ความรับผิดชอบสำคัญอย่างไร


ปัญหาเด็กและเยาวชน

ความรับผิดชอบสำคัญอย่างไร

          สถานการณ์ปัญหาเด็กในสังคมไทยนับวันจะรุนแรงมากขึ้น ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่แข่งขันกันอย่างเสรี ต่อสู่กันทางการตลาด กระตุ้นและเร่งเร้าให้ผู้คนนิยมการบริโภคผ่านสื่อเทคโนโลยีต่างๆ รวมทั้งวัฒนธรรมในยุคโลกาภิวัตน์ทำให้โครงสร้างของสังคมไทยอ่อนแอ ต้นทุนทางสังคม ศาสนา ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมไทย ที่เป็นเอกลักษณ์แสดงให้เห็นความเป็นตัวตนของไทยถูกละเลยและถูกปฏิเสธจากเด็กและเยาวชน เด็กและเยาวชนส่วนหนึ่งจึงได้รับการหล่อหลอมจากบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้เยาวชนมีพฤติกรรมที่เบี่ยงแบนเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายและศิลธรรมอันดีงาม มีค่านิยมที่ไม่พึงประสงค์ ขาดคุณธรรม จริยธรรม ในเรื่องความรับผิดชอบ ขาดระเบียบวินัย ความขยันหมั่นเพียรและความซื่อสัตย์  พ่อ แม่ ผู้ปกครองไม่มีเวลาอบรมเลี้ยงดูบุตรหลาน สถาบันครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปตามโลกาภิวัตน์ทำให้ความสัมพันธ์ของครอบครัวลดน้อยลง ขาดการเอาใจใส่และละเลยในการปลูกฝังเรื่องคุณธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีที่ดีงามของสังคมไทยให้กับเยาวชนเหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็ก

          การศึกษามีหน้าที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนคนในชาติปลูกฝังและสร้างความรับผิดชอบ ให้เกิดขึ้นกับเยาวชนด้วยกระบวนการทางการศึกษาเพื่อลดปัญหาและเพิ่มความสุขให้เกิดขึ้นในสังคม การศึกษามีบทบาทในการพัฒนาเด็กและเยาวชนอยู่ 6 บทบาทคือ

1.                                     การบังคับ ควบคุม (Custodial Function) เพื่อให้เยาวชนรุ่นใหม่อยู่ในกรอบ กฎเกณฑ์ของสังคมโดยใช้วิธีการที่แตกต่างกันไปตามความแตกต่างของวัย

2.                                     การสร้างเอกลักษณ์ประจำชาติ (Creating a national identity Function) การศึกษาต้องพัฒนาให้เยาวชนเกิดความรู้สึกและประสบการณ์ร่วม เพื่อทำให้เกิดความผูกพัน ความรู้สึกเป็นเจ้าของและรับผิดชอบต่อประเทศชาติ

3.                                     การพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ( The shilling Function) ให้ความสำคัญกับทักษะการดำรงชีวิต การพัฒนาทักษะการทำงานเพื่อการทำงานตามความต้องการของภาคเศรษฐกิจ

4.                                     การสร้างและคัดสรรคุณภาพของคน (The credentialing Function) เพื่อตอบสนองต่อการเข้าสู่ตำแหน่งงานและสถานภาพทางสังคม

5.                                     การคัดสรรความรู้ จัดระบบองค์ความรู้ (Knowledge Function) คือการพิจารณาคัดสรรความรู้ของสังคมมาสร้างเป็นหลักสูตร

6.                                     การถ่ายทอดความรู้ของสังคม ( The selecting organizing and transmitting of public)

ดังนั้น การศึกษามีพลังในตัวเองที่จะสร้างสรรค์และกำหนดบทบาทการพัฒนา เด็ก และเยาวชน ด้วยกระบวนการการบังคับควบคุม การสร้างเอกลักษณ์ประจำชาติ การพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิต การสร้างและคัดสรรคุณภาพของคน การจัดองค์ความรู้ และการถ่ายทอดทางสังคม เพื่อเด็กและเยาวชน คนในชาติให้เกิดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามต้องการได้

ในการที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กนั้นต้องมุ่งให้เด็กสามารถควบคุมตนเองและรู้จักปกครองตนเองได้  โรงเรียนต้องมีกระบวนการในการสอนทักษะทางสังคมและพฤติกรรมให้แก่ผู้เรียนอย่างเป็นระบบ  ต้องปลูกฝังแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องให้แก่นักเรียน ให้นักเรียนมีการปรับตัวที่ดี  และต้องดูแล ป้องกัน ควบคุมและแก้ไข พฤติกรรมที่เป็นปัญหาของเด็กนักเรียน ด้วย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบต่างๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาบุคลิกภาพที่ดีของนักเรียนให้ควบคุมตนเองและปฏิบัติตามกฎระเบียบ กติกาของสังคมได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ลดปัญหาในด้านความประพฤติของเด็กนักเรียนได้

ความรับผิดชอบ เป็นลักษณะของความเป็นพลเมืองที่ดีที่สำคัญอย่างหนึ่ง ความรู้สึกรับผิดชอบ เป็นลักษณะนิสัยและทัศนคติของบุคคลซึ่งเป็นเครื่องผลักดันให้เกิดการปฏิบัติตามระเบียบ เคารพสิทธิของผู้อื่น ทำตามหน้าที่ของตนเองและมีความซื่อสัตย์สุจริต การที่บุคคลมีลักษณะความผิดชอบ จะช่วยให้การอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นไปด้วยความราบรื่น สงบสุข นอกจากนี้ความรับผิดชอบยังเป็นคุณธรรมที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ

หากคนในชาติมีความรับผิดชอบจะเกิดผล ดังนี้

-                   คนที่มีความรับผิดชอบย่อมทำงานทุกอย่างสำเร็จตามเป้าหมายได้ทันเวลา

-                   คนมีความรับผิดชอบย่อมเป็นที่นับถือ ได้รับการยกย่อง สรรเสริญและเป็นประโยชน์ต่อตนเองและต่อสังคม

-                   ความรับผิดชอบเป็นสิ่งเกื้อหนุนให้บุคคลปฏิบัติงานสอดคล้องกับกฎหมาย คุณธรรม จริยธรรม และหลักเกณฑ์ของสังคม โดยไม่มีการบังคับจากผู้อื่น

-                   คนที่มีความรับผิดชอบ จะไม่นำความเสื่อมเสียและสร้างความเสียหายแก่ตนเองและสังคม

-                   คนที่มีความรับผิดชอบจะทำให้เกิดความก้าวหน้าสงบสุข ต่อตนเองและสังคม

-                   คนที่ขาดความรับผิดชอบ ย่อมจะไม่ได้รับความไว้วางใจในการทำงานสำคัญใดๆและมักจะได้รับคำตำหนิในการทำงาน

-                   คนที่ขาดความรับผิดชอบ จะเป็นคนเฉื่อยชาไม่สามารถแก้ไขอุปสรรคใดๆได้ ต้องพึ่งผู้อื่นอยู่เสมอ กลายเป็นคนไม่มีความสามารถ และไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง

-                   คนที่ขาดความรับผิดชอบ มักจะทำงานใดๆไม่บรรลุจุดหมาย ไม่ทันเวลา

-                   คนที่ขาดความรับผิดชอบ ไม่ก่อให้เกิดความก้าวหน้าในสังคม ทำให้สังคมวุ่นวายไม่เรียบร้อย ไม่มีระเบียบ

สรุปได้ว่า ความรับผิดชอบ มีความสำคัญ และเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม ดังนี้

1.             คนที่มีความรับผิดชอบ เป็นคนที่มีศักยภาพที่ดี

2.             คนที่มีความรับผิดชอบ เป็นคนที่สมรรถนะที่ดี(Based Competency)

3.             คนที่มีความรับผิดชอบ เป็นคนที่มีความกระตือรือร้นในการปฏิบัติงานเสมอ

4.             คนที่มีความรับผิดชอบ เป็นคนที่มีการวางแผนที่ดี

5.             คนที่มีความรับผิดชอบ เป็นคนที่ตรงต่อเวลา

6.             คนที่มีความรับผิดชอบ เป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ที่ดี

7.             คนที่มีความรับผิดชอบ เป็นคนขยันหมั่นเพียร

8.             คนที่มีความรับผิดชอบ เป็นคนมุ่งมั่นและมีเป้าหมายในการทำงาน

9.             คนที่มีความรับผิดชอบ มีความเชื่อมั่นในตนเอง

10.      คนที่มีความรับผิดชอบ เป็นคนมองโลกในแง่ที่ดีเสมอ

11.      คนที่มีความรับผิดชอบ จะเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

12.      คนที่มีความรับผิดชอบเป็นคนน่าเชื่อและมีคุณค่าในสังคม

13.      คนที่มีความรับผิดชอบจะได้รับความไว้วางใจจากผู้อื่น

14.      คนที่มีความรับผิดชอบสามารถดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีความสุขตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

15.      คนที่มีความรับผิดชอบเป็นคนที่มีระเบียบวินัยต่อตนเองและสังคม

16.      คนที่มีความรับผิดชอบเป็นคนซื่อสัตย์ ซื่อตรง ต่อตนเองและสังคม

17.      คนที่มีความรับผิดชอบเป็นคนที่มีความยุติธรรม

18.       คนที่มีความรับผิดชอบเป็นคนที่มีความเป็นประชาธิปไตย

19.      คนที่มีความรับผิดชอบเป็นคนที่มนุษยสัมพันธ์ดีกับทุกคน

20.      คนที่มีความรับผิดชอบเป็นคนที่มีชีวิตที่สงบสุข

21.      คนที่มีความรับผิดชอบเป็นคนที่พบความสำเร็จในชีวิต

          จะเห็นได้ว่าความรับผิดชอบ มีความสำคัญมากเพราะจะทำให้มนุษย์อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขประเทศชาติเจริญก้าวหน้า และสังคมโลกเกิดความสันติสุขอย่างถ้วนหน้าดังนั้นโรงเรียน ครู และบุคลากรต่างๆซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางการศึกษา จึงต้องแสดงบทบาทและความรับผิดชอบในการสร้างเด็ก เยาวชนและคนในชาติให้เป็นคนที่มีความรับผิดชอบต่อตนเอง และสังคมส่วนรวม อย่างจริงจัง

 

เรียบเรียงจากวารสารวิทยาจารย์ ปีที่ 107 ฉบับที่12 เดือนตุลาคม 2551

 

หมายเลขบันทึก: 286032เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2009 01:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

พี่ก็ว่าความรับผิดชอบสำคัญครับ

หากว่าเราไม่มีความรับผิดชอบก็จะขาดความน่าเชื่อถือด้วยเช่นกันคะ "สาวโรงงาน"

จะนำหลักในความรับผิดชอบต่างๆมาเป็นหลักในการทำงานค่ะ

สำคัญที่สุด หากทุกคนมีความรับผิดชอบในตนเอง ประเทศชาติคงเจริญ เกี่ยวกันมั้ย!

คนที่มีความรับผิดชอบ จะประสบความสำเร็จจ้ะ

เป็นการนำเสนอบทบาทของความรับผิดได้ดี...เลยค่ะ

ดี


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท