บทความวิชาการ


การพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา

บทความทางวิชาการ

เรื่อง

  การพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามเกณฑ์คุณภาพ

การบริหารจัดการภาพรัฐ(PMQA)

 

นายจรูญ  วัฒนา

รองผู้อำนวยการโรงเรียนประสาธน์ราษฎร์บำรุง

 

การศึกษาถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของคน เพราะการจัดการศึกษาเป็นปัจจัยหลักในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด และคุณธรรมของบุคคล เป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมและสร้างภูมิปัญญาให้แก่บุคคล การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพจะช่วยให้ประชาชนมีคุณธรรม สามารถดำรงอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข มีความรู้ความสามารถและทักษะในการแสวงหาความรู้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมในอนาคต มีความสามารถในการประกอบอาชีพ พึ่งตนเองได้ ดำรงชีวิตอย่างมีความสุขและมีศักดิ์ศรี สามารถพัฒนาตนเองและร่วมพัฒนาสังคมได้อย่างเหมาะสม

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ.  ๒๕๔๒  และที่แก้ไขเพิ่มเติม  (ฉบับที่ ๒)  พ.ศ. ๒๕๔๕  หมวด ๑  บททั่วไป  ความมุ่งหมายและหลักการ  มาตรา   การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย  จิตใจ  สติปัญญา  ความรู้  และคุณธรรม  มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต  สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข  มาตรา   ในกระบวนการเรียนรู้ต้องมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้อง  เกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  รู้จักรักษา  และส่งเสริมสิทธิ  หน้าที่  เสรีภาพ  ความเคารพกฎหมาย  ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  มีความภูมิใจในความเป็นไทย  รู้จักรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมและของประเทศชาติ  รวมทั้งส่งเสริมศาสนา  ศิลปะ  วัฒนธรรมของชาติ  การกีฬา  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  ภูมิปัญญาไทย  และความรู้อันเป็นสากล  ตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  มีความสามารถในการประกอบอาชีพ  รู้จักพึ่งตนเอง  มีความริเริ่มสร้างสรรค์  ใฝ่รู้  และเรียนด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง  มาตรา   (๓)  มีการกำหนดมาตรฐานการศึกษา  และจัดระบบประกันคุณภาพการศึกษาทุกระดับ  และประเภทการศึกษา

หมวด   แนวการจัดการศึกษา  มาตรา  ๒๒  การจัดการศึกษาต้องยึดหลักการว่าผู้เรียนทุกคนมีความสารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้  และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด  กระบวนการการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ มาตรา  ๒๓  การจัดการศึกษา  ทั้งการจัดการศึกษาในระบบ  การศึกษานอกระบบ  และการศึกษาตามอัธยาศัย ต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้  คุณธรรม  กระบวนการเรียนรู้  และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษาในเรื่องต่อไปนี้

(๑)  ความรู้เกี่ยวกับตนเอง  และความสัมพันธ์ของตนเองกับสังคม  ได้แก่  ครอบครัว  ชุมชน  ชาติ  และสังคมโลก  รวมถึงความรู้เกี่ยวกับประวิติศาสตร์ความเป็นมาของสังคมไทยและระบบการเมืองการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย  อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

(๒)  ความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  รวมทั้งความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์เรื่องการจัดการ  การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน

(๓)  ความรู้เกี่ยวกับศาสนา  ศิลปะ  วัฒนธรรม  การกีฬาภูมิปัญญาไทย  และการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา

(๔)  ความรู้  และทักษะด้านคณิตศาสตร์  และด้านภาษา  เน้นการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง

(๕)  ความรู้  และทักษะในการประกอบอาชีพและดำรงชีวิตอย่างมีความสุข

มาตรา  ๒๔  การจัดกระบวนการเรียนรู้  ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(๑)  จัดเนื้อหาและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน  โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล

(๒)  ฝึกทักษะ  กระบวนการคิด  การจัดการ  การเผชิญสถานการณ์  และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ปัญหา

(๓)  จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง  ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้  คิดเป็น  ทำเป็น  รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง

(๔)  จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระระหว่างความรู้ด้านต่าง ๆ  อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน  รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม  ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ทุกวิชา

(๕)  ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ  สภาพแวดล้อม  สื่อการเรียน  และอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้  รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้  ทั้งนี้  ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่าง ๆ

(๖)  จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่  มีการประสานความร่วมมือกับบิดามารดา  ผู้ปกครอง  และบุคคลในชุมชนทุกฝ่าย  เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ

มาตรา  ๒๗  ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตร  ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว  ชุมชน  สังคม  และประเทศชาติ

หมวด   มาตรฐานและการประกันคุณภาพ  มาตรา  ๔๗  ให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ  ประกอบด้วย  ระบบการประกันคุณภาพภายใน  และระบบการประกันคุณภาพภายนอก  มาตรา  ๔๘  ให้หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษาจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาและให้ถือว่าการประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษา  ที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง  โดยมีการจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัด  หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  และเปิดเผยต่อสาธารณชน  เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา  และเพื่อรองรับการประกันคุณภาพภายนอก  มาตรา  ๔๙  ให้มีสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา  มีฐานะเป็นองค์การมหาชนทำหน้าที่พัฒนาเกณฑ์  วิธีการประเมินคุณภาพภายนอก  และทำการประเมินการจัดการศึกษาเพื่อให้มีการตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษา  โดยคำนึงถึงความมุ่งหมายและหลักการ  และแนวการจัดการศึกษาในแต่ละระดับ

จากที่ได้ศึกษางานวิจัย  ของ  ดวงใจ  กฤดากร  เรื่อง  การศึกษาความต้องการจำเป็นในการดำเนินการด้านประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนมัธยมศึกษา  สังกัดกรมสามัญศึกษา(เดิม)  หลังการได้รับการประเมินภายนอกจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพ (สมศ.)  ผู้วิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะสำหรับสถานศึกษาไว้ดังนี้

๑.  โรงเรียนที่มีระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาที่ดีนั้นส่วนใหญ่ผู้รับผิดชอบงานระบบประกันฯ  หรือหัวหน้างานประกันคุณภาพการศึกษาจะเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องของการประเมินผลค่อนข้างดี

๒.  งานด้านประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาส่วนใหญ่ดำเนินการโดยบุคลากรกลุ่มเดียวของโรงเรียน  ทำให้บุคลากรอื่น ๆ  ไม่มีส่วนร่วมเท่าที่ควร  ดังนั้น  ในการดำเนินการในระยะต่อไป  โรงเรียนควรให้บุคลากรทุกคนในสถานศึกษามีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาและร่วมทำงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา

๓.  หลังจากที่โรงเรียนที่ได้รับการประเมินภายนอกในรอบแรกแล้วคงต้องแสดงความก้าวหน้าในระบบการประกันคุณภาพของตนเอง  โดยการปรับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น  สร้างความรู้ความเข้าใจอย่างจริงจังและจัดให้มีผู้ปกครองเครือข่าย

๔.  จัดอบรมเชิงปฏิบัติการภายในโรงเรียนหรือระหว่างกลุ่มโรงเรียน  เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ  ที่ยังเป็นความต้องการจำเป็นของบุคลากรในสถานศึกษาอยู่

๕.  โรงเรียนควรจัดให้บุคลากรในสถานศึกษา  และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมกันวางแผนการจัดเก็บข้อมูลหรือวางแผนการประเมิน  โดยกำหนดเวลาของการเก็บข้อมูลเป็นระยะ ๆ  เพื่อให้ผู้รับผิดชอบสามารถวิเคราะห์  สังเคราะห์   และแปลความหมายข้อมูลในภาพรวม  แล้วนำเสนอต่อบุคลากรในสถานศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้อง  เพื่อนำผลไปปรับใช้หรือพัฒนางานของตนเอง  และช่วยเหลือนักเรียนได้ทันที่

๖.  โรงเรียนควรจัดให้บุคลากรทุกฝ่ายร่วมกันกำหนดรูปแบบ / วิธีการประเมินให้เป็นไปในทิศทางเดี่ยวกัน  ร่วมกันระดมความคิดในการจัดทำเครื่องมือให้สามารถวัดได้ตรงตามวัตถุประสงค์  และมีความเชื่อมโยงกับเป้าหมาย / มาตรฐานการศึกษา

๗.  ผู้บริหารสถานศึกษาควรให้หมวดวิชา / ฝ่ายต่าง ๆ  จัดทำแผนการทำงาน  โดยกำหนดงานและระยะเวลาของงานนั้น ๆ  ให้ชัดเจน  ให้แต่ละหมวดรายงานความก้าวหน้าในงานของตนเองเป็นระยะ ๆ  เพื่อควบคุมการดำเนินงานต่าง ๆ  ให้เป็นไปตามแผนและสะดวกต่อผู้บริหารในการกำกับติดตามงาน

โรงเรียนประสาธน์ราษฎร์บำรุง  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช  เขต   ได้รับการประเมินภายนอกจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพ (สมศ.)  ซึ่งผลการประเมินคุณภาพการศึกษาจากภายนอกรอบที ๑  และรอบที่ ๒  มีผลแตกต่างไปในทางลบในมาตรฐานที่ ๕  ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร  ผลประเมินภายนอกรอบที่ ๑  อยู่ในระดับ  พอใช้  แต่ผลการประเมินภายนอกรอบที่ ๒  อยู่ในระดับปรับปรุง  มาตรฐานที่ ๖  ผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง  รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง  ผลการประเมินภายนอกรอบที่ ๑  อยู่ในระดับ  ดี  แต่ผลการประเมินภายนอกรอบที่ ๒  อยู่ในระดับ  พอใช้  แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาของโรงเรียนประสาธน์ราษฎร์บำรุงยังไม่มีประสิทธิภาพ  จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามเกณฑ์การบริหารจัดการคุณภาพภาครัฐ (PMQA)

การบริหารจัดการคุณภาพภาครัฐ (PMQA)  เป็นการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์  หมายถึง ระบบการบริหารที่ให้ความสำคัญต่อผลการดำเนินงานและการตรวจวัดผลสำเร็จในการดำเนินงานขององค์การ ทั้งในแง่ของปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลผลิต และผลลัพธ์ ซึ่งจะต้องมีการกำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน (Key Performance Indicators : KPIs) รวมทั้งการกำหนดเป้าหมาย (Targets) และวัตถุประสงค์ (Objectives) ไว้ล่วงหน้า โดยอาศัยการมีส่วนร่วมระหว่างผู้บริหาร สมาชิกของหน่วยงาน และตลอดจนถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ  (Stakeholders) ที่เกี่ยวข้องด้วย

คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ หมายถึง  คุณภาพของการบริหารตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐทั้ง ๗ หมวด คือ การนำองค์กร, การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์และกลยุทธ์, การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย, การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้, การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล, การจัดการกระบวนการ และผลลัพธ์การดำเนินการ

การนำองค์กร หมายถึง การที่ผู้บริหารของหน่วยงานได้ดำเนินการในเรื่องวิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยม เป้าประสงค์ระยะสั้นและระยะยาว ความคาดหวังในผลการดำเนินการ การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การกระจายอำนาจการตัดสินใจ การสร้างนวัตกรรมและการเรียนรู้ในหน่วยงาน รวมทั้งการกำกับดูแลตนเองที่ดี และดำเนินการเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสาธารณะและชุมชน

 การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ หมายถึง วิธีการกำหนดเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์และ 

กลยุทธ์ และแผนงาน/โครงการของส่วนราชการ รวมทั้งการถ่ายทอดเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ลงไปยังระดับต่าง ๆ  ภายในหน่วยงาน และการรวมถึงการวัดผลความก้าวหน้าในการดำเนินงาน

การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หมายถึง การกำหนดความต้องการ ความคาดหวังและความพึงพอใจของผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรวมถึงการดำเนินการในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การกำหนดปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีความพึงพอใจ และนำไปกล่าวถึงในทางที่ดี

การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้  หมายถึง การรวบรวม วิเคราะห์ จัดการ และปรับปรุงข้อมูล สารสนเทศ และจัดการความรู้

 การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล หมายถึง การที่หน่วยงานได้จัดระบบงานบุคคล ระบบการเรียนรู้ของบุคลากร  และการสร้างแรงจูงใจ ช่วยให้บุคลากรพัฒนาตนเองและใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ เพื่อให้มุ่งไปในทิศทางเดียวกันกับเป้าประสงค์และแผนปฏิบัติการโดยรวม  รวมทั้งความใส่ใจ  การสร้างและรักษาสภาพแวดล้อมในการทำงาน การสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการปฏิบัติงานของบุคลากร ซึ่งจะนำไปสู่ผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศ และความเจริญก้าวหน้าของบุคลากรและหน่วยงาน

การจัดการกระบวนการ หมายถึง การจัดการกระบวนการการให้บริการ และกระบวนการอื่นๆที่สำคัญที่มีส่วนช่วยสร้างคุณค่าแก่ผู้รับบริการ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และหน่วยงานตลอดจนกระบวนการสนับสนุนที่สำคัญต่าง ๆ

ผลลัพธ์การดำเนินการ หมายถึง ผลการดำเนินการและแนวโน้มของหน่วยงานตามตัวชี้วัดสำคัญๆในมิติต่างๆ ได้แก่ มิติด้านประสิทธิผลตามยุทธศาสตร์ มิติด้านคุณภาพการให้บริการ มิติด้านประสิทธิภาพของการปฏิบัติราชการ และมิติการพัฒนาองค์กร โดยเปรียบเทียบกับส่วนราชการหรือองค์กรอื่นที่มีภารกิจคล้ายคลึงกันด้วย

                การพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA)  ของโรงเรียนประสาธน์ราษฎร์บำรุง  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช  เขต ๒  จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการบริหารจัดการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  ดังนี้ 

                ๑.  เกิดองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับระบบการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์และการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในลักษณะการปฏิบัติจริง  ที่ชัดเจน

                . ได้ต้นแบบของหน่วยงานภาครัฐที่บริหารจัดการแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์และใช้เกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบ เพื่อสถานศึกษาขั้นพื้นฐานต่างๆได้ใช้เป็นแบบอย่าง/แนวทางในการพัฒนาระบบบริหารของตนเองให้มีความสมบูรณ์ ที่สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูประบบราชการของรัฐบาล

                . ได้องค์ความรู้ที่เป็นปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ที่เหมาะสมตามบริบทและวัฒนธรรมการบริหารงานของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

 

หมายเลขบันทึก: 278028เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2009 12:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อผู้อ่านมากเลยค่ะ

ขอบคุณมากสำหรับบทความมีประโยช์นมากเลย

เป็นบทความที่ดีและมีประโยชน์ในเรื่องการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท