หมายใด ในพระพุทธรูป


จุดมุ่งหมายที่แท้จริงในการบูชาพระพุทธรูป

ปัจจุบัน ความเคารพนับถือในพระ พุทธรัตนะ ดูเหมือนจะแปรเปลี่ยนไปในคนบางกลุ่ม พระพุทธรูปซึ่งควรเป็นรูปเคารพที่สื่อให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า หรือพระพุทธคุณ กลับถูกเคารพในฐานะรูปศักดิ์สิทธิ์ที่มีฤทธิ์สามารถบันดาลให้ผู้คนสมหวังในสิ่งที่ร้องขอ

ดังเช่นคุณแม่ท่านหนึ่งมีอาชีพรับพยากรณ์ชีวิต เล่าให้ฟังว่า สอนให้ลูกกราบพระพุทธรูป เพราะกราบแล้วได้เงิน แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ลูกยังไม่มีเงินใช้อยู่เลย พอกราบพระเท่านั้น ต่อมาก็มีคนเอาเงินมาให้ถึงบ้าน ทั้งแม่ทั้งลูกกลับมองความปกติของอาชีพว่าเป็นเพราะพุทธคุณบันดาล

การสร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นการระลึกถึงพระพุทธองค์เกิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๔ หรือก็คือหลังจากพุทธปรินิพพานประมาณ ๕๐๐ ปี ในรัชสมัยพระเจ้าเมนันเดอร์ รัชทายาทของอาณาจักรบากเตรีย ( ครองราชย์ปีพ.ศ. ๓๘๔ ๔๐๙ แต่บางตำราว่าปี ๕๐๐ ) พระองค์เกี่ยวข้องกับพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชคือ เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์บุกมาพิชิตตะวันออก ทรงตีได้เมืองใด ก็แต่งตั้งขุนพล หรือพระญาติของพระองค์ปกครองเมืองนั้น พระเจ้าเมนันเดอร์ หรือมินันเดอร์ทรงเป็นทายาทของผู้ที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้แต่งตั้งไว้ในตอนนั้น

เมื่อพระเจ้าเมนันเดอร์ ขึ้นครองราชย์ ทรงกรีฑาทัพบุกอาฟกานิสถาน อินเดีย เข้าตีแคว้นปัญจาบ กาศมีระ คันธาระ ไปตลอดลุ่มแม่น้ำคงคาตอนเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือ แล้วตั้งเมืองสาคละนครเป็นเมืองหลวง

ความที่ทรงปราดเปรื่องทั้งพิชัยสงครามและปรัชญา เมื่อทรงมีอำนาจเหนือภูมิภาคแถบนี้แล้ว โปรดให้เชิญบรรดาคณาจารย์ นักบวชในลัทธิ หรือศาสนาต่างๆเข้าเฝ้าเพื่อโต้ตอบปัญหากันมิได้ขาด วันหนึ่งได้เชิญพระนาคเสนซึ่งเป็นภิกษุในพุทธศาสนาผู้ทรงปัญญาแตกฉานในพระไตรปิฏกและอรรถกถาไปโต้ตอบปัญหาศาสนาและปรัชญากัน คำปุจฉาวิสัชนาของทั้งสองได้ถูกจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร จนเป็นที่รู้จักกันดีในนาม มิลินทปัญหา ( ชาวอินเดียเรียกพระนามพระเจ้ามินันเดอร์เพี้ยนไปเป็น มิลินทะ ส่วนชาวไทยเรียกตามอินเดียอีกที )

หลังการโต้ปัญหา พระเจ้ามินันเดอร์ทรงซาบซึ้งในศาสนาพุทธ จนเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาแทนการนับถือศาสนาแบบพหุเทวนิยม นั่นคือมีเทพเจ้าหลายองค์ เช่น เทพเจ้าแห่งขุนเขา เทพเจ้าแห่งดวงจันทร์ เทพเจ้าแห่งสุริยะ เป็นต้น เมื่อเคารพเทพองค์ใดก็สร้างรูปเคารพของเทพองค์นั้นไว้กราบไหว้ บวงสรวง พระเจ้ามินันเดอร์ ได้โปรดให้ช่าง หรือศิลปินชาวคันธาระ สร้างพระพุทธรูปขึ้นโดยอาศัยรูปปั้นของเทพเจ้าเปาโลเป็นเค้าต้นแบบ ดังนั้นพระพุทธรูปในยุคแรกๆ จึงมีพระพักตร์แบบฝรั่ง เรียกว่าพระพุทธรูปแบบคันธาระ และนั่นจึงเป็นการริเริ่มพุทธประติมากรรมสืบมาจนปัจจุบัน

ศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม ได้ให้ความเห็นไว้ในหนังสือประทีปธรรมถึงการมีพระพุทธรูป ผลดี และผลเสียของการมีพระพุทธรูปไว้ว่า

การสร้างรูปเคารพของพระศาสดาตนนั้น มีประโยชน์หลายประการ เช่น

๑. ทำให้พุทธศาสนิกชนรู้สึกว่าตนได้อยู่ใกล้ชิดพระศาสดา เกิดความอบอุ่นใจ ไม่ว้าเหว่เกินไป แม้พระพุทธองค์จะปรินิพพานไปนานแล้ว

๒. พระพุทธปฏิมาจะทำหน้าที่เป็นอนุสาวรีย์เตือนใจให้ระลึกถึงพระบรมครูและคุณความดีต่างๆของพระองค์ ทำให้เกิดกำลังใจในการทำความดี ทำให้เกิดความละอายใจในการทำชั่ว

๓. ตามปกติ ชาวพุทธจะทุ่มเทศรัทธา แรงงาน ทุนทรัพย์ เวลา และความสามารถทางศิลปกรรมอันสูงส่งให้แก่การสร้างพระพุทธปฏิมา ทำให้พระพุทธรูปกลายเป็นศิลปวัตถุอันล้ำค่า มีความสวยงาม น่าเคารพเลื่อมใส สามารถชักนำจิตใจของผู้ได้พบเห็นให้เกิดศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนาได้

๔. พระพุทธปฏิมาย่อมเป็นโบราณวัตถุอันคงทนถาวร เป็นพยานส่องให้เห็นสภาพการณ์ต่างๆในอดีต นักโบราณคดีจึงได้อาศัยพระพุทธปฏิมาเป็นเครื่องศึกษาประวัติศาสตร์ของชาติได้เป็นอย่างดี

ข้อเสียในการมีพระพุทธปฏิมา

อย่างไรก็ตาม การมีพระพุทธปฏิมาก็มีข้อเสียอยู่บ้าง เพราะคนผู้มีศรัทธามาก มีปัญญาน้อย เมื่อเห็นพระพุทธปฏิมาเข้า แทนที่จะถือว่าเป็นเพียงอนุสาวรีย์ เป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์ กลับถือว่าเป็นพระพุทธองค์เสียเอง เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วก็กราบไหว้บูชา บวงสรวงพระพุทธปฏิมานั้นโดยตรง ถ้านับถืออย่างนี้ พระพุทธปฏิมาแทนที่จะเป็นอนุสาวรีย์เตือนใจให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า กลับเป็นเครื่องขัดขวางไม่ให้เห็นพระพุทธเจ้า เป็นกำแพงมิให้เข้าถึงพระพุทธรัตนะอันแท้จริงที่อยู่เบื้องหลัง

การกราบไหว้พระพุทธรูป จึงมีทั้งข้อดีและข้อเสียดังที่ได้เล่ามา

ลองถามใจเราเองดูนะคะ

ว่าเราควรจะเลือกเคารพพระพุทธรูปกันในรูปแบบไหน ?

........................................................................

อ้างอิง

ศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม ประทีปธรรม สร้างสรรค์บุ๊คส์ ๒๑๗ ซอยสุขุมวิท ๒0 แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพ

นวองคุลี เหตุเกิดหลังพุทธปรินิพพาน วัดสุวรรณประสิทธิ์ คลองกุ่ม บึงกุ่ม กรุงเทพ

หมายเลขบันทึก: 289558เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2009 04:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2013 14:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เพราะสังคมปัจจุบันชอบของปลอมไงขอรับ..

สวัสดีค่ะ คุณณัฐรดา

  • ตาม link มาค่ะ ^^
  • ค่ะ บางคนเลือกกราบไหว้แล้วได้ผลประโยชน์ มัวเมา
  • บางคนกราบเพราะศรัทธาในคำสอน
  • อีกหลายๆ คนกราบไหว้สักการะโดยไม่รู้ความหมาย
  • มีอีกหลายๆ รูปแบบเลยนะค่ะ
  • ((กำลังถามตัวเองอยู่เหมือนกันค่ะ))

 

ท่านพุทธทาสว่าเมืองไทยไสยศาสตร์เยอะครับ

การกราบพระอย่างที่คุณณัฐรดาพูดถึงของสองแม่ลูกนั้นก็เป็นไสยศาสตร์

คนไทยเอาไสยศาสตร์มาพัวพันกับพุทธศาสนาอย่างมาก จนห่างพุทธศาสตร์ทั้งที่กราบพระอยู่

มาร่วมกันแก้ไขแนวคิดที่ไม่ถูกต้องตามสติปัญญาของเรากันนะครับ

สวัสดีครับ คุณณัฐรดา

         เรื่องพระนาคเสน โต้ตอบกับ พระเจ้ามิลินท์ นี่ถูกจริตผมเอามากๆ ที่บ้านมีหลายเล่ม มีเล่มหนึ่งเป็นกลอนด้วย (แต่งโดยพระรูปหนึ่ง - แต่ยังไม่มีเวลาไปอ่านรายละเอียด)

         นำเรื่องที่เคยบันทึกไว้มาเสริมกับบันทึกนี้ครับ เพราะมีส่วนคาบเกี่ยวกันอยู่มากทีเดียว

 

                 ผ้าคลุมโรมัน vs จีวรพระ - ญาติกันนะ..จะบอกให้

      

ซ้าย : ชุดโทกา (Toga) ของชาวโรมัน

ขวา : พระพุทธรูปศิลปะอินเดียแบบคันธารราษฎร์ [สะกดตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542]

ท่าทีของชาวพุทธต่อกสรนับถือพระพุทธรูป   มีหลายแบบครับ

     ทั้งนับถือ    แบบผี   แบบไสยศาสตร์    แบบพราหมณ์

              ส่วนที่เป็นแบบพุทธ จริงๆ  ไม่ค่อยพบครับ

  • ธุค่ะ..

สำหรับต้อม  บางทีเห็นพระพุทธรูปก็จะยกมือไหว้โดยไม่ทันจะรู้ตัวด้วยซ้ำ   ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเคารพเลื่อมใสหรือเคยตัวกันแน่    แอบถามตัวเองอยู่เรื่อยค่ะ

สวัสดีครับคุณณัฐรดา     วันนี้ผมตามมาขอบคุณที่แวะไปเยี่ยม เข้ามาไม่เสียการมีงานศิลปะให้เรียนรู้มากมายเลยครับ 

ท่าน อ.ณัฐพัชร์ เป็นอีกท่านที่เคยให้คำปรึกษาต่างๆและการเรียนอีกมากมาย ขอขอบพระคุณทุกท่านนะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท