๑๕ ข้อความจริงเกี่ยกับเรตติ้ง


เรตติ้งเชิงความรู้ เรตติ้งเชิงต้องห้าม เรตติ้งเชิงปริมาณ และการแยกแยะประเภท
พยายามนึกถึงบทนำของบทความชิ้นนี้อยู่นาน ไม่รู้ว่าจะเริ่มตนเขียนอย่างไร เขียนแล้วลบ ลบแล้วเขียนอยู่หลายรอบ พยายามที่จะเกริ่นนำว่า บทความชิ้นนี้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อให้ผู้อ่านรู้ว่า ประเทศไทยมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรตติ้งอย่างไรบ้าง พยายามที่จะบอกว่า เรตติ้งในทิศทางใหม่เพื่อสะท้อนการศึกษาและการเรียนรู้ควรเป็นอย่างไร โดยพยายามอย่างยิ่งที่จะแถลงไขข้อความจริงทั้งหมดที่เกี่ยวกับปัญหาเรตติ้งที่ได้ประสบพบเห็นในระหว่างการทำงาน และพยายามที่จะบอกว่า แท้จริงแล้ว ภาคประชาชนเป็นเจ้าของเรตติ้ง ไม่ใช่ภาคธุรกิจ ไม่ใช่ภาครับ และเรายังต้องสร้างกลไกในการทำงานเพื่อผลักดันให้ภาคประชาชนรู้ เข้าใจ และใช้เรตติ้ง ด้วยตนเอง ดังนั้น จึงพยายามเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นเพื่อตอบคำถามและให้สังคมได้เรียนรู้ในข้อสงสัยหลักๆที่สังคมมักตั้งคำถาม
๑. นิยามเรตติ้ง แท้จริงคืออะไร ???
          ในอดีตที่ผ่านมา เรตติ้ง ถูกนิยามความหมายในสองลักษณะ กล่าวคือ เรตติ้งแปลว่า เนื้อหาต้องห้ามที่ผ่านกระบวนการพิจารณากลั่นกรองเนื้อหาจากคณะกรรมการชุดหนึ่ง (ซึ่งเดิมก็คือ คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ หรือ กบว.) ซึ่งจะทำหน้าที่กลั่นกรองเนื้อหาที่จะออกอากาศ และอีกลักษณะหนึ่งก็คือ เรตติ้งเป็น สัญลักษณ์ของระดับคะแนนความนิยมของผู้บริโภค ซึ่งหากรายการใดมีจำนวนคนดูมาก ก็จะแทนค่าด้วย เรตติ้ง สูง (หรือเรียกอีกย่างหนึ่งว่า ได้กล่องมาก) ซึ่งทำการสำรวจโดยบริษัทเอกชนรายใดรายหนึ่ง กรณีคือ เรตติ้งเชิงเศรษฐกิจ (Business Rating) ที่เน้นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่สามารถสะท้อนได้จาก ปริมาณคนดู ยิ่งมีคนนิยมมาก เรตติ้งยิ่งดี การสนับสุนนจากสปอนเซอร์ยิ่งมากทวีคูณ
สรุปได้ว่า สังคมไทยนับแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน หากพูดคำว่า เรตติ้ง จะแสดงความหมายในทางต้องห้ามหรือเซ็นเซอร์ และแสดงความหมายว่า รายการนี้มีคนดูมากน้อยเพียงใด เท่านั้น
๒. แล้วนิยามดังกล่าวมีปัญหาอะไร ???
          และด้วยความเข้าใจถึงเรตติ้งในความหมายดังกล่าว ทำให้เกิดข้อสงสัย ก็คือ เกณฑ์ในการต้องห้ามของคณะกรรมการนั้น มีความชัดเจนและมีมาตรฐานที่ยอมรับได้ของสังคมได้เพียงใด จำนวนของกลุ่มตัวอย่างที่เก็บคะแนนระดับความนิยม คือใคร มีความคลอบคลุมหรือไม่ ซึ่งคำถามนี้เป็นคำถามสำคัญ เพราะหากลองถามคนทั่วไปว่า ที่บ้านมีกล่องสำรวจของบริษัทเหล่านี้หรือไม่ ก็จะได้คำตอบว่า ไม่มี เป็นหลัก
          และด้วยระดับความนิยมเชิงปริมาณ หรือ เรตติ้งเชิงปริมาณ เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของสถานีว่า รายการนั้นๆจะอยู่หรือไปจากสถานี ทำให้รายการส่วนใหญ่พยายามสร้างรายการที่ตอบสนองต่อจำนวนคนดู และพยายามจนกระทั่งเนื้อหารายการไม่ได้ตอบสนองต่อการเรียนรู้สำหรับคนในสังคม นั่นคือ เน้นสนุก ไม่เน้นเนื้อหาสาระ จนวันนี้สามารถกล่าวได้อย่างเต็มที่ว่า รายการไร้สาระ
๓. ถึงเวลาแล้วหรือยังสำหรับเรตติ้งระบบที่สาม ว่าด้วย เนื้อหาความรู้ ???
          ด้วยระบบเรตติ้ง (ตามความเข้าใจของสังคมไทยในเวลานั้น) ถูกจำกัดด้วย ระบบต้องห้าม และระบบปริมาณ ทำให้รายการโทรทัศน์เน้นความบันเทิงจนลืมการลื่อสารเพื่อสร้างประโยชน์ด้านการศึกษา และการเรียนรู้ที่จะต้องสื่อสารให้กับมนุษย์ในสังคม จนกระทั่ง ข่าวคราวของเด็กนักเรียกที่นำปืนไล่ยิงเพื่อนร่วมโรงเรียน ซึ่งเบื้องหลังของการกระทำก็คือ การได้รับอิทธิพลด้านความรุนแรงจากสื่อโทรทัศน์และนำมาเลียนแบบ
          และในความเป็นจริงแล้ว ผลกระทบของสื่อ สามารถเป็นเครื่องมือในการสร้างสุขภาวะให้กับมนุษย์ในสังคมได้ และในขณะเดียวกัน สื่อก็สามารถเป็นเครื่องมือในการสร้างทุขภาวะให้กับสังคมได้เช่นเดียวกัน และจากสถานการณ์ดังกล่าว ประกอบกับการอธิบายเชิงพฤติกรรม จิตวิทยา นิเทศศาสตร์ ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า สื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างทุขภาวะให้กับสังคมมากกว่าสุขภาวะ
          หลังจากวันนั้นเอง หลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถาม ถึง คุณภาพของเนื้อหา ที่ไม่ได้เน้นเชิงเศรษฐกิจ (Non-Business Rating) แต่เน้น เนื้อหาสาระในรายการโทรทัศน์ จนกระทั่ง คณะรัฐมนตรี ได้จัดทำ มติ ครม. ว่าด้วยการใช้สื่อของรัฐเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว[1] หลังจากนั้นเป็นต้นมา ความพยามยามในการสร้างเกณฑ์ชี้วัดคุณภาพเนื้อหารายการโทรทัศน์ ที่เป็นมาตรวัด ถึง คุณภาพเชิงการศึกษาและการเรียนรู้ เพื่อจะนำมาซึ่ง สุขภาวะในสังคม จึงเป็น โจทย์ที่สังคมต้องรีบสร้างคำตอบให้กับสังคมอย่างไม่ชักช้า
๔. เรตติ้ง นำเข้าจากต่างประเทศที่มีอยู่แล้วไม่ได้หรือ ???
          ด่านแรกของการตั้งคำถามจาก ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนารายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว โดยเฉพาะ ภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ผลิต ผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ เอเยนซี่ ก็คือ ทำไมไม่นำเรตติ้งจากต่างประเทศเข้ามาใช้กับประเทศไทยเลย??? คำตอบในเรื่องนี้ที่ปฏิเสธการนำเข้าเรตติ้งจากต่างประเทศ มี ๒ เหตุผล ก็คือ เหตุผลแรก เรตติ้งที่มีอยู่ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ดูผิวเผินจะมีความคล้ายกันในส่วนของ รหัส เช่น TVY TVY-7 TV-PG TV-M แต่เมื่อมาพิจารณาในรายละเอียดแล้วปรากฏว่า มีความแตกต่างกัน ซึ่งสามาระอธิบายด้วยเหตุผลพื้นฐานง่ายๆว่า สังคมในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ดังนั้น รายละเอียดของรหัสเหล่านั้นจึงมีเบื้องหลังของการกำหนดบนพื้นฐานของสังคมที่ต่างกัน หมายความว่า รายละเอียดดังกล่าวก็จะแตกต่างกันกับสังคมไทย เหตุผลประการที่ ๒ รหัส ดังกล่าว ไม่ได้สะท้อนถึง คุณภาพของเนื้อหาที่ต้องการสร้างภาวะของการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว รหัส ดังกล่าว เป็นเพียงการแยกแยะประเภทของรายการว่า รายการใดเหมาะสำหรับคนอายุเท่าใด ซึ่ง การจำแนกรายการดังกล่าว ใช้เกณฑ์ด้านการต้องห้าม จากเรื่อง ภาษา ความรุนแรง และเรื่องเพศ ดังนั้น รหัสดังกล่าว ไม่ได้เอื้อต่อความพยายามในการสร้างเกณฑ์ชี้วัดคุณภาพเนื้อหาเชิงความรู้
๕. อะไรนะ ๖+๑” ???
           หลังจากทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ เกณฑ์ในการชี้วัดคุณภาพของเนื้อหารายการโทรทัศน์ โดยวิธีการในการศึกษาวิจัย นั้นวางอยู่บนพื้นฐานของ การให้สังคมมีส่วนร่วมในการแสวงหาความรู้ พัฒนาความรู้ โดยให้นักวิจัยและพัฒนาสกัด ความรู้ที่ได้จากการค้นคว้าผ่านตำรา เอกสาร ทั้งในและต่างประเทศ และที่สำคัญ สกัดความรู้ที่ได้จากการทำห้องทดลองเชิงปฏิบัติการ หรือ Rating Lab โดยแบ่งการทดลองเป็น ๓ รอบ รอบที่ ๑ ให้ผู้ร่วมทดลองดูรายการโทรทัศน์ตัวอย่าง และให้ระดับคะแนนเป็น สีขาว สีเทา และ สีดำ รอบที่ ๒ ร่วมกันค้นหานิยามของสีขาว สีเทา และสีดำ และรอบที่ ๓ ร่วมกันค้นหาเกณฑ์ในการชี้วัดระดับสีทั้งสาม และในที่สุดจากการทำงานห้องทดลองกว่า ๖ ครั้ง ทั้งในกลุ่มเด็ก เยาวชน ครอบครัว กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มสถานีโทรทัศน์ ทำให้ เราค้นพบว่า เกณฑ์ในการชี้วัดคุณภาพเนื้อหารายการโทรทัศน์ มีอยู่ด้วยกันสองเกณฑ์หลัก กล่าวคือ เกณฑ์ด้านความรู้ และเกณฑ์ด้านต้องห้าม
          เกณฑ์ด้านความรู้ ๖ เรื่อง เป็นเครื่องชี้วัดถึงคุณภาพด้านการศึกษาและการเรียนรู้ซึ่งสื่อโทรทัศน์ จะต้องตอบสนองให้กับสังคม ประกอบด้วย ๖ เรื่อง นั่นคือ ๑) การพัฒนาด้านระบบคิด สติปัญญา ๒) การพัฒนาความรู้ความสามารถด้านวิชาการ ๓) การพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ๔)การพัฒนาความรู้รอบตัว ทักษะในการใช้ชีวิต ๕) การพัฒนาเติมเต็มความหลากหลายทางสังคม วัฒนธรรม ชนชั้น เพศ และ ๖) การพัฒนาความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและสังคม
          และเกณฑ์ด้านการต้องห้าม ถูกวางอยู่บนหัวเรื่อง ๓ เรื่อง นั่นคือ ๑) เรื่องเพศ (เช่น การแสดงออกไม่สมควรทางเพศ การเหยียดเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น) ๒) เรื่องภาษา(ใช้ภาษาผิด ใช้ภาษาหยาบคาย ล่วงละเมิด เป็นต้น) และ ๓) เรื่องพฤติกรรม (พฤติกรรมไม่เหมาะสมที่ผิดศีลธรรม พฤติกรรมไม่เหมาะสมที่ผิดกฎหมาย พฤติกรรมที่นำเสนอถึงความรุนแรงต่อตนเอง ผู้อื่น วัตถุ)
๖. การชั่งนำหนัก ๖+๑ เอามาบวกลบเชิงคณิตศาสตร์ หรือ ว่า เป็นเครื่องชี้วัดคนละตัว ???
          คำถามนี้เกิดขึ้นมาในภายหลัง หลังจากที่เราพยายามสร้างระบบการชี้วัดคุณภาพของเนื้อหารายการโทรทัศน์ เมื่อนักวิจัยได้ค้นพบแล้วว่า เกณฑ์ในการชี้วัดคุณภาพเนื้อหารายการโทรทัศน์ชี้วัดด้วยทฤษฎี ๖+๑ หลายคนเริ่มนำเกณฑ์ความรู้ใน ๖ เรื่อง มาบวกลบคูณหารกับเกณฑ์ต้องห้าม ตามสูตรคณิตศาสตร์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เกณฑ์ทั้งสองระบบนั้น เป็นเครื่องชี้วัดใน ๒ ก้อน กล่าวคือ รายการใดจะได้ชื่อว่าเป็นรายการที่มีเนื้อหาในทางส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว จะต้องใช้เกณฑ์ความรู้ใน ๖ เรื่องมาพิจารณา
          แต่เมื่อจะพิจารณาว่า รายการดังกล่าวสามารถออกอากาศได้ในช่วงเวลาใด เป็นรายการที่มีเนื้อหาต้องห้ามถึงขนาด และไม่เหมาะกับผู้ชมในช่วงอายุเท่าใด จะต้องหันมาใช้เกณฑ์ด้านต้องห้าม ซึ่งมีอยู่ ๓ มิติ
          นั่นหมายความว่า ในการพิจารณาคุณภาพเนื้อหารายการโทรทัศน์ จะต้องพิจารณาในสองมิติเพื่อแสดงคุณค่าในทิศทางของความรู้ ต้องใช้ มิติของความรู้ ๖ ประการในการพิจารณา และในการพิจารณาทิศทางของการห้าม ก็ใช้ มิติของเนื้อหาต้องห้าม ๑ ประการในการพิจารณา ประกอบกัน แต่ไม่ได้หมายความว่า นำ ๖ มาหักลบกับ ๑ ด้วยวิธีการทางคณิตศาสตร์
๗. Rating Lab[2] ยุทธศาสตร์เพื่อนำมาสู่ การแบ่งแยกประเภทรายการ แบ่งช่วงเวลา และสำรวจพฤติกรรมของเด็ก เยาวชน ครอบครัว และคนในสังคมไทย ได้อย่างไร ???
          ปัญหาที่เราตระหนักและให้ความสำคัญ ก็คือ ระบบเรตติ้ง เพื่อให้เกณฑ์ชี้วัดคุณภาพเนื้อหา ได้รับการปฎิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกลไกที่สำคัญที่จะเข้ามามีบทบาทในฐานะของเจ้าของเสียงสะท้อน ที่เป็นคนชี้วัดคุณภาพของเนื้อหา (ที่สามารถกำหนดทิศทางของเนื้อหารายการโทรทัศน์ได) นั่นหมายความว่า เราต้องการการมีส่วนร่วมของสังคมที่จะเข้ามามีบทบาทในการพิจารณาคุณภาพเนื้อหารายการโทรทัศน์ (ซึ่งจำแนกได้เป็น ๓ กลุ่ม กล่าวคือ กรรมการกลาง ที่ประกอบด้วย ผู้แทนผู้ทรงคุณวุฒิจากฝ่ายต่างๆ กรรมการภาคประชาสังคม ที่ประกอบด้วย เครือข่ายเฝ้าระวังสื่อ และ กรรมการภาคประชาชนทั่วไป)
          และที่สำคัญไปกว่านั้น ความพยายามแบ่งแยกประเภทรายการ ซึ่งเหมาะสมกับคนในวัยใด (ช่วงวัย) เพื่อนำมาซึ่ง การกำหนดเวลา (ช่วงเวลา)ในการออกอากาศ ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ซึ่งโจทย์ในข้อนี้ เราต้องหาคำตอบว่า พฤติกรรมของการดูโทรทัศน์ของเด็ก เยาวชน ครอบครัว คนในสังคมไทย เป็นอย่างไร กลุ่มอายุแต่ละกลุ่มมีพฤติกรรมในการดูรายการในช่วงเวลาใด (ซึ่งในปัจจุบันไม่มีคำตอบจากงานวิจัยใดๆ)
          เพื่อตอบปัญหานี้ เราจำเป็นต้องสร้าง ห้องทดลองเชิงปฏิบัติการเคลื่อนที่ ๕ ภูมิภาค ในการสำรวจแนวคิดเกี่ยวกับการจำแนกรายการโทรทัศน์ โดยใช้ทฤษฎีเรื่อง สี (สีขาว สีเทา และสีดำ) ผลที่สุดจาก แบบสำรวจที่สำรวจความคิดเห็นจากรายการตัวอย่างจะได้ความชัดเจนว่า รายการ(ตัวอย่าง)ใด ที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไทย พิจารณาและมีแนวคิดว่าเป็นสีขาว สีเทา หรือ สีดำ ย่อมแสดงให้เห็นว่า รายการนี้เหมาะสำหรับใคร อายุเท่าใด
          มากไปกว่านั้น หัวใจสำคัยของระบบเรตติ้งเชิงคุณภาพนี้ก็คือ การให้ภาคประชาสังคมทุกภูมิภาคเป็นเจ้าของเสียงเรตติ้งเชิงคุณภาพ โดยให้กลุ่มอาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวัง ตลอดจน เครือข่ายภาคประชาชนที่สนใจเข้าร่วมเป็นผู้ให้คะแนนระดับคุณภาพของเนื้อหา ซึ่งเน้นให้ อาสาสมัคร ต้องพิจารณาในรายการที่ตนเองดูเป็นหลัก จะทำให้เราทราบถึงพฤติกรรมว่า อาสาสมัครแต่ละช่วงอายุ ในแต่ละสังคม นั้นมีพฤติกรรมการดูรายการโทรทัศน์ในช่วงเวลาใด และในที่สุด เราสามารถนำผลจากการทำงานห้องทดลองเคลื่อนที่ดังกล่าว ใช้ในการกำหนดช่วงเวลาของรายการแต่ละประเภทได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๘. ๖+๑ วงล้อมหัศจรรย์ ตัวกำหนดทิศทางของเนื้อหา และแหล่งเงินทุนของการผลิตรายการ ???
 
          จากทฤษฎีในการชี้วัดคุณภาพเนื้อหารายการโทรทัศน์เชิงความรู้ ซึ่งประกอบด้วย ๖ กลุ่มการศึกษาและความรู้ นอกจากจะเป็นเกณฑ์ในการชี้วัดคุณภาพเนื้อหารายการในระดับจุลภาค (รายการแต่ละรายการ) แล้ว ยังสามารถเป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพเนื้อหารายการโทรทัศน์ในระดับมหภาค(ในภาพรวมของประเทศ)ได้อีกด้วย แปลความได้ว่า รายการโทรทัศน์จะมีเป้าหมายในการนำเสนอรายการ แตกต่างกันไป ซึ่งเมื่อนำรายการดังกล่าวเข้าสู่ระบบการชี้วัดแล้ว จะพบว่า ผลการสำรวจจากอาสาสมัครทั้งหมด (กรรมการกลาง กรรมการภาคประชาสังคม กรรมการภาคประชาชน) ก็จะเห็นว่า รายการส่วนใหญ่นำเสนอเกณฑ์ในข้อใดมากที่สุด และเกณฑ์ในข้อใดน้อยที่สุด ซึ่งคำตอบที่ได้ จะเป็นเครื่องบ่งชี้ในการปรับสมดุลให้กับรายการโทรทัศน์ เพื่อให้ตอบสนองต่อการศึกษาและการเรียนรู้ ในทั้ง ๖ เรื่องอย่างสอดคล้องกับสภาพสังคม
          ไม่เพียงเท่านั้น วงล้ออัจฉริยะ นี้ ยังเป็นเครื่องกำหนดแหล่งเงินทุนในการสนับสนุนรายการโทรทัศน์ หลายคนคงสงสัยว่าจะเกี่ยวกันอย่างไร
          ในงานวิจัยเรื่องการศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างแรงจูงใจในการผลิตรายการโทรทัศน์ ซึ่งมีความเป็นไปได้อยู่ ๒ ทาง คือการสนับสนุนด้านเวลา (ไม่ใช่ตัวเงิน) และการสนับสนุนด้านเงินทุน (การตั้งกองทุน รวมทั้งการลดภาษี) ปัญหาหนักอึ้งก็คือ จะระดมเงินทนจากไหน
          หากพิจารณาวงล้อจะพบว่า เกณฑ์ในการพิจารณาคุณภาพเชิงเนื้อหาแต่ละเรื่องนั้น เกี่ยวข้องกับ ภารกิจของกระทรวงแต่ละกระทรวง เช่น การพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม และในเรื่องนี้ เกี่ยวข้องกับ หน่วยงานของรัฐ หลายหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือแม้แต่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และทั้งหมดนี้ เป็นภารกิจที่สำคัญในการพัฒนาสังคมของหน่วยงานรัฐ หมายความว่ากระทรวงต่างๆจำเป็นที่จะต้องมีงบประมาณในการพัฒนาสังคมผ่านรายการโทรทัศน์ ซึ่งในที่สุด เกณฑ์ในการชี้วัดคุณภาพแต่ละเกณฑ์จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานของรัฐอย่างจริงจัง และสามารถขยายต่อไปยังหน่วยงานต่างๆของเอกชนด้วย
๙. สัญลักษณ์ โลโก้ ตัวอักษร สี หรือ ...???
          โจทย์ที่ยังไม่ได้เดินหน้าในการตั้งคำตอบแบบเบ็ดเสร็จไว้แล้วก็คือ สัญลักษณ์ของการแสดงคุณภาพเนื้อหา ใน ๖ มิติ และเกณฑ์ด้านการต้องห้าม ๑ มิติ หลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามว่า เกณฑ์ ๖+๑ จะใช้เป็นสัญลักษณ์ โลโก้ ตัวอักษร สี หรือ ... แล้วแต่ใครจะจินตนาการ
          แต่ไม่ว่าจะเป็น สัญลักษณ์ โลโก้ ตัวอักษร สี หรือ ... เราต้องไม่ลืมว่า เรากำลังพิจารณาและให้ระดับคุณภาพเชิงความรู้ และ พิจารณาระดับเนื้อหาต้องห้าม และ ผู้ที่จะบังคับใช้เกณฑ์ดังกล่าวนี้ก็คือ เด็ก เยาวชน และครอบครัว ในสังคมไทย หมายความว่า สัญลักษณ์ โลโก้ ตัวอักษร สี หรือ ... ต้องเป็นที่เข้าใจของคนในสังคมไทย ดังนั้น คำตอบในเรื่องนี้ จะมีความชัดเจนมากขึ้นหลังจากการทำงานในห้องทดลองเชิงปฏิบัติการใน ๕ ภูมิภาค เพื่อสกัดแนวคิดของภาคประชาชน หลังจากนั้น การให้สัญลักษณ์ใดๆ ในสองระบบ ดังกล่าว จะมีความชัดเจนและได้รับการยอมรับจากสังคมอย่างแน่นอน
๑๐. ถ้าใช้ ๖+๑ เป็นมาตรฐานในการชี้วัด สังคมไทยจะเหลือรายการสนุกได้อีกหรือ ???
          หลังจากที่เราได้วางทฤษฎีความรู้ว่าด้วย ๖+๑ แล้ว หลายฝ่าย โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ภาคเด็ก เยาวชนและครอบครัว ได้พากันตั้งคำถามว่า หากเราใช้ทฤษฎี ๖+๑ เป็นเครื่องชี้วัด คุณภาพของเนื้อหารายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ของมนุษย์ในสังคมไทยแล้ว เราคงได้ดูแต่รายการสารคดี ...
          ดังนั้น หลายฝ่ายจึงพยายามที่จะนำเกณฑ์ด้านความสนุกสนาน น่าติดตาม เป็นเกณฑ์ในการชี้วัดคุณภาพเนื้อหารายการโทรทัศน์
          หากพิจารณาในทางการผลิตรายการโทรทัศน์แล้ว การสร้างสรรค์รูปแบบรายการโทรทัศน์ที่น่าติดตามโดยใช้โจทย์ด้านคุณภาพเชิงความรู้เป็นตัวตั้ง หรือ เรียกว่า “Edutainment” เป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับสายการผลิตและสร้างสรรค์รายการโทรทัศน์
ซึ่งหากนำเกณฑ์ด้านความสนุกสนาน น่าติดตามซึ่งสะท้อนด้วยจำนวนผู้บริโภค มาปะปนกับ เกณฑ์คุณภาพเชิงความรู้ จะทำให้ ค่าการประเมินคุณภาพนั้นไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น หากรายการใดมีเนื้อหาสาระน้อย แต่ปรากฏว่ารูปแบบของสนุกสนาน น่าติดตาม มีจำนวนคนดูมาก เมื่อเทียบกับ อีกรายการหนึ่ง ซึ่งเน้นเนื้อหาสาระ แต่รูปแบบไม่สนุกสนาน ไม่น่าติดตาม ซึ่งหากนำเกณฑ์ด้านความสนุกสนานมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา ผลก็คือ รายการหลังจะถูกพิจารณาว่า มีคุณภาพน้อยกว่า และในที่สุด ก็จะกลับสู่ เรตติ้งเชิงปริมาณอีกครั้ง ดังนั้น วันนี้ เราจึงไม่ได้นำเกณฑ์ด้านความสนุกสนานมาประกอบกับเกณฑ์เชิงคุณภาพ
๑๑. แล้วคนที่จะมาทำหน้าที่ชี้วัดคุณภาพเนื้อหารายการ คือใคร ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคผู้ผลิต หรือ ... ???
          ที่ผ่านมา เรตติ้ง ถูกพิจารณาและตัดสินโดยกลุ่ม หลัก ๒ กลุ่ม กล่าวคือ กลุ่มกรรมการจากภาครัฐ และจากกลุ่มภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นบริษัทรับสำรวจความนิยมเชิงปริมาณ แต่ที่ผ่านมา พบแล้วว่า การสำรวจเรตติ้งจากทั้งสองกลุ่ม ไม่ได้เป็นเครื่องสะท้อนคุณภาพเนื้อหาเชิงความรู้อย่างแท้จริง
          และปัญหาที่ตามมาก็คือ รายการโทรทัศน์ที่ไม่มีเนื้อหาสาระที่จำเป็นต่อการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับมนุษย์ในสังคมไทย และมากไปกว่านั้น พบว่า แท้จริงแล้ว ภาคประชาชนไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เขาเหล่านั้น ไม่มีช่องทางของการสะท้อนเสียงของตนเองในการ่วมกำหนดคุณภาพของเนื้อหารายการโทรทัศน์
          ดังนั้น ระบบเรตติ้งเชิงคุณภาพ นี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ กระบวนการการมีส่วนร่วมของสังคม ในการช่วยกำหนดเกณฑ์ในการชี้วัดคุณภาพเนื้อหา ซื่งนอกจากจะเป็นผู้กำหนดเกณฑ์คุณภาพ (ซึ่งนักวิจัยสกัดแนวคิดในสายวิชาการและสายภาคประชาชนเข้าด้วยกัน) แล้ว การให้ภาคประชาชน (ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ ๓ ชุด กล่าวคือ กรรมการกลาง กรรมการภาคประชาสังคม และ กรรมการภาคประชาชน) เป็นผู้พิจารณาระดับคุณภาพด้วยตนเองเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เกณฑ์ในการชี้วัดคุณภาพได้รับการบังคับใช้อย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ
          มากไปกว่านั้น การให้ภาคประชาชนเป็นผู้ดำเนินการสำรวจและพิจารณาบนพื้นฐานของทฤษฎี ๖+๑  เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญสำหรับรายการที่ภาคประชาชนพิจารณาเห็นว่าเป็นรายการคุณภาพอันจะนำมาสู่การสนับสนุนรายการด้วยวิธีการต่างๆ
๑๒. เรตติ้งออนไลน์ คู่แข่ง AC Nelson
          ในวันนี้ นอกจากกระแสพลังของการมีส่วนร่วมของกรรมการทั้งสามชุด แล้ว การสร้างเครื่องมือในการวัดระดับคุณภาพโดยกลุ่มประชาคมบนอินเทอร์เน็ต เป็นอีกช่องทางหนึ่งซึ่งมีความรวดเร็ว สามารถตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถประมวลผลในเวลานั้นๆได้ทันที (Interactive)
          ที่สำคัญ ช่องทางบนอินเทอร์เน็ต ยังสามารถสร้างห้องเรียนออนไลน์ ที่บรรจุชุดความรู้ว่าด้วยเรตติ้งเชิงคุณภาพเพื่อเป็นหนังสือในรูปแบบมัลติมีเดียให้กับภาคประชาสังคมที่จะเข้ามาเป็นอาสาสมัครเรตติ้ง ได้เรียนรู้และทดลองใช้ระบบเรตติ้งได้อีกช่องทางหนึ่ง และที่ในอนาคต สถานีโทรทัศน์บนอินเทอร์เน็ต หรือ IP TV จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการนำเสนอรายการโทรทัศน์ที่มีพลังอย่างยิ่ง
๑๓. ปลายทางของ เรตติ้ง ผู้ใช้เรตติ้งกับการแปรรูปเป็นกฎหมาย หรือ นโยบาย
        ปัญหาที่สำคัญของระบบเรตติ้ง ก็คือ การยอมรับและการนำไปบังคับใช้ ในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ภาคสถานีโทรทัศน์ ภาคเอเยนซี่ (ตัวแทนโฆษณา)ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในกลไกของโทรทัศน์
          ที่ผ่านมา มติ ครม. ฉบับวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๖ เป็นเพียงการกำหนดโจทย์สำหรับระบบการพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ไว้อย่างกว้าง และเป็นโจทย์สำหรับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาควิชาชีพ และภาคธุรกิจ
          และหนึ่งในกลไกที่สำคัญของระบบ ก็คือ การชี้วัดคุณภาพเนื้อหา ซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับการยอมรับและบังคับใช้จากทุกภาคส่วนพร้อมกัน หมายความว่า การชี้วัดคุณภาพเนื้อหารายการโทรทัศน์ จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาบนพื้นฐานความรู้ ทฤษฎีงานวิชาการ โดยอาศัยการสร้างทฤษฎีความรู้ขึ้นจากแนวคิดของภาคประชาชน กล่าวคือ คนในสังคม ไม่เว้นแม้แต่ ภาคธุรกิจ ดังนั้น เราจึงพยายามสร้างห้องทดลองเคลื่อนที่ที่จะลงไปทำการร่วมสร้างทฤษฎีความรู้พร้อมกับสังคม ตลอดจน การให้สังคมเป็นผู้ใช้เครื่องมือในการชี้วัดคุณภาพเนื้อหาโดยตนเอง วันนี้ ปลายทางสำหรับเรื่องนี้ จึงอยู่ที่การทำให้ เรตติ้งคุณภาพเนื้อหา อยู่ในสภาพของจารีตประเพณีที่ทุกฝ่ายยอมรับและบังคับใช้ในฐานะของ กฎเกณฑ์ทางสังคมร่วมกัน และในอีกไม่ช้า หากเราจะยอมรับ (Adoption) กฎเกณฑ์เพื่อแปรรูปไปสู่กฎหมายหรือนโยบาย กฎหมายหรือนโยบาย ที่ถูกแปรรูปมานั้นกะได้รับการบังคบใช้อย่างจริงจัง ไม่ได้อยู่ในฐานะของกฎหมายหรือนโยบายที่เป็นหมัน เหมือนแต่ก่อน
๑๔. วามเป็นไปได้ทางกฎหมายและนโยบายในวันนี้
หากพูดถึงระบบเรตติ้ง กรรมการกลางที่จะเข้ามามีบทบาทในการทำหน้าที่พิจารณาคุณภาพรายการ ในอดีตเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ความพยามในการจัดตั้งคณะกรรมการกลาง โดยอาศัยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการพัฒนาสื่อของรัฐเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชนและครอบครัว พ.ศ.  ๒๕๔๗ ซึ่งโดยผลของระเบียบสำนักนายกฉบับนี้เอง นำมาซึ่ง กรรมการอีกอย่างน้อย ๒ ชุด กล่าวคือ กรรมการด้านพัฒนาคุณภาพเนื้อหา และกรรมการด้านการส่งเสริมแรงจูงใจ ในขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาโครงสร้างของคณะกรรมการฯชุดนี้แล้ว พบว่า คณะกรรมการกองงานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ เป็นสำนักงานเลขานุการ
แต่วันนี้ กรรมการชุดนี้ยังไม่ได้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม และในเวลาเดียวกัน ความจำเป็นที่จะต้องมีคณะกรรมการกลางที่ประกอบการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ภาควิชาการ ภาคนโยบาย ภาควิชาชีพ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน ถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบการพัฒนารายการโทรทัศน์ฯ (ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาเป็นสถาบันวิจัยและพัฒนารายการโทรทัศน์ ฯ ที่มีส่วนสำคัญด้านวิชาการและการพัฒนารายการโทรทัศน์ฯ) ดังนั้น วันนี้ จึงถึงเวลาที่จะต้องรีบคลอด คณะกรรมการฯ ซึ่งสามารถนำระเบียบสำนักนายกฯฉบับนี้ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง
โดยส่วนของสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการฯ ขณะนี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการพัฒนาระบบเรตติ้ง (โดยผลของมติ ครม.ฉบับวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๘ ในการจัดตั้งคณะกรรมการสื่อสร้างสรรค์สังคม) จึงทำให้ต้องกลับมาทบทวนให้กระทรวงวัฒนธรรรมหรือคณะกรรมการกองงานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ ในการทำหน้าที่ในส่วนของสำนักเลขานุการของคณะกรรมการฯชุดนี้ เพื่อให้สามารถเดินเครื่องในการทำงานต่อไปโดยไม่สะดุด
๑๕. คลินิกเรตติ้ง ที่ปรึกษาและดูแลรายการโทรทัศน์คุณภาพ
ในโครงสร้างของคณะกรรมการฯชุดนี้ ประกอบด้วยคณะกรรมการชุดย่อย ๒ ชุด ทั้งด้านพัฒนาคุณภาพเนื้อหา และด้านการส่งเสริมแรงจูงใจ ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญอย่างยิ่ง ภาพความชัดเจนของคณะกรรมการในฐานะของ คลินิก ดูแลรายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว เป็นบทบาทที่มีความสำคัญ รายการโทรทัศน์รายการใดที่ผ่านระบบเรตติ้งและได้รับการพิจารณาว่าเป็นรายการโทรทัศน์คุณภาพ คลินิกเรตติ้งจะเข้ามาดำเนินการใน ๒ ลักษณะ กล่าวคือ การพัฒนา (ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น) และการรักษา (ในกรณีที่ประสบปัญหา เช่นเรื่องเงินทุน ปัญหาด้านเวลา) ซึ่งจะทำให้รายการโทรทัศน์ที่มีอยู่ได้รับการรักษา อีกทั้งเป็นช่องทางในการพัฒนารายการโทรทัศน์ให้มากขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพเนื้อหา


[1] เป็นผลมาจากการทำงานยุทธศาสตร์การบริหารจัดการสื่อของรัฐเพื่อการศึกษา โดย คณะทำงานโครงการสื่อมวลชนเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๖
[2] ห้องทดลองเชิงปฎิบัติการได้รับการพัฒนาขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๑ โดย นักวิจัยและพัฒนาในกองทุน ศ.คนึง ฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ และมูลนิธิกระจกเงา ประกอบกับเครือข่ายผู้ทรงคุณวุฒิในหลากหลายสาขา และจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาควิชาการ ภาคนโยบาย ภาคประชาชน ภาควิชาชีพ ภาคธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์ในปัญหาของการพัฒนาเกณฑ์ชี้วัดคุณภาพเนื้อหาของเว็บไซต์ ให้กับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ในสมัยของ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี)
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 28529เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2006 13:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 21:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ขอบคุณ อ. อิทธิพลครับ ที่เอาเรื่องดีๆ เช่นนี้มาลง

Rating น่าจะมีได้หลายวัตถุประสงค์    เรามักโดนชักจูงให้หลงอยู่กับ rating เพื่อประโยชน์ในการทำธุรกิจเท่านั้น   ไม่ได้มองประโยชน์ของสังคมเป็นหลักใหญ่

ประเด็นของผมคือ

  • Rating เพื่อใคร   เพื่อธุรกิจ กับเพื่อประชาชน เพื่อชีวิตที่สมดุล  จะมีดุลยภาพได้อย่างไร
  • Rating ที่เอารายการทุกแบบ   ผู้ชมทุกกลุ่ม มารวมกันหมด   กับ rating ที่แยก segment ผู้ชม / บริโภค   ควรจัดแยกกันอย่างไร    ทำความเข้าใจกับสังคมอย่างไร
  • Rating เพื่อครอบงำ ชวนเชื่อ  กับ rating เพื่อสร้างปัญญา  ตั้งคำถาม มีลักษณะการดำเนินการต่างกันอย่างไร   มีตัวอย่างให้ดูไหม
  • Rating เพื่อกระตุ้นกิเลส   vs  เพื่อกระตุ้นปัญญา
  • ฯลฯ

วิจารณ์ พานิช

อาจารย์วิจารณ์ขา อาจารย์โก๋

.....เสวนากันค่ะ ต้องคุยกันบนภาคพื้นโลกแห่งความเป็นจริงแล้วค่ะ

อันที่จริงเรตติ้งในยุคแรกถูกสร้างขึ้นเพื่อความมั่นคงของรัฐ ในยุคต่อมา ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองทางธุรกิจ แต่ว่าวันนี้เราน่าจะมีเรตติ้งที่เข้ามาตอบสนองต่อการกำหนดคุณภาพของเนื้อหาที่จะใหอะไรกับคนดู หมายความว่า เราน่าจะตั้งต้นนึกถึงเรตต้งเพื่อภาคสังคม

เรตติ้งเชิงปริมาณที่เคยมีปัญหาก็เพราะว่า เราให้ผู้ใหญ่มาวัดความชอบในรายการเด็ก ดังนั้น รายการเด็กจึงถูกตีตราว่าเรตต้งเชิงปริมาณน้อย  และการจัดแยกเพื่อให้เด็กมีโอกาสให้ระดับคะแนนคุณภาพและความชอบโดยเด็ก เยาวชนและครอบครัวในรายการที่ได้ชื่อว่าเป็นรายการเด็ก เยาวชนและครอบครัว โดยการจัดตั้งเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังเฉพาะขึ้นมา จึงน่าจะเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง

และที่สำคัญ การแยกแยะคำว่า เรตติ้งเชิงความรู้ และการแยกแยะประเภทรายการ เพื่อนำมาสู่การจัดการที่เหมาะสม เราต้องรีบทำความเข้าใจกับสังคม

ผมกำลังจะเดินทางไปจัดเวทีประชาคมเครือข่ายเพื่อรับฟังแนวคิดของเด็ก เยาวชน ครอบครัว ภาคราชการ ภาคธุรกิจ ที่เขตชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือครับ ที่จังหวัดสุรินทร์ แล้วจะกลับมาเล่าความคืบหน้าครับ

โดยผมมีโจทย์ใหญ่ๆอยู่ 4 ข้อ ก็คือ ตัวชี้วัดใน ๖ เรื่องคิดว่าพอแล้วหรือยัง การนิยามตัวชี้วัดแต่ละเรื่องควรมีรายละเอียดอะไรบ้าง การแบ่งระดับของคุณภาพเป็น 3 ระดับ เอาอย่างไรดี และ ทีวีเพื่อตอบสนองต่อชุมชนควรมีเนื้อหาอะไรบ้างสำหรับภาคอีสาน

เห็นด้วยอย่างยิ่งเลยครับ ผมและอาจารย์แหววอยากจะเข้าไปตั้งวงหารือกับอาจารย์วิจารณ์อย่างมากเลยครับ

ถ้าอาจารย์ว่างวันไหน ผมกับอาจารย์แหววจะได้ไปเรียนหนังสือกันอีกรอบครับ

เมื่อวานไปมีโอกาสพบกับอาจารย์ย่า น่าจะได้ตั้งวงคุยกัน เพราะอาจารย์ย่าบอกว่า น่าจะเอามาเล่าให้กลุ่มคนทำงานฟังทั้งหมด

อ.โก๋

18 พ.ค.49  เวลา 8.30-16.00

การสัมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การทดลองจัดระดับเกมออนไลน์ตามร่างมาตรฐานในการจัดระดับความรุนแรง ความเหมาะสมต่อผู้เล่นเกมออนไลน์ในประเทศไทย"

ณ .ห้องประชุมสถาบันการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์สัมพันธ์

ผู้จัด :: กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
โทรศัพท์ 0-2505-7211
โทรสาร 0-2505-7395
user posted image

วันก่อนว่างๆ เลยนั่งไล่อ่านบทความของ คุณรุจิระ, ความคิดเห็นเขาน่าสนใจดีค่ะ

มีเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับงานอ.โก๋ เลยเอามาฝาก เผื่อเป็นประโยชน์จ้า

http://www.prachatai.com/05web/th/columnist/viewcontent.php?SystemModuleKey=Column&System_Session_Language=Thai&ColumnistID=29&ContentID=738&ID=29

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท