร. ส่งครู หรือแม้แต่ให้ผู้บริหารมาประชุม
อบรม สัมมนา ประชุมปฏิบัติการในเรื่องอะไรก็ตาม ให้นำไปปฏิบัติหรือขยายผลในระดับโรงเรียน ส่วนใหญ่
จะเงียบหายไป
          ไม่มีการต่อยอด หรือขยายผลสู่โรงเรียน  ปรากฎการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องทุกปี คิด
คำนวณตัวเลขงบประมาณที่ถูกถลุงไปเพื่อการนี้แล้วใจหาย และเศร้าใจ หากนำเงินเหล่านี้ไปทำกิจกรรม
อย่างอื่นที่ดีกว่า หรือน่าจะมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลมากกว่า จะมีสักกี่คนที่คิดถึงเรื่องนี้  
          นอกจากความล้มเหลวดังทัศนะของผมที่กล่าวแล้วข้างต้น ยังมีนักวิชาการ และนักบริหารระดับสูง
นิยมใช้คำว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน   ต้องการจะให้เกิดสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วทั้งหน่วยงานสถานศึกษาให้เกิด
การพัฒนาที่ต่อเนื่อง ต่อเนื่อง เจริญก้าวหน้าตลอดไป
          จากการคร่ำหวอดอยู่กับวงวิชาการ เห็นการเวียนว่ายตายเกิดของนโยบาย และยุทธศาสตร์ต่าง ๆ
จนเกิดค
วามเชื่อมั่นอันเกิดจากประสบการณ์การทำงานเท่าที่เคยประสบความสำเร็จในการบริหารงาน
ก็ด้วยการ "นิเทศภายใน"
          การนิเทศภายใน จะมีความหมายว่าอย่างไร ผมก็ไม่เชี่ยวชาญพอที่จะให้คำนิยาม แต่พอจะกล่าว
ได้ว่า การนิเทศภายใน ในความหมายของผมคือ การช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานอย่างกัลยาณมิตร
          ในการบริหารงานในโรงเรียนทั้ง 4 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายบริหารทั่วไป  ฝ่ายบริหารวิชาการ ฝ่ายบริหาร
งานการเงินและงบประมาณ  และฝ่ายบริหารงานบุคคล  ผมจะใช้วงจรแห่งความสำเร็จ PDCA   P=Plan
=วางแผน     D=Do=ปฏิบัติ     C=Check=ประเมิน/นิเทศ/กำกับ/ติดตามผล  A=Act=นำผลการ
ประเมิน/นิเทศ/กำกับ/ติดตาม ไปปรับปรุงพัฒนา
           ในการนิเทศ กำกับ ติดตาม การสอนของครู ผมใช้วงจรวิจัยเชิงปฏิบัติการ PAOR ซึ่งผมรู้สึก
สำนึกในพระคุณของท่านอาจารย์ชนิดา  วิสะมิตนันท์  ศึกษานิเทศเชี่ยวชาญ  สพท.สงขลา เขต 1 ที่
ให้ความเมตตาแก่ผม โดยแนะนำวงจรวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้ให้ผมได้รู้จัก และนำไปใช้จริงในการนิเทศ
ภายในโรงเรียนได้อย่างได้ผล  P=Plan=วางแผน  A=Act=ปฏิบัติ    O=Observe=สังเกต
R=Reflect=ให้ข้อมูลย้อนกลับ
            หากการจัดการอบรม ประชุม สัมมนา เสร็จสิ้นที่ระดับนานาชาติ ระดับประเทศ ระดับจังหวัด
ระดับอำเภอ ระดับเครือข่าย หรือแม้แต่ระดับโรงเรียน เมื่อผู้บริหาร/ครูกลับไปถึงโรงเรียน มีการรายงาน
ผลการปฏิบัติงาน ว่าไปทำอะไรมา มีความรู้ประสบการณ์อะไร และจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อที่
โรงเรียน  ให้ผู้บริหารโรงเรียนรับทราบ-ให้การสนับสนุน-สั่งการ แล้วนำมาขยายผลอย่างจริงจัง รวมทั้ง
มีการนิเทศ ติดตามประเมินผลให้เกิดผลสำเร็จโดยใช้หลักการนิเทศแบบเพื่อนช่วยเพื่อน เป็นกัลยาณมิตร
นิเทศ
            ในการจัดการเรียนรู้ก็เช่นกัน หากโรงเรียนจัดระบบการนิเทศภายใน ให้มีกิจกรรมที่หลากหลาย
ในการช่วยเพื่อนครูในการปฏิบัติงานประจำของครู คืองานสอนนั่นเอง มีการเยี่ยมชั้นเรียน มีการส่งงาน
เอกสารธุรการชั้นเรียน มีการประชุมในระดับต่าง ๆ ในโรงเรียน มีการสังเกตการสอน เป็นการประเมินผล
การปฏิบัติงานเชิงประจักษ์ โดยมีแบบนิเทศ ติดตาม ประเมินผล หรือจะใช้เป็นแบบประเมินด้วยก็ไม่เสีย
หายอะไร แล้วให้มีการป้อนข้อมูลย้อนกลับให้ผู้รับการนิเทศ/ประเมินทราบผล ซักถาม เพื่อการเข้าใจที่
ตรงกัน แล้วพิจารณานำข้อมูลไปปรับปรุงพัฒนาการปฏิบัติงานต่อไป 
            หากครูกลับจากการอบรม ประชุม สัมมนา ก็ให้มีการเขียนรายงานผลการปฏิบัติงาน ให้ผู้บริหาร
ได้รับรู้ รับทราบว่าครูไปทำอะไรมา และจะต้องทำอะไรที่โรงเรียน ผู้บริหารและเพื่อนครูจะให้การสนับสนุน
การขยายผลในระดับโรงเรียนอย่างไร  การขยายผลเหล่านี้ สามารถนำวงจรวิจัยเชิงปฏิบัติการมาใช้ในการ
นิเทศภายในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
            ผมได้นำทั้ง PDCA  และ PAOR ไปใช้ในการบริหารและจัดการศึกษา มีการสร้างความตระหนัก
ให้แก่ครู ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา และชุมชน  มีการจัดทำเอกสารคู่มือการนิเทศภายใน
มีการออกแบบเครื่องมือการนิเทศ/ประเมินผลการปฏิบัติงาน มีคณะนิเทศภายในโรงเรียนซึ่งทำหน้าที่
ทั้งนิเทศภายในและประเมินผลการปฏิบัติงาน  3 คณะ ๆ ละ 4 คน โดยมีผมซึ่งเป็นผู้บริหารโรงเรียนเป็น
ประธานกรรมการของทุกคณะ  และในแต่ละคณะให้มีตัวแทนของคณะกรรมการสถานศึกษา ตัวแทน
ผู้ปกครอง และตัวแทนชุมชนอยู่ด้วยคณะละ 1 คน เพื่อมีส่วนร่วมในการบริหารและการจัดการศึกษา
รายชื่อของบุคคลทั้ง 3 เสนอโดยคณะกรรมการสถานศึกษาและคณะกรรมการภาคี 4 ฝ่าย ครับ
            ในฐานะที่ผมเป็นผู้บริหารโรงเรียน มีความตระหนัก และเชื่อมั่นในกระบวนการที่กำลังดำเนินการ
อยู่นี้ ด้วยความมุ่งหวังว่าการบริหารและการจัดการศึกษาของโรงเรียนจะมีคุณภาพที่ดีขึ้น อีกทั้งการที่ใคร
ก็ตามไปประชุม อบรม สัมมนา เมื่อกลับมาโรงเรียนแล้ว จะไม่สูญเปล่า ได้กลับมาทำงานจริงที่โรงเรียน
และเกิดผลจริงต่อกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ
            ผมจึงมีความมั่นใจว่า การนิเทศภายในนี้แหละที่จะแก้ปัญหาการศึกษาได้ระดับหนึ่ง ถึงจะแก้
ปัญหาได้ไม่ทั้งหมดเสียทีเดียว แต่ก็ยังดีกว่าการไปอบรม ประชุม สัมมนา ถลุงเงินภาษีประชาชนจนหมด
แล้วก็จบแค่นั้น การปฏิรูปการศึกษาที่เกิดขึ้นมาในอดีต จึงมีคนกล่าวว่า ล้มเหลว เป็นเพียงทำให้ข้าราชการ
บางกลุ่มมีตำแหน่งสูงขึ้นเท่านั้น แต่คุณภาพ
การศึกษาในปัจจุบันกับแย่ลง.....จริงหรือไม่....ทุกท่านลองคิดดูสิครับ......
            ดังนั้น หากหน่วยงานทางการศึกษา และสถานศึกษาทุกแห่ง ลองยกเรื่องการนิเทศภายในให้
เป็นวาระสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาด้วยอีกเรื่องหนึ่ง ขับเคลื่อนเรื่องนี้สู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง จะเป็น
ตัวส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้น  และเป็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
             สำหรับผลการนิเทศภายในโรงเรียนเป็นอย่างไร ผมจะนำรายงานผลมานำเสนอในโอกาสต่อไป

หมายเลขบันทึก: 289804เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2009 20:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 15:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อุตส่าห์ไปเรียนเอกหลักสูตรและการนิเทศ กลับมา ไม่ได้ใช้เลย

อยากให้โรงเรียนทั่วไทย มีระบบนิเทศภายในที่เข้มแข็งครับ

เพื่อผลสุดท้ายที่นักเรียนทุกคนมีคุณภาพครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท