แนวคิดของ TV4Kids เพื่อการพัฒนาโครงสร้างทีวีเพื่อเด็ก


tv4kids ตัวอ่อนนำไปสู่การพัฒนาระบบโครงสร้างทีวีเพื่อเด็ก

          นับจากมติคณะรัฐมนตรีฉบับวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๖ เกี่ยวกับการใช้สื่อของรัฐเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชนและครอบครัว ได้ถูกกำหนดขึ้นและมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๗ เป็นต้นมา
            หลายคนเริ่มหั่นวิตกว่ามติคณะรัฐมนตรีฉบับนี้จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่เป็นเพียงเสือกระดาษเท่านั้น ไม่ได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเกี่ยวกับรายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชนและครอบครัวอย่างแท้จริงและยั่งยืน
             หลายคนเริ่มสงสัยว่า “การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง” เพื่อให้เกิดรายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชนและครอบครัวอย่างแท้จริงและยั่งยืนเป็นอย่างไร ???
            จากการทำงานเชิงวิจัยเพื่อแสวงหาองค์ความรู้ในการพัฒนารายการโทรทัศน์ตามมติคณะรัฐมนตรีฉบับนี้ของคณะผู้แสวงหาองค์ความรู้และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกว่า ๑๗๐ คน หรือ กว่า ๖๖ องค์กรนับแต่พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๖ เป็นต้นมา ได้รวบรวมแนวความคิดในการพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อเด็กฯจนในที่สุดได้พัฒนามาเป็น ชุดโครงการวิจัยและพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชนและครอบครัว หรือ TV4Kids ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส.
            หลายคนก็ยิ่งเกิดความกังขาเพิ่มขึ้นว่า ชุดโครงการวิจัยและพัฒนาฯ ชุดนี้จะเข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้อย่างไร ???
            นับแต่มีการวางแผนครอบครัวในรูปของมติคณะรัฐมนตรี จนกระทั่งมีการพบแพทย์ (สสส.) เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ ตัวอ่อน หรือ โครงสร้างในการพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อเด็กฯ อย่างยั่งยืน ก็ได้มีการพัฒนาขึ้น ซึ่งการพัฒนาตัวอ่อนนี้มีโครงสร้างหลายประการ กล่าวคือ
            จุดตั้งต้นของการพัฒนา “ตัวอ่อน” ที่สำคัญก็คือ การเกิดขึ้นและการพัฒนาด้านสมอง โดยในการพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัวนั้น จำเป็นที่จะต้องมีหัวสมองทางวิชาการ โดยรวบรวมนักวิชาการและผู้มีประสบการณ์ในสายอาชีพ ตลอดจนบุคคลที่เกี่ยวข้องในการจัดทำโครงการศึกษาวิจัยเชิงสังคมเพื่อเข้ามาทำหน้าที่เชิงวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อเด็กฯ และจุดนี้เองจะทำให้การประสานกันระหว่างองค์ความรู้ด้านการพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อเด็กฯที่กระจัดกระจายเข้ามารวมศูนย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความสำคัญของสถาบันด้านการวิจัยและพัฒนารายการโทรทัศน์ ในรูปแบบขององค์กรในลักษณะเต็มเวลา เรียกว่า “สถาบัน” จึงเปรียบเสมือนของหัวสมองของตัวอ่อนที่เป็นโครงสร้างในการพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อเด็กฯ
            นอกจากจะต้องมีสมองแล้ว กลไกเชิงโครงสร้างนี้จำเป็นต้องมี “แขน” เพื่อใช้ในการพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อเด็กฯ โดยแขนซ้าย ก็คือ เกณฑ์ในการชี้วัดระดับคุณภาพของเนื้อหารายการ ที่มิใช่เป็นแต่เพียงการชี้วัดระดับคุณภาพโดยอาศัยระดับความนิยมของผู้บริโภคเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของรายการ แต่การเข้าไปเพ่งดูถึงเนื้อหาของรายการโดยพิจารณาที่คุณภาพของเนื้อหา หรือที่เรียกว่า Quality Rating เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง
            ส่วนแขนขวา ก็คือ รูปแบบที่เหมาะสมในการนำเสนอรายการ เนื้อหาและการนำเสนอเนื้อหาผ่านทางรูปแบบของรายการเป็นสิ่งที่คู่กันเสมอ รายการที่มีเนื้อหาที่ดี แต่หากขาดรูปแบบการนำเสนอที่ดี ก็ไม่อาจทำให้เป็นที่ดึงดูดใจของผู้บริโภคได้ ยิ่งกลุ่มผู้บริโภคเป็นเด็ก เยาวชนด้วยแล้ว รูปแบบการนำเสนอรายการที่น่าสนใจจึงไม่อาจถูกละเลยได้
            กลไกเชิงโครงสร้างนี้ไม่อาจยืนและเดินได้ หากขาด ส่วนที่เรียกว่า “ขา” ในการจัดทำหรือผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชนและครอบครัวนี้ ผู้ผลิตส่วนใหญ่มักจะประสบปัญหากับการไม่อาจยืนอยู่บนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมได้ ดังนั้นผู้ผลิตส่วนใหญ่จึงมักไม่อาจต้านทานต่อผู้ผลิตรายใหญ่ที่สามารถครองใจผู้บริโภคด้วยความนิยมเชิงปริมาณได้ ดังนั้นผลิตรายเล็ก เงินทุนน้อย ที่มุ่งหวังสร้างรายการโทรทัศน์เพื่อเด็กๆจึงล้มหายตายจากกันไป
            ดังนั้น การต่อเติมขาเทียมให้กับผู้ผลิตรายการ โดยใช้มาตรการด้านภาษี และมาตรการด้านเงินทุน จึงเป็นหนทางแห่งการเสริมสร้างกลไกให้ผู้ผลิตรายการเพื่อเด็ก ฯ สามารถยืนหยัดและก้าวต่อไปข้างหน้า
            หลังจากที่ตัวอ่อนเชิงโครงสร้างนี้ได้รับการพัฒนาด้านสมอง แขน ขา แล้ว ระบบการไหลเวียนของเลือดเป็นสิ่งสำคัญอีกส่วนหนึ่ง หากว่าเรากำลังพูดถึงเด็ก เยาวชนและครอบครัว คงขาดไม่ได้ที่จะต้องมีการไหลเวียนของเด็ก เยาวชนและครอบครัวในร่างกาย เรากำลังพูดถึงกระบวนการการมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชนและครอบครัว
            ในระหว่างการเจริญเติบโตของตัวอ่อนนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีอาหารเพื่อไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย เพื่อให้การพัฒนาระบบโครงสร้างนั้นเป็นไปอย่างสมบูรณ์ การเข้าไปศึกษาประสบการณ์ในการจัดการของต่างประเทศ และประสบการณ์ในการจัดการในประเทศไทย จึงเปรียบเสมือนกับอาหารชั้นยอดที่จะทำให้ตัวอ่อนนี้มีพัฒนาการด้านการพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อเด็กๆอย่างสมบูรณ์
จากทั้งหมดข้างต้น ถือได้ว่าเราได้อวัยวะอันเป็นโครงสร้างเกือบสมบูรณ์แบบแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันก็คือ “ระบบเอ็นยึด”  ซึ่งจะยึดเอาอวัยวะต่างๆเข้ามาอยู่ด้วยกัน การประชุมร่วมกันเพื่อสร้างประชาคมนักวิจัยและนักพัฒนา เพื่อผนวกเอา “องค์ความรู้หรืออวัยวะ” ต่างๆเข้ามาติดกันอย่างเป็นระบบระเบียบ
สิ่งสุดท้าย ที่สำคัญที่สุดก็คือ ลมปราณ หรือ วิญญาณ ของโครงสร้างนี้  เป็นที่น่าแปลกใจที่ลมปราณหรือวิญญาณนี้ไม่ได้เกิดจากลมปราณ หรือวิญญาณของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่เกิดจากลมปราณของ “เครือข่าย” ดังนั้น การเชื่อมต่อเครือข่าย หรือ Network Connection ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชนและครอบครัว เพื่อให้เกิดลมปราณหรือวิญญาณร่วมกันในรูปแบบของ”สัญญาประชาคม”เพื่อการพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อเด็กฯ ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของเรื่องอันจะทำให้ตัวอ่อนนี้คลอดออกมาได้และมีชีวิตที่สมบูรณ์
            ณ วันนี้ “ตัวอ่อน” ในการพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชนและครอบครัวได้คลอดออกมาแล้ว โดยตัวอ่อนนี้ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า ชุดโครงการวิจัยและพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชนและครอบครัว หรือมีชื่อเล่นว่า TV4Kids
            ภาพและเรื่องราวของเด็กน้อยคนนี้ ถูกถ่ายทอดและนำเสนอให้สังคมได้รับรู้ผ่านทางเว็บไซต์ www.tv4kids.org ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นห้องภาพไว้บอกเล่าเรื่องราวที่เด็กน้อยคนนี้ได้พบเจอระหว่างการดำเนินชีวิต
และตอนนี้เด็กน้อยคนนี้กำลังเริ่มหัดเดิน หัดพูด และกำลังเติบโตขึ้นเพื่อกลายเป็น “เขา” หรือ “เธอ” ที่จะมาพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชนและครอบครัวได้อย่างสมบูรณ์แบบในไม่ช้านี้
            อย่าลืมเฝ้าดูการเติบโตของเด็กน้อยคนนี้ต่อไป...

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 28522เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2006 13:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 12:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ.โก๋ อ่านความเห็นของท่านอาจารย์วิจารณ์ต่อ TV4Kids แล้วยังคะ

http://gotoknow.org/archive/2005/12/26/09/42/26/e10663

เรายกพวกไปเยี่ยมท่านอาจารย์อีกทีไหมคะ ?

ชวนอาจารย์สายฤดี อาจารย์สีน้อย คุณหมอพรรณ คุณจิราพร ฯลฯ ไปทดลองทฤษฎีกันกับท่านอาจารย์วิจารณ์กันไหมคะ ?

เอ..หรือจัดที่สถาบันเด็กฯ เชิญคนสัก ๒๐ คน หลังทดลอง เชิญท่านอาจารย์วิจารณ์ ให้ข้อสังเกตและความเห็นต่อการทดลอง .....

หรือไกลไป...

เอาที่ มธ.ท่าพระจันทร์ ? หรือที่ กก.สิทธิ ?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท