เด็กวัฒฯ
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร คนวัฒนธรรม

การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ


                        เป็นที่ยอมรับกันว่าโลกในยุคปัจจุบันนี้มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่าง ๆ อยู่ในเกณฑ์ที่สูงมากอีกทั้งยังรวดเร็ว ว่องไวอย่างไร้พรมแดน  สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมอย่างที่หลาย ๆ คนคาดไม่ถึง  ความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นทำให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  มีความสะดวกสบาย  ทันสมัย แต่ขณะเดียวกันก็สร้างปัญหาให้กับสังคมในหลาย ๆ  ด้านโดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตในหมู่นักเรียนนักศึกษาหลายคนปรับตัวให้เข้ากับยุคโลกาภิวัฒน์นี้ไม่ได้  ประพฤติปฏิบัติตนผิดวัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงาม  เป็นเรื่องที่หลาย ๆ ฝ่ายต้องหาทางแก้ไข  วิธีหนึ่งที่นำมาใช้ก็คือการนำเอาศาสนามาเป็นที่พึ่งทางใจ  ยึดกรอบระเบียบของศีลธรรมเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต  ในทางศาสนาพุทธ  การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ  ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่นิยมทำกันมากในสถานศึกษาทั่วไป  โดยเฉพาะในจังหวัดกำแพงเพชร

                   การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ  คือการประกาศตนของนักเรียน  หรือบุคคลอื่น ๆ  ว่าเป็นผู้รับนับถือพระพุทธเจ้าเป็นของตน  เป็นการแสดงตนให้เห็นว่า  ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาประจำชีวิต  ต่อไปต้องประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบของพระธรรมวินัย  ไม่ประพฤติตนไปในทางที่เสื่อม  ยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม  เป็นต้น

                        พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะนั้น  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระราชปริวิตกว่า  "  เด็ก ๆ  จะหาได้ความรู้สึกในทางพระศาสนาไม่  เมื่อความนิยมในการบวชเณรจืดจางลง  พร้อมกันเข้ากับการส่งเด็กออกไปเรียนในยุโรป  ก่อนแต่มีอายุสมควรบวชเณร "  จึงโปรดให้พระราชโอรส  ผู้มิได้เคยทรงผนวชเป็นสามเณรทรงปฏิญาณพระองค์  เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาก่อนเสด็จไปศึกษายุโรป  ครั้งนั้นใช้คำสำแดงเป็นอุบาสกตามแบบบาลี  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้เป็นพระองค์แรกปฏิญาณพระองค์ตามธรรมเนียมที่ทรงตั้งขึ้นใหม่นั้น  และใช้เป็นราชประเพณี  ต่อมาได้ทราบว่า  ผู้อื่นจากพระราชวงศ์  เห็นชอบตามพระราชดำริทำตามบ้างก็มี

ในสมัยรัชกาลที่ 6  พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดจะส่งเจ้านายคณะหนึ่งออกไปศึกษาในทวีปยุโรป  ได้โปรดให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระยา

วชิรญาณวโรรส  ได้ทรงเรียบเรียงวิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะไว้  ซึ่งก็ได้ถือตามคำแสดงตนเป็นอุบาสกเดิมตั้งเป็นแบบไว้  แต่แก้บท " อุบาสก "  ที่เฉพาะผู้ใหญ่เป็นผู้ได้ศรัทธาเลื่อมใสด้วยตนเองเป็น  " พุทธมามกะ "  ทำให้เกิดเป็นประเพณีนิยมแสดงตนเป็นพุทธมามกะสืบต่อกันมา  แต่ในปัจจุบันความนิยมของชาวพุทธในประเทศไทย  มีสรุปได้ดังนี้

                        1.เมื่อมีบุตรหลานของตนมีอายุพ้นเขตเป็นทารก  อยู่ในระหว่างอายุ  12 - 15 ปี  ก็ประกอบพิธีให้บุตรหลาน  ได้แสดงตนเป็นพุทธมามกะ  เพื่อให้เด็กสืบความเป็นชาวพุทธต่อไป

                        2.เมื่อจะส่งบุตรหลานของตนซึ่งเป็นชาวพุทธอยู่แล้ว  ให้ไปอยู่ในถิ่นที่ไม่ใช่ดินแดน      ของพระพุทธศาสนา  เพื่อการศึกษาหรือเพื่อประโยชน์อื่น ๆ  เป็นการที่จะต้องจากถิ่นไป  ก็นิยมประกอบพิธีให้บุตรหลานได้แสดงตนเป็นพุทธมามกะ  เพื่อให้เด็กได้ ระลึกอยู่เสมอว่าตนเป็นพุทธศาสนิกชน

3.เมื่อจะปลูกฝังนิสัยเยาวชนให้มั่นคงในพระพุทธศาสนา  ซึ่งวิธีนี้ทางโรงเรียน

ส่วนใหญ่  จะนิยมประกอบพิธีให้นักเรียน  โดยเฉพาะโรงเรียนพรานกระต่ายพิทยาคม  ได้ปฏิบัติติดต่อกันมาทุกปีเป็นเวลานานแล้ว  โดยจะทำในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เป็นนักเรียนที่เข้ามาศึกษาใหม่  ได้แสดงตนเป็นพุทธมามกะหมู่  คือแสดง รวมกันเป็นหมู่  ทำปีละครั้ง  ในวันที่สะดวกที่สุด  โดยทั่วไปจะทำก่อนเข้าพรรษา  เพื่อให้นักเรียนได้เห็นความสำคัญ  ในการที่ตนเป็นชาวพุทธร่วมอยู่กับ  ชาวพุทธทั้งหลาย

                     4.เมื่อมีบุคคลต่างศาสนาเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา  ต้องการจะประกาศตน  เป็นชาวพุทธก็ประกอบพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ  เพื่อประกาศว่า  นับแต่นี้ไปตนยอมรับนับถือ  พระพุทธศาสนาแล้ว

 

 

คณะนักเรียนขณะทำพิธี

            การแสดงตนเป็นพุทธมามกะตามทำเนียมในปัจจุบัน  มีระเบียบวิธีการปฏิบัติที่นิยมกันโดยทั่วไป  ดังต่อไปนี้

                        . มอบตัว (ถ้าเป็นเด็กให้ผู้ปกครองนำตัวหรือครูนำรายชื่อไป) โดยนำดอกไม้ธูปเทียนใส่พานไปถวายพระอาจารย์ที่จะให้เป็นประธานสงฆ์ในพิธี พร้อมทั้งเผดียงสงฆ์รวมทั้งพระอาจารย์เป็นอย่างน้อย ๔ รูป

                        . จัดสถานที่ ในอุโบสถ หรือวิหาร ศาลาการเปรียญ หรือหอประชุมที่มีโต๊ะบูชามีพระพุทธรูปประธาน และจัดอาสนะสงฆ์ให้เหมาะสม

. พิธีการ ให้ผู้แสดงตน จุดธูปเทียนเปล่งวาจาบูชาพระรัตนตรัยว่า อิมินา สกฺกา

เรน, พุทฺธํ ปูเชมิ. ข้าพเจ้าขอบูชาพระพุทธเจ้าด้วยเครื่องสักการะนี้ (กราบ)
                                       ……ธมฺมํ….พระธรรม………(กราบ)
                                        ……สงฺฆํ……พระสงฆ์…… (กราบ)
จากนั้นเข้าไปสู่ที่ประชุมสงฆ์ ถวายพานเครื่องสักการะแก่พระอาจารย์กราบ ๓ ครั้งแล้ว คงนั่งคุกเข่า กล่าวคำปฏิญาณว่า : นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส (๓ หน) ข้าพเจ้าขอนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น (๓ หน) เอสาหํ ภนฺเต, สุจิรปรินิพฺพุตมฺปิ, ตํ ภควนฺตํ สรณํ คจฺฉามิ, ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ, พุทฺธมามโกติ มํ สงฺโฆ ธาเรตุ. ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้ปรินิพพานนาน แล้ว ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ เป็นสรณะที่ระลึกนับถือ ขอพระสงฆ์จงจำข้าพเจ้าไว้ว่า เป็นพุทธมามกะ ผู้รับเอา พระพุทธเจ้าเป็นของตน คือผู้นับถือพระพุทธเจ้า (ถ้าเป็นหญิงคนเดียวเปลี่ยน พุทฺธมามโกติ เป็น พุทฺธมามกาติ; ถ้าปฏิญาณพร้อมกันหลายคน ชายเปลี่ยน เอสาหํ เป็น เอเต มยํ หญิงเป็น เอตา มยํ; และทั้งชายและหญิงเปลี่ยน คจฺฉามิ เป็นคจฺฉาม, พุทฺธมามโกติ เป็น พุทฺธมามกาติ, มํ เป็น โน) จากนั้นฟังพระอาจารย์ให้โอวาท จบแล้วรับคำว่าสาธุครั้นแล้วกล่าวคำอาราธนาเบญจศีลและสมาทานศีลพร้อมทั้งคำแปล จบแล้วกราบ ๓ หน ถวายไทยธรรม (ถ้ามี) แล้วกรวดน้ำเมื่อพระสงฆ์อนุโมทนา รับพรเสร็จแล้วคุกเข่ากราบพระสงฆ์ ๓ ครั้ง เป็นเสร็จพิธี

                        ปัจจุบันปัญหาเยาวชนได้เกิดขึ้นมากมาย  ทั้งยาเสพติค  การครองตนของเยาวชนการฟุ้งเฟ้อกับอบายมุขต่าง ๆ  สิ่งเหล่านี้ทำไมเราไม่นำวิธีทางพุทธศาสนาที่เคยใช้กันมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5  แห่งราชวงศ์จักรี  มาใช้  เชื่อว่าพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะจะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาเยาวชนได้  อีกวิธีหนึ่ง  ท่านลองนำไปใช้ดูซิครับ

 

                                                                    โดย...นายวันชัย  กลิ่นหอม

                                                รองประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอพรานกระต่าย

หมายเลขบันทึก: 277011เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2009 14:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท