การออกหนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำและลูกพันธุ์สัตว์น้ำ


หนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำและลูกพันธุ์สัตว์น้ำ

ข้อปฺฏิบัติในการออกหนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำ(MD)
1. ออกให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนแล้วเท่านั้น
2. เกษตรกรต้องยื่นคำขอตามแบบ จ.ส.น.1
3. มีหนังสือกำกับฯ การจำหน่ายลูกพันธุ์มาด้วย
4. ผลผลิตและลูกพันธุ์มีความสัมพันธ์กัน ทั้งนี้อัตรารอดอย่างมากไม่เกิน 100 %
5. เจ้าหน้าที่ต้องออกหนังสือกำกับฯ ให้ถูกต้อง ไม่มีที่ตำหนิ เพราะจะมีผลต่อการซื้อขายต่อไป
6. กรณีแก้ไขตัวเลขหรือสาระสำคัญอื่น ๆ เช่น จำนวน วันที่จับ ให้เจ้าหน้าที่ลงชื่อกำกับฯ พร้อมประทับตรากรมประมงหรือตราชมรมไว้ตรงที่แก้ไขด้วย หากมีการแก้ไขมากควรออกหนังสือฉบับใหม่
7. กรอกข้อมูล MD online ให้ครบทุกฉบับที่ออกให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมง (ปัจจุบันยังไม่ได้พัฒนาโปรแกรมสำหรับกรอกข้อมูล FMD online)
8. ประมงจังหวัด และ ผู้อำนวยการศูนย์ /หัวหน้าสถานี มีหน้าที่ต้องตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของหนังสือกำกับฯ ที่ออกโดยหน่วยงานให้ถูกต้อง
9. ประมงจังหวัดมีหน้าที่ดูแลให้เอกชนผู้ได้รับการประกาศรับรองฯ ในจังหวัดของตนปฏิบัติให้ถูกต้อง และรายงานกรมประมงตามแบบฟอร์ม จ.ส.น.7 มายังสำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง หรือสำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ตามระเบียบ ทุกวันที่ 5 ของเดือน

ข้อปฺฏิบัติในการออกหนังสือกำกับการจำหน่ายลูกพันธ์สัตว์น้ำ(FMD)
1. เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนแล้ว
2. เกษตรกรยื่นคำขอตามแบบ จ.ส.น.1
3. กรอกรายละเอียดในหนังสือกำกับการจำหน่ายลูกพันธ์สัตว์น้ำให้ครบถ้วน
4. Reference no. ของหนังสือกำกับฯ ลูกพันธุ์สัตว์น้ำ ใช้เช่นเดียวกับหนังสือกำกับฯ สัตว์น้ำ
5. ต้องลงรายละเอียดชื่อเกษตรกรผู้ซื้อพร้อมทะเบียนฟาร์ม และที่อยู่ฟาร์มให้ชัดเจนด้วย
6. ผู้ขอต้องขายลูกพันธุ์สัตว์น้ำให้กับเกษตรกรทีระบุให้แล้วเสร็จภายใน 5 วัน

การกรอกข้อมูลในหนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำ
การกรอกข้อมูลส่วนที่ 1
1. Ref.no…….. เป็นเลข 15 หลัก ทั้งนี้ใช้หลักการเดียวกันทั้ง จ.ส.น.2 และ จ.ส.น.3
2. ออกโดย………………… ให้ระบุชื่อหน่วยงานหรือบุคคลที่ออก ไม่ใช้รหัส
3. เขียนตัวอักษรกำกับจำนวนสัตว์น้ำ และขนาดบ่อ ให้ชัดเจนทุกครั้ง กันการแก้ไขปลอมแปลง
4. ถ้าเป็นฟาร์มหรือโรงเพาะฟักที่ได้รับมาตรฐานฟาร์มแล้ว ให้กาเครื่องหมายลงในช่องตามชนิดของมาตรฐานฟาร์มที่ได้รับ พร้อมทั้งเขียนระบุเลขที่มาตรฐานฟาร์มที่ได้รับไว้ด้วย เพื่อการตรวจสอบในภายหลัง
5. เขียนหรือประทับชื่อเจ้าหน้าที่ ใต้ลายเซ็น
6. ประทับตราครุฑ หรือตราชมรม ข้างลายมือชื่อเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง ทั้งนี้อย่าประทับลงบนชื่อจนทำให้มองลายมือชื่อไม่ชัดเจน
7. กรณี ชมรม/กลุ่ม/บุคคล ที่ได้รับการประกาศรับรอง ให้ประทับชื่อชมรม/กลุ่ม/บุคคล ที่อยู่ พร้อมทั้งประทับตราชมรมตามที่ได้แนบประกอบการขออนุญาต แทนครุฑ ที่หัวกระดาษทุกครั้ง
8. วันที่ออก และวันที่จับ ห่างกันไม่เกิน 5 วัน ในกรณีที่ขอย้อนหลัง จะย้อนหลังให้ได้ไม่เกิน 3 วัน (นับถัดจากวันที่ขายสัตว์น้ำ)
9. หนังสือกำกับฯ 1 ใบ ใช้กับ 1 บ่อ หรือ 1 กระชัง และ 1 ชนิดสัตว์น้ำ เท่านั้น ถ้ามีการเลี้ยงปนกัน เช่น กุ้งกุลาดำ รวมกับกุ้งขาว ก็ให้ออกแยกเป็น 2 ใบ
10. ไม่ออกหนังสือกำกับฯ โดยเว้นว่างข้อความใด ๆ ไว้ให้เกษตรกรเติมเองโดยเด็ดขาด เพราะถ้าเกษตรกร ไม่เติมให้ ความบกพร่องจะเกิดกับเจ้าหน้าที่ผู้ออกและหน่วยงานโดยตรง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเสมอ
11. กรณีฟาร์มที่ได้รับรองมาตรฐาน ให้ระบุเลขที่ CoC GAP หรือ Safety Level ไว้ด้วย

การกรอกข้อมูลส่วนที่ 2
ให้เจ้าหน้าที่ชี้แจงแนะนำเกษตรกรทุกครั้งว่า ข้อมูลในส่วนที่ 2 มีความสำคัญมาก หากเกษตรกรไม่กรอกข้อมูลให้เรียบร้อยจะเปิดโอกาสให้เกิดการปลอมหรือสวมสัตว์น้ำขึ้น และให้แนะนำเกษตรกรปฏิบัติดังนี้
1. เมื่อจับสัตว์น้ำขายจริง ให้กรอกรายละเอียดผู้ซื้อ จำนวน และเขียนตัวอักษรกำกับจำนวน และอื่น ๆ ให้ครบทุกครั้ง เพื่อป้องกันการแก้ไขปลอมแปลง
2. ผู้ซื้อสัตว์น้ำต้องขึ้นทะเบียนกับกรมประมงแล้วเท่านั้น
3. ลงลายมือชื่อเกษตรกรในช่องผู้ขาย และผู้ซื้อในช่องผู้ซื้อ ให้เรียบร้อย และประทับตราทั้งสองฝ่าย (ถ้ามี)
4. ลายมือชื่อเกษตรกรผู้ขายในส่วนที่ 2 ควรเป็นลายมือเดียวกับส่วนที่ 1
5. ไม่เว้นว่างข้อความใด ๆ ไว้ให้ผู้ซื้อเติมเองโดยเด็ดขาด เพราะเป็นการเปิดช่องให้มีการสวมปนสัตว์น้ำ
6. กรณีที่จับสัตว์น้ำได้มากกว่าที่แจ้งไว้ในส่วนที่ 1 เกินกว่า 15 % ให้เขียนเบอร์โทรศัพท์ของเกษตรกรไว้ด้วย กรณีที่เจ้าหน้าที่สงสัยว่าอาจมีการปนหรือสวมสัตว์น้ำ จะได้ติดต่อสอบถามได้ทันที ดังนั้นการให้เบอร์โทรไว้จะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรโดยตรง
7. ถ้าจับสัตว์น้ำล่าช้าเกิน 5 วันนับถัดจากวันที่ออก ให้เกษตรกรแจ้งยกเลิกและขอหนังสือกำกับฯ ฉบับใหม่
8. กรณีที่เกษตรกรมอบสัตว์น้ำให้กับผู้หนึ่งผู้ใดไปขายแทนโดยที่ยังไม่ทราบซื่อผู้ซื้อ ก็ให้เกษตรกรลงรายละเอียดจำนวนสัตว์ ขนาด และเขียนอักษรกำกับฯ จำนวนไว้ให้เรียบร้อย พร้อมลงลายมือชื่อไว้ก่อน เมื่อทราบผู้ซื้อแล้วจึงลงรายละเอียดผู้ซื้อภายหลัง
9. กรณีที่เกษตรกรมอบสัตว์น้ำให้กับผู้หนึ่งผู้ใดไปขายแทน โดยเกษตรกรไม่ลงลายมือชื่อ และรายละเอียดสัตว์น้ำไว้ก่อนตามข้อ 8 แต่ต้องการให้ผู้ที่ตนมอบหมายทำการแทนทั้งหมด ก็ให้แนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเกษตรกรและผู้ที่รับมอบหมายไว้กับหนังสือกำกับฯ ด้วย มิฉะนั้นแล้วจะมีปัญหาเวลาขายเนื่องจากชื่อผู้ขายในส่วนที่ 2 และชื่อเกษตรกรในส่วนที่ 1 จะไม่ตรงกัน ซึ่งผู้ซื้อหรือตลาดกลางจะไม่รับซื้อ
10. กรณีที่จำนวนสัตว์น้ำในส่วนที่ 2 มากกว่าส่วนที่ 1 เกิน 15 % กรมประมงอาจไม่ออกหนังสือรับรองใด ๆ ให้กับผู้ประกอบการหรือโรงงานแปรรูปที่ใช้หนังสือนั้น เพราะจะต้องตรวจสอบเพิ่มเติมว่าเป็นสัตว์น้ำของเกษตรกรรายนั้นจริงหรือไม่ โดยการสอบถามไปยังเกษตรกรตามเบอร์โทรที่ให้ไว้ และตรวจสอบจำนวนลูกพันธ์สัตว์น้ำ ซึ่งจะต้องสัมพันธ์กับจำนวนสัตว์น้ำด้วย
11. กรณีเกษตรกรแบ่งขายสัตว์น้ำให้กับผู้ซื้อมากกว่า 1 ราย ให้เกษตรกรลงชื่อเป็นทั้งผู้ขายและผู้ซื้อในส่วนที่ 2 ก่อน แล้วจึงลงรายละเอียดผู้ซื้อทุกรายลงในส่วนที่ 3 แล้วปฏิบัติตามวิธีการแบ่งขาย

การกรอกข้อมูลส่วนที่ 3
1. เมื่อผู้ซื้อที่ปรากฏชื่อในส่วนที่ 2 ต้องการขายสัตว์น้ำต่อให้กับผู้ซื้อรายใหม่ ให้ลงรายละเอียดผู้ซื้อและรายละเอียดสัตว์น้ำที่ซื้อขายลงในส่วนที่ 3 ให้ครบถ้วน แล้วลงลายมือชื่อผู้ซื้อ และผู้ขายไว้ พร้อมประทับตรา(ถ้ามี)
2. กรณีแบ่งขายมากกว่า 1 ราย ให้ปฏิบัติตามวิธีการแบ่งขาย
3. กรณียังขายไม่หมด แต่จำเป็นต้องส่งมอบหนังสือกำกับฯ ให้กับผู้ซื้อ ให้ลงชื้อผู้ขายเองไว้เป็นผู้ซื้อรายสุดท้าย ซึ่งจะสามารถขายต่อไปได้ โดยลงรายละเอียดผู้ซื้อที่มาทีหลังไว้ในส่วนถัดลงมา

การกรอกข้อมูลส่วนที่ 4, 5 หรือ 6
ปฏิบัติเช่นเดียวกับการกรอกส่วนที่ 3

หมายเลขบันทึก: 281564เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2009 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท