ร่วมมืออาเซี่ยนขับเคลื่อนการศึกษาสู่สันติภาพ


การศึกษานำพาสันติสุข

เกริ่นนำ

          ประเทศไทยเป็นหนึ่งในบรรดาสมาชิกสมาคมอาเซียนที่มีบทบาทมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการศึกษาสู่สันติภาพ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้คัดเลือกผู้บริหารโรงเรียน ๒ คน คือ ดร.ปฐมพงศ์ ศุภเลิศ ผู้จัดการโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนายสุคนธ์ แก้วแท้ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษายะลา จังหวัดยะลา  เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมภายใต้กองทุนพัฒนาการศึกษาของซีมีโอ (SEDF) หลักสูตร “Promoting and Exercising a Culture of Peace and Respect for Multicultural  Diversity for School Heads in Southeast Asia”  ณ ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาของซีมีโอ (SEAMEO INNOTECH) ประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาความรู้และทักษะของผู้บริหารสถานศึกษาในด้านการบูรณาการและการส่งเสริมสันติวัฒนธรรมและความไม่รุนแรงในสถานศึกษา ในรูปแบบของการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน การพัฒนาบุคลากรของสถานศึกษา รวมทั้งการบริหารจัดการชั้นเรียนและสถานศึกษา

 

รู้จักศูนย์ซีมีโอ อินโนเทค

ศูนย์ซีมีโอ อินโนเทค มีชื่อเต็มว่าศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาของซีมีโอ
(SEAMEO Regional Center for Educational Innovation and Technology : INNOTECH)

         ศูนย์นี้ตั้งอยู่ที่เมืองเกซอนซิตี้ ประเทศฟิลิปปินส์ ได้ก่อตั้งขึ้นจากความต้องการและความปรารถนาร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อที่จะส่งเสริมการพัฒนาด้านนวัตกรรมทางการศึกษา ศูนย์ได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2510 และที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของซีมีโอ เมื่อปี พ.ศ. 2511 ได้มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งศูนย์ดังกล่าวที่ประเทศเวียดนาม โดยมีระยะปฏิบัติการชั่วคราว ระหว่างปี พ.ศ. 2513 – 2519 ภายหลังจากสถานการณ์วุ่นวายทางการเมืองในเวียดนาม ได้มีการย้ายที่ทำการชั่วคราวมาอยู่ที่กรุงเทพฯ และได้ย้ายไปที่สิงคโปร์ ไซ่ง่อน และกลับมาที่กรุงเทพฯ และในที่สุดได้ย้ายที่ทำการถาวรมาอยู่ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะชี้ให้เห็นถึงปัญหาทางด้านการศึกษาในภูมิภาค และช่วยเหลือประเทศสมาชิกของซีมีโอในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น โดยส่งเสริมนวัตกรรมพัฒนาวิธีการแก้ไขรูปแบบ และสำรวจการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีทางด้านการศึกษาที่มีอยู่ตามความเหมาะสม โดยมีหน้าที่

ที่จะต้องปฏิบัติดังนี้
-
สร้างและพัฒนาแนวทางใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่การศึกษาโดยจะต้องมีความเหมาะสมกับประเทศสมาชิกของซีมีโอด้วย
-
ส่งเสริมดำเนินการวิจัยและการทดสอบเกี่ยวกับปัญหาที่มีร่วมกันภายในภูมิภาค
-
ฝึกอบรมบุคลากรหลังจากประเทศสมาชิกเพื่อดำเนินการดังกล่าวข้างต้น โดยการจัดหลักสูตรฝึกอบรม ประชุมปฏิบัติการ สัมมนา และกิจกรรมอื่นๆ

 


กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

          การฝึกอบรมครั้งนี้ได้มีสมาชิกกลุ่มอาเซี่ยน 10 ประเทศส่งส่งตัวแทนเข้าร่วมกิจกรรมการอบรมประเทศละ 2 คน โดยแบ่งกิจกรรมการอบรมเป็น 3 ระยะ ได้แก่

          - ระยะที่ 1 อบรมแบบ Online (ก่อนหลักสูตร) ระหว่างวันที่ 1-14 กรกฎาคม 2552 ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต โปรแกรม iFlex เนื่องจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้โลกเปิดรับกับแนวทางใหม่ๆ ในการให้การศึกษาจึงเชื่อมั่นว่าทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา ซึ่งสามารถแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งกันและกันและเป็นสาขา ความชำนาญของศูนย์อินโนเทค โดยประเทศสมาชิกจะได้รับประโยชน์จากการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อลดช่องว่างในเรื่องคุณภาพและความเสมอภาคทางการศึกษาได้เป็นอย่างดี

                ระยะที่ 2 เข้ารับการฝึกอบรมที่ศูนย์ซีมีโอ อินโนเทค ประเทศฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม 2552 ถึง 11 สิงหาคม 2552 โดย Dr. Erlinda C. Pefianco ผู้อำนวยการศูนย์อินโนเทค ได้เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมและบรรยายพิเศษ มีสาระสำคัญกล่าวถึงแผนปฏิบัติการประชาคมสังคมวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio Cultural Community: ASCC) กล่าวถึงมุ่งหมายในการส่งเสริมความสมานฉันท์ที่ยั่งยืนระหว่างประเทศและประชาชนในอาเซียน ร่วมมือสร้างชุมชนแห่งความเอื้ออาทร ที่มีวัฒนธรรมการพึ่งตัวเองบนบรรทัดฐานและค่านิยมร่วมกัน เพื่อก่อตั้งสายใยแห่งความผูกพันและความเข้มแข็งทางด้านประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกันระหว่างประเทศและประชาชาติในภูมิภาคนี้

          สำหรับการฝึกอบรมครังนี้สมาชิกผู้เข้ารับการอบรมทั้งหมด 10 ประทศ จำนวน 20 คน ได้มีการระดมสมอง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้อย่างหลากหลายเกี่ยวกับการส่งเสริมสันติวัฒนธรรมและความไม่รุนแรงในสถานศึกษา ในรูปแบบของการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน การพัฒนาบุคลากรของสถานศึกษา รวมทั้งการบริหารจัดการชั้นเรียนและสถานศึกษา ผ่านกระบวนการการสื่อสาร การยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม และนำไปสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการในการส่งเสริมสันติวัฒนธรรม เป็นต้น

ระยะที่ 3 อบรมแบบ Online (หลังจบหลักสูตรการฝึกอบรมแล้ว โดยการนำไปปฏิบัติและประเมินผล) ระหว่างวันที่ 9-30 กันยายน 2552

 

ถอดบทเรียนจากกลุ่มสมาชิกอาเซียน

          การเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสดีที่ผู้แทนประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกันอย่างใกล้ชิด ทั้งในและนอกสถานที่ ตลอดระยะเวลา 15 วันบนผืนแผ่นดินประเทศฟิลิปปินส์ ทำให้ได้รับประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจอันดีตลอดจนความรักความสามัคคี

และการสานต่อสัมพันธไมตรีระหว่างมิตรประเทศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวปฏิบัติที่เป็นแบบอย่าง

ที่ดีจากการจัดกิจกรรมการอบรมครั้งนี้ มีดังนี้

          1. การแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลระบบออนไลน์ โปรแกรม iFlex ทำให้การติดต่อสื่อสารใกล้ชิดเสมือนการพบปะพูดคุยกันในสถานการณ์จริง เพราะได้สื่อสารทั้งด้านภาษา และมองเห็นใบหน้าของคู่สนทนาด้วย  ทั้งนี้สามารถประยุกต์ใช้ในด้านการศึกษาได้เป็นอย่างดี

          2. การจัดกิจกรรมการจัดการความรู้ (KM: Knowledge Management) โดยใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  (Share & Learn) การสะกัดขุมความรู้ (Capture) และการต่อยอดองค์ความรู้นำไปสู่การประยุกต์ใช้ (Application) ในหน่วยงาน สถานศึกษา

          3. การจัดกิจกรรมการติดตรามประเมินผลภายหลังจากการฝึกอบรม   เมื่อสมาชิกได้นำแผนปฏิบัติการไปปฏิบัติแล้ว ให้มีการสะท้อนป้อนกลับข้อมูลทั้งในแง่สภาพปัจจุบัน ปัญหาอุปสรรคและผลสำเร็จในการดำเนินงาน เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างและนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

 

ข้อเสนอแนะ

          เพื่อให้การดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวมีความต่อเนื่องและยั่งยืน มีข้อเสนอแนะดังนี้

          1. ระดับนโยบาย ได้แก่สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ ควรได้ให้การสนับสนุนงบประมาณ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดอบรม สัมมนาครูและผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อขยายผล

การจัดกิจกรรมการศึกษาเพื่อสันติภาพ ในโอกาสต่อไป

          2. ระดับปฏิบัติ ได้แก่หน่วยงาน สถานศึกษาโดยพาะอย่างยิ่งสถานศึกษาที่ส่งผู้แทนเข้ารับการอบรมครั้งนี้ควรจะได้มีการบรรจุแผนงาน โครงการ กิจกรรมเกี่ยวกับสันติศึกษาไว้ในแผนยุทศาสตร์และแผนปฏิบัติการประจำปี เพื่อช่วยให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีระบบและยั่งยืน ทั้งนี้จะต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร คณะครูอาจารย์ ผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายด้วยดี

 

 

หมายเลขบันทึก: 288690เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2009 12:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท