ก่อนสู่โลกกว้างเส้นทางของน้องหนู”


ก่อนสู่โลกกว้างเส้นทางของน้องหนู”

 

ตอนบ่ายของวันจันทร์ปี 2548  ทีมงานส่งเสริมสุขภาพจะทบทวนคุณภาพ 12 กิจกรรม โดยหัวหน้างานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน  ร่วมกับเพื่อนพยาบาลอีก 5 คนที่รับผิดชอบในคลินิกANC ได้รับรายงานและพูดคุยกับทีมงานเวชปฏิบัติ ฯ ว่า พี่คะวันนี้หนูพบความเสี่ยงของคนไข้ที่มาฝากครรภ์อายุเพียง 12 ปี  ยังเป็น ด.ญ. อยู่เลย   หนูได้พาไปให้คำปรึกษาที่ห้อง Counseling พบปัญหาของเขาหลายอย่าง เช่น โครงสร้างร่างกายเขาเล็กมากโดยเฉพาะกระดูกเชิงกรานแคบ  ขณะเดียวกันเขาก็ซีดด้วย    เจาะเลือด Hematocrit  ได้ แค่ 29 % เราจะทำอย่างไรดี

            ทีมงานทุกคนในห้องฟังอย่างตั้งใจ  ขณะเดียวกันก็ตกใจด้วย  เพราะสิ่งที่ได้ฟังนั้นเป็น ความเสี่ยงของงานในคลินิกANC ” เราทั้งหมด  ต้องช่วยกันขบคิดหาทางในการแก้ไขปัญหา  เพราะทุกคนทราบดีว่าเกณฑ์มาตรฐานหญิงไทยที่ควรจะมีบุตรได้ดีคือ  ควรมีอายุ 17 ปี ถึง 35 ปี แต่สิ่งที่ทีมงานพบคือ ยังเป็นเด็กหญิงและตั้งครรภ์ขณะเรียน อยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่6 (ป.6)  ต้องถือว่าเป็นปัญหา เป็นโจทย์ที่ทีมงานANCและทีมPCT ” ต้องสนใจอย่างรีบด่วน เพราะเป็นความเสี่ยงทางคลินิกของโรงพยาบาลบ้านลาด  ทีม PCTและงานคลินิกANCได้ดูแลหญิงตั้งครรภ์อายุ 12 ปี  ตามกระบวนการฝากครรภ์คุณภาพ     โดยส่งพบแพทย์ของโรงพยาบาลบ้านลาด ให้ดูแลรักษาให้ยาบำรุงเลือดและให้ความรู้ความเข้าใจในการดูแลตนเอง ต่อมาองค์กรแพทย์โรงพยาบาลบ้านลาดได้Referหญิงตั้งครรภ์รายนี้ ไปให้สูติแพทย์ที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้า(โรงพยาบาลทั่วไป) ดูแลเป็นระยะๆ เนื่องจากโรงพยาบาลบ้านลาดเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียงไม่มีสูติแพทย์  เพื่อให้การรักษาที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับแม่และลูก  จนกระทั่งหญิงตั้งครรภ์อายุ 12 ปีครบกำหนดคลอดและทำการคลอดโดยวิธี ผ่าทางหน้าท้อง เนื่องจากกระดูกเชิงกรานของแม่ไม่ขยายพอที่จะคลอดบุตรด้วยวิธีปกติได้   ภายหลังจากแม่อายุ 12 ปีกลับจากโรงพยาบาลพระจอมเกล้าแล้ว  ทีมงานเยี่ยมบ้าน (Home Health Care : HHC) ซึ่งมาจากหลายหน่วยงาน จากงานวางแผนครอบครัว  งานส่งเสริมสุขภาพ  งานสุขศึกษาประชาสัมพันธ์  ทำหน้าที่  Case Counseling  ขณะเดียวกันก็มีการประสานงานไปยัง PCUตำหรุ  เพื่อร่วมกันเยี่ยมบ้าน  เป็นทีมสหสาขาวิชาชีพ  ร่วมกับเครือข่าย (Network)PCU ตำหรุ   ซึ่งจะรู้จักบ้านของหญิงตั้งครรภ์ดีกว่าทีมโรงพยาบาลบ้านลาดการ ไป HHC. ก็จะแนะนำแม่อายุ 12 ปี คุมกำเนิดให้ต่อเนื่องรอจนกว่าอายุที่พร้อม  อย่างน้อยที่สุดต้องอายุเกิน 17 ปีขึ้นไป  แนะนำให้คุมกำเนิดที่ PCUตำหรุ หรือมาที่โรงพยาบาลบ้านลาดก็ได้  ขณะเดียวกันเรื่องลูกต้องไปรับวัคซีนที่ PCU ตามที่หมออนามัยนัดหมายจนครบ  แม่อายุ 12 ปีมีปัญหาเรื่องมีน้ำนมไม่พอให้ลูกดื่ม ทีมงานต้องประสานกับงานบริหารทั่วไปของโรงพยาบาลเพื่อของบประมาณสนับสนุนชื้อนมผงช่วยเหลือ  แม่อายุ12ปีไม่มีทักษะการเลี้ยงลูกที่ถูกต้อง ทีมสหสาขาวิชาชีพร่วมกับPCUตำหรุ ต้องช่วยกันสอนทักษะการเลี้ยงลูก การดูพัฒนาการของลูกแต่ละช่วงอายุและลงไปเยี่ยมเยียนเป็นระยะ  ขณะเดียวกันทีมงานต้อง เสริมพลังใจ ให้กับครอบครัวด้วย

            หลังจากที่เราลงไปเยี่ยมเป็นระยะ ทำให้ทีมงานทราบว่า  แม่อายุ 12 ปีรายนี้มีปัญหาครอบครัวแตกแยก  พ่อแม่หย่าร้างกัน  หลังตั้งครรภ์ต้องอาศัยอยู่กับป้า  และเมื่อตนเองรู้ว่าตั้งครรภ์  ก็ต้องออกจากโรงเรียนทำให้เรียนไม่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  ทีมHHC. จึงได้แนะนำให้แม่อายุ 12 ปี เรียนหนังสือต่อที่ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน : กศน. ซึ่งจะเปิดสอนในวันเสาร์ อาทิตย์ แนะนำให้เขา คิดถึงอนาคตตนเองในวันข้างหน้า   ส่วนสามีของแม่อายุ 12 ปีกำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ก็ยังต้องศึกษาต่อให้จบ  ทีม HHC. ได้ให้คำปรึกษาแนะนำ ป้า ของหญิงตั้งครรภ์อายุ 12 ปี  ให้เข้าใจและ ยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในชีวิต  ไม่กล่าวโทษ  ไม่ตอกย้ำซ้ำเติมในเรื่องนี้อีก และ   หยุดความโกรธและความทุกข์ เพราะเป็นอดีตที่ผ่านไปแล้ว  แก้ไขอะไรไม่ได้  แต่ สามารถทำสิ่งที่ดีในอนาคตได้   เพื่อชีวิตของทุกคนในครอบครัวอยู่ด้วยกันอย่างเป็นสุข  คำพูดของคนนอกบ้านถ้าเรานำมาคิด คนที่ทุกข์ใจคือคนในครอบครัวของเรา ชีวิตจะสุขหรือทุกข์ ไม่ใช่ คนอื่นทำให้เรา  คนในครอบครัวต่างหากที่จะ เติมพลังสุขทางใจให้กันเอง ไม่ใช่สังคมภายนอก  ขณะนี้ครอบครัวของแม่อายุ 12 ปีอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข  ลูกมีพัฒนาการสมวัย

 

จาก ตั้งรับปัญหา ไปสู่ การรุกไปข้างหน้า เพื่อแก้ปัญหาในอนาคต

            จากเรื่องราวที่แม่อายุ 12  ปีตั้งครรภ์ทำให้ทีม PCT โรงพยาบาลบ้านลาด   เกิดแรงบันดาลใจสร้างแนวคิดใหม่ๆ (concept) เพราะถ้าโรงพยาบาลของเรา ตั้งรับปัญหา เราก็จะพบแต่ปัญหาอยู่ตลอดไป  แต่ถ้าเราเปลี่ยน แนวคิดใหม่ แก้ไขปัญหาแบบ คิดเชิงรุก ไปส่งเสริมสุขภาพกลุ่มเสี่ยง (Risk Group) คิดหาวิธีการเพื่อแก้ไขปัญหาในอนาคตข้างหน้า (Forward) เพื่อลดปัญหา  ลดความเสี่ยงและภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นในโรงพยาบาลของเรา  เราต้องเปลี่ยนกรอบความคิดใหม่(Paradigm shift) ทีมเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน  ทีม PCT ได้วิเคราะห์ SWOT องค์กรของเรา   พบว่า จุดแข็ง ของทีมงานที่จะสามารถนำมาใช้คือ ทีมงานภาคชุมชนที่เข้มแข็ง ศักยภาพของเจ้าหน้าที่ในองค์กรของเรา  ที่มีความสามารถที่จะปฏิสัมพันธ์กับชุมชนและโรงเรียนได้ดี  เราสามารถนำ จุดแข็งขององค์กร ไป ปิดจุดอ่อนหรือภาวะคุกคาม ที่โรงพยาบาลกำลังเผชิญอยู่  ทุกคนลงความเห็นว่าเราต้องทำ โครงการแก้ไขปัญหา  ถ้าเรานิ่งเฉยปัญหา และความเสี่ยงจะคืบคลานเข้ามาในองค์กรของเราอยู่เรื่อย ๆ จนเรารับไม่ไหวเพราะโรงพยาบาลเป็นปลายน้ำ(Down  Steam)โรงเรียนและชุมชนเป็นต้นน้ำ( UP  Steam ) น้องอีกคนหนึ่งพูดเสริมต่อว่า ใช่เลย.....เป็นการป้องความเสี่ยงเชิงรุกในชุมชนด้วยนะค่ะ

            ทีมงานจึงคิดโครงการ ก่อนสู่โลกกว้าง เพื่อขออนุมัติงบประมาณ และตั้งทีมในการทำงานติดขัดเรื่องงบประมาณจึงขึ้นไปปรึกษาผู้อำนวยการ นพ.สมพนธ์  นวรัตน์ คำตอบที่ทีมงาน ชื่นใจเป็นที่สุด ที่ได้รับจากท่าน ทำได้เลย  หมอเห็นด้วยและไม่ต้องกังวลใจในเรื่องงบประมาณ  ถ้าโรงพยาบาลมีงบไม่พอหมอจะหามาเพิ่มเติมให้  ทีมงานฟังแล้วทุกคน ชื่นใจ ดีใจและมีพลังสร้างแรงบันดาลใจ ที่ผู้นำสนับสนุน  เข้าใจ  ส่งเสริมให้เราทำกิจกรรมคุณภาพเชิงรุกและการออกแบบระบบใหม่( System design ) การทำกิจกรรม  ทีมงานทราบดีว่าต้องใช้เงิน เมื่อเราไม่กังวลใจเรื่องเงินทำให้เรามีแรงสู้เต็มร้อยเปอร์เช็นต์ แต่ที่เรากังวลใจคือ เรื่องค่าใช้จ่ายในโครงการเพราะคาดว่าต้องใช้เงินในหลักหมื่น  ขณะเดียวกันโรงพยาบาลของเรายากจน  มีประชากรในความรับผิดชอบแค่หนึ่งหมื่นเก้าพันกว่าคน  แต่เมื่อได้รับคำรับรองจากผู้อำนวยการที่บอกพวกเราว่า ติดเครื่องสตาร์ทโครงการได้เลย เพราะหมอของบประมาณด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในชุมชน( งบประมาณ P&P Com. )   จากสปสช.  เขต 4 ราชบุรีมาให้ตามที่พวกเราเขียนโครงการมาได้ทั้งหมด 43,700 บาท ให้พวกเราไปช่วยกันหาแนวทางและวิธีการ สำหรับเดินทางขึ้นภูเขาแห่งความสำเร็จ    กันเถอะ

 

นำโครงการสู่การปฏิบัติให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย

            ก่อนจะนำโครงการลงสู่การปฏิบัติจริง  ทีมงานได้กำหนดเป้าหมายโรงเรียนในพื้นที่ไว้จำนวน        2 แห่ง ได้แก่  โรงเรียนวัดศาลาเขื่อนและโรงเรียนวัดอินจำปา  เด็กนักเรียนเป้าหมาย (Target Group) คือเด็กนักเรียนชั้น ป. 4 ป.5 และ ป.6  จำนวนทั้งหมด 64 คน วัตถุประสงค์ของโครงการในระยะสั้นเพื่อให้เด็กนักเรียนชั้น ป. 4 ป.5 และ ป.6  มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศศึกษา  ในระยะยาวเพื่อลดอุบัติการณ์ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ    เช่น  ลดการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์   การตั้งครรภ์ขณะวัยเรียน  ลดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  โรคเอดส์  ก่อนนำโครงการลงสู่การปฏิบัติในโรงเรียน  ทีมงานสหสาขาวิชาชีพ(Interdisciplinary)ได้ตั้งคณะทำงาน     ประกอบกลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน      พยาบาลจิตเวช   งานวางแผนครอบครัว  งานอนามัยแม่และเด็ก  งานสุขศึกษาประชาสัมพันธ์  ทีมงานต้องประสานการทำโครงการลงสู่การปฏิบัติ  ในแนวดิ่งต้องประสานกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรีเขต 2 ซึ่งดูแลโรงเรียนในเขตอำเภอบ้านลาด  ขณะเดียวกันต้องประสานงานกับผู้อำนวยการโรงเรียนเป้าหมายทั้ง 2 แห่ง  ทีมงานได้คำตอบที่ทำให้ทีมมีกำลังใจ โครงการดีมากครับคุณหมอ เนื่องจากอำเภอบ้านลาดเราเป็นชนบท  ใครที่อยู่ในโรงพยาบาลไม่ว่าจะเป็นพยาบาล  เภสัชกร ฯลฯ จะถูกเรียกว่าหมอทั้งหมด ผมยินดีและพร้อมจะสนับสนุนให้ครูอนามัยและครูพละเข้าร่วมโครงการกับคุณหมอด้วย

            จากนั้นทีมงานก็มาร่วมกันคิดกิจกรรมเพื่อจะนำไปประยุกต์ใช้ในโรงเรียน ร่วมกับครูอนามัยและครูพละสอนเป็นบางเรื่อง  เช่น  เรื่องการวางแผนครอบครัว  ผลสุดท้าย พวกเราก็คิดออกว่า ต้องประยุกต์ กิจกรรมการสอนเพศศึกษาจากหลักสูตรของชั้น มัธยมศึกษาตอนต้น มาใช้กับนักเรียนชั้นประถม ซึ่งมีทั้งหมด 12 กิจกรรมครอบคลุมความรู้ด้านเพศศึกษา  ประกอบด้วยกิจกรรม มารู้จักร่างกายกันเถอะ, วัยรุ่นวัยเรา, ย่างสู่วัยรุ่นอย่างรู้ทัน, เพศศึกษาในช่วงวัยรุ่น, สารพัดโอกาส...จริงหรือ?, พรายกระซิบ,ข้างหลังภาพ,  เพศสัมพันธ์มีได้เมื่อไหร่,  รู้จักคุ้นเคย,  แลกน้ำ , ยอมไม่ได้ และ ไม่มีแต่เท่ห์  ทีมได้นำกิจกรรมเหล่านี้ไปร่วมกับครูอนามัยและครูพละสอน ทำให้เด็กนักเรียน ตื่นเต้นสนุกสนาน ครูอนามัยบอกกับทีมงานของเราว่า เวลาที่หมอมาช่วยสอนเด็ก ๆจะชอบและตั้งใจเรียนมาก  ขณะที่อีกโรงเรียนก็บอกทีมงานว่า คุณหมอรู้ไหมค่ะเด็ก ๆ ใจจดใจจ่อรอคอย เฝ้ารอและแวะเวียนมาถามอยู่เสมอว่าสัปดาห์ไหนที่คุณหมอจะมาสอนอีก ฟังแล้วทำให้ทีมงานภูมิใจ  ดีใจจนหัวใจพองโต  รู้สึกได้ว่า ทีมงานของเรามีคุณค่าสำหรับเด็กๆ   มีความสำคัญต่อคณะครูและผู้บริหารโรงเรียน  การลงไปช่วยสอนทั้ง 12 กิจกรรมใช้เวลา 8 เดือนสอน 2 เทอม  ทำให้ทีมงานของเราเกิดปฏิสัมพันธ์ (Interaction)และเกิดความผูกพันกับเด็กนักเรียนทั้ง 2 แห่ง  ทีมงานของเราได้คณะครูและผู้บริหารโรงเรียนเป็น พันธมิตรที่ดีต่อกันในอำเภอบ้านลาด    ในวันเสาร์  อาทิตย์เวลาไปจ่ายตลาด ทีมงานของเราจะเจอเด็กและผู้ปกครองเข้ามา ทักทาย มาสวัสดี ทำให้ทีมงานรู้สึกภาคภูมิใจมาก  ทีมงานบางคนยังแซวกันเล่นๆ ว่า เดี๋ยวนี้หมอ ... ดังใหญ่แล้วนะ คนรู้จักชื่อกันทั้งตำบล หลังจากปิดโครงการทีมงานของเราได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์และประเมินผลเพราะเราได้ทำ Pre – test และ Post – test กิจกรรมการสอนทั้ง 12 กิจกรรม( กิจกรรมละ10คะแนน ) พบว่าผลการสอนเด็กนักเรียนมีความรู้ความเข้าใจดีขึ้นมีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 4.8 เป็น 8.6 คะแนน และผลการวัดความความพึงพอใจของเด็กนักเรียนได้ร้อยละ 98 ความพึงพอใจของคณะครูและผู้บริหารได้ร้อยละ 94 ความพึงพอใจของผู้ปกครองได้ร้อยละ 91 ตัวเลขไม่สำคัญเท่าไรขอเพียงงานที่เราทำ เป็นที่พึงพอใจของชุมชน ทีมงานก็รู้สึก ภูมิใจและสุขใจ

 

จากโครงการ ก่อนสู่โลกกว้าง สู่โครงการ สร้างโปรแกรมและพัฒนาหลักสูตรเพศศึกษาสำหรับวัยรุ่นตอนต้น

            กองอนามัยการเจริญพันธุ  กรมอนามัยกับ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมกันพัฒนาและสร้างหลักสูตรการสอนเพศศึกษาสำหรับวัยรุ่นตอนต้น  และได้ประสานงานมายังผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านลาด  เชิญทีมงานก่อนสู่โลกกว้างและขอให้เรา เชิญโรงเรียนทั้ง 2 แห่ง เข้าร่วมโครงการ ร่างหลักสูตรโปรแกรมการสอนเพศศึกษาวัยรุ่นตอนต้น ซึ่งเป็นโครงการนำร่อง (Pilot Project) มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 7 แห่ง ได้แก่  โรงเรียนในเขตกรุงเทพฯ  นนทบุรี  ชลบุรี  ราชบุรี  และของอำเภอบ้านลาด 2 โรงเรียน   ทีมงานได้นำกิจกรรมในโครงการก่อนสู่โลกกว้างเป็น Model  ขณะเดียวกันกองอนามัยการเจริญพันธุ์ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทางด้านการร่างหลักสูตรวัยรุ่นจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาเป็นผู้ให้ข้อเสนอแนะ โดยใช้แนวกิจกรรมเดิมของโครงการ ก่อนสู่โลกกว้าง มาเป็นแนวทางและปรับกิจกรรมบางตัวให้เหมาะสมแล้วสรุปเหลือ 8 กิจกรรม ได้แก่   หนูเป็นสาวแล้ว..... ......ผมเป็นหนุ่มแล้ว ,  เรื่องปกติ...หรือผิดปกติ ,   อารมณ์เพศวิเศษสุด , คุณค่าในตัวฉัน , สิทธิวัยรุ่น , รู้เขารู้เรา ... ไม่เศร้าไม่เสี่ยง ,  รู้ว่าเสี่ยงจะเลี่ยงอย่างไร และ รู้จักรัก   เมื่อได้กิจกรรมใหม่แล้ว  โรงเรียนในโครงการนำร่องทั้ง 7 แห่ง  ได้ก็นำหลักสูตรไปทดลองสอนในโรงเรียน  ทีมงานโรงพยาบาลบ้านลาดในฐานะเป็นพี่เลี้ยงของโรงเรียนได้ร่วมกับกองนามัยการเจริญพันธุติดตามผลกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ  และเมื่อโครงการสิ้นสุด  ต้องสรุปผลรวบยอดโครงการของโรงเรียนทั้ง 7 แห่งที่โรงแรมทีเคพาเลส กรุงเทพมหานครฯ  มีทั้งคณะครูและคณะหมออนามัยทำให้เราได้รู้จักเป็นเครือข่ายกัน ทั้งโรงเรียนและโรงพยาบาล  ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด   เราเป็นเครือข่ายพันธมิตรกัน  ต่อมากองอนามัยวัยเจริญพันธุได้นำเสนอหลักสูตรโปรแกรมการสอนให้กับกระทรวงศึกษาเพื่อนำไปใช้ในปีการศึกษา 2551

โรงเรียนในจังหวัดเพชรบุรี ตื่นตัว เรื่องหลักสูตรเพศศึกษาวัยรุ่นตอนต้น

            เนื่องจากการสอนเพศศึกษาวัยรุ่นตอนต้นเป็นเรื่องใหม่ มีความทันสมัยและยังไม่เคยมีการสอนในโรงเรียนระดับประถมต้นเลย  จึงทำให้โรงเรียนในจังหวัดเพชรบุรีหลายแห่ง  ซึ่งมีปัญหาเรื่อง เด็กนักเรียนมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนมากขึ้น   ทำให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านลาดได้รับหนังสือ  ขอความอนุเคราะห์ให้ทีมงานก่อนสู่โลกกว้าง ไปช่วยเป็นวิทยากรให้กับคณะครูทั้งจังหวัดเพชรบุรี  โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรีเป็นเจ้าภาพจัดประชุมให้กับคณะครูในจังหวัดเพชรบุรีทั้งเขต 1 และ เขต 2   ขณะเดียวกันโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดได้เชิญทีมงานไปเป็นวิทยากรพูดเรื่อง วิธี....รับมือกับลูกวัยรุ่น ในวันแม่แห่งชาติ   ปัจจุบันทีมงานก่อนสู่โลกกว้างได้ขยายผลไปเป็นวิทยากรให้กับโรงเรียนต่าง ๆ หลายอำเภอ และร่วมกับโรงเรียนทำ โครงการแก้ไขปัญหาวัยรุ่น ให้กับโรงเรียนอีกหลายแห่งในจังหวัดเพชรบุรี  ทำให้ทีมงานรู้สึกภูมิใจ  กับ ผลงานที่เป็นที่ต้องการของสังคม มากขึ้น  ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดเกิดจากแรงบันดาลใจ เรื่องเด็กอายุ 12 ปีตั้งครรภ์  ว่าจะขยายผลไปสู่สังคมได้มากอย่างนี้เนื่องจากทีมของเรา มักจะพูดติดปากอยู่เสมอ ๆว่า ไม่มีคำว่าพ่ายแพ้ถ้าเรารวมพลังกันแก้ปัญหา

จากโครงการ ก่อนสู่โลกกว้าง สู่  โครงการ วัยเรียน  วัยใส  อนามัยดี๊ ดี

            ต่อมาทีมงานก่อนสู่โลกกว้าง ได้รับเชิญจากกรมอนามัยให้เข้าร่วมโครงการของกรม         ซึ่งเป็นโครงการนำร่องทำใน 5 จังหวัดได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช  จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดราชบุรี  และจังหวัดเพชรบุรี  ได้รับเชิญเข้าร่วมโครงการ วัยเรียน วัยใส  อนามัย ดี๊ ดี ซึ่งวัตถุประสงค์โครงการเพื่อ แก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ ให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนทั้งปัญหาเรื่องเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่น  เรื่องโภชนาการ  เรื่องทันตกรรม กรมอนามัยได้เชิญโรงพยาบาลบ้านลาดเข้าร่วมโครงการ และขอให้คัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการอีก 3 แห่งประกอบด้วย โรงเรียนระดับประถมศึกษาตอนต้นได้แก่ โรงเรียนวัดโพธิ์กรุ  ระดับมัธยมศึกษาได้แก่ โรงเรียนขยายโอกาส โรงเรียนวัดหนองแก และโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้แก่ โรงเรียนคงคาราม ขณะเดียวกันโรงพยาบาลบ้านลาดได้จัดตั้ง คลินิกวัยเรียนวัยใส ขึ้นในโรงพยาบาลบ้านลาดเพื่อเป็นคลินิกสำหรับให้คำปรึกษาสำหรับวัยรุ่นในโรงเรียนและที่ Walk-in  เข้ามาขอคำปรึกษาเรื่องเพศสัมพันธ์  ปรึกษาปัญหาการตั้งครรภ์   ปัญหาครอบครัวของเด็กวัยรุ่น ปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ปัญหาเด็กขาดสารอาหาร และปัญหาสุขอนามัยอนามัยช่องปากทีมของโรงพยาบาลได้รับเงินงบประมาณจากกรมอนามัยในโครงการนี้     จำนวน   330,666 บาท เพื่อจัดอบรมให้ความรู้ความเข้าใจกับวัยรุ่น ผู้ปกครอง และจัดตั้งคลินิก วัยเรียนวัยใส ในโรงพยาบาลบ้านลาด  ให้คำแนะนำปรึกษาวัยรุ่นทั้งในและนอกเวลาราชการ  แก้ไขปัญหาเด็กขาดสารอาหาร ติดตามให้คำแนะนำปรึกษาการดำเนินงานโครงการ วัยเรียน วัยใส อนามัย ดี๊ ดี ในโรงเรียนทั้ง 3 แห่ง

จากปัญหา บุคคล สู่การแก้ปัญหาของ สังคม อย่างบูรณาการ

จากปัญหาแม่อายุ 12 ปีตั้งครรภ์ ทำให้การทำงานของทีมโรงพยาบาลบ้านลาดขยายผล    เป็นวงกว้างสู่การบูรณาการแก้ปัญหาที่หลากหลาย  จากการทำงานแก้ปัญหาของคนหนึ่งคน (Individual) นำไปสู่การแก้ปัญหาของกลุ่ม (Node) นำไปสู่การทำงานเป็นเครือข่าย(Network) ทำให้ทีมงานโรงพยาบาลบ้านลาดภาคภูมิใจ  ที่ได้ทำประโยชน์ให้กับสังคม  ในที่ประชุมท่านผู้อำนวยการมักพูดให้กำลังใจทีมงานของเราอยู่เสมอ ๆ ว่า ความคิดใหม่ ๆ ช่วยทำให้คุณเป็นคนใหม่ และเตือนทีมงานของเราว่า เวลาทำงานอย่าลืมค้นหาพลังอันยิ่งใหญ่ของเราว่าอยู่ตรงไหนด้วยนะครับ ขณะเดียวกันทีมงานของเราก็ไม่ลืมที่จะติดตามผลงานของเราจาก ปี 2548 ถึง ปี 2550 รวมเวลา 3 ปีที่ผ่านมา เรายังไม่พบปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์ขณะวัยเรียน ของ 2 โรงเรียนที่ทีมเรานำกิจกรรมลงไปทำ ทีมของเราจึงคิดคำขวัญที่ช่วยสร้างแรงจูงใจและเป็น แรงบันดาลใจในการทำงาน  ดังนี้

เรามีผู้นำดี

เรามีวิสัยทัศน์

เราสร้างนวัตกรรม

เราทำงานให้ประหยัด

เราวัดความพึงพอใจของประชาชน

เราพัฒนาคนและระบบ

เราทำงานจบที่ชุมชน

เราจะวนสู่ความเป็นเลิศ

สมศรี นวรัตน์

รพ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี 

หมายเลขบันทึก: 279523เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2009 18:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท