ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อการหลอกลวงตนเอง


การหลอกตัวเองในลักษณะนี้ มีอยู่ในทุกรูปแบบ ทั้ง สัมผัส รูป รส กลิ่น เสียง

วันนี้ผมได้สนทนาวิชาการเล็กๆน้อยๆกับลูกสาวที่กำลังเรียนมหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ ๓ และเตรียมสอบวิชาเกี่ยวกับ “ระบบประสาทของมนุษย์”

ที่เป็นสื่อสำคัญทำให้ให้เรา “รู้ตัว” “รักษาตัวเอง” และ “เอาตัวรอด” ในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างน่าทึ่งจริงๆ

มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ ความสามารถในการรับรสชาติอาหาร ที่เป็นสื่อของความ “อร่อย” ว่าคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร มีอะไรเป็นตัวกระตุ้นระบบทำงาน มีไว้ทำอะไรในระบบของสิ่งมีชีวิต

หลังจากการวิเคราะห์ประเด็นทางชีววิทยาและวิวัฒนาการ เราได้ข้อสรุปว่า แท้ที่จริง “ความอร่อย” ก็คือการรับรู้ว่ามี “กลูตาเมท” ในอาหารชนิดนั้นๆ

แล้ว “กลูตาเมท” มีประโยชน์ต่อระบบการบริโภคอาหารของสิ่งที่มีชีวิต อย่างไร

เราเริ่มวิเคราะห์แบบสืบค้นต่อไป ก็พบว่า “กลูตาเมท” จะมีมากในเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตที่มีกิจกรรมสูง เมื่อมีกิจกรรมสูง ก็น่าจะมีสารอาหารมาก เมื่อมีสารอาหารมาก ก็มีคุณค่าควรแก่การบริโภคมาก

คิดไปแล้วน่าทึ่งจริงๆ ทางด้านวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ช่างชาญฉลาดจริงๆ

แสดงว่า ความอร่อยน่าจะเป็นระบบการรับรู้ที่ช่วยให้เราบริโภคอาหารที่มีคุณค่าโดยแทบไม่ต้องใช้ความรู้ทางโภชนาการอะไรเลย ก็ได้

ไม่ต้องมีความรู้อะไรมาก แค่ “อร่อย” แบบธรรมชาติ ก็มีโอกาสได้สารอาหารดีๆ ที่สุดที่มีในอาหารประเภทนั้นแล้ว

แต่ต้องเป็น “ความอร่อย” ตามธรรมชาติ ไม่มีการ “ปรุงแต่ง” หรือ “ใช้สารเคมีหลอกตัวเอง”

ในอีกมุมหนึ่ง การรับรสชาติน่าจะกลไกธรรมชาติในการป้องกันการบริโภคสารพิษ อาหารบูดเน่า ที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

แต่

ในในสังคมของเรากลับหาวิธี “หลอกตัวเอง” ด้วยการปรุงแต่งรสชาติอาหารโดยวิธีต่างๆ เพื่อ ทำอาหารให้เสมือนหนึ่ง “มีคุณค่า” ทางโภชนาการ กระตุ้นการบริโภค ด้วยเครื่องปรุงรสต่างๆ

ตั้งแต่สมัยโบราณมาก็ใช้ เกลือ น้ำตาล เครื่องเทศ ที่บางอย่างก็อาจมีคุณค่าทางโภชนาการ หรือด้านเภสัชกรรม แต่หลายๆอย่างก็ไม่ค่อยมีประโยชน์ และอาจเป็นพิษเป็นภัยก็เป็นได้ เช่นการบริโภคอาหารรสจัดทั้งหลายนั้น เป็นการหลอกตัวเองอย่างสุดๆ และน่าจะมีผลเสียมากกว่าผลดี

ในปัจจุบัน เรายังมีการผลิตสารเคมี “กลูตาเมท” เพื่อใส่ในอาหารแบบ “ยิงหมัดตรง” หลอกตัวเองอย่างสุดๆ ว่า อาหารที่ตนเองรับประทานนั้นมี “กลูตาเมท” ที่เป็นตัวชี้วัดทางธรรมชาติ และชีววิทยา ว่า มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยที่ สิ่งที่จะบริโภคนั้น อาจจะไม่ใช่อาหาร หรือ ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการแต่อย่างใด

และพบว่า การหลอกตัวเองในลักษณะนี้ มีอยู่ในทุกรูปแบบ ทั้ง สัมผัส รูป รส กลิ่น เสียง

ทั้งๆ ที่ ระบบประสาทเหล่านี้ น่าจะมีไว้เพื่อการรับรู้ธรรมชาติ สิ่งที่เป็นอยู่รอบตัวเรา เพื่อให้เราได้รู้ตัวว่า เรากำลังเผชิญอะไรอยู่ และควรตอบสนองอย่างถูกต้องได้อย่างไร ทั้งการตอบรับ การวางเฉย หรือปฏิเสธ

แต่มนุษย์เรากลับใช้สมอง ใช้ความรู้เพื่อจะหลอกตัวเองให้ไม่รู้ตัว ด้วยการปรุงแต่งอย่างเทียมๆ ให้เกิดการบริโภคอย่างผิดๆ ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

ตั้งแต่การปรุงอาหาร ที่ส่วนใหญ่ก็ “หลอก” แบบ “หวังดี” ที่บางทีก็เกิด “ผลร้าย” ไปจนถึง การปรุงรสสารพิษ สารเสพติด (เช่น แอลกอฮอล์ นิโคติน แอมเฟตามีน ฯลฯ) ให้บริโภคง่ายขึ้น ที่ไม่ทราบว่า “หวังดี” หรือ “หวังร้าย” กันแน่

แต่ผมกลับคิดว่า เราน่าจะเน้นความพยายามเข้าใจตนเอง เข้าใจธรรมชาติ ใช้ความรู้ เทคโนโลยีเพื่ออยู่กับธรรมชาติแบบ “ไม่หลอกตัวเอง” น่าจะดีกว่า

สิ่งที่ครอบครัวของผมเลิกไปนานกว่า ๒๐ ปีแล้วก็คือ ไม่สนับสนุน และไม่บริโภคสารเคมีปรุงรส อาหารซอง หรือน้ำอัดลมใส่สี ใส่กลิ่น ใส่สารปรุงรส และสารกันบูดเน่า ที่หลอกให้เราบริโภคสิ่งที่ไม่ค่อยเป็นประโยชน์

และ เราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มีโทษ มากกว่ามีประโยชน์

ส่วนตัวผมเอง แม้แต่ยาแก้ไข้แก้ปวด ที่หลอกตัวเองว่า “ปกติดี” ผมก็ไม่รับประทาน เพราะผมอยากรู้ว่าตอนนี้ ร่างกายกำลังเป็นอะไร มากแค่ไหน ที่ตรงไหน

ที่ผมคิดว่าดีกว่า “การปิดบังตัวเอง ไม่ให้ตัวเองรู้ ว่าตัวเองกำลังเป็นอะไร”

ข้อนี้ก็แล้วแต่ความชอบส่วนบุคคล ที่ไม่จำเป็นต้องว่าอะไรดีไม่ดี

แต่ผมคิดว่า การใช้ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อการหลอกตัวเอง ปิดบังตัวเอง หรือแม้กระทั่งทำลายตนเอง ไม่น่าจะดีสักเท่าไหร่

ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งเลยครับ

หมายเลขบันทึก: 281424เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2009 04:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

ทุกอย่างมีดีและเสียอยู่ที่ว่าคนที่กำลังสัมพัทธ์กับมันจะเข้าใจรู้เท่าทันมากน้อยขนาดไหนว่าใหมขอรับอาจารย์...

..ในน้ำขุ่นย่อมมีน้ำใสเสมอขอรับ..

ครับ

ผมคิดว่าเราน่าจะพัฒนา "การรู้เท่าทัน" น่าจะดีนะครับ

ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มไหน ชั้นไหนก็ตาม

นี่คือ พื้นฐานทางความคิดของผม ในทุกเรื่องครับ

  • เป็นข้อสังเกตที่ตรงมากเลยครับ
  • เวลาเราเสียเหงื่อมาก ๆ เราจะรู้สึกว่า อาหารเค็ม อาหารเหลว มีรสอร่อยกว่าปรกติ เพราะร่างกายหาทางแก้ปัญหาด้วยการรู้สึก "อร่อย" เป็นแรงจูงใจ
  • แต่เราบิดเบือนกลไกธรรมชาติกันจนไม่เหลือชิ้นดี
  • อยากอร่อย ก็ใส่ผงชูรส จนอร่อยสมใจ แต่กินมาก ๆ แล้วร้อนในปากแห้งทุรนทุราย
  • ร่างกายคนอยากกินอาหารที่สดใหม่ คนผลิต-คนขาย ก็เอาไปชุบสารเคมี ผมทอดปลาแล้วได้กลิ่นฟอร์มาลีน เดี๋ยวนี้เห็นเป็นเรื่องเฉย ๆ ถ้าไม่เจอสิ ถึงจะรู้สึกแปลก แม้แต่ถั่วงอกยังต้องฟอกขาว เดี๋ยวนี้ถามตัวเองว่า เหลืออาหารอะไรไหม ที่ไม่กลัว ตอบตัวเองไม่ได้
  • เดี๋ยวนี้ลาม จนแม้แต่ว่า คนทำชั่วมาก ๆ ยังหาทางโกงกฎแห่งกรรมกันเลยครับ เอียงบาตรตัดกรรมได้ โอ้ว...ต่อม "อร่อย" นี่ ไม่ได้อยู่ที่ลิ้นที่เดียวซะแล้ว

ขอบคุณครับอาจารย์ ที่เข้ามาให้กำลังใจ

คิดถึงเสมอครับ

   มนุษย์นี่ร้ายจริงๆนะครับอาจารย์  ธรรมชาติเขามีอะไรไว้เจือ เพื่อนำไปสู่ประโยชน์และคุณค่า  กลับไปสรรหาสิ่งนั้นมาปรุงแต่ง หลอกลวง จนไปเสียไกลจากคุณค่าและประโยชน์  ซ้ำร้ายยังก่อโทษอีกมากมาย 

   อย่าง Mono Sodium Glutamate นี่ก็ชัดเจนมาก  ทำเอาคนที่เคยอร่อยจากรสธรรมชาติ ไม่อาจสัมผัสรสอร่อยอันพอดีได้อีกต่อไป  เพราะชินกับ ความเกินพอดี ที่สารเคมีเหล่านั้นมอบให้

   นอกจากเรื่องอาหาร  มนุษย์ยังดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับอีกหลายๆอย่างครับ  ทำเอาคนเราชัก ทนไม่ได้ กับสิ่งที่เป็นธรรมชาติมากขึ้นทุกวัน .. ปรุงแต่งกันสุดฤทธิ์สุดเดช ลงท้ายก็ไม่พ้นเรื่องน่าสมเพช ทุกทีไป

   ขอบคุณครับ

อาจารย์คงจำได้ ในหนังสือ ป ๒ (ปี ๒๕๐๒) ขึ้นต้นบทที่ ๑ ว่า

"แต่ก่อนคนเรายังโง่"

ผมขอเติมว่า

"วันนี้กลับโง่กว่าเดิม"

อาจารย์จะว่าอย่างไรครับ

ผมจะว่าอย่างนี้ครับ ..

"แต่ก่อนคนเรายังโง่"

"วันนี้กลับโง่กว่าเดิม"

"พรุ่งนี้จะโง่หนักขึ้นไปอีก"

 .. หากวิธีคิด วิธีแก้ปัญหา และวิธีการในระบบการศึกษา ยังเป็นแบบที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน

เรียนท่านอ. มาอ่านความรู้ค่ะ

มาอ่านแล้วโดนๆ โดนใจ หลายๆ ความเห็นเลยค่ะท่านอ.

ช่วงลงพื้นที่ทำงานชนบท เวลาแวะไปเยี่ยมชาวบ้าน ร้านรวง ขายผงชูรส

หรือขนมขบเคี้ยวที่มีส่วนผสมของ เอ็มเอสจี .. ดีเป็นเทน้ำเทท่า  แล้วรู้สึกสะเทือนใจค่ะ

เพราะความอร่อยไม่ได้ขึ้นอยู่กับการใส่ ผงชูรส ในอาหาร ที่สำคัญน่าตกใจกว่าคือ

ส่วนใหญ่แล้วพบกว่า ยิ่งในพท. ยากไร้ กลับยิ่งพบการใช้ผงชูรสมากเกินความจำเป็น

ท่านอ. คิดว่า ใครควรมีหน้าที่รับผิดชอบ และรณรงค์เรื่องนี้ อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

 

 

เริ่มที่ตัวเรา และบอกให้ทุกคนที่เรารู้จักรู้ครับ

แบบที่ผมทำนี่แหละครับ

เขาจะเชื่อหรือไม่ ทำตามหรือไม่ ก็แล้วแต่เวรแต่กรรมแล้วครับ

เราทำหน้าที่ ที่พึงทำแล้ว ก็สบายใจได้ครับ

 

สวัสดีครับอาจารย์ สิ่งไม่ดีเลิกได้หลายอย่าง ยังเหลือกาแฟตัวร้ายอีกตัวที่มาล้วงเงินในกระเป๋าผมทุกวัน วันละหลายบาท ปีหนึ่งหลายตังค์ทีเดียว

ไปเห็นชาวอโศกเลิกล่ะกิเลส ถือศีลห้าศีลแปดกันเป็นว่าเล่น ย้อนมามองตัวเราหม่องไปถนัดเลย

ดีแล้วครับ ตาเริ่มเห็นธรรมแล้ว เดี๋ยวก็เบื่อโลกไปเองแหละครับ

เพลงนี้เลยครับ รู้เขาหลอก แต่เต็มใจให้หลอก

ดูอย่างกินเจ บอกตัวเองว่ากินเจ แต่ทำอาหารเจให้มีรสชาติเหมือนไม่เจ แล้วจะกินเจทำไม ใช่ครับอาจจะบอกว่าทำให้มันน่ากิน นั่นก็แสดวงว่าไม่มีเจตนาจะกินเจจริงๆ

มุสาตัวเองแท้ๆ

..กลูตาเมท..ที่ว่า..ต้นแบบก็เป็นสารสกัดจากธรรมชาติ..คนชอบระบบงูกินหาง..จะว่าโง่ก็โง่...นะคะอาจารย์..หัวเราะไว้บ้างสำหรับแก้โรคแพ้กลูตาเมท..อิอิ

คนที่โกหกแม้แต่ตัวเองได้ ย่อมโกหกได้กับทุกคน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท