ทฤษฎี X, Y, Z (ต่อ)


           ต้องขอบคุณผู้ที่ส่งความเห็น และข้อสังเกตเกี่ยวกับ Blog ทฤษฎี X, Y, Z (ที่ผมเขียนไว้นานพอสมควรแล้ว) โดยเฉพาะคุณไมตรี  แวววรรณ  ที่ทำงานในบริษัทญี่ปุ่น (ต้นตำรับทฤษฎี Z) ที่เล่าว่า

          ผมเห็นการทำงาน การคิด การกิน การเที่ยว การเล่นกีฬา  ตีกอล์ฟ ทุกอย่างมีความเกี่ยวข้องกับงานบริหารทั้งสิ้น  ประชากรของประเทศที่พัฒนาอย่างญี่ปุ่น  ล้วนมีคุณภาพ ขยัน อดทน งานมาก่อนเงิน 

          คนญี่ปุ่นรักองค์กร ถ้าทำงานที่ไหนก็ไม่นิยมย้ายงาน ผมเคยถามว่าทำไมไม่คิดเหมือนคนไทยที่ชอบย้ายงานบ่อยๆ ผมได้คำตอบว่า ประเทศเขานั้น  เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  คนที่จบใหม่ย่อมมีความรู้ใหม่มากกว่าคนที่จบมานานแล้ว  ดังนั้น  การเปลี่ยนงานจึงไม่จำเป็น  มีอีกหลายอย่างเกี่ยวกับทฤษฎีแนวคิดการบริหารแบบคนญี่ปุ่น

อยากให้คุณไมตรี ช่วยเขียนเรื่องที่ว่ามีอีกหลายอย่าง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันครับ

และมีข้อความส่งถึงผมเกี่ยวกับ ทฤษฎี XY หลังสุดจากคุณอัฐพร  ว่า

          อยากให้อาจารย์วิเคราะห์ ทฤษฎี XY แบบคร่าวๆ ว่าการวิเคราะห์เป็นแบบไหน?  และเขาวิเคราะห์กันอย่างไร?”

ตอบว่า ถ้าจะทำการวิเคราะห์ให้เป็น ต้องดูว่าเรื่องที่จะวิเคราะห์นั้น ผู้วิเคราะห์มีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องนั้นๆ แค่ไหนอย่างไร เรื่องนั้นมีองค์ความรู้อื่นที่เกี่ยวข้องหรือไม่? มีตัวอย่างหรือมุมมองที่เกี่ยวข้อง ประกอบการวิเคราะห์หรือไม่?

          ในการวัดความสามารถ (ability) นั้น ผมสรุปเองว่าน่าจะวัดตามลำดับ ของวัตถุประสงค์การเรียนรู้ ดังนี้

1.      ความรู้ ได้แก่ สิ่งที่สั่งสมมาจากการศึกษาเล่าเรียน การค้นคว้า หรือประสบการณ์ รวมทั้งความสามารถเชิงปฏิบัติและทักษะ

2.      ความจำ ได้แก่ สิ่งที่กำหนดไว้ในใจ ความสามารถในการระลึกได้ในสิ่งที่เรียนรู้

3.      ความเข้าใจ ได้แก่ การรู้เรื่อง รู้ความหมาย ตีความได้กระจ่างในสิ่งที่ได้เรียนรู้

4.      การนำไปใช้ ได้แก่ สิ่งที่เป็นความรู้และความเข้าใจที่นำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ

5.      วิเคราะห์ ได้แก่ การใคร่ครวญ แยกเนื้อหาเป็นส่วนๆ เพื่อศึกษาให้ถ่องแท้

6.      สังเคราะห์ ได้แก่ การนำสิ่งที่จำแนก แยกแยะ แยกส่วน มาพิจารณา นำส่วนที่เห็นว่าดีเป็นประโยชน์มากำหนดเป็นความรู้ใหม่

7.      ประเมิน ได้แก่ การตรวจสอบความถูกต้อง เหมาะสมขององค์ความรู้ทั้งหลายที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้

          ในการวิเคราะห์ทฤษฎี XY ควรต้องมีความรอบรู้อย่างน้อย คือ ความรู้ กับความเข้าใจ

 

ขอทบทวนความรู้ก่อนว่า

          Douglas McGregor ได้ค้นพบแนวคิดและ พฤติกรรมองค์กร (1967) และสรุปว่า กิจกรรมการบริหารจัดการล้วนมีสาเหตุรากฐานมาจากทฤษฎีพฤติกรรมมนุษย์ (Human Behaviors) ตามกรอบทฤษฎี ทฤษฎี X และ Y คือ

          ทฤษฎี X มีสมมติฐานว่า คนเกียจคร้าน ไม่ชอบทำงาน ไม่มีความรับผิดชอบ ต้องการเพียงความมั่นคงของตำแหน่งงาน การกำกับควบคุมคนประเภทนี้ ต้องใช้การบังคับ ขู่เข็ญ ทำให้กลัว

          ทฤษฎี Y มีสมมติฐานว่า  โดยธรรมชาติคนชอบทำงาน  มีวินัยในการควบคุมตนเอง

มีความรับผิดชอบ ต้องการทำงานให้สำเร็จตามศักยภาพของตนเอง การกำกับควบคุมคนประเภทนี้ต้องใช้มนุษยสัมพันธ์ สร้างขวัญ กำลังใจ

          วิเคราะห์ คนทั้ง 2 ประเภท มีพฤติกรรมการทำงานแตกต่างกัน ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีการบริหารจัดการกับคน ทั้ง 2 ประเภทแตกต่างกันด้วย

          McGregor รู้ว่า การกำหนดทฤษฎีที่แบ่งคนออกเป็น 2 ประเภท โดยสุดขั้วนั้น ไม่ใช่ความเป็นจริงในทางปฏิบัติ

ถ้าจะแถมความคิดของผู้เขียนก็คือ คงไม่มีคนประเภท เลวไม่มีที่ติ หรือ ดีไม่มีที่ติในมุมมองของผู้เขียน คือ ไม่มีสีดำบริสุทธิ์ หรือสีขาวบริสุทธิ์ แต่ในสีดำย่อมมีสีขาว และในสีขาวย่อมมีสีดำ แนวคิดเช่นนี้จะทำให้เราพยายามมองหาความดี และความดีมากของคนทุกคน

          แนวคิดของ McGregor ข้างต้น ก็เพื่อต้องการให้ผู้จัดการ (Manager) ใส่ใจในการบริหารจัดการบนสมมติฐานเบื้องต้นว่า

          คนจะเสียสละและอุทิศตนเพื่อองค์กรมากขึ้น ถ้าเขาได้รับการดูแล เอาใจใส่ เฉกเช่น ผู้ร่วมงานที่มีความรับผิดชอบ (Responsibility) และมีคุณค่า (Value)”

          นอกจากแนวคิดข้างต้น McGregor ยังกล่าวอีกว่า รูปแบบการบริหารจัดการและการตัดสินใจขึ้นอยู่กับความเชื่อในทฤษฎีการบริหาร ที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับคนแต่ละประเภท ถ้าคนที่มีพฤติกรรมแบบทฤษฎี X ก็น่าจะต้องบริหารโดยประยุกต์ใช้ทฤษฎีบริหารดั้งเดิมของ Frederick W. Talor ส่วนคนที่มีพฤติกรรมแบบทฤษฎี Y ก็น่าจะบริหารโดยทฤษฎีการบริหารของ Elton Mayo ที่ให้ความสำคัญกับมนุษยสัมพันธ์

          ที่เขียนมาข้างต้นก็แค่ ความรู้ กับความเข้าใจ ส่วนการวิเคราะห์ชัดๆ คงต้องต่อ Blog หน้าละครับ

          การบริหารไม่ยากอย่างที่คิดหรอกครับ (แต่ต้องติดตาม)

หมายเลขบันทึก: 276990เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2009 13:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท