ชีวิตที่พอเพียง : ๘๐๘. ชีวิตที่ล้าหลัง



          เมื่อวาน (๑๕ ก.ค. ๕๒) ไปบันทึกวิดีโอแสดงความยินดีแก่บัณฑิตใหม่มหาวิทยาลัยมหิดล ที่รับพระราชทานปริญญาบัตรไปแล้วเมื่อวันที่ ๖ ก.ค. โดย ศ. ดร. กำจร มนุญปิจุ กรุณารับทำหน้าที่แทนนายกสภาฯ ได้อย่างดีเยี่ยม แม้ท่านจะอายุเลย ๘๐ แล้ว  


          ผมให้คำกล่าวแสดงความยินดีเป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษดังนี้


“ขอแสดงความยินดีต่อบัณฑิตมหาวิทยาลัยมหิดลทุกคน  ในความสำเร็จขั้นหนึ่งของชีวิต   ที่ได้รับวิทยะฐานะในการออกไปทำงาน ดำรงชีวิตเพื่อเป็นพลเมืองดีของชาติ   ขอให้บัณฑิตพึงมีสติอยู่ตลอดเวลาว่า ความรู้และทักษะที่ได้รับไปจากมหาวิทยาลัยนั้น เก่าและล้าหลังได้    บัณฑิตพึงเรียนรู้ตลอดชีวิต”


“Congratulations to all Mahidiol University Graduates for your success in this first learning milestone. The degree certificate will enable you to lead a successful and socially responsible life. All of you should be aware that knowledge and skills acquired during university education can be outdated. Graduates should pursue a life long learning.”
 

          ระหว่างนั่งเครื่องบินไปปารีสเมื่อสัปดาห์ก่อน อ่านนิตยสาร Newsweek ฉบับวันที่ July 6 / July 13 ที่หน้าปกเป็นรูป Michael Jackson สมัยเป็นเด็ก   หน้า ๓๑ – ๕๒ เป็นการสรุปความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ชื่อตอนว่า Birth of the New Biology เขียนโดยคนเก่งๆ ทั้งนั้น ได้แก่

Life’s Complexities
Biology’s Odd Couple
Beyond the Book of Life

A Truce in the Crop Wars
The Mosquito, Revised
The Future of Medicine
Building a Better Brain
 
A Biology of Mental Disorder

          ผมอ่านบทความเหล่านี้แล้ว บอกตัวเองว่า ชีวิตในปัจจุบันของผมเป็นชีวิตที่ล้าหลัง    ศาสตราจารย์วิชามนุษยพันธุศาสตร์ล้าหลังในวิชานี้เสียแล้ว    นี่คือสัจจธรรมในชีวิต    เพราะผมออกมาใช้ชีวิตโลดแล่นนอกวิชาที่ตนเล่าเรียนมา    เมื่อได้อ่านปริทัศน์ความก้าวหน้าของพันธุศาสตร์ที่เกิดจากความก้าวหน้าของ genomics และ bioinformatics และตอนนี้เข้าสู่ –    ผมได้รู้ว่าความรู้ที่ผมสอนสมัยยังอยู่ที่ มอ. มันผิด   เพราะเราคิดว่า DNA คือตัวกำหนดลักษณะต่างๆ ร่วมกับสิ่งแวดล้อม   เราสอนว่า Genotype + Environment = Phenotype   แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่า นอกจาก Gene แล้ว ยังมี Epigenetics มามีอิทธิพลด้วย   Epigenetics นี้จารึกลงใน Genome Complex โดยไม่เปลี่ยน Genotype แต่มีผลต่อ Phenotype   โดย Epigenetics เป็นผลของ probability คือความไม่แน่นอน   ลงท้ายทั้งฟิสิกส์ และชีววิทยา ก็ตกอยู่ภายใต้กฎของความไม่แน่นอนอยู่ด้วย 


          เรากำลังเดินออกจากโลก หรือโลกทัศน์ (mental model) แบบแข็งทื่อตายตัว (static, mechanical)    ไปสู่โลกทัศน์แบบซับซ้อนและปรับตัว (complex adaptive)   ผมจึงดีใจมาก ที่ความก้าวหน้าของพันธุศาสตร์มันมาสนับสนุนศาสตร์ด้านการจัดการที่ผมกำลังคลั่งใคล้อยู่พอดี 


          ความล้าหลัง มาบรรจบกับความทันสมัยได้อย่างเหมาะเจาะ

 

วิจารณ์ พานิช
๑๖ ก.ค. ๕๒
       
                         

 

หมายเลขบันทึก: 283288เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2009 09:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท