อารมณ์เป็นโรคติดต่อ


อารมณ์-ความรู้สึกของคนเราสามารถติดต่อกันได้

รู้หรือไม่ว่า...อารมณ์เป็นโรคติดต่อ

อารมณ์เป็นเรื่องที่ติดต่อกันได้อย่างน่าประหลาด และการที่อารมณ์ติดต่อได้นี้เอง ทำให้อารมณ์ของผู้ที่กำลังสื่อสารอยู่ด้วยกันในขณะใดขณะหนึ่งคล้อยตามกันไปเป็นกลุ่ม และทำให้เกิดพลังแห่งอารมณ์ ซึ่งอาจนำไปใช้ในทางที่สร้างสรรค์ หรือทำลายล้างได้

ศาสตร์ที่พยายามอธิบายปรากฏการณ์ที่อารมณ์จากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งส่งผล รวมทั้งติดต่อไปยังอารมณ์ของอีกบุคคลหนึ่ง เป็นศาสตร์สาขาใหม่ที่ชื่อ “Social Neuroscience” เป็นศาสตร์ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างจิตวิทยา ประสาทวิทยา และสังคมวิทยา เป็นศาสตร์ที่เชื่อว่าสมองของมนุษย์มีมิติของพฤติกรรมทางสังคม ซึ่งเรียกว่า “Social Brain” อันเป็นกลไกของระบบประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมปฏิสัมพันธ์ (Interactions) ความคิด (Thoughts) และความรู้สึก (Feelings) ต่อผู้อื่น และเป็นระบบทางชีววิทยาเพียงระบบเดียวในร่างกายมนุษย์ที่สามารถเชื่อมโยงอารมณ์และความรู้สึกระหว่างบุคคลได้ นอกจากนี้ ยังเชื่ออีกว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมีผลกระทบต่อขนาด ลักษณะ และจำนวนเซลล์สมอง ซึ่งเรียกว่า “Neuroplasticity”

เมื่อคนเรามีการติดต่อกันในลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็นหน้ากัน หรือติดต่อเฉพาะเสียงหรือกระทั่งมีการสัมผัสกันทางกาย ก็จะทำให้ “Social Brain” ของทั้งสองฝ่ายเริ่มเชื่อมโยงกัน ถ้าเปรียบเป็นวิทยาการทางเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบันก็ต้องบอกว่า “Social Brain” มีการแสวงหากัน (Roaming) และเชื่อมกันแบบไร้สาย (Wireless Connection) โดยผ่านเทคโนโลยีบลูทูธ (Bluetooth)...จริงๆ แล้ว Social Neuroscience มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อน ซึ่งไม่เหมาะที่จะนำมาอธิบายอย่างละเอียดในบทความนี้

ไม่ว่าคำอธิบายจะเป็นอย่างไร เอาเป็นว่า อารมณ์และความรู้สึกของคนสามารถติดต่อกันได้ และด้วยเหตุนี้เอง การรู้จักและเข้าใจ ตลอดจนการบริหารอารมณ์ของคนในสังคมและองค์กร จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

คนในองค์กรหลายคนมักแสดงอารมณ์ด้านลบออกมาโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะด้วยความเคยชิน หรือเพราะน็อตหลุดจนควบคุมอารมณ์ของตัวเองไม่ได้ จึงพูดจาด้วยถ้อยคำรุนแรง แสดงอารมณ์ฉุนเฉียว และมีใบหน้าที่ไม่พอใจอยู่เป็นประจำ คนอื่นๆ ที่จำเป็นต้องติดต่อสื่อสารด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็จะเริ่มมีอาการและอารมณ์ในลักษณะที่เหมือนกัน เพื่อให้การสื่อสารอยู่ในระดับที่เสมอกัน เมื่อเป็นดังนี้แล้วก็เป็นอันว่า ในองค์กรมีคนที่อารมณ์เสียเพิ่มขึ้น จากหนึ่งคน เป็นสองคน

อย่างไรก็ตาม หากคู่สนทนาอีกฝ่ายหนึ่งมีอารมณ์ดีที่เหนือกว่าอารมณ์เสียของอีกฝ่ายหนึ่งมาก และเป็นคนที่สามารถควบคุมอารมณ์ให้มั่นคง ซึ่งเป็นผลมาจากการได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี ทำให้อารมณ์ไม่โอนเอนไปตามคู่สนทนาอีกฝ่ายหนึ่งได้โดยง่าย สามารถใช้รอยยิ้ม อารมณ์ดี และคำพูดที่สงบ ทำให้ฝ่ายที่กำลังอารมณ์เสียหรือกำลังใช้คำพูดที่รุนแรงสงบลงไปได้ และอาจถึงขั้นติดเอาความมีอารมณ์ดีและรอยยิ้มของอีกฝ่ายหนึ่งเข้าไปใน “Social Brain” ของตนเองได้...การสนทนาก็จะจบลงด้วยรอยยิ้ม

ในสถานการณ์เช่นนี้ อารมณ์ของแต่ละฝ่าย จึงเปรียบเสมือนเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย ที่พร้อมจะแพร่จากฝ่ายหนึ่งไปสู่อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเชื้อฝ่ายไหนจะเป็นฝ่ายแพร่ออกไป ย่อมขึ้นอยู่กับทั้งความแรงของเชื้อและภูมิคุ้มกันของแต่ละฝ่าย

ในบางกรณี คนที่มีเชื้ออารมณ์ร้ายสูง แต่มีจำนวนน้อยกว่าคนที่มีเชื้ออารมณ์ดี หรือพูดง่ายๆ คืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีคนอารมณ์ดีจำนวนมากกว่า ก็อาจทำให้คนที่มีอารมณ์ร้ายนั้นค่อยๆ รับเชื้ออารมณ์ดี และกลายเป็นคนที่มีอารมณ์ดีในการสนทนาในที่สุด...หรือในอีกกรณีหนึ่งก็คือ จะค่อยๆ ทำให้คนที่มีเชื้ออารมณ์ดีค่อยๆ ติดเชื้ออารมณ์ร้าย จนทำให้องค์กรซึ่งเคยมีแต่คนอารมณ์ดี กลายเป็นองค์กรอารมณ์เสียได้ในที่สุดเช่นกัน

เรื่องราวทั้งหมดของ เชื้ออารมณ์ นี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการบริหารองค์กร ทั้งในแง่ของการสร้างบรรยากาศในการทำงานขององค์กร ให้มีลักษณะที่มีความคิดในทางที่ดีต่อกัน มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เกิดความร่วมมือ และทำให้การประสานงานเชื่อมโยงทรัพยากรต่างๆ ขององค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นปัจจัยสำคัญซึ่งนำไปสู่ประสิทธิภาพและผลิตภาพ (Productivity) ขององค์กร

นอกจากนี้เชื้ออารมณ์ยังมีความสำคัญต่อการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์กับลูกค้าหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเจรจาต่อรอง การจูงใจให้ตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งรวมทั้งการระงับข้อพิพาท และการแก้ไขสถานการณ์เมื่อลูกค้าเกิดความไม่พอใจ

                ได้อ่านบทความข้างต้นแล้วคงไม่ต้องสงสัยเลยใช่ไหมคะว่าทำไมเมื่อเราได้พูดคุย สนทนากับคนที่มีอารมณ์ดี    ยิ้มแย้ม แจ่มใส ทำให้เรารู้สึกสบายใจสดชื่น แจ่มใสไปด้วย  เรามาช่วยกันเพิ่มเชื้ออารมณ์ดีให้กับองค์กร หน่วยงานของเรากันเถอะนะคะ  โดยเฉพาะคุณครูท่านใดที่อารมณ์ดี  รับรองว่าเด็กๆ จะรับอารมณ์ดีของคุณครูได้ และเขาจะเป็นเด็กดี  ตั้งใจเรียน  ทำให้คุณครูอารมณ์ดีตลอดทั้งวันแน่นอนค่ะ

หมายเลขบันทึก: 277868เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2009 19:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ถูกต้องแล้วขอรับคุณครู

เราต้องจัดการอารมณ์และความรู้สึกที่เกิดขึ้นอย่างรู้เท่าทัน..

คนเราต้องรู้จักการควบคุมอารมณ์ การรู้จักฝึกจิต และรักษาอารมณ์จะทำให้เราเป็นคนที่มีอารมณ์ดีอยู่ตลอดเวลา พี่เห็นด้วยค่ะ

การชนะใจตนเอง เป็นการชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้วค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท