ท.ณเมืองกาฬ
นาย ทรงศักดิ์ พิราบขาว ภูเก้าแก้ว

เพลงกล่อมเด็ก


ความอบอุ่น

เพลงกล่อมเด็ก

        เพลงกล่อมเด็กเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะ ใช้ภาษาเป็นสื่อในการสืบทอดซึ่งแพร่หลายแทบทุกชาติทุกภาษาทั่วโลกทางยุโรป เช่น อังกฤษเรียกเพลงกล่อมเด็กว่า Mother Goose ในอเมริกาเรียก Lullaby

ความหมายของเพลงกล่อมเด็ก

      เพลงกล่อมเด็กเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อและค่านิยมของคนในท้องถิ่นต่างๆ คนทุกชาติทุกภาษาในโลกมีบทเพลงกล่อมเด็กด้วยกันทั้งนั้น สันนิษฐานว่าเพลงกล่อมเด็กมีวิวัฒนาการจากการเล่านิทานให้เด็กฟังก่อนนอน ดังนั้นเพลงกล่อมเด็กบางเพลงจึงมีลักษณะเนื้อร้องที่เป็นเรื่องเป็นราว เช่น จันทรโครพ ไชยเชษฐ์ พระรถเสน เป็นต้น การที่ต้องมีเพลงกล่อมเด็กก็เพื่อให้เด็กเกิดความเพลิดเพลิน  หลับง่าย   และเกิดความอบอุ่นใจ

 ลักษณะของเพลงกล่อมเด็ก

        ลักษณะกลอนของเพลงกล่อมเด็กจะเป็นกลอนชาวบ้านไม่มีแบบแผนแน่นอน เพียงแต่มีสัมผัสคล้องจองกันบ้าง ถ้อยคำที่ใช้ในบางครั้งอาจไม่มีความหมาย เนื้อเรื่องจะเกี่ยวกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความรัก ความห่วงใยของแม่ที่มีต่อลูก ทั้งยังมีการสั่งสอนและเสียดสีสังคม สามารถแยกเป็นข้อได้ดังนี้

  • เป็นบทร้อยกรองสั้นๆ มีคำคล้องจองต่อเนื่องกันไป

  • มีฉันทลักษณ์ไม่แน่นอน

  • ใช้คำง่ายๆ สั้นหรือยาวก็ได้

  • มีจังหวะในการร้องและทำนองที่เรียบง่าย สนุกสนาน จดจำได้ง่าย

 

 ประเภทของเนื้อเพลงกล่อมเด็ก

  • แสดงความรักความห่วงใย

  • กล่าวถึงสิ่งแวดล้อม

  • เล่าเป็นนิทานและวรรณคดี

  • เป็นการเล่าประสบการณ์

  • ล้อเลียนและเสียดสีสังคม

  • ความรู้เกี่ยวกับการดูแลเด็ก

  • เป็นคติ คำสอน

 

 เพลงกล่อมเด็กในแต่ละภาค

        ในประเทศไทยเรานั้นมีเพลงกล่อมเด็กอยู่ทั่วทุกภาค เนื้อร้องและทำนองจะต่างกันไป มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น ภาคเหนือเรียก "เพลงนอนสาหล่า" "นอนสาเดอ" ภาคกลางเรียก "เพลงกล่อมเด็ก" "เพลงกล่อมลูก" ส่วนภาคใต้เรียก "เพลงชาน้อง" "เพลงเปล" "เพลงน้องนอน" และ "เพลงร้องเรือ" โดยเพลงกล่อมเด็กเป็นคติชาวบ้านประเภทใช้ภาษาเป็นสื่อที่การถ่ายทอดจากปากต่อปากมาแต่โบราณ เรียกว่า "มุขปาฐะ" มีลักษณะเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีบทบาทและหน้าที่แสดงเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชน

 

 เพลงกล่อมเด็กภาคเหนือ

        สำหรับภาคเหนือ หรือดินแดนล้านนาอันสงบสวยงาม มีเพลงกล่อมลูกสืบทอดเป็นลักษณะแบบแผนเฉพาะของตนเองมาช้านาน อาจารย์สิงฆะ วรรณไสย แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียกฉันทลักษณ์ของเพลงกล่อมเด็กภาคเหนือว่า "คำร่ำ" ซึ่งจัดเป็นลำนำชนิดหนึ่ง หมายถึงการร่ำพรรณนา มีเสียงไพเราะ สูงต่ำตามสียงวรรณยุกต์ของสำเนียงภาคเหนือ นิยมใช้แต่งในการร่ำบอกไฟขึ้น ร่ำสร้างวิหาร ร่ำสร้างเจดีย์ ร่ำสร่างถนน ขึ้นดอยสุเทพ และแตงเป็นคำกล่อมเด็ก

        คำกล่อมเด็กนี้ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ในภาคเหนือสมัยก่อนมักจะใช้ขับกล่อมสอนลูกหลานขณะอุ้มเด็กนั่งชิงช้าแกว่งไกวช้าๆ จนเด็กง่วงนอน จึงอุ้มไปวางบนที่นอนหรือในเปลแล้วแห่กล่อมต่อจนเด็กหลับสนิท คำกล่อมเด็กนี้จึงเรียนว่า "สิกจุ้งจาโหน" ตามเสียงที่ใช้ขึ้นต้นเพลง

        ลักษณะเด่นของเพลงกล่อมเด็กภาคเหนือนอกจากจะขึ้นต้นด้วยคำว่าสิกจุ้งจาโหนแล้วยังมักจะขึ้นต้นด้วยคำว่า "อื่อจา" เป็นส่วนใหญ่ จึงเรียกเพลงกล่อมเด็กนี้ว่า เพลงอื่อลูก ทำนองและลีลาอื่อลูกจะเป็นไปช้าๆ ด้วยน้ำเสียงทุ้มเย็น ตามถ้อยคำที่สรรมาเพื่อสั่งสอนพรรณาถึงความรัก ความห่วงใยลูกน้อย จนถึงคำปลอบ คำขู่ ขณะยังไม่ยอมหลับ ถ้อยคำต่างๆ ในเพลงกล่อมเด็กภาคเหนือสะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมต่างๆ ของคนในภาคเหนือในอดีตจนปัจจุบันได้เป็นอย่างดี นับเป็นประโยชน์ทางอ้อมที่ได้รับนอกเหนือจากความอบอุ่นใจของลูกที่เป็นประโยชน์โดยตรงของเพลงกล่อมเด็ก

 ตัวอย่างเพลงกล่อมเด็กของภาคเหนือ

จะกล่าวเติง จะกล่าวเติงมอญใหม่
ตกมาอยู่เมืองไทยนานนักหนา
ตัวของมอญชื่อมะเติ่ง เมียชื่อเหมยเจิง เป็นภรรยา
พอรุ่งแจ้ง พอรุ่งแจ้งแสงทอง พระอาทิตย์สาดส่อง อยู่บนเวหา
จึงเรียกแม่เหมย ภรรยา สายแล้วหล่อนจ๋า รีบคราไคล......
เรียกน้องทำไมจ๊ะ พี่เติงจ๋า ส่วนตัวน้องยาไม่ไปไหน
จะจัดแจงแป้งน้ำมันเข้าทันใด แล้วจะได้ไปขายท้ายธานี..
เอ้อ..เออ เออ เอิงเอยยย......


 เพลงกล่อมเด็กภาคอีสาน

        เพลงพื้นบ้านอีสาน มีลักษณะเด่นชัดกับการขับร้องอันเป็นธรรมชาติ บ่งบอกความจริงใจ ความสนุกสนาน และความสอดคล้องกลมกลืนกับเครื่องดนตรีประจำท้องถิ่น คือ แคน แม้การขับกล่อมลูกซึ่งไม่ใช้เครื่องดนตรีใดๆ ประกอบ ก็สื่อให้ผู้ฟังรู้ทันทีว่าเป็นเพลงของภาคอีสาน

        ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน เป็นดินแดนที่กว้างขวางและมีประชากรมากที่สุดในบรรดา 4 ภาคของไทย เพลงกล่อมลูกจึงมีหลายสำเนียง ถ้าเป็นอีสานตอนเหนือจะมีสำเนียงคล้ายลาว ถ้าเป็นอิสานตอนใต้จะมีสำเนียงคล้ายเขมร แต่เพลงกล่อมลูกที่แพร่หลายและยอมรับว่าเป็นเอกลักษณ์ของอีสานจะเป็นสำเนียงอีสานตอนเหนือ และมักจะขึ้นต้นด้วยคำว่า "นอนสาหล่า" หรือ "นอกสาเดอ" หรือ "นอนสาแม่เยอ" มีทำนองลีลาเรียบง่ายช้าๆ และมีกลุ่มเสียงซ้ำๆ กันทั้งเพลงเช่นเดียวกับภาคเหนือ การใช้ถ้อยคำมีเสียงสัมผัสคล้ายกลอนสุภาพทั่วไป และเป็นคำพื้นบ้านที่มีความหมายในเชิงสั่งสอนลูกหลานด้วยความรักความผูกพัน

        ซึ่งมักจะประกอบด้วย 4 ส่วนเสมอ คือ ส่วนที่เป็นการปลอบโยนการขู่และการขอโดยมุ่งให้เด็กหลับเร็วๆ นอกจากนี้ก็จะเป็นคำที่แสดงสภาพสังคมด้านต่างๆ เช่น ความเป็นอยู่ บรรยากาศในหมู่บ้าน ค่านิยม ขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นต้น คุณค่าของเพลงกล่อมเด็กอีสาน จึงมีพร้อมทั้งทางด้านจิตใจและด้านการศึกษาของชาติ

 

 ตัวอย่างเพลงกล่อมเด็กภาคอีสาน

เพลงกล่อมเด็กภาคอีสาน

       นอนสาหล่าหลับตาแม่กล่อม
นอนตื่นแล้วจั่งหลุกกินนม
กินนมไฝ่บ่ปานนมแม่
กินนมแม่มันแซบมันหวาน
มันหวานลงหวานลงคือกล้วย
หวานจ้วยๆใส่ปากคำแพง
เอ้อ ฮะ เอ้อ ฮะ เอ้อ ฮะ เอ้อ ๆ
แม่ไปไฮ่เอาไข่มาหา
แม่ไปนาเอาปลามาป้อน
แม่เลี้ยงม้อนอยู่ในสวนมอน
เอ้อ ฮะ เอ้อ ฮะ เอ้อ ฮะ เอ้อ
นอนสาหล่าหลับตาแม่ชิกล่อม
ขดอ้อมป้อมนอนแล้วอย่าตีง
มิดอิ้งติ้งอย่ากวนอย่าแอ่ว
นอนตื้อแล้วจังลุกกินนม
เอ้อ ฮะ เอ้อ ฮะ เอ้อ ฮะ เอ้อ

 เพลงกล่อมเด็กภาคกลาง

        เพลงกล่อมเด็กภาคกลางเป็นที่รู้จักแพร่หลายและมีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานมากกว่าเพลงกล่อมเด็กภาคอื่น ซึ่งสะดวกแก่การศึกษาค้นคว้า การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ โดยไม่มีชื่อเฉพาะสำหรับเรียกเพลงกล่อมเด็กภาคกลาง เนื่องจากขึ้นต้นบทร้องด้วยคำหลากหลายชนิดตามแต่เนื้อหาของเพลง นักวิชาการหลายท่านได้ศึกษาแบ่งประเภทเนื่อหาของเพลงกล่อมเด็กภาคกลางไว้คล้ายกัน คือ

  • ประเภทสะท้อนให้เห็นความรักความผูกพันระหว่างแม่กับลูก ดังจะเห็นได้จากถ้อยคำที่ใช้เรียกลูกว่าเจ้าเนื้อละเอียด เจ้าเนื้ออุ่น เจ้าเนื้อเย็นสุดที่รักสุดสายใจ เป็นต้น

  • ประเภทสะท้อนให้เห็นความเป็นอยู่ของคนไทยภาคกลางในด้านต่างๆ เช่น ความเจริญทางวัตถุ ประเพณี วัฒนธรรมต่างๆ ความศรัทธา ความเชื่อคุณธรรมประจำใจ อารมณ์ขัน และการทำมาหากินของประชาชน

  • ประเภทให้ความรู้ด้านต่างๆ เช่น ความรู้ทางภาษา ธรรมชาติวิทยา วรรณคดี นิทาน ภูมิศาสาตร์ ประวัติศาสตร์ แบบแผนการปกครอง และครอบครัว

        ลักษณะทำนองและลีลาของเพลงกล่อมเด็กภาคกลางจะเป็นการขับกล่อมอย่างช้าๆ เช่นเดียวกับภาคอื่นๆ กลุ่มเสียงก็จะซ้ำๆ เช่นกัน แต่จะเน้นการใช้เสียงทุ้มเย็น และยึดคำแต่ละคำให้เชื่อมกลืนกันไปอย่างไพเราะ อ่อนหวาน ไม่ให้มีเสียงสะดุด ทั้งนี้เพื่อมุ่งให้เด็กฟังจนหลับสนิทในที่สุด

 ตัวอย่างเพลงกล่อมเด็กภาคกลาง

        

เพลงกล่อมเด็กภาคใต้

        ในบรรดาภาษาถิ่น ภาคใต้เป็นภาษาถิ่นที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักมากที่สุดเพราะมีสำเนียงที่เป็นเอกลักษณ์ชัดเจนที่สุด เช่นเดียวกับเพลงกล่อมลูกภาคใต้ที่มีทำนองและลีลาเด่นเป็นของตนเอง เพลงกล่อมลูกภาคใต้ มีชื่อเรียก 4 อย่าง คือ เพลงร้องเรือ เพลงชาน้อง หรือเพลงช้าน้อง เพลงเสภา และเพลงน้องนอน

        ที่เรียกว่าเพลงร้องเรือ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเพราะลักษณะของเปลที่ใช้ผ้าผูกมีรูปร่างคล้ายเรือ เพลงชาน้องหรือช้าน้อง คำว่า ชา มาจาก คำว่าบูชา ซึ่งแปลว่าสดุดีหรือกล่อมขวัญ ชาน้องหรือช้าน้อง จึงหมายถึงการสดุดีแม่ซื้อ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเทวดาหรือผีประจำทารก เพลงเสภาเป็นเพลงที่ใช้โต้คารมกันเป็นบทปฏิพากย์แสดงปฏิภาณไหวพริบ นำมาใช้ในเพลงกล่อมลูกเพลงน้องนอน เป็นการมุ่งกล่อมน้องหรือกล่อมลูกโดยตรง ลักษณะเด่นของทำนองกล่อมลูกภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นเพลงประเภทใดคือมักจะขึ้นต้นเพลงด้วยคำว่า "ฮา เอ้อ" หรือมีคำว่า "เหอ" แทรกอยู่เสมอในวรรคแรกของบทเพลง แล้วจึงขับกล่อมไปช้าๆ เหมือนภาคอื่นๆ

        จากหลักฐานการค้นคว้าเพลงกล่อมเด็กภาคใต้ ของศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ระบุไว้ว่าเพลงกล่อมเด็กภาคใต้มีจุดประสงค์และโอกาสการใช้กว้างขวาง จำนวนเพลงจึงมีมากถึง 4,300 เพลง นับว่ามากกว่าทุกภาคในประเทศ จึ

 ตัวอย่างเพลงกล่อมเด็กภาคใต้

กว้างขวาง จำนวนเพลงงมีมากถึง 4,300 เพลง นับว่ามากกว่าทุกภาคในประเทศ

 ตัวอย่างเพลงกล่อมเด็กภาคใต้

เพลงกล่อมเด็กภาคใต้.. (กรุณาอ่านแบบสำเนียงใต้)

ไก่เถือนเหอ.. ขันเทือนทั้งบ้าน
ลูกสาวขี้คร้าน นอนให้แม่ปลุก
ฉวยได้ด้ามขวาน ตีบ้านดังพลุก
นอนให้แม่ปลุก ลูกสาวขี้คร้านการ.....ฯลฯ

พี่ชายเหอ.. รักนุช ชมนุชสักกี่วัน
ชมแต่ดอกบัวผุด บุศบรรณ ชมเรเร่วัน จำปาทอง
ชมแต่แก้วโมฬีสีสุกใส ยังไม่บายคลายใจ เหมือนชมน้อง
ชมนางข้างในห้อง ชมน้องข้างในใจ....
ฮาเฮ้อออ..เห้อ เอ่ เอ๊....

ตัวอย่าง 1

พี่ไปไหน ซื้ออะไรมาฝาก
แหวนทองปนนาค น้องไม่กล้าใส่
แหวนที่พี่ให้ น้องซ่อนไว้ใต้ชายสไบ
น้องไม่กล้าใส่ ไม่มีอะไรตอบแทนพี่....
เอ่ เอ๊...

ตัวอย่าง 2
 
โอละเห่เอย                          แม่จะเห่ให้นอนวัน
ตื่นขึ้นมาจะอาบน้ำทำขวัญ         นอนวันเถิดแม่คุณ
พ่อเนื้อเย็นเอย                        แม่มิให้เจ้าไปเล่นที่ท่าน้ำ
จระเข้เหรามันจะคาบเจ้าเข้าถ้ำ     เจ้าทองคำพ่อคุณ
 
 (จากหนังสือ วัฒนธรรมพื้นบ้าน ผศ. ประเทือง คล้ายสุบรรณ์)

คำสำคัญ (Tags): #เพลงกล่อมลูก
หมายเลขบันทึก: 277491เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2009 19:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดีค่ะอาจารย์

เพลงกล่อมเด็กภาคอีสานบ้านเฮา...

นอนซะหล่าหลับตาจ้วยจวย...

 คนมาขายกล้วยแม่สิซื้อให้กิน...

เพิ่นมาขายดินแม่สิซื่อให้อยู่...

 คั่นเพิ่นมาขายอู่แม่สิซื้อให้นอน.....

สวัสดีเช่นกันครับ พี่แดง

  • ขอบคุณมากๆครับพี่  ที่แวะมาเยี่ยม  ทักทาย
  • ไม่เจอะกันนานคิดถึงจังเลย
  • รักษาสุขภาพนะพี่

สวัสดีค่ะ

เห็นบันทึกแต่ยังไม่ ment ค่ะ...ขอให้รักษาสุขภาพเช่นกันค่ะ...

เอาดอกไม้มาฝากเด้อ...ครู...ใน blog สอย...

  • ขอบคุณมากๆครับพี่แดง
  • โชคดีมีสุขนะครับ

ขอบคุณคะพอดีเลยคุณครูให้หาเพลงกล่อม ดีจัง

  • ยินดีให้บริการครับ น้อง พิ้งกี้
  • ขอบคุณที่แวะมาเรียนรู้ สิ่งดีๆมีประโยชน์
  • ขอให้โชคดีนะครับ

สวัสดีครับ...ลงรายละเอียดได้เยี่ยมเลยครับ

เป็นกำลังใจให้สร้างสรรค์ต่อไปนะครับ..

  • ขอบคุณครับท่าน udomran
  • เป็นพระคุณอย่างยิ่งครับ ที่มาให้คำชม มาให้กำลังใจ
  • มีความสุขนะครับ

ไม่เห็นจะบอกชื่อเลยต้องเเก้ไขใหม่

ดีค่ะ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีประโยชน์ ดิฉันได้ข้อมูลบางส่วนจากตรงนี้ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท