ชีวิตที่พอเพียง : ๗๙๙. บ้านนอกเข้ากรุง


เมื่อไรที่ผมตกอยู่ในสภาพนี้ ผมจะบอกตัวเองให้ตื่นตัวเต็มที่ และสังเกตสภาพ/เหตุการณ์รอบตัวให้มากที่สุด ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ที่ผมไม่เคยเห็น หรือไม่เข้าใจ ผมจะ “บันทึกเทป” เอาไว้ในสมอง เอาไว้ตีความหรือทำความเข้าใจภายหลัง บ่อยครั้งผมพบว่าหลังจากนั้นหลายปี ประสบการณ์บ้านนอกเข้ากรุงกลับมาสอนผมให้ละเว้นหรือทำกิจกรรมบางอย่าง ช่วยให้ผมทำงานบางอย่างให้สำเร็จได้

          ความรู้สึกคล้ายๆ บ้านนอกเข้ากรุงเมื่อปี ๒๕๐๐ เกิดกับผมเป็นระยะๆ    นี่คือความรู้สึกแปลกแยก ไม่คุ้นเคย งงๆ   เนื่องจากชีวิตของผมเป็นชีวิตที่ถูกชักจูง (และผมก็ใจง่ายยอมให้เขาชักจูง) ไปทำงานที่อยู่นอกวิชาชีพ นอกความคุ้นเคย เป็นระยะๆ  

          ต้นเดือน ก.ค. ๕๒ ผมโดนอุปโลกน์ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยไปประชุม World Conference on Higher Education 2009 ของ UNESCO ที่ปารีส    การประชุมขององค์การระหว่างประเทศนี้ เป็นการประชุมแบบการเมือง   เป็นการเมืองระหว่างประเทศ   ไม่เหมือนการประชุมวิชาการของวงการวิชาการ    ผมกับ ศ. นพ. สุทัศน์ ฟู่เจริญ ซึ่งคุ้นแต่วัฒนธรรมการประชุมแบบวิชาการ    จึงรู้สึกแปลกแยก ไม่คุ้นเคย

          คนที่มีความชำนาญในการตีความระหว่างบรรทัด หรือจริงๆ แล้ว ตีความถ้อยคำที่ซ่อนอยู่   บอกว่า UNESCO คงจะไปเจรจานอกรอบกับจีนมาแล้ว    จึงให้จีนกล่าว keynote speech ในงานเปิดประชุม   จีนจึงเล่นบทหนุน internationalization of higher education เต็มที่   และบอกว่า จีนจะให้ความช่วยเหลืออัฟริกา ด้านอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาอัฟริกา  

          เมื่อถึงคราวอินเดียกล่าวบ้าง เราก็สัมผัสได้ถึงสภาพ “ช้างสารชนกัน” ระหว่างจีนกับอินเดีย   และเมื่อโรมาเนียกล่าว เราก็เห็นว่ายุโรปตะวันออกก็มีแนวคิดที่ต่างไปจากอุดมศึกษาแนว Anglosaxon ของอเมริกาและอังกฤษ

          คนที่มาประชุมกว่าพันคน จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก   เป็นนักการศึกษา นักการเมืองด้านการศึกษา และนักการเมืองระหว่างประเทศด้านการศึกษา    เท่ากับผมหลงเข้าไปในดงผู้คนที่ผมไม่รู้จัก ไม่รู้เรื่องที่เขาพูดกัน    จึงทบทวนกับตนเองว่า ผมอยู่ในสภาพความรู้สึกแบบนี้จึงได้เรียนรู้ชีวิตที่น้อยคนจะเคยประสบ   เพราะคนทั่วไปมักทำงานอยู่ใน comfort zone หรือพื้นที่ที่คุ้นเคย   แต่ผมโชคดี ได้ออกไปเผชิญสภาพบ้านนอกเข้ากรุง

          เมื่อไรที่ผมตกอยู่ในสภาพนี้ ผมจะบอกตัวเองให้ตื่นตัวเต็มที่   และสังเกตสภาพ/เหตุการณ์รอบตัวให้มากที่สุด    ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ที่ผมไม่เคยเห็น หรือไม่เข้าใจ    ผมจะ “บันทึกเทป” เอาไว้ในสมอง   เอาไว้ตีความหรือทำความเข้าใจภายหลัง    บ่อยครั้งผมพบว่าหลังจากนั้นหลายปี ประสบการณ์บ้านนอกเข้ากรุงกลับมาสอนผมให้ละเว้นหรือทำกิจกรรมบางอย่าง ช่วยให้ผมทำงานบางอย่างให้สำเร็จได้

          ผมเชื่อในความรู้ของบ้านนอกเข้ากรุง

วิจารณ์ พานิช
๖ ก.ค. ๕๒
โรงแรม Le Marquis, ปารีส

 

หมายเลขบันทึก: 279364เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2009 13:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2012 16:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท