บ้านท่าโพธิ์ : รู้จักถิ่นอาศัยของตนเอง


          บริเวณด้านหน้าห้องประชาสัมพันธ์ของคณะสหเวชศาสตร์  ซึ่งเป็นห้องแรกสุดของอาคารบริหารและบริการ  มีชั้นวางวารสาร  จุลสาร จดหมายข่าว ฯลฯ  ของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยที่ส่งมาให้ เรียงรายอย่างเป็นระเบียบ ดูมีสีสรรสวยงาม 

          และ ณ ที่นี้เองที่ดิฉันได้พบกับ "วารสารองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์" วางอยู่ เพียงพลิกๆ ดูเนื้อหาจำนวน 24 หน้า  วิญญาณ Bloger ของดิฉันก็เริ่มออกอาละวาด.....นี่เป็นที่เรื่องน่าบันทึก และจดจำนี่นา

          ก็ดิฉันมีบ้านอยู่ที่ตำบลนี้  อยู่ที่ หมู่ 7  "ตำบลท่าโพธิ์" อำเภอเมือง  จังหวัดพิษณุโลก  ตำบลเดียวกับมหาวิทยาลัยนเรศวร  เพื่อนบ้านของดิฉันเอง อยู่ห่างกันนิ๊ดเดียว....

          ในวารสารเล่มนี้  ทำให้ดิฉันรู้จักถิ่นอาศัยของตนเองมากขึ้น

          ประวัติของ "ตำบลท่าโพธิ์"  ได้รับการบอกเล่ามาจากอดีตกำนันตำบลท่าโพธิ์  ชื่อ นายเกรียง  นุชท่าโพ  ซึ่งเป็นคนที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก  กำนันเกรียงเล่าให้ฟังว่า  สมัยก่อน...การคมนาคมทางบกยังไม่มี  ต้องอาศัยการคมนาคมทางน้ำ ใช้เรือแล่นไปตามลำแม่น้ำ  แม่น้ำน่านเป็นแม่น้ำสายหลักของการคมนาคม จึงมีท่าเรือต่างๆ เรียงรายตามลำน้ำ  ชื่อ "บ้านท่าโพธิ์"  จึงมาจากชื่อท่าเรือ "ท่าโพธิ์"  ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่เป็นสัญลักษณ์  และคนที่ท่าเรือตลอดจนคนสัญจรไปมาแถบนั้น  เรียกว่า  "ท่าโพธิ์"  และเรียกบ้านแถบนั้นว่า "บ้านท่าโพธิ์" ตลอดมาจนถึงทุกวันนี้

          ข้อความเล่าประวัติ มีเท่านี้ ดิฉันอยากเติมเองนิดหน่อยว่า .....และยังเป็นชื่อเรียกตำบลนี้ไปด้วย ว่า "ตำบลท่าโพธิ์"  ซึ่งเป็นด้วยมีกำนันที่เป็นที่ยอมรับนับถือกันทุกหมู่บ้าน อยู่ที่ "บ้านท่าโพธิ์" นี่เอง


           อ่านมาถึงตอนนี้  ทำให้ดิฉันเข้าใจอย่างลึกซึ้งขึ้น และเห็นความสำคัญมากขึ้นว่า  ทำไมถึงต้องเขียนประวัติของคณะฯ ไว้ด้วย 

          สงสัยต้องปรับปรุงประวัติของคณะฯ อีกสักครั้ง  เพราะดิฉันมักได้รับคำถามบ่อยครั้งจากคนทั่วไปว่า  "ทำไมถึงชื่อว่า คณะสหเวชศาสตร์ ?"  "คณะนี้ต่างกันตรงไหนกับคณะเทคนิคการแพทย์?"


          ตำบลท่าโพธิ์  อยู่ห่างจากอำเภอเมืองไปทางทิศใต้ ประมาณ 12 กิโลเมตร  (เวลาไปรับอาจารย์พิเศษ ที่สนามบินพิษณุโลก เพื่อมาสอนที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มักถูกถามว่า อีกกี่กิโลถึงจะถึงมหาวิทยาลัย?  ดิฉันไม่ได้วัด  แต่ก็คะเนได้ว่าราว 15- 16 กิโลเมตรค่ะ)

          เนื้อที่ของตำบลนี้  ประมาณ  31,300 ไร่  หรือประมาณ  50.1 ตารางกิโลเมตร

          พื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำน่านไหลผ่าน เป็นดินตะกอน  พิ้นที่จะลาดเอียงจากทางทิศเหนือและทิศตะวันออกของตำบล ซึ่งมีความสูงประมาณ 40 เมตรจากระดับน้ำทะเล  ลาดเอียงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้และทางทิศใต้ของตำบล ซึ่งมีความสูงประมาณ 33 เมตรจากระดับน้ำทะเล  อันเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำของตำบลซึ่งติดต่อกับเขตอำเภอบางระกำ  ( โล่งอกไปที...เพราะดูจากแผนที่แล้ว บ้านท่าโพธิ์  จะค่อนมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตำบล  แต่เสียดาย...น่าจะสูงกว่านี้อีกนิด  เพราะ อาจารย์ ดร.อาจอง  ชุมสายฯ เคยบอกว่า สเปคที่เหมาะของพื้นที่  ที่ปลอดภัยจากน้ำท่วม คือควรสูงจากระดับน้ำทะเลไม่น้อยกว่า 45 เมตร)

          ตำบลนี้มี 11 หมู่บ้าน ได้แก่

  • หมู่ที่ 1  บ้านวังส้มซ่า
  • หมู่ที่ 2  บ้านวังส้มซ่า  (ทำไม 2 หมู่บ้าน ชื่อเหมือนกันก็ไม่รู้ ??)
  • หมู่ที่ 3  บ้านวังวน
  • หมู่ที่ 4  บ้านคลองคู
  • หมู่ที่ 5  บ้านยาง
  • หมู่ที่ 6  บ้านยางเอน
  • หมู่ที่ 7  บ้านท่าโพธิ์  จำนวนหลังคาเรือนสูงสุด (2,588 หลัง) จำนวนประชากรสูงสุด (1,687 คน)
  • หมู่ที่ 8  บ้านแขก
  • หมู่ที่ 9  บ้านคลองหนองเหล็ก จำนวนหลังคาเรือน (205 หลัง) จำนวนประชากรสูงสุด (4,927 คน)
  • หมู่ที่ 10 บ้านหัวกระทิง
  • หมู่ที่ 11 บ้านในไร่  จำนวนหลังคาเรือนต่ำสุด (135 หลัง) จำนวนประชากรต่ำสูงสุด (340 คน)

ข้อมูลสถิติทางเศรษฐกิจและสังคม (เฉพาะที่น่าสังเกต)

  • มีโรงแรม / หอพัก 180 แห่ง  (ก็เพราะมีมหาวิทยาลัย 1 แห่ง : มน.)
  • มีโรงพยาบาลของรัฐ 1 แห่ง (ก็ โรงพยาบาล มน.)
  • มีสถานีตำรวจชุมชน 1 แห่ง (ไม่ทราบว่านับตรงที่ตั้งอยู่ใน มน. ใช่หรือเปล่า?)
  • ไม่มีสถานีดับเพลิง !!!

อ้อ!!  หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ของตำบล ท่าโพธิ์  คืออะไรเอ่ย ?????

ไม่รู้ไช่ไม๊............ 

บอกให้ก็ได้

ดินปุ๋ย ค่ะ

ดินประยุกต์  ดินปุ๋ยหมัก  ดินเพาะเมล็ด  ของกลุ่มเกษตรแผนใหม่  บ้านหัวกระทิง

หมู่ที่ 10  ตำบลท่าโพธิ์  อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก 084-492-6771, 081-886-6215

โฆษณาให้เสียเลย                      

          ขอขอบคุณ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์  คุณธวัช  สิงหเดช  ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงที่มี idea ดีดี  ในการทำวารสารประชาสัมพันธ์ตำบล  ฉบับนี้ เป็นฉบับปฐมฤกษ์  หวังว่าจะไม่ใช่ฉบับเดียวแล้วเลิกนะคะ 

หมายเลขบันทึก: 275350เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2009 10:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่เอามาลงให้ได้ทราบกันค่ะ

แต่สงสัยนิดนึงว่ามหาวิทยาลัยตั้งอยู่หมู่ที่ 9 แต่ทำไมประชากรกลับไปหนาแน่นที่หมู่ 7 ละคะ (ช่วยไขข้อสงสัยให้ด้วยนะคะ)

สวัสดีค่ะ น้อง Ninko ต้องขอบคุณน้องมากนะคะ ที่เตือน  อาจารย์ดูช่องผิดไปจริงๆ ค่ะ

หมู่ที่ 9  บ้านคลองหนองเหล็ก :

  • จำนวนหลังคาเรือน   205  หลังคาเรือน
  • ประชากรชาย  1,588  คน
  • ประชากรหญิง  3,339 คน
  • รวมประชากร   4,927  คน


* ข้อมูลจากฝ่ายทะเบียนอำเภอเมืองฯ ณ เดือนพฤษภาคม 2551

สวัสดีครับอาจารย์

ส่วนหนึ่งที่จะทำคนรักถิ่นฐานบ้านเกิดตัวเอง ต้องรู้ประวัติและความเป็นมาของตัวเอง พูดง่าย รู้ตัวตนตนเอง การจัดทำวารสารประชาสัมพันธ์ตำบล ก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมเป็นอย่างมาก แต่ที่น่าชื่นชมมากยิ่งขึ้นไปอีกได้มีคนสนใจอ่านและมามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อย่างน้อยจะได้ช่วยทำให้ค่าเฉลี่ยการอ่านหนังสือของคนไทย สูงขึ้นด้วยครับอาจารย์

จริงด้วยค่ะ  อาจารย์ไพทูล และนอกจากจะได้ช่วยทำให้ค่าเฉลี่ยการอ่านหนังสือของคนไทย สูงขึ้นแล้ว  ยังจะเป็นการใช้ประโยชน์จากกระดาษให้คุ้มค่าการลงทุนด้วยนะคะ  เพราะดิฉันเห็นจุลสาร  จดหมายข่าวหลายฉบับ ที่ลงทุนเข้าโรงพิมพ์ ใช้กระดาษอย่างดี  4 สี   แต่ในที่สุด ก็ไม่มีใครอ่าน และเป็นลาภของแม่บ้านในวันทำความสะอาดใหญ่ ท้ายที่สุด วงษพาณิชย์ เท่านั้นที่ยังเห็นคุณค่าส่วนที่เหลือ 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมค่ะ

ว่ามหาวิทยาลัยนเรศวรทิศไหนติดกับหมูบ้านอะไร

คือนู๋ไม่รุจักชื่อหมู่บ้านค่ะว่าทิศเหนือ ใต้ ออก ตก ติดกับสถานที่ใด..

ขอบคุณค่ะ

แหะ! แหะ!  อาจารย์ก็ไม่ทราบเหมือนกันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท