เด็กวัฒฯ
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร คนวัฒนธรรม

กิจการลูกเสือกับวิถีชีวิตเด็กไทย


“ ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้ ที่ข้าอยากได้นั้นคือเยาวชนที่เป็นสุภาพบุรุษ ซื่อสัตย์สุจริต มีอุปนิสัย ใจคอดี “

  เจ้าต้องรู้สึกว่า  การที่เจ้าเป็นลูกเสือ  ย่อมมีความประพฤติแปลกกว่าเด็กกลางถนน  เจ้าจะประพฤติอย่างเด็กกลางถนนไม่ได้  เพราะเจ้าเป็นคนที่  พระเจ้าแผ่นดินรู้จักเสียแล้ว  ข้อความดังกล่าวเป็นพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระบิดาแห่งการลูกเสือไทย  ที่ชี้ให้เห็นถึงภาระหน้าที่ของลูกเสือทุกคนที่ต้องประพฤติปฏิบัติให้เป็นคนดี  เมื่อเข้ามาเป็นลูกเสือแล้ว  จะต้องเป็นพลเมืองดี  มีระเบียบวินัย  พร้อมที่จะทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นในชุมชนและประเทศชาติ  จะทำตนเป็นเด็กกลางถนนไม่ได้  เพราะลูกเสือเป็นคนที่พระเจ้าแผ่นดินรู้จักดีและเชื่อมั่นในเกียรติและศักดิ์ศรีของเด็กคนนั้น

                        ในวิถีชีวิตของคนไทย  โดยเฉพาะลูกผู้ชายทุกคนในสังคมปัจจุบัน  ไม่มีใครที่ไม่เคยผ่านการเป็นลูกเสือมาแล้ว  เมื่อเข้าเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษา  ทุกคนต้องเป็นลูกเสือ  ลูกเสือจึงเป็นวิถีชีวิตของลูกผู้ชายเหล่านั้น  หลักสูตรของลูกเสือสอนให้เขารู้จักหน้าที่ของพลเมืองดี  รู้จักบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น  มีทั้งนิสัยใจคอ  สติปัญญา  และความประพฤติที่ดี  อีกทั้งมีสุขภาพกายและใจที่สง่างามสมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นลูกเสือ  ลูกเสือจึงต้องเพียบพร้อมไปด้วยคุณธรรมของการดำเนินชีวิต  เป็นวัฒนธรรมที่มีอยู่ในสายเลือดไทยทุกคน

                        ลูกเสือได้กำเนิดครั้งแรกในประเทศอังกฤษ  เมื่อ  พ.ศ.2450  โดยท่านลอร์ดบาเดล  เพาเวลล์  กิจการลูกเสือในยุคแรกมีจุดประสงค์เพื่อเตรียมคนไว้เป็นทหาร  หลายประเทศที่ไม่มีพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร  จึงได้จัดให้มีลูกเสืออย่างประเทศอังกฤษ  หลังจากนั้นไม่นานกิจการลูกเสือก็ได้แพร่หลายเข้าไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่ 2  ที่ตั้งกองลูกเสือขึ้นเพราะเห็นความสำคัญและประโยชน์ของลูกเสือ

                        สำหรับประเทศไทยในปี  พ.ศ.2454  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ  ให้จัดตั้งกองเสือป่าขึ้น  เพื่อให้ข้าราชการพลเรือนได้เข้ารับการอบรม  โดยมีจุดประสงค์ที่จะมุ่งอบรมจิตใจให้คนไทยรู้จักรักชาติ  มีมนุษยธรรม  มีความเสียสละ  สามัคคี  และมีความกตัญญู  เมื่อกิจการเสือป่ามีความก้าวหน้ามั่นคงดีแล้ว  พระองค์จึงทรงพระราชดำริว่าควรจะมีการอบรมลูกเสือด้วย  ดังนั้นในวันที่ 1 กรกฎาคม  พ.ศ.2454  จึงมีพระบรมราชโองการจัดตั้งลูกเสือขึ้นในประเทศไทย  นับเป็นประเทศที่ 3  ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา  จากนั้นนานาชาติในยุโรปจึงจัดตั้งกองลูกเสือของตนขึ้น  ลูกเสือกลายเป็นองค์การสากลและมีความสัมพันธ์กันทั่วโลก  เป็นสื่อผูกมิตรไมตรีกันโดยใช้กฎของลูกเสือ  10  ข้อ  ผูกสัมพันธ์กันไม่เว้นเชื้อชาติใด  ศาสนาใดทั้งสิ้น  ถือว่าลูกเสือทั่วโลกเป็นพี่น้องกันทั้งสิ้น

                      ลูกเสือกองแรกของประเทศไทยตั้งขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง  (  โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน  )  เรียก  ลูกเสือกรุงเทพฯที่ 1  ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม  พ.ศ.2454  เป็นต้นมา  ผู้ที่เป็นลูกเสือคนแรกคือ  นายชัพน์  บุนนาค  เพราะสามารถกล่าวคำปฏิญาณได้เป็นคนแรก  และพระองค์ได้พระราชทานเหรียญราชนิยมให้แก่ลูกเสือโทฝ้าย  บุญเลี้ยง  แห่งกองลูกเสือมณฑลสุราษฎร์ที่อายุ  14 ปี  ซึ่งได้ช่วยชีวิตชายชราและเด็กหญิงผ่อง  ให้รอดพ้นจากความตาย  ต่อมาลูกเสือโทฝ้ายได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น  ขุนวรศาสน์ดรุณกิจ  กิจการลูกเสือได้ขยายตัวออกไปจัดตั้งที่โรงเรียนหรือสถานที่ใดสุดแต่สภากรรมการคณะลูกเสือแห่งชาติจะเห็นสมควร  เด็กที่จะเป็นลูกเสือจะต้องทำพิธีเข้าประจำกอง  กล่าวคำปฏิญาณตนตามคำมั่นสัญญานั้น  พระองค์ผู้ทรงให้กำเนิดลูกเสือได้พระราชทานคำขวัญไว้ว่า เสียชีพอย่าเสียสัตย์  ในสมัยนั้นกิจการลูกเสือไทย  เลื่องลือยังนานาชาติว่า พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงใฝ่พระทัยในกิจการลูกเสือเป็นอย่างยิ่ง  ถึงกับกองลูกเสือที่ 8  ของประเทศอังกฤษ  ได้มีหนังสือขอพระราชทานนามลูกเสือกองนี้ว่า   กองลูกเสือในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม  ซึ่งพระองค์ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  พระราชทานให้ตามความประสงค์  ลูกเสือกองนี้ติดเครื่องหมายช้างเผือกที่แขนเสื้อทั้งสองข้างและยังปรากฏอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้

                         กิจการลูกเสือไทยได้เจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ  เช่นในปี  พ.ศ.2490  มีการจัดชุมนุมของลูกเสือแห่งชาติ  ส่งเจ้าหน้าที่ในกองการลูกเสือไปเข้ารับการฝึกอบรมวิชาลูกเสือตามมาตรฐานสากลและตามแบบนานาประเทศ  มีพระราชบัญญัติลูกเสือใช้บังคับโดยคณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติเป็นผู้บริหาร  วัตถุประสงค์ของขบวนการลูกเสือได้รับการปรับปรุงและเน้นให้เห็นความชัดเจนมีความว่า คณะลูกเสือแห่งชาติมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาลูกเสือทั้งทางกาย  สติปัญญา  จิตใจและศีลธรรม  ให้เป็นพลเมืองดี  มีความรับผิดชอบสร้างสรรค์สังคมให้มีความเจริญก้าวหน้า  เพื่อความสุขและความมั่นคงของประเทศชาติ 

                        ในปัจจุบันกิจการลูกเสือของไทยเจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองมาก  ทั้งทางด้านอุดมการณ์  ด้านการบริหาร  ด้านวิชาการและด้านกิจกรรม  นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมบางอย่างที่ก้าวหน้ากว่าประเทศอื่น ๆ  นั้นคือกิจการลูกเสือชาวบ้าน  ได้เปิดการอบรมขึ้นเมื่อวันที่  9  สิงหาคม  พ.ศ.2514   หมู่บ้านเหล่ากอหก  ตำบลแสงพา  กิ่งอำเภอนาแห้ว  อำเภอด่านซ้าย  จังหวัดเลย  ถือเป็นรุ่นแรกของประเทศไทย  กิจการได้แพร่ขยายไปทั่วประเทศ  ปัจจุบันมีลูกเสือชาวบ้านทั่วประเทศไทยนับเป็นพัน ๆ  รุ่น  ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำให้ประชาชนเกิดความรักชาติ  ศาสนา  พระมหากษัตริย์  และมีความสามัคคีกัน  ตลอดจนการรู้จักพัฒนาตนเอง  และสังคมในชุมชนของตนให้ดีขึ้นเป็นอันมาก

                        ในวันที่ 1 กรกฎาคม  ของทุก ๆ  ปีถือเป็นวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ  หรือวันลูกเสือ  กิจกรรมต่าง ๆ  ที่ควรปฏิบัติมีดังนี้คือ

                        1.ทำบุญใส่บาตร  เพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่านผู้ให้กำเนิดลูกเสือแห่งประเทศไทย

                        2.จัดกิจกรรมเผยแพร่  ประวัติความเป็นมาของลูกเสือและผลงานต่าง ๆ 

                        3. ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ  ในวันลูกเสือ

                        4. เข้าร่วมกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ 

                        จากเรื่องราวดังกล่าวจะเห็นได้ว่ากิจการลูกเสือของไทย  ได้แพร่ขยายเข้าไปในจิตใจของคนไทยมาช้านานแล้ว  ลูกเสือกลายเป็นวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของสังคม  เยาวชนของชาติได้พัฒนาตนเองโดยขบวนการของลูกเสือ  มีโอกาสพัฒนาทั้งทางกาย  สติปัญญา  จิตใจและศีลธรรม  ให้เป็นพลเมืองดีมีระเบียบ  วินัยและความรับผิดสามารถบังคับใจตนเองได้  ชอบช่วยสร้างสรรค์สังคมให้มีความเจริญก้าวหน้า  เพื่อความสงบสุขและความมั่นคงของประเทศชาติ

                        ฉะนั้นถ้าเยาวชนสนใจ  เห็นความสำคัญของลูกเสือมาสมัครเข้ารับการอบรมกันมากขึ้น  พลเมืองดีที่มีคุณภาพย่อมมีมากขึ้นตามลำดับ  และถ้าเรามีผู้บังคับบัญชาลูกเสือที่มีสมรรถภาพในการฝึกอบรม  เข้าซึ้งถึงแก่นแท้ในวิชาลูกเสือ  มีจิตวิญญาณของความเป็นลูกเสือ  รักและหวงแหนในวัฒนธรรมความเป็นลูกเสือ  สังคมที่วุ่นวายในโลกปัจจุบันคงจะหมดลงไปได้  เราคงไม่ได้ยินคำว่า  โกหกเพื่อชาติหรือการแตกความสามัคคีในหมู่คนไทยอีก  จงสร้างลูกเสือให้เป็นลูกเสือตามแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระบิดาแห่งการลูกเสือไทย  ได้ให้พระบรมราโชวาทไว้ว่า  ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้  ที่ข้าอยากได้นั้นคือเยาวชนที่เป็นสุภาพบุรุษ  ซื่อสัตย์สุจริต  มีอุปนิสัย  ใจคอดี 

                                                                                   

                                                                         โดย..    นายวันชัย  กลิ่นหอม

                                                             รองประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอพรานกระต่าย

หมายเลขบันทึก: 276992เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2009 13:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท