บทอาขยาน ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ตอนที่ ๑


บทท่องจำ บทอาขยาน ท่องจำ ท่องอาขยาน ภาษาไทย

บทอาขยาน

       พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๔๒ ให้นิยามคำ "อาขยาน" ไว้ว่า บทท่องจำ การบอกเล่า การบอก การสวด เรื่อง นิทาน "อาขยาน" อ่านออกเสียงได้ ๒ อย่าง คือ อา - ขะ - หยาน หรือ อา - ขะ -ยาน

      การท่องอาขยานในระยะแรก (พ.ศ. ๒๔๗๗ - ๒๔๗๘) เป็นการท่องจำ

บทร้อยกรองที่ถือว่าไพเราะ ซึ่งตัดตอนมาจากหนังสือวรรณคดี โดยให้นำมาท่องประมาณ ๓ - ๔ หน้า และมีการท่องบทอาขยานติดต่อกันเรื่อยมา

การท่องบทอาขยานจะใช้เวลาก่อนเลิกเรียนเล็กน้อย ให้นักเรียนทั้งห้องท่องพร้อมๆ กัน แต่เมื่อมีการประกาศใช้หลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช ๒๕๒๑ หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช ๒๕๒๑ และหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พุทธศักราช ๒๕๒๔ จนถึงหลักสูตรปรับปรุง พุทธศักราช ๒๕๓๓ ในหลักสูตรทุกหลักสูตรมิได้ระบุให้ชัดเจนเกี่ยวกับการท่องบทอาขยาน เป็นสาเหตุให้

การท้องบทอาขยานเริ่มหายไปจากสถานศึกษาบางแห่ง จนถึงปีพุทธศักราช ๒๕๓๘ จึงได้มีการกำหนดบทอาขยานขึ้นอีกครั้งหนึ่งแต่ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร

      กระทรวงศึกษาธิการจึงมีนโยบายกำหนดให้มีการท่องอาขยานอย่างจริงจังในสถาน ศึกษาตั้งแต่

ปีการศึกษา ๒๕๔๒ เป็นต้นไป โดยมีวัตถุประสงค์ของการท่องอาขยาน ดังนี้

      ๑. เพื่อให้นักเรียนตระหนักในคุณค่าของภาษาไทย และให้ซาบซึ้งในความไพเราะของบทร้อยกรอง

      ๒. เพื่อเป็นพื้นฐานในการแต่งคำประพันธ์

      ๓. เพื่อเป็นการสื่อในการถ่ายทอดคุณธรรม คติธรรม และข้อคิดที่เป็นประโยชน์แก่เยาวชน

      ๔. เพื่อส่งเสริมให้มีจิตสำนึกทางวัฒนธรรมของคนในชาติในฐานะ "รากร่วมทางวัฒนธรรม"

บทอาขยานที่กำหนดให้ท่องจำ

      บทอาขยายที่ให้นักเรียนท่องจำนั้น แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ บทอาขยานที่เป็นบทหลัก บทรอง และบทเลือกอิสระ

      บทหลัก หมายถึง บทอาขยานที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้กำหนดให้นักเรียนนำไปท่องจำเพื่อความ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั่วประเทศ ดังปรากฏในเอกสาร

      บทรอง หมายถึง บทอาขยานที่ครูผู้สอนหรือสถานศึกษาเป็นผู้กำหนดให้นักเรียนท่องจำเสริมจากบท อาขยานที่กระทรงศึกษาธิการกำหนด (บทหลัก) เป็นบทร้อยกรองที่มีลักษณะตรงตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกบทอาขยาน อาจเป็นบทร้อยกรองที่แสดงภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น เพลงพื้นบ้าน เพลงกล่อมเด็ก ค่าวชอ ผญา เพลงชาน้อง เพลงเรือ บทกวีร่วมสมัยที่มีคุณค่า ฯลฯ โดยกำหนดให้ท่องจำภาคเรียนละ ๑ บท เป็นอย่างน้อย

      บทเลือกอิสระ หมาย ถึง บทอาขยานที่นักเรียนแต่ละคนเลือกสรรมาท่องเองด้วยความสมัครใจ หรือด้วยความชื่นชอบอาจเป็นบทร้อยกรองที่มีผู้แต่งไว้ หรือเป็นบทร้อยกรองที่นักเรียนแต่งขึ้นเอง หรือผู้ปกครองเป็นผู้แต่งขึ้นก็ได้ แต่ต้องบอกได้ว่ามีเหตุผลอย่างไรจึงเลือกบทร้อยกรองนั้นๆ มาท่องจำเป็นบทอาขยานของตนเองโดยความเห็นชอบของครูผู้สอนหรือสถานศึกษา

      บทร้อยกรองที่จะคัดเลือกให้เป็นบทรองและบทเลือกอิสระ ควรมีลักษณะดังนี้

      ๑. มีเนื้อหา ความยากง่ายเหมาะสมกับวัย

      ๒. มีความยาวพอเหมาะพอควร

      ๓. มีคุณธรรม คติธรรม ให้แนวทางการดำเนินชีวิตที่ดีงาม

      ๔. มีสุนทรียรสทางภาษา

      ๕. มีความถูกต้องตามฉันทลักษณ์

      ๖. มีรูปแบบที่หลากหลาย

การอ่านบทอาขยานตามหลักการทั่วไป

      การอ่านบทอาขยานส่วนใหญ่เป็นการอ่านออกเสียง คือ ผู้อ่านเปล่งเสียงออกมาดังๆ ในขณะที่ใช้สายตากวาดไปตามตัวอักษร ยึดหลักการอ่านออกเสียงเหมือนหลักการอ่านทั่วไป เพื่อให้การอ่านออกเสียงมีประสิทธิภาพควรฝึกฝน ดังนี้

      ๑. กวาดสายตาจากคำต้นวรรคไปยังท้ายวรรค และเคลื่อนสายตาไปยังวรรคถัดไปอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องส่ายหน้าตามไป เพื่อเป็นการอ่านล่วงหน้า ทำให้การอ่านออกเสียงต่อเนื่องกันไปโดนไม่สะดุด ซะงัก

      ๒. ฝึกเปล่งเสียงให้ดังพอประมาณโดยพิจารณาถึงกลุ่มผู้ฟังและสถานที่ แต่ไม่ตะโกนควรบังคับเสียง เน้นเสียง ปรับระดับเสียงสูง - ต่ำ ให้สอดคล้องกับจังหวะลีลา ท่วงทำนอง และความหมายของเนื้อหาที่อ่าน

      ๓. อ่านด้วยเสียงที่ชัดเจน แจ่มใส ไพเราะ มีกระแสเสียงเดียว ไม่แตกพร่า เปล่งเสียงจากลำคอโดยตรงด้วยความมั่นใจ

      ๔. ควรทรงตัวและรักษาอากัปกิริยาให้ถูกวิธี จะช่วยให้ระบบกล้ามเนื้อต่างๆ ทำงานประสานกัน ทำให้เปล่งเสียงได้ดี มีท่วงท่าน่าเชื่อถือ ลักษณะการทรงตัวที่ถูกวิธีคือ ไม่ว่าจะยืนหรือนั่งอ่าน ลำตัวต้องตั้งตรง และอยู่ในอาการสมดุล ควรถือบทหรือหนังสือห่างจากสายตาประมาณหนึ่งฟุต ขณะอ่านพยายามให้ลำคอตั้งตรง เงยหน้าเล็กน้อย สบตากับคนฟังเป็นระยะๆ

      ๕. อ่านออกเสียงให้ถูกอักขรวิธีหรือความนิยม และต้องเข้าใจเนื้อหาของบทอาขยานนี้ก่อน

      ๖. อ่านออกเสียง ร ล คำควบกล้ำ ให้ถูกต้องชัดเจน

      ๗. อ่านให้ถูกจังหวะและวรรคตอน

      ๘. พยายามอ่านให้ได้อารมณ์และความรู้สึกตามเนื้อหา

การอ่านบทอาขยานเป็นทำนองเสนาะ

      การอ่านบทอาขยานเป็นทำนองเสนาะช่วยให้บทอาขยานนั้นมีความไพเราะ นักเรียนเกิดความสนใจจดจำบทอาขยานได้ดี และสนุกสนานยิ่งขึ้น การฝึกอ่านทำนองเสนาะมีขั้นตอนดังนี้

      ๑. อ่านเป็นร้อยแก้วธรรมดาให้ถูกต้องชัดเจน ตามอักขรวิธีก่อน ทั้ง ร , ล ตัวควบกล้ำ อ่านออกเสียงให้ตรงตามเสียงวรรณยุกต์

      ๒. อ่านให้ถูกจังหวะวรรคตอน การอ่านผิดวรรคตอนทำให้เสียความ

      ๓. อ่านให้สัมผัสคล้องจองกันเพื่อความไพเราะ

      ๔. อ่านให้ถูกทำนองและลีลาของคำประพันธ์แต่ละชนิด คำประพันธ์แต่ละชนิดจะมีบังคับจำนวนคำสัมผัส หรือคำเอก คำโท แตกต่างกัน การอ่านทำนองเสนาะจึงต้องอ่านให้ถูกท่วงทำนองและลีลาของคำประพันธ์แต่ละชนิด

      ๕. อ่านโดยใช้น้ำเสียงให้เหมาะสมกับเนื้อหาและอ่านพยางค์สุดท้ายของวรรคด้วยการทอดเสียง แล้วปล่อยให้หางเสียงผวนขึ้นจมูก

http://www.maceducation.com/e-knowledge/2341109100/08.htm

 

บทอาขยาน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

บทหลัก

 

กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้นักเรียนทั่วประเทศท่องจำเหมือนกัน

บทอาขยาน แบ่งออกเป็น ๓ ประเภทคือ บทหลัก บทรอง และ บทอิสระ

บทอาขยานต่อไปนี้รวบรวมและเรียงลำดับโดย กรมวิชาการ ๒๕๔๒

คัดเลือกโดย คณะกรรมการคัดเลือกอาขยานภาษาไทยสำหรับนักเรียน ในคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ วก ๓๗๒/ ๒๕๔๒

 

นิคมพจน์กาพย์ห่อโคลง

บทที่ ๑ นิคมพจน์ กาพย์ห่อโคลง ซึ่งประพันธ์โดย พระยาอุปกิตศิลปสาร

เนื้อความเป็นดังนี้

อย่า นิยมสิ่งร้ายชอบ ชมชั่ว

เห็น สนุกทุกข์ถึงตัว จึ่งรู้

กง จักรว่าดอกบัว บอกรับ เร็วแฮ

จักร พัดเศียรร้องอู้ จึ่งรู้ผิดตน

อย่า นิยมสิ่งทุกข์ เห็น สนุกกลับทุกข์ทน

กง จักรว่าบัวจน จักร พัดตนจึงรู้ตัว

ว่า โอ้เรานี้ชั่ว ชอบกรรม ชั่วนา

เป็น อกตัญญูทำ โทษไว้

ดอก บัวยั่วเนตรนำ นึกชอบ

บัว กลับเป็นจักรได้ ดั่งนี้กรรมสนอง

ว่า โอ้ตัวเรานั้น เป็น อกตัญญูมัวหมอง

ดอก บัวยั่วจิตจอง บัว ผิดปองเป็นจักรไป

 

บทที่ ๒ รามเกียรติ์ ตอนศึกไมยราพ

บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

โอ้ว่าสมเด็จพระเชษฐา เราจากพาราเขตขัณฑ์

ได้ยากลำบากด้วยกัน ที่ในอารัญกันดาร

ทศพักตร์มันลักพี่นางไป ไว้ในลงการาชฐาน

แต่พี่น้องสองคนทรมาน ตามมาจะผลาญอสุรี

จนได้โยธาพลากร วานรทั้งสองบูรีศรี

ยกข้ามมหาชลธี จะต่อตีแก้แค้นแทนมัน

ยังมิทันจะได้รณรงค์ ปราบพงศ์ราพณ์ร้ายโมหันธ์

ควรฤาพวกพาลชาญฉกรรจ์ มาลอบลักทรงธรรพ์พาไป

ป่านนี้พระจอมมงกุฎเกศ จะแสนสุขแสนเทวษเป็นไฉน

มันจะทำลำบากตรากไว้ ฤาจะฆ่าฟันให้บรรลัยลาญ

แม้นพระหริรักษ์จักรแก้ว ล่วงแล้วสุดสิ้นสังขาร

น้องจะอยู่ไปไยให้ทรมาน จะวายปราณตามเสด็จไปเมืองฟ้า

ให้พ้นอัปยศอดสู แก่หมู่ไตรโลกถ้วนหน้า

ร่ำพลางแสนโศกโศกา ดั่งว่าจะสิ้นสมประดี

 

บทที่ ๓ รามเกียรติ์ ตอนศึกอินทรชิต

บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

บุษเอยบุษบกแก้ว สีแววแสงวับฉายฉาน

ห้ายอดเห็นเยี่ยมเทียมวิมาน แก้วประพาฬกาบเพชรสลับกัน

ชั้นเหมช่อห้อยล้วนพลอยบุษย์ บัลลังก์ครุฑลายเครือกระหนกคั่น

ภาพรายพื้นรูปเทวัญ คนธรรพ์คั่นเทพกินนร

เลื่อนเมฆลอยมาในอากาศ อำไพโอภาสประภัสสร

ไขแสงแข่งสีศศิธร อัมพรเอี่ยมพื้นโพยมพราย

ดั่งพระจันทร์เดินจรส่องดวง แลเฉิดลอยช่วงจำรัสฉาย

ดาวกลาดดาษเกลื่อนเรียงราย เร็วคล้ายรีบเคลื่อนเลื่อนลอย

 

สักวา

บทที่ ๔ บทสักวา ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ

สักวาหวานอื่นมีหมื่นแสน

ไม่เหมือนแม้นพจมานที่หวานหอม

กลิ่นประเทียบเปรียบดวงพวงพะยอม

อาจจะน้อมจิตโน้มด้วยโลมลม

แม้นล้อลามหยามหยาบไม่ปลาบปลื้ม

ดังดูดดื่มบอระเพ็ดต้องเข็ดขม

ผู้ดีไพร่ไม่ประกอบชอบอารมณ์

ใครฟังลมเมินหน้าระอาเอย

บุพการี

บทที่ ๕ บุพการี ของ อังคาร กัลยาณพงศ์

ใครแทนพ่อแม่ได้ ไป่มีเลยท่าน

คือคู่จันทร์สุรีย์ศรี สว่างหล้า

สิ้นท่านทั่วปฐพี มืดหม่น

หมองมิ่งขวัญซ่อนหน้า นิ่งน้ำตาไหล ฯ

 พ่อแม่เสมอพระเจ้า บนสวรรค์

ลูกนิ่งน้อมมิ่งขวัญ กราบไหว้

น้ำตาต่างรสสุคันธ์ อบร่ำ หอมฤา

หอมค่าน้ำใจไซร้ ท่านให้หมดเสมอ ฯ

 ถึงตายเกิดใหม่ซ้ำ ไฉนสนอง

คุณพ่อแม่ทั้งสอง สั่งฟ้า

น้ำนมที่ลูกรอง ดูดดื่ม

หวานใหม่ในชาติหน้า กี่หล้าฤาสลาย ฯ

 

รอยเท้าพ่อแม่ได้ เหยียบลงใดแล

เพียงแค่ฝุ่นธุลีผง ค่าไร้

กราบรอยท่านมิ่งมง คลคู่ ใจนา

กายสิทธิ์ใส่เกล้าไว้ เพื่อให้ขวัญขลัง ฯ

 

พระสุริโยทัยขาดคอช้าง

๏ บังอรอัคเรศผู้ พิสมัย ท่านนา

นามพระสุริโยทัย เอกอ้าง

ทรงเครื่องยุทธพิไชย เช่นอุป-ราชแฮ

เถลิงคชาธารคว้าง ควบเข้าขบวนไคล ฯ

๏ พลไกรกองน่าเร้า โรมรัน กันเฮย

ช้างพระเจ้าแปรประจัญ คชไท้

สารทรงซวดเซผัน หลังแล่น เตลิดแฮ

เตลงขับคชไล่ใกล้ หวิดท้ายคชาธาร ฯ

๏ นงคราญองค์เอกแก้ว กระษัตรีย์

มานมนัสกัตเวที ยิ่งล้ำ

เกรงพระราชสามี มลายพระ-ชนม์เฮย

ขับคเชนทรเข่นค้ำ สะอึกสู้ดัสกร ฯ

๏ ขุนมอญร่อนง้าวฟาด ฉาดฉะ

ขาดแล่งตราบอุระ หรุบดิ้น

โอรสรีบกันพระ ศพสู่ นครแฮ

สูญชีพไป่สูญสิ้น พจน์ผู้สรรเสริญ ฯ

  

บทเสภาสามัคคีเสวก

อันชาติใดไร้ศานติสุขสงบ ต้องมัวรบราญรอนหาผ่อนไม่

 ณ ชาตินั้นนรชนไม่สนใจ ในกิจศิลปะวิไลละวาดงาม

 แต่ชาติใดรุ่งเรืองเมืองสงบ ว่างการรบอริพลอันล้นหลาม

 ย่อมจำนงศิลปาสง่างาม เพื่ออร่ามเรืองระยับประดับประดา

 อันชาติใดไร้ช่างชำนาญศิลป์ เหมือนนารินไร้โฉมบรรโลมสง่า

 ใครๆ เห็นไม่เป็นที่จำเริญตา เขาจะพากันเย้ยให้อับอาย

 ศิลปกรรมนำใจให้สร่างโศก ช่วยบรรเทาทุกข์ในโลกให้เหือดหาย

 จำเริญตาพาใจให้สบาย อีกร่างกายก็จะพลอยสุขสราญ

 แม้ผู้ใดไม่นิยมชมสิ่งงาม เมื่อถึงยามเศร้าอุราน่าสงสาร

 เพราะขาดเครื่องระงับดับรำคาญ โอสถใดจะสมานซึ่งดวงใจ

 เพราะการช่างนี้สำคัญอันวิเศษ ทุกประเทศนานาทั้งน้อยใหญ่

 จึงยกย่องศิลปกรรม์นั้นทั่วไป ศรีวิไลวิลาศดีเป็นศรีเมือง

 

วัฒนธรรม

ในโลกนี้มีอะไรเป็นไทยแท้ ของไทยแน่นั้นหรือคือภาษา

ซึ่งผลิดอกออกผลแต่ต้นมา รวมเรียกว่าวรรณคดีไทย

อนึ่งศิลป์งามเด่นเป็นของชาติ เช่นปราสาทปรางค์ทองอันผ่องใส

อีกดนตรีรำร่ายลวดลายไทย อวดโลกได้ไทยแท้อย่างแน่นอน

และอย่าลืมจิตใจแบบไทยแท้ เชื่อพ่อแม่ฟังธรรมคำสั่งสอน

กำเนิดธรรมจริยาเป็นอาภรณ์ ประชากรโลกเห็นเราเป็นไทย

แล้วยังมีประเพณีมีระเบียบ ซึ่งไม่มีที่เปรียบในชาติไหน

 เป็นของร่วมรวมไทยให้คงไทย นี่แหละประโยชน์ในประเพณี

 ได้รู้เช่นเห็นชัดสมบัติชาติ เหลือประหลาดล้วนเห็นเป็นศักดิ์ศรี

 ล้วนไทยแท้ไทยแน่ไทยเรามี สิ่งเหล่านี้คือวัฒนธรรม

 

พระอภัยมณี ตอน อุศเรนตีเมืองผลึก

สงสารสุดอุศเรนเมื่อรู้สึก ทรวงสะทึกแทบจะแยกแตกสลาย

พอเห็นองค์พระอภัยยิ่งให้อาย จะใคร่ตายเสียให้พ้นก็จนใจ

คลำพระแสงแฝงองค์ที่ทรงเหน็บ เขาก็เก็บเสียเมื่อพบสลบไสล

ให้อัดอั้นตันตึงตะลึงตะไล พระอภัยพิศดูก็รู้ที

จึงสุนทรอ่อนหวานชาญฉลาด เราเหมือนญาติกันดอกน้องอย่าหมองศรี

เมื่อแรกเริ่มเดิมก็ได้เป็นไมตรี เจ้ากับพี่เล่าก็รักกันหนักครัน

มาขัดข้องหมองหมางเพราะนางหนึ่ง จนได้ถึงรบสู้เป็นคู่ขัน

อันวิสัยในพิภพแม้นรบกัน ก็หมายมั่นจะใคร่ได้ชัยชนะ

ซึ่งครั้งนี้พี่พาเจ้ามาไว้ หวังจะได้สนทนาวิสาสะ

ให้น้องหายคลายเคืองเรื่องธุระ แล้วก็จะรักกันจนวันตาย

ทั้งกำปั่นบรรดาโยธาทัพ จะคืนกลับให้ไปเหมือนใจหมาย

ทั้งสองข้างอยู่ตามความสบาย เชิญภิปรายโปรดตรัสสัตย์สัญญา

จาก พระอภัยมณี ตอน อุศเรนตีเมืองผลึก

ของ พระสุนทรโวหาร (ภู่)

 

พระอภัยมณี ตอน พระอภัยมณีตีเมืองใหม่

 

วิเวกหวีดกรีดเสียงสำเนียงสนั่น คนขยั้นยืนขึงตะลึงหลง

 ให้หวิววาบซาบทรวงต่างง่วงงง ลืมณรงค์รบสู้เงี่ยหูฟัง

 พระโหยหวนครวญเพลงวังเวงจิต ให้คนคิดถึงถิ่นถวิลหวัง

 ว่าจากเรือนเหมือนนกมาจากรัง อยู่ข้างหลังก็จะแลชะแง้คอย

 ถึงยามค่ำย่ำฆ้องจะร้องไห้ ร่ำพิไรรัญจวนหวนละห้อย

 โอ้ยามดึกดาวเคลื่อนเดือนก็คล้อย น้ำค้างย้อยเย็นฉ่ำที่อัมพร

 หนาวอารมณ์ลมเรื่อยเฉื่อยเฉื่อยชื่น ระรวยรื่นรินรินกลิ่นเกสร

 แสนสงสารบ้านเรือนเพื่อนที่นอน จะอาวรณ์อ้างว้างอยู่วังเวง

 จาก พระอภัยมณี ตอน พระอภัยมณีตีเมืองใหม่ ของ พระสุนทรโวหาร (ภู่)

   ๏ ๏ พระอภัยมณี ๏ ๏

- สุนทรภู่ -

 พระฟังความพราหมณ์น้อยสนองถาม

จึงเล่าความจะแจ้งแถลงไข

อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป

ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์

ถึงมนุษย์ครุฑาเทวราช

จตุบาทกลางป่าพนาสิน

แม้นปี่เราเป่าไปให้ได้ยิน

ก็สุดสิ้นโทโสที่โกรธา

ให้ใจอ่อนนอนหลับลืมสติ

อันลัทธิดนตรีดีหนักหนา

ซึ่งสงสัยไม่สิ้นในวิญญา

จะนิทราเถิดจะเป่าให้เจ้าฟังแล้ว

 หยิบปี่ที่ท่านอาจารย์ให้

เข้าพิงพฤกษาไทรดังใจหวัง

พระเป่าเปิดนิ้วเอกวิเวกดัง

สำเนียงวังเวงแว่วแจ้วจับใจ

ในเพลงปี่ว่าสามพี่พราหมณ์เอ๋ย

ยังไม่เคยชมชิดพิสมัย

ถึงร้อยรสบุปผาสุมาลัย

จะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย

พระจันทรจรสว่างกลางโพยม

ไม่เทียบโฉมนางงามเจ้าพราหมณ์เอ๋ย

แม้นได้แก้วแล้วจะค่อยประคองเคย

ถนอมเชยชมโฉมประโลมลาน

เจ้าพราหมณ์ฟังวังเวงวะแว่วเสียง

สำเนียงเพียงการเวกกังวาลหวาน

หวาดประหวัดสตรีฤดีดาล

ให้ซาบซ่านเสียวสะดับจนหลับไป

ศรีสุวรรณนั้นนั่งอยู่ข้างพี่

ฟังเสียงปี่วาบวับก็หลับไหล

พระแกล้งเป่าแปลงเพลงวังเวงใจ

 ๏ ๏ พระอภัยมณี ๏ ๏

ตอนที่ ๑๙ ของ - สุนทรภู่ -


พระฟังคำอ้ำอึ้งตะลึงคิด

จะเบือนบิดป้องปัดก็ขัดขวาง

สงสารลูกเจ้าลังกาจึงว่าพลาง

เราเหมือนช้างงางอกไม่หลอกลวง

ถึงเลือดเนื้อเมื่อน้องต้องประสงค์

พี่ก็คงยอมให้มิได้หวง

แต่ลูกเต้าเขาไม่เหมือนคนทั้งปวง

จะได้ช่วงชิงไปให้กระนั้น

พี่ว่าเขาเขาก็ว่ามากระนี้

มิใช่พี่นี้จะแกล้งแสร้งเสกสรรค์

เพราะเหตุเขารักใคร่อาลัยกัน

ค่อยผ่อนผันพูดจาอย่าราคี

แล้วตรัสบอกลูกน้อยกลอยสวาท

เจ้าหน่อเนื้อเชื้อชาติดงราชสีห์

อันรักษาศีลสัตย์กัตเวที

ย่อมเป็นที่สรรเสริญเจริญคน

ทรลักษณ์อกตัญญุตาเขา

เทพเจ้าก็จะแช่งทุกแห่งหน

ให้ทุกข์ร้อนงอนหง่อทรพล

พระเวทมนต์เสื่อมคลายทำลายยศ

เพราะบิดามาด้วยอุศเรนนี้

คุณเขามีมากล้นพ้นกำหนด

เจ้าทำผิดก็เหมือนพ่อทรยศ

จงออมอดเอ็นดูพ่อแต่พองาม

เป็นความบวงสรวงพระไทรที่เนินทรายฯ

 

หมายเลขบันทึก: 282279เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2009 10:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณมากๆๆคับ

คนจะงาม งามน้ำใจ ใช่ใบหน้า

คนจะสวย สวยจรรยา ใช่ตาหวาน

คนจะแก่ แก่ความรู้ ใช่อยู่นาน

คนจะรวย รวยศิลทาน ใช่บ้านโต

อย่าลืมน๊ จ๊

ง่าย จา ตาย

เ อ ไ ป ท่ อ ง ก้ ด้ ย น๊

บุษเอยบุษบกแก้ว สีแววแสงวับฉายฉาน

ห้ายอดเห็นเยี่ยมเทียมวิมาน แก้วประพาฬกาบเพชรสลับกัน

ชั้นเหมช่อห้อยล้วนพลอยบุษย์ บัลลังก์ครุฑลายเครือกระหนกคั่น

ภาพรายพื้นรูปเทวัญ คนธรรพ์คั่นเทพกินนร

เลื่อนเมฆลอยมาในอากาศ อำไพโอภาสประภัสสร

ไขแสงแข่งสีศศิธร อัมพรเอี่ยมพื้นโพยมพราย

ดั่งพระจันทร์เดินจรส่องดวง แลเฉิดลอยช่วงจำรัสฉาย

ดาวกลาดดาษเกลื่อนเรียงราย เร็วคล้ายรีบเคลื่อนเลื่อนลอยมา ช่วยถอดคำประพันธ์หน่อยค่ะ

..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/282279
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท