บุญ กับ บุญ


สะพานบุญ.......บุญกับบุญ
   วัดกับพุทธศาสนิกชน  ที่อยู่กับสังคมไทยมาช้านาน  ใครๆ (ในต่างประเทศ) ต่างก็ว่าประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา (ทุกด้านหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ)  มองว่าประเทศเราเป็นประเทศที่ยากจน.....แต่พอมีเรื่องที่ต้องขอบริจาค  ก็จะเห็นว่ามีเงินบริจาคกันมากมาย  สังเกตได้อย่างง่าย  เมื่อมีคนมาชวนทำบุญพวกเราชาวไทย  ไม่วาศาสนาใด  ไม่เคยปฏิเสธ  ต่างก็ร่วมทำบุญ  และอนุโมทนาบุญไปด้วยกัน  เวลาไปงานบุญทอดกฐิน  ทอดผ้าป่า  สร้างพระ  จะสังเกตเห็นต้นไม้ที่ประดับประดาไปด้วยแบงค์  ต่างๆมากมาย  ยิ่งถ้าเป็นกฐิน  หรือผ้าป่าสามัคคี  ที่มาจากแต่ละหมู่บ้าน  ต่างก็จะสังเกตเห็น  สีของแบงค์ต่างกันไปอีก  บางหมู่บ้าน  ก็จะมีแบงค์สีน้ำตาล ( พันบาท )  เป็นจำนวนมาก  แบงค์สีเขียว (ยี่สิบบาท) มีพอให้เห็นบ้างประปราย  และเมื่อเสียงประกาศของมัคทายกประกาศว่าของหมู่บ้านไหนได้เท่าไร  มันเป็นเศษ  ไม่ครบหมื่น  ไม่ครบแสน  ใครจะเติมบ้าง  เราก็มักจะมองเห็นผู้มีฐานะดี เป็นที่รู้จักของคนในหมู่บ้านย่านนั้นเป็นอย่างดี  จะสังเกตได้จาก  การสวมสร้อยทองเส้นโตๆ  สร้อยข้อมือทองเส้นใหญ่ๆ  เดินยิ้มหราออกมาพร้อมกับแบงค์โชว์ในมือจำนวนมาก  คล้ายจะบอกว่าฉันทำบุญมากนะ  และมักจะมาตบท้ายเช่นนี้เสมอ  แล้วเสียงเฮ  และเสียงตบมือก็จะดังตามมาหลังจากเจ้าของเงินได้ลุกขึ้นมา  บางครั้งก็มองเป็นภาพที่น่ารัก  บางครั้งก็มองว่าจะทำบุญทั้งทีทำไมต้องแสดงให้คนอื่นรู้ด้วย  นา นา  จิตตัง  นะ  ...ใครจะคิดอย่างไรบ้างก็ไม่ทราบ  แต่ฉันคิดว่ามันเป็นวิถึชีวิตของนักบุญในสังคมชนบท  ที่ตั้งใจทำบุญด้วยหวังว่าทั้งชาตินี้และชาติหน้า  ชีวิตและครอบครัวต้องดีกว่าเดิม
     วันนี้ฉันตื่นเช้าเช่นทุกวัน...ด้วยหน้าที่แม่บ้านถุงพลาสติกอย่างฉัน  ต้องออกไปหาซื้ออาหารเช้าเพื่อเตรียมให้ทุกคนในครอบครัวได้รับประทานอาหารกัน  พร้อมกับไปทำบุญใส่บาตรที่วัดก่อนไปทำงาน  และวันนี้คุณแม่ไปจำศีลที่วัดได้ไปส่งคุณแม่ด้วย  หลังทำบุญไหว้พระ  และใส่บาตรเรียบร้อยแล้วฉันขับรถออกมาสวนกับ"ป้าบุญ"  แขนข้างขวาถือตะกร้าสานโดยคล้องไว้ที่ข้อพับระดับศอก สูงระดับเอว ในตระกร้ามีของใส่เต็มตระกร้า  คงหนักอยู่เหมือนกันเพราะสังเกตเห็นป้าบุญเดินตัวเอียงเชียว  ส่วนมือซ้ายถือถุงกับข้าวหลายถุงพะรุงพะรัง  ...ฉันเบารถพร้อมลดกระจกลง  และยิ้มให้ป้าบุญเป็นการทักทาย  ป้าบุญก็พยักหน้าหงึกหงักขึ้นลง  สองสามครั้ง  พร้อมรอยยิ้มที่แกส่งมา  เป็นการตอบรับการทักทายของฉัน (ฉันเข้าใจอย่างนั้น)
    ป้าบุญ  หรือ  อีบุญผีบ้า ไม่เต็มบาท  ตามที่คนสูงวัยกว่าจะเรียกเช่นนั้น  ถ้าถามถึงป้าบุญ  ถ้าบอกว่า  "บุญผีบ้า"  ทุกคนจะเข้าใจตรงกันคือป้าบุญคนที่ฉันกำลังกล่าวถึงนี่แหละ  เมื่อวัยเด็กฉันบอกตามตรงว่าฉันรู้สึกกลัวป้าบุญมาก  แกจะพูดเสียงดัง  เอะอะโวยวาย  ไม่พอใจใครแกก็จะด่าเรียกว่า  3 วัน 3 คืนไม่เลิก  เจอใครแกก็จะเรียกมาบอกและด่าให้ฟัง  เป็นที่รู้กันในชุมชนหมู่บ้านของพวกฉัน  คำด่าของแกนะเหรอเรียกว่าลึกลงไปถึง  โคตรเหง้า  เรียกว่าญาติฝ่ายพ่อ ฝ่ายแม่  แกขุดมาด่าหมด  แถมคำหยายคายแกก็ไม่เว้น  พระสงฆ์ก็ไม่เว้น  ถ้าแกโกรธหรือไม่พอใจขึ้นมา  ฉันสังเกตเห็นว่าไม่มีใครสนใจ  ที่จะโกรธเคืองแก  มีแต่คอยแกล้งพูดจาแหย่ให้แกโกรธ  เวลาแกด่าก็พากันหัวเราะ  แต่ก็มีบ้างคนที่ตอบกลับแกเหมือน  แล้วก็จะมีเสียงแทรกขึ้นมาว่า  "เอ้ามีงนี่นะ  ไปถือคนบ้า  ไปว่าคนบอ  มึงก็รู้ว่าอีบุญมันบ้า"  หรือไม่ก็  "อย่าไปว่าหรือไปแกล้งมัน  เดี๋ยวมันก็ด่า3วันไม่เลิกอีกหรอก"  เมื่อก่อนตอนที่ฉันยังไม่ทำงาน  แกก็จะทักทายฉันด้วยคำด่าขึ้นต้นก่อนว่า  "อีห่า  มีงไปไหนมา"  ทำให้ฉันต้องกลับมาถามแม่ว่า  ทำไมแกต้องขึ้นต้นด้วยคำด่าก่อนละแม่  แม่ก็จะตอบว่า  "ก็มันบ้า"  หลังจากฉันได้ทำงานแล้วเดี๋ยวนี้แกทักใหม่แล้ว  ไม่มีคำด่า  แต่จะเรียกว่า  "อีหมอ  มึงไปไหนมา....มึงทำอะไร"  มีบางครั้งเหมือนกันที่แกบอกกับฉันว่า  "มันหาว่ากูบ้า  มันนั่นแหละบ้ากว่ากูอีก"  แล้วตามมาอีกเป็นชุด  ฉันก็ได้แต่ยิ้มและฟังแกเล่า
    ป้าบุญเป็นหญิงสูงอายุ อายุประมาณ 60 กว่าๆ  ร่างผอม  สูงประมาณ 145 ซม. ผมสีดอกเลาซอยสั้น ริ้วรอยบนใบหน้า  หางตา และหน้าผาก  ถ้านับรอยแล้วน่าจะมากกว่า 60  พอๆกับอายุของป้าบุญ   ฉันไม่เคยเห็นป้าบุญเจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลเลย  สุขภาพของแกแข็งแรง  ป้าบุญเป็นลูกสาวกำนันเป็นคนสุดท้อง  มีพี่น้องหลายคน แต่เสียชีวิตหมดแล้ว  ยังเหลือพี่ชายอีก 1 คน แต่ชาวบ้านก็จะบอกว่า  มันไม่เต็มบาท  ผีบ้าทั้งคู่  เมื่อก่อนแกมีสมบัติที่พ่อแม่แบ่งให้เป็นส่วนๆ  หลังจากนั้นแกไม่เหลืออะไรนอกจากบ้านเดิมแต่ถูกสร้างใหม่เป็นหลังเล็กลง เนื่องจากแกอยู่คนเดียว  เคยได้ยินว่า  "ก็มันบ้านั่นแหละ  พี่ๆเค้าคงเก็บไปหมดมั้ง"  แต่ญาติและหลานๆก็คอยดูแลแกอยู่...เมื่อก่อนป้าบุญไปใส่บาตรที่วัดเกือบทุกวัน  หลังจากพี่ๆของแกเสียหมดแล้ว  กอรปกับแกเริมสูงวัยแกก็จะไม่ได้ไปวัดอีก  ฉันเคยถามแกว่าไม่ค่อยเห็นไปวัดเลย  แกตอบว่า  "แก่แล้ว  อยู่คนเดียว  ไม่ค่อยได้ทำอะไร  ก็เลยไม่ไป"  ระยะหลังมาฉันเห็นป้าบุญไปวัดบ่อย  โดยเฉพาะวันพระจะเห็นทุกครั้ง  ทักทายแกว่าทำกับข้าวอะไรมาวัด  คำตอบที่ฉันได้รับ  ทำให้ฉันต้องยิ้ม  และรู้สึกว่า  ดีจังเลย จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขียนเรื่องของป้าบุญ.... ป้าบุญเล่าให้ฟังว่า  เดี๋ยวนี้แกไม่ต้องทำกับข้าวหรือหุงข้าวมาวัดหรอก  เดี๋ยวมีคนใช้แกมาวัด  และแกก็มาด้วยความเต็มใจ  คนข้างบ้านหรือญาติ  ที่ต้องรีบไปทำงานแต่เช้า  ไปวัดไม่ทัน  หรือจะเรียกว่าไม่มีเวลาไป  ก็จะใช้ให้ป้าบุญนำอาหารและข้าว  ฝากให้ป้าบุญไปใส่บาตรที่วัดให้ด้วย  และก็เป็นอย่างนี้เกือบทุกวัน  เพราะทุกวันที่ฉันออกไปซื้ออาหารตอนเช้า  ฉันจะเห็นป้าบุญ  ถือตะกร้าไปวัดอยู่บ่อยๆ  โดยที่แกไม่ต้องเตรียมอาหาร  แต่จะมีคนฝากให้แกไปวัดแทน  มองดูแล้ว  เหมือนป้าบุญจะเป็นสะพานบุญให้กับทุกคนที่ฝากป้าบุญไปทำบุญ
    วันนี้เห็นป้าบุญถือตะกร้าไปวัดจนตัวเอียง  พร้อมกับรอยยิ้มของแก  คงจะมีคนฝากไปทำบุญหลายคน  ขออนุโมทนาบุญกับป้าบุญและทุกคนด้วย  ด้วยเหตุนี้กระมังที่ป้าบุญชอบทำบุญ  เป็นการสะสมบุญ  ของ ป้าบุญ (แบบชุมชนมีส่วนร่วมเลยนะเนี่ย)  ทำให้ป้าบุญมีสุขภาพแข็งแรง  แม้วัยจะ 60 กว่าปี  แต่ยังเดินไปวัดได้ในระยะทางเกือบ 500 เมตร  ป้าบุญไม่เคยกินยาหรือรักษากับจิตแพทย์เลย  ทำให้ฉันมองว่าชุมชนของเรา  ก็มีส่วนช่วยให้ป้าบุญอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข  และไม่ต้องพึ่งยาใดๆเลย  แต่ป้าบุญคงได้ยาดีในการรักษาแก  คือ  "ยาใจ"  ที่ครอบครัว  ชุมชน  และสังคมมอบให้  ขอให้ป้าบุญมีสุขภาพแข็งแรงอย่างนี้ตลอดไปนะคะ  
    พรุ่งนี้ว้นพระเลยทำให้นึกถึงป้าบุญ  อยากเล่าเรื่องราวที่ดีๆของป้าบุญให้ฟังค่ะ  อาจจะไม่ใช่เรื่องราวในองค์กร  แต่ก็เป็นเรื่องราวในชุมชนของฉันเอง

 

                                                                                                                                                 ...น้ำชา...

คำสำคัญ (Tags): #sha
หมายเลขบันทึก: 281686เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2009 00:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ป้าบุญน่ารักจัง

จะมีซักกี่คนที่เข้าใจป้าบุญ ถ้าไม่ใช่คนในชุมชนของป้าบุญ

ยังมีอีหลายคนที่เหมือนป้าบุญ ขอบคุณ น้ำชาและคนในชุมชน แทนป้าบุญด้วยนะ ที่เข้าใจป้าบุญ แค่เข้าใจเค้าก็พอ ไม่ถึงกับต้องพาเค้าไปรักษา ที่เป็นอยู่ชุมชนและเพื่อนบ้านก็ได้เยียวยาป้าบุญ แล้วค่ะ

เข้ามาเยี่ยมชม

ชุมชนและสังคมจะน่าอยู่ ถ้าคนในชุมชนไม่ทอดทิ้งกัน

ให้กำลังใจค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท