จัดการ ... กับตัวเอง


คนที่ดูแลคนป่วย ... "ใจ" ต้องไม่ป่วย

 

ญหาและอุปสรรคที่พบ

รู้สึกว่าไม่มีปัญหาอะไรเลย   อาจจะเป็นเพราะว่า  เราจัดการกับใจของตัวเองได้   ตั้งสติได้  ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เลยทำให้เราไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่   ในส่วนของการรักษาก็ทำตามแผนที่คุณหมอวางไว้    พร้อมๆ กับเตรียมตัวเอง และเตรียมตัวลูกให้พร้อมสำหรับสิ่งที่จะต้องดำเนินไป 

 

วิธีการพูดคุยกับลูก

 

การพูดความจริง และใช้เหตุผล

บทแรกสำหรับการให้ลูกเชื่อใจในตัวพ่อแม่  เชื่อในสิ่งที่เราพูด ก็คือ  การพูดความจริง  และใช้เหตุผลกับลูกเสมอ   ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำมาตั้งแต่ลูกเล็กๆ  เช่น   ถ้าไปที่ไหนในระยะเวลาสั้นๆ  ก็จะบอกว่า “ ไปแป๊บเดียว”    ถ้าไปนาน ก็บอกว่า  “ ไปนาน ”     จะไม่หลอกลูกว่า  “ ไปแป๊บเดียว”    เพียงเพื่อเค้าจะได้หยุดร้องตาม   เพราะถ้าเราหลอกลูกแค่ 1-2 ครั้ง   ต่อๆ ไปลูกจะไม่เชื่อเราอีก 

 

ดังนั้นตอนที่ธรรศไม่สบาย  เมื่อลูกถามว่า   เวลาคุณหมอดูพลัง (เจาะเลือด) เจ็บมั้ย     หรือ เวลาให้พลัง (ให้เคมีบำบัด) เจ็บมั้ย  ก็จะตอบว่า  “เจ็บ”  แต่เจ็บนิดหน่อย เหมือนฉีดวัคซีน  แล้วลูกจะแข็งแรง   ธรรศเป็นเด็กโต เป็นพี่ จะงอแงหรือไม่    ซึ่งธรรศก็จะตอบว่าไม่งอแง เพราะธรรศรู้สึกว่าการเป็นเด็กโต เป็นพี่ จะต้องทำอะไรให้ดีการเป็นเด็กเล็ก     

 

การที่เราพูดความจริงกับลูก  จะทำให้ลูกเกิดความเชื่อใจ  วางใจ     แต่ถ้าเราพูดไม่จริง   ลูกจะเกิดความคลางแคลงใจ  ไม่ไว้ใจ     ดังนั้นการพูดความจริงจะเป็นการปลูกฝังความเชื่อมั่น  เชื่อใจ  ที่ลูกมีต่อพ่อแม่อย่างยั่งยืน   โดยเราสามารถให้เหตุผลต่างๆ ตามระดับอายุของเด็ก  เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ  แต่ไม่ใช่การหลอกเด็ก    พ่อแม่ควรระลึกอยู่เสมอว่า ถ้าเราอยากให้ลูกพูดความจริง  และเป็นเด็กมีเหตุผล  เราต้องปฏิบัติสิ่งนั้นกับลูก ... อย่างสม่ำเสมอ

 

การบอกกล่าว

สำหรับธรรศ การที่ได้ทราบอะไรล่วงหน้า  โดยเป็นการบอกกล่าวแบบที่เด็กในวัยขนาดธรรศเข้าใจได้   อีกทั้งพยายามโน้มน้าวให้ธรรศยอมปฏิบัติ    หากธรรศไม่ปฏิเสธ  ก็หมายถึงการให้ความร่วมมืออย่างดี    ซึ่งเราต้องดูว่าเด็กแต่ละคนเป็นแบบไหน  จะใช้วิธีบอกอย่างไร  ในเรื่องนี้พ่อแม่จะมีบทบาทอย่างมาก  เพราะพ่อแม่ต้อง “ รู้จัก” ลูก ดีกว่าคนอื่น  

 

ตอนแรกที่ไปหาคุณหมอซึ่งจะต้องตรวจเลือดนั้น    ก็บอกธรรศว่า  “ คุณหมอจะฉีดวัคซีน ”     ทั้งนี้เพราะเด็กจะคุ้นเคยกับการฉีดวัคซีน   แต่ถ้าบอกว่า “ เจาะเลือด ”  ตั้งแต่แรก     ธรรศอาจกลัวก็ได้      คิดว่าต้องให้ธรรศค่อยๆ คุ้นก่อน     ตอนหลังศัพท์ที่หมายถึง “ เจาะเลือด”  ที่ใช้พูดกับธรรศคือ  “ คุณหมอจะขอดูพลังหน่อย  ว่าธรรศพลังเยอะแล้วยัง      ถ้าพลังเยอะก็จะแข็งแรง        

 

การหาคำพูดมาสื่อแทนภาษาแบบผู้ใหญ่

การพูดกับธรรศ  หรือเด็กคนอื่น นั้น  ถ้าจะพูดโดยใช้ภาษาแบบที่ผู้ใหญ่พูด  เด็กอาจไม่เข้าใจ  หรืออาจจะกลัว    จึงพยายามหาคำพูดเท่าที่วัยของเค้าจะเข้าใจมาสื่อแทน     โดยดูว่าลูกชอบอะไร     เพราะเด็กแต่ละคนพื้นฐานไม่เหมือนกัน   ความชอบไม่เหมือนกัน    พยายามนำสิ่งที่เค้าชอบ หรือรู้จักมาเกี่ยวโยง   

 

พูด / ประโยค    ที่ใช้สื่อแทนภาษาแบบผู้ใหญ่ (ที่แม่บอกธรรศ)

 

โรคมะเร็ง       = มีเจ้าป่องอยู่ในท้อง   (ที่ไม่บอกธรรศว่าโรคอะไร   เพราะเด็กขนาดนี้ไม่เข้าใจ   แต่เค้าจะจำคำพูด จำชื่อโรคได้    เมื่อผู้ใหญ่คนอื่นถาม และธรรศตอบไปตามที่ตัวเองจำชื่อได้    ปฏิกิริยาของผู้ใหญ่ที่แสดงออกเมื่อรู้ว่าธรรศเป็นมะเร็ง จะแสดงอาการตกใจ  ถ้าธรรศเจอหลายๆ ครั้งเข้า  จะทำให้ธรรศรู้สึกว่าเค้าต้องเป็นอะไรที่ไม่ดี)

 

อยู่โรงพยาบาล          = อยู่โรงแรมจุฬา    แต่ที่นั่นจะมีหมอกับพยาบาลเยอะแยะ เค้าจะมาช่วยดูแลเด็ก  (ธรรศชอบเที่ยว ชอบการพักโรงแรม   เวลาพักที่โรงแรมพอถึงเวลาก็จะมีอาหารมาเสริฟ   ซึ่งอยู่ รพ.จุฬา เหมือนอยู่โรงแรม )

 

ผ่าตัด            =    จัดการกับเจ้าป่อง

 

ห้องผ่าตัด      =   ห้องของคุณหมอ

 

เปิดเส้น         =    ทำรถแข่งมีที่เติมน้ำมัน (เพราะจะมีที่เปิด-ปิด เวลาฉีดยา ให้น้ำเกลือ)

 

ให้น้ำเกลือ   ให้เคมีบำบัด   =   ให้พลัง

 

เจาะเลือด        =   ขอดูพลังว่ามีเยอะรึเปล่า

 

ให้เลือด         =     พลังสีแดง    (เนื่องจากแด็กอาจกลัวถ้าบอกว่าเป็นเลือด)

 

จำลองการฉายรังสี (กำหนดตำแหน่ง) =   ถ่ายรูปท้อง  กล้องคุณหมอจะมีพลังแสงด้วย  พอถ่ายรูปเสร็จ คุณหมอจะวาดรูปที่ท้องด้วย

 

ไปฉายรังสี       =   ไปนั่งยานอวกาศของคุณหมอ

 

หน้ากากออกซิเจน    =   ชุดมนุษย์อวกาศ  (เพราะต้องมีที่ครอบที่จมูก)

 

เอ็กซเรย์        =    ถ่ายรูป

 

ทำ Ultrasound =   คุณหมอจะเอาขวดใส่ซอสเหมือนที่ KFC มาบีบบนท้อง  มันจะเย็นๆ  แล้วคุณหมอจะนวดท้องให้  เราจะเห็นท้องของเราในโทรทัศน์ด้วย

 

ทำ CT  SCAN =   เป็นรถไฟเข้า- ออกอุโมงค์ เหมือนโทมัส  แล้วอุโมงค์ก็ทำงาน แต่ไม่เกี่ยวกับเรา 

 

ทำ ECHO       = ดูว่าหัวใจเต้นเยอะหรือน้อย ถ้าเต้นเยอะก็ไปเที่ยวได้เยอะ เต้นน้อยต้องพักผ่อน

 



หมายเลขบันทึก: 278404เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2009 15:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท