จุดมุ่งหมายของการศึกษา


การศึกษา คือ “กระบวนการเรียนรู้” ของคนและสังคม

จุดมุ่งหมายของการศึกษาที่ควรจะเป็น ตามทัศนะของเราในยุคปัจจุบัน

ควรเป็นอย่างไร

 

               

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ อธิบายความหมาย การศึกษาไว้อย่างชัดเจนว่า การศึกษา คือ กระบวนการเรียนรู้ ของคนและสังคม คนทุกคนที่มารวมกันเป็นสังคมมนุษย์ต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน ถึงจะสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับสังคมและประเทศชาติ สถานศึกษาซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้บริการการเรียนรู้แก่ผู้เรียนโดยตรง จึงมีภารกิจมีบทบาทและความสำคัญในฐานะหน่วยงานที่จัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับ คน และ สังคม

                การศึกษา เน้นให้ความสำคัญกับ ผู้จัด แต่ การเรียนรู้ ให้ความสำคัญกับ ผู้เรียน ดังนั้น บทบาทของสถานศึกษาจึงไม่ใช่ โรงสอน แต่เป็น โรงเรียน  ที่ผู้เรียนมาเพื่อการเรียนรู้ สถานศึกษาจึงต้องจึงต้องจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนและสังคม

มาตราที่ ๒๒ ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติได้กำหนดว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ

ดังนั้น จุดมุ่งหมายของการศึกษาที่ควรจะเป็น ตามทัศนะของเราในยุคปัจจุบัน ควรส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ หมายถึง สถานศึกษาต้องจัดกิจกรรมการเรียนที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ความสนใจ และความถนัดของผู้เรียน เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกัน มีความสนใจและความถนัดที่ไม่เหมือนกัน ถ้าโรงเรียนได้จัดการศึกษาที่สอดคล้องกับผู้เรียนแต่ละคน ประเทศของเราจะมีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ มีความสามารถยอดเยี่ยมและหลากหลาย สามารถคิดอย่างเป็นระบบ มีเหตุผล และเราก็สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก

มาตรา ๒๓ กำหนดว่า การจัดการศึกษา ต้องเน้นและให้ความสำคัญใน ๓ เรื่อง คือ ความรู้ คุณธรรม และกระบวนการเรียนรู้ โดยให้บูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษาในเรื่องต่างๆ 5เรื่อง ซึ่งเป็นแนวของสาระหลักสูตรนั่นเอง โดยกำหนดไว้ในแต่ละข้อ ดังนี้

๑. ความรู้เกี่ยวกับตนเองและความสัมพันธ์กับสังคม ในอดีตสถานศึกษามักจัดให้ผู้เรียนเรียนเรื่องที่ไกลตัว ผู้เรียนต้องท่องจำชื่อเมือง ชื่อแม่น้ำในต่างประเทศ แต่ไม่รู้จักสถานที่ในประเทศไทย ผู้เรียนรู้จักผู้ค้นพบทวีปอเมริกา แต่ประวัติท้องถิ่นหรือหมู่บ้านของตนเองกลับไม่มีความรู้เลย  ความคิดเรื่องการเรียนรู้เกี่ยวกับตนเองนี้สอดคล้องกับหลักจิตวิยาการเรียนรู้ ที่ว่าให้เราเริ่มต้นเรียนกับเรื่องของตนเองและสิ่งใกล้ตัวก่อน แล้วจึงขยายกว้างออกสู่สังคม ซึ่งได้แก่ ครอบครัว ชุมชน ชาติและสังคมโลก ดังนั้น เมื่อเราจัดหลักสูตรก็ต้องเน้นความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และความเป็นมาของสังคมไทย การเมืองการปกครองของสังคมไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้เข้าใจถ่องแท้ ก่อนที่จะเรียนเรื่องประเทศอื่น

๒.   ความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งที่ผู้เรียนต้องเรียนรู้ เพื่อประโยชน์สำหรับการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการจัดการบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ยั่งยืน ประเทศไทยได้ชื่อว่ามีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย แต่ไม่รู้วิธีการจัดการ เราจึงมีปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ป่าถูกทำลาย ฯลฯ ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีขนาดเล็กและพลเมืองน้อยไม่มีทรัพยากรใดๆ แต่มีความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความสามารถในการจัดการสูงสามารถพัฒนาประเทศจนมั่งคั่งอยู่ในระดับต้นๆของโลก

๓.  ความรู้เกี่ยวกับศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม การกีฬา ภูมิปัญญาไทย และการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาเหล่านั้น ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ภูมิปัญญาไทยได้รับความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสาระหลักสูตรที่ผู้เรียนต้องเรียนรู้

๔.  ความรู้และทักษะด้านคณิตศาสตร์ ภาษา โดยเฉพาะให้ความสำคัญกับการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง ระบบการศึกษาไทยที่ผ่านมามักจะละเลยภาษาประจำชาติ ผู้เรียนจึงมองข้ามความสำคัญของความรู้ด้านนี้ แต่โดยสาระบัญญัติข้อนี้ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีนโยบายด้านภาษา ทั้งภาษาประจำชาติและภาษาต่างประเทศ ซึ่งในยุคโลกาภิวัตน์ คนไทยควรพูดภาษาต่างประเทศได้อย่างน้อย 2 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในการสื่อสารระดับสากลมากที่สุด และภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ภาษามลายู ภาษาจีน หรือภาษาญี่ปุ่น ซึ่งจำเป็นสำหรับการติดต่อค้าขายในภูมิภาค

๕.   ความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข

การกำหนดหลักสูตรทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษา การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ต้องนำทั้ง ๕ เรื่องนี้มาเป็นแกนสำหรับการจัดการศึกษา โดยในมาตราที่ ๒๗  ได้กำหนดให้คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดทำหลักสูตรแกนกลาง โดยให้สถานศึกษาจัดทำสาระในรายละเอียดและหลักสูตรท้องถิ่นและมาตรา ๒๘ กำหนดว่าสาระของหลักสูตรต้องมุ่งพัฒนาคนให้มีความสมดุล

ฉะนั้นในการกำหนดหลักสูตรต้องนำมาตรา ๒๓ มาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๘ มาบูรณาการ ซึ่งจะทำให้มีการขยายความออกไปเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อความเป็นไทย การเป็นพลเมืองที่ดี การประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งจะทำให้ได้หลักสูตรที่สมบูรณ์และชัดเจน

จุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ตลอดเวลาว่า เราจัดการศึกษาเพื่ออะไร และเพื่อใคร พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ระบุชัดว่า ต้องจัดการศึกษาเพื่อให้คนไทยเป็น มนุษย์ที่สมบูรณ์

 

 

บรรณานุกรม

 

รุ่ง   แก้วแดง. โรงเรียนนิติบุคคล. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช, 2546

 

หมายเลขบันทึก: 284541เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2009 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

การศึกษาพาตนให้พ้นผิด

การศึกษาพาชีวิตให้สดใส

การศึกษาพาชาติปราศจากภัย

การศึกษาพาไทยให้เจริญ

สลามจ๊ะ นึกว่าใครไม่กล้าที่จะทัก ทำไมดูรูปแล้วเด๊ก เด็ก น่ารักเชียว เออ เดะ มีอะไร ดีๆ เกี่ยวกับภาวะผู้นำส่มาด้วยซิ

เก้าฉัตร โอคำสุวรรณ์

ถ่าจะทำให้ดีก็ควรดำรรงชีวิตในทางที่ดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท