เด็กวัฒฯ
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร คนวัฒนธรรม

ถ้าสังคมไทย ไร้ซึ่งศีลธรรม


“ ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ ”

           “ ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ   เป็นประโยคที่ท่านพุทธทาสมหาเถระแห่งสวนโมกขพลาราม  ได้เคยกล่าวไว้  ก่อนมรณภาพในปี พ.ศ. ๒๕๓๖  

                ผู้ที่ได้ยินได้ฟังประโยคนี้  อาจจะยังไม่เกิดความรู้สึกหรือมองไม่เห็นภาพกับประโยคนี้มากสักเท่าไหร่นัก  แต่เมื่อกาลเวลาผ่านพ้นมา  จนกระทั่งถึงกาลเวลาปัจจุบัน  เราเริ่มจะมองเห็นภาพที่สอดรับกับประโยคที่ว่า    ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ   ปรากฏเป็นภาพที่ชัดเจนและเด่นชัดมากขึ้น  โดยเฉพาะกับสภาพของสังคมไทยในปัจจุบัน 

                ปัญหาสังคมไทยที่เกิดขึ้น  ปรากฎให้เห็นผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งจากสื่อสิ่งพิมพ์   วิทยุ    โทรทัศน์  

แต่ที่จะเห็นเป็นข่าวผ่านสายตาของพวกเราและท่านทั้งหลาย จนกลายเป็นความเคยชิน เนื่องจากเป็นสื่อที่หาซื้อได้ง่ายและราคาถูก   น่าจะเป็นสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือพิมพ์  ซึ่งข่าวที่ลงและพาดหัวข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ไม่เว้นในแต่ละวัน คงหนีไม่พ้นข่าวเกี่ยวกับการฆ่ากันตาย   การปล้นชิงวิ่งราว   การข่มขืนแล้วฆ่า    การทะเลาะวิวาทจากการดื่มสุรา   การทุจริตคอรัปชั่น  ปัญหาอาชญากรรม  ปัญหายาเสพติด     ฯลฯ  ซึ่งปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นดังกล่าว สร้างความเดือดร้อนต่อความเป็นอยู่ของคนในสังคมเป็นอย่างยิ่ง

          ภาพข่าวที่ปรากฏ รวมถึงเนื้อหาของข่าว  ก่อให้เกิดความรู้สึกหดหู่ใจ   สะเทือนใจ และสร้างความทุกข์ใจให้กับผู้อ่านไม่มากก็น้อย  เพราะเป็นข่าวที่ไม่สร้างสรรค์สังคม  ส่วนข่าวที่สร้างสรรค์สังคมมักจะไม่ค่อยปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์มากนัก  จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า  เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยเราในเวลานี้   และ

เราควรจะแก้ปัญหาตรงจุดไหน

                แน่นอนว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย  สะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมถอยของศีลธรรมอันดีงาม  

การขาดการนำเอาหลักในเรื่องของศีลธรรม   คุณธรรม  จริยธรรม   นำมาใช้ในการดำเนินชีวิตของตนเอง

ครอบครัว  และสังคม     ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น   เกิดจากการที่สังคมไทยเราในปัจจุบันได้ให้ความสำคัญทางวัตถุหรือการบริโภควัตถุนิยม  มากกว่าความสำคัญทางจิตใจ  เช่น  ในสังคม  ผู้ที่มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย

มีบ้านที่ใหญ่โต  มีรถยนต์คันหรูราคาแพงขับ  ก็จะได้รับการยกย่อง  การนับหน้าถือตาและเป็นที่ยอมรับนับถือ

ในสังคม  แต่ในทางตรงกันข้าม  ผู้ที่ปราศจากทรัพย์สินเงินทอง  มีฐานะยากจน  มีบ้านหลังเล็ก  ไม่มีรถยนต์ขับ

ก็ขาดการเคารพยกย่อง  ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม     กลายเป็นการสร้างค่านิยมให้กับสังคมไทยที่ผิด ๆ  ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่เยาวชน และคนในสังคม    แต่ใครเล่าจะรับผิดชอบ  ถ้าทุกส่วนของสังคมไม่ช่วยกันแก้ไข

เพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้น  เพื่อสร้างความน่าอยู่ให้กับสังคมไทยเรา   

 

 

 

 

 

          ประเทศไทย  เป็นเมืองแห่งพุทธศาสนา  ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ   การดำเนินวิถีชีวิต

ของคนไทยและสังคมไทยในอดีต  เป็นไปด้วยความเรียบง่าย  สังคมมีความผาสุก  เพราะทุกคนอยู่ร่วมกัน

ด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  มีความเมตตากรุณาต่อกัน   ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยจึงมีน้อยมาก หรือไม่มีเลย  ซึ่งหลักสำคัญที่สังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นปกติสุข  ก็เพราะว่าประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ในอดีตนั้น   ได้ดำเนินชีวิตโดยยึดหลักศีลธรรม คือ ศีล ๕ นำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันและการดำเนินชีวิตในสังคม

             ศีล ๕  พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  หลักธรรมซึ่งเป็นข้อประพฤติปฏิบัติพื้นฐานของมนุษย์ในสังคม เพื่อความอยู่ด้วยกันอย่างปกติสุข   ประกอบด้วย          

             ข้อ 1. ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ  (เว้นจากการฆ่าสัตว์ ทั้งมนุษย์และสัตว์เดรัจฉาน)  สิ่งมีชีวิตเป็นสิ่งที่มีคุณค่า  จึงไม่ควรเบียดเบียน  ข่มเหง  และทำลายคุณค่าแห่งความเป็นอยู่ของเขา

ให้ตกไป
            ข้อ 2. อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ  (เว้นจากการลักทรัพย์)   สิ่งของของใคร ๆ ก็รัก

และสงวน  ไม่ควรทำลาย  ฉก  ปล้น  จี้  เป็นต้น  อันเป็นการทำลายสมบัติและทำลายจิตใจกัน
            ข้อ 3. กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ  (เว้นจากการประพฤติผิดในกาม)

ลูก  หลาน สามี  ภรรยา  ใคร ๆ ก็รักสงวนอย่างยิ่ง  ไม่ปรารถนาให้ใครมาอาจเอื้อมล่วงเกิน  เป็นการทำลายจิตใจ

ของผู้อื่นอย่างหนัก  และเป็นบาปไม่มีประมาณ
            ข้อ 4. มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ  (เว้นจากการพูดเท็จ และฉ้อฉลหลอกลวง)

การโกหกพกลม  เป็นสิ่งทำลายความเชื่อถือของผู้อื่นให้ขาดสะบั้นลงอย่างไม่มีดี  แม้เดรัจฉาน  เขาก็ไม่พอใจ

คำหลอกลวง  จึงไม่ควรโกหกหลอกลวงให้ผู้อื่นเสียหาย
            ข้อ 5. สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ  (เว้นจากการดื่มสุราและเมรัย) สุรา ยาเสพติด เป็นของมึนเมาและให้โทษ  ดื่มเข้าไปย่อมทำให้คนดี ๆ กลายเป็นคนบ้าได้  ลดคุณค่าลง

โดยลำดับ  ผู้ต้องการเป็นคนดี  มีสติปกครองตัวอย่างมนุษย์  จึงไม่ควรดื่มสุรา  เครื่องทำลายสุขทางร่างกาย

และใจอย่างยิ่ง  เป็นการทำลายตัวเอง  และผู้อื่น 

             ดังนั้น  ถ้าทุกส่วนของสังคมไทย  จะช่วยกันแก้ไขปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น  ให้ลดน้อยถอยลง  ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง   หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง  แต่เป็นหน้าที่ของทุก ๆ คนที่อยู่ร่วมภายในสังคม   จะต้องร่วมกันน้อมนำเอาหลักศีลธรรม  ศีล ๕  พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ที่ได้กล่าวถึงความสำคัญดังใจความข้างต้นแล้ว   มาประพฤติปฏิบัติ เพื่อการอยู่ร่วมกันภายในสังคม  

เชื่อเหลือเกินว่า  ปัญหาของสังคมไทยจะลดน้อยถอยลงอย่างแน่นอน  และสังคมไทยเรา ก็จะเป็นสังคมที่น่าอยู่

สืบไป     

 

 

 

 

 

 

ผู้ที่รับ   ปากว่า  ไม่ฆ่าสัตว์

เว้นลักทรัพย์  สมบัติ  พระตรัสห้าม

งดมิจฉา  กาเม  เล่ห์ประณาม

เลิดพูดพล่าม  มุสา  วาจาร้าย

ละการดื่ม  สุรา  เมรัยลด

ตามกำหนด  ไว้รักษา  อย่ามักง่าย

รับไปทิ้ง   หรือตามหมู่  ครู่เดียวคลาย 

ก็ย่อมหมด  ความหมาย  สุสาวก

ปากกับใจ  ไม่ตรงกัน  หันปลิ้นปล้อน

ความเดือดร้อน  ต้องก่อ  เป็นมรดก

มาเถิดมา  พุทธศาสนิกยก

ธรรมขึ้นปก  ปองวิรัติ  สมรรถมอง

เพียงศีล ๕ สมาทาน  ทุกทิวา

เพียรรักษา  ตามกำหนด  กฎสนอง

ศีลจะอุ้ม  ชูสุข  ปลุกประคอง

มิจำต้อง  วอนให้  ใครบันดาล

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ  (วาสนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช

 

*******************************

                                                   

                                                                                                                                                                              นายอนิรุธ    โกศินานนท์

หมายเลขบันทึก: 277041เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2009 15:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท