คุณลักษณะของนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์กับการวางแผนอาชีพ ( ตอนที่ 1)


นักทรัพยากรมนุษย์ ( Human resource development ) คือบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับโครงสร้างการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กร เสมือนผู้ประสานในกิจกรรมต่าง ๆ ของงานทรัพยากรมนุษย์

คุณลักษณะของนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์กับการวางแผนอาชีพ

 

                ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง เป็นโลกของเศรษฐกิจสังคมแห่งการเรียนรู้ (knowledge based society) ใครเรียนรู้โลกไม่ทันก็จะ เสียรู้ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  ข้อมูลข่าวสารกลายเป็นสังคมโลกแห่งการเรียนรู้ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นบริบทของการเปลี่ยนแปลง และเชื่อมโยง ต่อระบบการดำเนินชีวิตของมนุษย์  นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก เพื่อสร้างฐานความรู้ ในการวางแผนอาชีพ  ซึ่งจะส่งผลถึงการมีบทบาทหน้าที่ ที่จะต้องปฏิบัติงานเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  ตลอดจนการเพิ่มทักษะของมนุษย์ในองค์กร  

          ดังนั้น นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เปรียบเสมือนผู้ประสาน ผู้เชื่อมโยง  ผู้พัฒนา มนุษย์ ควรมีคุณลักษณะของการเป็นนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มี  ความรู้  ความสามารถ  บุคลิกลักษณะ  คุณธรรม มีอุดมการณ์ นอกเหนือจากคุณลักษณะต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว  จะต้องมีความพร้อม           มีปณิธานที่จะปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้อื่นในสังคมได้   ในการพัฒนาตนเองของนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นั้นจะต้องมีความรู้คู่คุณธรรม โดยมีสติปัญญาในการวางแผนอาชีพด้วย   

                นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ดีนั้น จะต้องรู้หลักในการวางแผนอาชีพเพื่อแก้ปัญหาสังคมที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ไปสู่โลกอนาคตที่มีแต่การแข่งขัน นักทรัพยากรมนุษย์จะต้องมีเครื่องมือในการแก้ปัญหา คือระบบความรู้ ซึ่งประกอบด้วย (KCL) การสร้างความรู้ (knowledge) การสื่อสาร ( Communication) การเรียนรู้ ( Learning) โดยเฉพาะการสร้างความรู้ในสิ่งใหม่ ๆ  เพื่อการสื่อสารในเรื่องที่เป็นจริงเท่านั้น ( ประเวศ วะสี,2548,หน้า 48 ) การเรียนรู้ที่ไปสู่การปฏิบัติที่สามารถใช้ได้จริง  เนื่องจากนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นผู้นำ (Leadership) การเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ในองค์กรให้เป็นไปในทิศทางที่องค์กรต้องการ บทบาทของนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะต้องเป็นผู้ประสาน ผู้พัฒนาทุก ๆ เรื่องของมนุษย์ในองค์กร  โดยครอบคลุมด้านการศึกษาและการฝึกอบรม ( Education and Training) การพัฒนาองค์กร

( Organization development) และการพัฒนาสายงานอาชีพ (Career development) รวมทั้งด้านอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยในการปฏิบัติงาน เช่นด้านขวัญและกำลังใจ ด้านที่ปรึกษา เป็นต้น                

          ทรัพยากรมนุษย์ ( Human resource) เป็นบุคคลที่มีความพร้อม มีความจริงใจ  และสามารถที่จะทำงานให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร  หรือเป็นบุคคลในองค์กรที่สร้างคุณค่าของระบบการบริหารงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้  

                หลักการสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นผู้มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 7 ประการหลัก ดังนี้

                1.      มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่สามารถพัฒนาและเพิ่มพูนความรู้ด้านทักษะ และเจตคติ  หากมีแรงจูงใจที่ดีพอ

            2.      การพัฒนาศักยภาพมนุษย์ควรเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง ตั้งแต่การสรรหา การคัดเลือก มาสู่การพัฒนาในระบบองค์กร

            3.      วิธีการในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีหลายวิธี  ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะขององค์กรและบุคลากร

            4.      จัดให้มีระบบการประเมินการพัฒนาความสามารถของบุคคลเป็นระยะ ๆ เพื่อช่วยแก้ไขบุคลากรบางกลุ่ม  ให้พัฒนาความสามารถเพิ่มขึ้น  และในขณะเดียวกันก็สนับสนุน ให้ผู้มี        ขีดความสามารถสูงได้ก้าวหน้า ไปสู่ตำแหน่งใหม่ที่ต้องใช้ความสามารถสูงขึ้น

                5. องค์กรจะต้องจัดระบบทะเบียนบุคลากรให้เป็นปัจจุบัน ที่สามารถตรวจสอบความก้าวหน้าได้เป็นรายบุคคล

                6. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต้องทำทุก ๆ ด้าน คือด้านสุขภาพอนามัย  ด้านความรู้ความสามารถ ด้านจิตใจหรือ    ด้านคุณธรรมให้มีควบคู่กันไป

                7. องค์กรจะต้องคำนึงถึงความมั่นคง และความก้าวหน้าของบุคลากรทุกคนในองค์กรควบคู่กับความก้าวหน้าของ   องค์กร  องค์กรจะอยู่ไม่ได้หากขาดบุคลากรที่มีกำลังกาย  กำลังใจและสติปัญญาที่ทุ่มเทให้กับองค์กร ( นงนุช   วงษ์สุวรรณ ,ม.ป.ป., หน้า 194)

                นักทรัพยากรมนุษย์ ( Human resource development ) คือบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับโครงสร้างการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กร  เสมือนผู้ประสานในกิจกรรมต่าง ๆ ของงานทรัพยากรมนุษย์  ซึ่งหมายถึงการควบคุมตามหน้าที่ (Functional control ) เพื่อให้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีระบบระเบียบแบบแผน เป็นกระบวนการ ซึ่งมุ่งหมายที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้ ความชำนาญ เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะขององค์การหรือหน่วยงาน ( ภิญโญ สาธร,2517,หน้า443          

                เครื่องมือระบบความรู้ (KCL)ของนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ประกอบด้วย

1.       ด้านการศึกษาและการฝึกอบรม ( Education and Training ) คือ

กระบวนการที่ทำให้ผู้เข้ารับการอบรม เกิดการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนการปรับปรุงพฤติกรรม อันจะนำมาซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ความรับผิดชอบอย่างมีประสิทธิภาพ  นอกจากนี้ยังอาจครอบคลุมถึงการพัฒนาทัศนคติของผู้ปฏิบัติงานให้เป็นไปในทางที่ดี  มีความรับผิดชอบ มีขวัญและกำลังใจในการทำงาน  ตลอดจนมีความคิดริเริ่มที่จะปรับปรุงการปฏิบัติงานให้ดีขึ้น  

ดังนั้น  บทบาทของนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในการให้ความรู้และการฝึกอบรมเพื่อให้เกิด

ประสิทธิภาพนั้นมิใช่เฉพาะบทบาทด้านการสอนหรือการถ่ายทอดเพียงอย่างเดียว ต้องมีการจัดการฝึกอบรมด้วย เริงใจ  โรจนพันธ์ ( 2529, หน้า 59 )และ Lippitt and Nadler (1976,p.26) ได้ศึกษาบทบาทของนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สรุปได้ว่า นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีบทบาทหลัก (key role) อยู่ 3  ประการ คือ (1) บทบาทผู้ชำนาญการเรียนรู้และการสอน (2) บทบาทผู้บริหารการฝึกอบรม (3) บทบาทผู้ช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาขององค์กร

          อาจกล่าวได้ว่า การจัดการทรัพยากรมนุษย์จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นสำคัญ 

          ทัศนะที่ โฆษิต อินทวงศ์ ( 2540,หน้า 32 ) กล่าวไว้เกี่ยวกับบทบาทของผู้นำด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ว่าต้องเป็นนักพัฒนาที่สามารถเป็นผู้นำทางการจัดกระบวนการเรียนรู้โดย  ที่มีความสามารถพัฒนาทีมงานตามหลักความเชื่อ ทฤษฎีและสอดคล้องกับความรู้ ความสามารถของบุคคลเพื่อประสานงาน ประสานใจ และพัฒนางานอย่างเป็นระบบ  จึงเสนอหลักการทำงานเพื่อเป็นผู้นำที่สามารถพัฒนาทีมงาด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพ ดังนี้

          1.      สร้างนิสัยให้ความร่วมมือกับผู้อื่นผู้ร่วมงานควรเป็นผู้มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจไม่เห็นแก่ตัว และรู้จัก

เสียสละอุทิศตนเพื่อมุ่งมั่นให้งานสำเร็จ

              2.    ยึดหลักทางสายกลางประสานประโยชน์ อย่าตึงเกินไป ยึดหลัก Fair   Firm Friendly  Flexible

           3.      สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ (belonging) และให้ผู้อื่นมีส่วนร่วม

           4.      ต้องไม่วางตนเหนือผู้อื่น (power) เป็นผู้แสดงอำนาจเพื่อชี้นำผู้อื่น มักจะไม่ได้รับความร่วมมือที่แท้จริง

               5.     สร้างบรรยากาศทำงาน ให้มีมิตรไมตรี เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา ( Mutual trust and openness ) ใช้ระบบ

 การสื่อสาร 2 ทาง ( two – way communication )

            6.   มีอุดมการณ์เดียวกัน รวมน้ำใจกันให้ได้ มีส่วนร่วมและมีความคิดเห็นร่วมกันในการทำกิจกรรมที่ยุ่งยาก ที่

สามารถร่วมกันทำจนเกิดความสำเร็จ

                7.  สร้างกฎระเบียบ ที่เสริมขวัญและกำลังใจ ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมุ่งประโยชน์ของ

องค์การ

                 8.   แก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล และกล้าเผชิญความจริง  มีข้อเท็จจริงที่สามารถเปิดเผยและร่วมกันรับรู้แลรับผิดชอบ

ในทุกปัญหาที่เกิด

             9. การให้รางวัลและลงโทษควรยุติธรรม  เคารพความดีและความถูกต้อง รู้จักยกย่องและตำหนิเพื่อการสร้างสรรค์

งาน

               10.  มีความเป็นมนุษย์(Human being ) เข้าใจตนเองและเข้าใจผู้อื่นได้อย่างดี นับว่าคุณลักษณะของความเป็นมนุษย์มี เหตุผล มีวิจารณญาณ มีสติครองตน  มีการยอมรับความเป็นมนุษย์ของผู้ร่วมงานและผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน  ซึ่งถือว่ามีความเท่าเทียมกัน ส่วนที่แตกต่างมิใช่สิ่งที่แตกต่างอย่างแท้จริง แต่แตกต่างเพราะโอกาสแตกต่างกันทุกคนมีโอกาสที่      เท่าเทียมหรือเหมือนกัน  และนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ควรมีคุณธรรม ยึดหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้โอกาสแก่ผู้ร่วมงานที่เราเชื่อมั่นว่าเขาเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเรา มีความรู้สึกนึกคิด  มีชีวิติ  มีวิญญาณ มีอารมณ์  มีการสั่งสมประสบการณ์ 

หมายเลขบันทึก: 277219เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2009 07:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 01:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ติดตามผลงานดีๆมาตลอด........ ขอบอก

ขอรบกวนสอบถามค่ะ

อยากทราบว่าเครื่องมือของการบริหารทรัพยากรมนุษย์มีอะไรบ้างค่ะ

แล้วก็เครื่องมือของนักทรัพยากรมนุษย์มีอะไรบ้างค่ะ

ขอบคุณค่ะ

เครื่องมือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มี 3 ตัว คือ ID / OD / CD

ID ( Individual Development) การพัฒนาบุคลากรในองค์กร

OD ( Organization Development) การพัฒนาองค์การ

CD ( Career Development ) การพัฒนาสายอาชีพ

เครื่องมือของนักทรัพยากรมนุษญ์น่าจะเป็น ทางด้านการให้ความรู้ ทักษะ การฝึกอบรมแก่บุคลากรในองค์กร ( Education and Training ) หากใครมีข้อมูลสนับสนุนมากกว่านี้ช่วยกรุณาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท