๖๓. การสอบสวนของอัยการญี่ปุ่น


การเสวนาวิชาการผ่านระบบ vedio Conference

                   เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๒ ณ ห้องประชุมยกกระบัตรมณฑล  อธิบดีอัยการเขต ๓ พร้อมคณะผู้บริหารได้เข้าร่วมเสวนาวิชาการ เรื่อง "ระบบการสอบสวนของพนักงานอัยการญี่ปุ่น " จากห้องประชุมชั้น ๑๑ อาคารรัชดาภิเษก สำนักงานอัยการสูงสุด โดยถ่ายทอดผ่านระบบ Video  Conference มายังสำนักงานอัยการเขตทุกเขต  เพื่อเป็นการพัฒนาขีดสมรรถนะและพัฒนาบุคลากรของสำนักงานอัยการสูงสุด ให้เป็นเลิศ และมีมาตรฐานระดับสากล ซึ่งการเสวนาดังกล่าวทำให้พนักงานอัยการได้มีความรู้ ความเข้าใจในระบบการสอบสวนของพนักงานอัยการของประเทศญี่ปุ่นยิ่งขึ้น

สำหรับความรู้เกี่ยวกับพนักงานอัยการญี่ปุ่น โครงสร้างสำนกงานอัยการสูงสุดญี่ปุ่น และอำนาจหน้าที่ โดยสรุปดังนี้

                 อำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการได้บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยสำนักงานอัยการ (The Public prosecutors Office Law) ว่า " ในคดีอาญา พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีอาญา ตรวจสอบการใช้กฎหมายของศาล และกำกับดูแลการบังคับคดีในคดีอื่นๆที่เกี่ยวพันกับหน้าที่ของพนักงานอัยการเมื่อเห็นว่าจำเป็นพนักงานอัยการอาจขอดูสำนวนหรือเสนอความเห็นต่อศาล และในคดีที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติในฐานะที่เป็นตัวแทนของสาธารณะพนักงานอัยการต้องปฎิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลางและเป็นธรรมเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมและคุ้มครองสิทธิของประชาชนสถานะความเป็นกลางของพนักงานอัยการได้มีการรับรองโดยกฎหมาย แม้ว่าคณะรัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการ แต่การพิจารณาโทษทางวินัยต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติของพนักงานอัยการ (Committee for the Examination of Qualifications of Public Prosecutors) จำนวน 11 คน ประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภา 6 คน และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีก 5 คน

โครงสร้างสำนักงานอัยการ ประกอบด้วย สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการเขต และสำนักงานอัยการจังหวัด

          
สำนักงานอัยการสูงสุด ( Supreme Public Prosecutors Office)
สำนักงานอัยการสูงสุดตั้งอยู่ที่กรุงโตเกียว มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบสำนักงานอัยการทั่วประเทศมีอัยการสูงสุดเป็นผู้บังคับบัญชา อัยการสูงสุด รองอัยการสูงสุด และ อัยการเขต (Superintending Prosecutor) ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีและโปรดเกล้าโดยจักรพรรดิ อัยการสูงสุดเกษียณอายุ 65 ปีส่วนพนักงานอัยการอื่นเกษียณอายุ 63 ปี


          สำนักงานอัยการสูงสุด ประกอบด้วย สำนักงานอาญา (Criminal Affairs Department)สำนักงานกิจการความมั่นคงสาธารณะ (Public Security Affairs Department)สำนักงานกิจการศาล (Court Affairs Department)และสำนักงานอำนวยการ (Administration Department) สำนักงานอาญาและสำนักงานกิจการความมั่นคงสาธารณะรับผิดชอบในการกำกับดูแลการดำเนินคดีอาญาทั่วไปและคดีเกียวกับความมั่นคงของประเทศซึ่งสำนักงานอัยการเขตและสำนักงานอัยการจังหวัดรับผิดชอบดำเนินคดีสำนักงานอัยการสูงสุดจะตรวจสอบกำกับดูแลและให้นโยบายแก่สำนักงานอัยการในท้องที่เพื่อให้การดำเนินคดีเป็นมาตรฐานเดียวกันและสอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานอัยการสูงสุด
 

          สำนักงานอัยการเขต (High Public Prosecutor Office) สำนักงานอัยการเขตทั่วประเทศมีทั้งหมด8 เขต รับผิดชอบคดีชั้นอุทธรณ์ และคดีสำคัญ เช่น คดีกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของผู้สมัครสมาชิกรัฐสภา และคดีละเมิดกฎหมายป้องกันการผูกขาด เป็นต้น ในปีค.ศ. 1973 สำนักงานอัยการเขตโตเกียวได้ดำเนินคดีสำคัญและเป็นที่สนใจของประชาชนกับบริษัทน้ำมันและผู้บริหารหลายบริษัทที่ตกลงกำหนดราคาโดยฝ่าฝืนกลไกของตลาด

          
สำนักงานอัยการจังหวัด (District Public Prosecutor Office) สำนักงานอัยการจังหวัดมีทั้งหมด 50 สำนักงาน ตั้งอยู่ในท้องที่เดียวกับศาลจังหวัด รับผิดชอบในการสอบสวน และดำเนินคดีอาญาในเขตอำนาจของสำนักงาน ในสำนักงานอัยการจังหวัดใหญ่ๆ จะแบ่งความรับผิดชอบคดีตามความเชี่ยวชาญ เช่น คดีอาญาทั่วไป คดีความผิดต่อความมั่นคง และคดีประเภทอื่นๆ

อำนาจของพนักงานอัยการในการสอบสวน จับกุม และควบคุมตัว

          ตามกฎหมายเจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจสอบสวนในเบื้องต้น (Primary investigation)แต่พนักงานอัยการก็มีอำนาจสอบสวนและควบคุมการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนาจสอบสวนของพนักงานอัยการมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายว่าด้วยสำนักงานอัยการ เหตุผลสำคัญที่กำหนดให้พนักงานอัยการมีอำนาจสอบสวนเนื่องจากสถานะของเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกแทรกแซงโดยการเมืองได้โดยง่าย

             คดีสำคัญที่ประชาชนให้ความสนใจและตระหนักถึงความจำเป็นของอำนาจสอบสวนของพนักงานอัยการ คือ คดีรับสินบน บริษัท Lockheed ที่พนักงานอัยการได้ทำการสอบสวนและฟ้องร้องดำเนินคดีกับอดีตนายกรัฐมนตรีทานากะ ผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองของญี่ปุ่น ในปี ค.ศ.1976 ในสำนักงานอัยการโตเกียวและสำนักงานอัยการโอซาก้าได้จัดตั้งกองสอบสวนคดีพิเศษ (Special Investigation Department) รับผิดชอบในการสอบสวนคดีสำคัญต่างๆ เช่น คดีทุจริตประพฤติมิชอบของนักการเมืองข้าราชการและนักธุรกิจ รวมทั้งคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน


          พนักงานอัยการมีอำนาจจับกุมและควบคุมผู้ต้องหาโดยขอหมายจับจากศาล ซึ่งสามารถควบคุมตัวได้ 48 ชั่วโมง หลังจากนั้นหากจำเป็นที่จะต้องควบคุมตัวอีกต้องขอฝากขังได้ 10 วัน และขยายเวลาได้อีก 10 วันรวมเป็นเวลาที่สามารถควบคุมตัวได้ทั้งหมด 22 วัน แต่ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้จับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องส่งสำนวนไปให้พนักงานอัยการภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากนั้นพนักงานอัยการต้องพิจารณาดำเนินการฝากขังภายใน 24 ชั่วโมง ดังนั้นหากเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้จับกุม ผู้ต้องหาจะถูกควบคุมตัวในชั้นต้น 3 วันมากกว่าการถูกจับกุมโดยพนักงานอัยการ

ความเกี่ยวพันกับการเมือง

          ประเด็นที่น่าสนใจประเด็นหนึ่ง คือพนักงานอัยการจะมีความเป็นกลางทางการเมืองได้อย่างไรในเมื่อองค์กรอัยการเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายบริหารกฎหมายว่าด้วยสำนักงานอัยการได้บัญญัติว่า"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอาจควบคุมและกำกับดูแลสำนักงานอัยการได้เป็นการทั่วไป"ซึ่งมีการตีความว่าหมายถึงการควบคุมและกำกับดูแลงานธุรการและงบประมาณแต่ไม่ใช่การควบคุมและกำกับดูแลงานการสอบสวนและงานคดี

การพิจารณาสั่งคดี

          พนักงานอัยการมีอำนาจเด็ดขาดในการพิจารณาสั่งคดีตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งการพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการทำได้ 3 กรณี คือ

           1) สั่งฟ้อง

           2) สั่งชะลอฟ้องแม้จะมีพยานหลักฐานว่าผู้ต้องหากระทำผิด และ

           3) สั่งไม่ฟ้องเนื่องจากพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง


          การสั่งชะลอฟ้องทำได้โดยการพิจารณาองค์ประกอบต่างๆเกี่ยวกับ ความร้ายแรงของการกระทำผิด การบรรเทาผลร้ายของความผิดโดยผู้ต้องหา และผลกระทบต่อสังคมโดยรวม แม้ว่ามีการสั่งชะลอฟ้องแล้วต่อมาหากข้อพิจารณาเปลี่ยนแปลงผู้ต้องหาก็อาจถูกฟ้องดำเนินคดีได้ กรณีที่มีการสั่งไม่ฟ้องแล้วห้ามมิให้สอบสวนดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในเรื่องเดียวกันอีกตามหลักการดำเนินคดีซ้ำ (Double Jeopardy) ...(จากบทความเรื่อง อัยการญี่ปุ่น ของ สำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด โดย..นายวโรจน์ ชัชวาลวงค์  และนายจุมพล พันธ์สัมฤทธิ์)

 

 

 

                เสวนาวิชาการ  ผ่านระบบ Video  Conference  จากสำนักงานอัยการสูงสุด

 

 

คำสำคัญ (Tags): #อัยการญี่ปุ่น
หมายเลขบันทึก: 275379เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2009 12:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท