Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

Attraction Process กระบวนการสร้างแรงดึงดูด 2


คราวนี้เราจะมาลงลึกในรายละเอียดถึงวิธีการสร้างแรงดึงดูดที่ดี ที่จะทำให้เรามีความสุข ร่ำรวยและประสบความสำเร็จในชีวิต หลังจากที่เราค้นหาความลับของพลังจักรวาลจนเจอ (อิ อิ) แล้วพยายามเรียนรู้และเข้าใจกระบวนการสร้างแรงดึงดูด หรือกระบวนการสร้างกรรมกันมาแล้วในตอนที่ 1  http://gotoknow.org/blog/dhammasecret/275019  เราก็จะมาเรียนรู้กระบวนการสร้างแรงดึงดูดสิ่งดีๆ หรือกระบวนการสร้างกรรมดี ๆ กันต่อค่ะ  และแล้วความลับ  ก็จะไม่เป็นความลับอีกต่อไปแล้วค่ะ 555 ต้องสำเร็จแน่  หึๆ

กรรม หรือการกระทำ หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา คือทำด้วยความจงใจหรือจงใจทำ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เช่น  ขุดหลุมพรางดักคนหรือสัตว์ให้ตกลงไปตาย เป็นกรรม  แต่ขุดบ่อน้ำไว้กินใช้ สัตว์ตกลงไปตายเอง ไม่เป็นกรรม (แต่ถ้ารู้อยู่ว่าบ่อน้ำที่ตนขุดไว้อยู่ในที่ซึ่งคนจะพลัดตกได้ง่าย แล้วปล่อยปละละเลย มีคนตกลงไปตาย ก็ไม่พ้นเป็นกรรมค่ะ)

การกระทำที่ดีเรียกว่า กรรมดีที่ชั่ว เรียกว่า กรรมชั่วจากที่เรารู้มาแล้วว่า การให้ผลของกรรม อาจแบ่งเป็นการให้ผลทางจิตใจ และการให้ผลทางวัตถุนั้น

การให้ผลทางจิตใจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้กระทำโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่นค่ะ เมื่อทำไปแล้วก็ได้รับผลทันที คือเมื่อทำกรรมดี ก็จะได้รับความสุข ความปีติ ปลาบปลื้มใจ แต่ถ้าทำกรรมชั่ว ก็จะทำให้จิตใจเศร้าหมอง เป็นทุกข์ ส่วนการให้ผลทางวัตถุเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับผู้อื่น จะทำให้ได้ดียากมากค่ะ  แต่ก็ทำได้นะคะ  ถ้าเรามีความศรัทธาเพียงพอ  จะได้รับคำตอบจากเรื่องนี้ค่ะ คนทำดี จะให้ได้ดีทางวัตถุ ต้องประกอบด้วยหลัก ๔ ประการคือ

๑. คติสมบัติ ทำดีให้ถูกสถานที่

๒. อุปธิสมบัติ ทำดีให้ถูกตัวบุคคล

๓. กาลสมบัติ ทำดีให้ถูกเวลา

๔. ปโยคสมบัติ ต้องทำดีให้ติดต่อกันไปเรื่อยๆ

การที่คนทำกรรมดีและหวังผลดีในทางด้านวัตถุ เช่น หวังลาภ ยศ และสรรเสริญ แต่ไม่ได้รับผลดีตามต้องการ อาจจะเพราะไม่เข้าตามหลัก ๔ ประการข้างต้น คือ ไปทำความดีกับบุคคลที่ไม่มีความดี เช่น เราทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แต่เจ้านายของเราเป็นคนคอรัปชั่น การทำความดีของเราย่อมไม่เป็นที่ชื่นชมของเจ้านายของเรา การทำดีกับบุคคลเหล่านี้ก็ไม่ผิดอะไรกับเอาเมล็ดพืชทิ้งลงไปบนหิน หรือพื้นดินแห้งแล้ง  ไม่มีวันที่มันจะงอกงามได้หรอกค่ะ

ฉะนั้น การทำความดีเราควรจะหวังผลในทางจิตใจมากกว่าวัตถุกีกว่าค่ะ บางคนอาจจะ ทำความดีจริงแต่อาจจะทำไม่ถึงดี คือ ทำดีเพียงเล็กน้อยแล้วก็หวังผลแห่งความดีนั้น เมื่อไม่ได้รับผลตอบแทนก็หมดกำลังใจ แล้วก็บอกว่าทำดีไม่เห็นได้ดี บุคคลเหล่านี้เหมือนคนปลูกพืชรดน้ำพรวนดินนิดหน่อย ก็หวังที่จะให้พืชได้ผลมากมายมหาศาล  แหม..เอาเปรียบกันเกินไปหน่อยค่ะ  ของแบบนี้  ต้องศรัทธาและพากเพียรค่ะ  สู้ๆ ต่อไปค่ะ  อย่าเพิ่งท้อค่ะ

ความหมายของคำว่าได้ดีและได้ชั่ว ในทางโลกและทางธรรม มีความหมายและให้ผลแตกต่างกันนะคะ

ในทางโลก มักจะมองเห็น การได้ดีและได้ชั่วเป็นเรื่องทางวัตถุ เมื่อกล่าวว่าคนนั้นได้ดีก็มักจะหมายความว่า ผู้นั้นได้ลาภและยศ เช่นได้ทรัพย์สมบัติ ได้อำนาจวาสนา หรือได้ตำแหน่งหน้าที่การงานดีขึ้น เมื่อไม่ได้สิ่งเหล่านี้ก็เข้าใจว่าไม่ได้ดี

ในทางธรรม การได้ดีหรือได้ชั่วเป็นเรื่องของจิตใจ การได้ดีหมายถึง การทำให้จิตใจดีขึ้น ทำให้ธาตุแห่งความดีในตัวเองเรามีมากขึ้น ทำให้จิตใจของเราสะอาด สว่าง สงบยิ่งขึ้น ส่วนการได้ชั่ว หมายถึงการทำให้จิตใจต่ำลง เลวลง ทำให้จิตใจมืดมัวยิ่งขึ้น คำว่าได้ดีจึงความถึงความดี และคำว่าได้ชั่ว จึงหมายถึงความชั่ว หากเราจะพูดว่า ทำดีได้ความดี ทำชั่วได้ความชั่ว ก็จะทำให้เข้าใจในเรื่องได้ดีและได้ชั่วดีขึ้น

บุคคลที่กระทำกรรมอะไรลงไป ย่อมจะได้รับผลในทางจิตใจทันที เมื่อทำกรรมดี เช่น ทำบุญตักบาตร ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่น ก็จะทำให้จิตใจดีขึ้น มีความปีติปลาบปลื้มใจ มีความสุขในกรรมดีที่ตนทำ เพราะกรรมที่ทำเป็นกุศลกรรมจริงๆ คือทำด้วยจิตใจที่เป็นกุศล ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ใช่ด้วยความโลภหรือด้วยอกุศลเจตนา หรือหวังผลตอบแทนใดๆ จึงทำให้บุคคลนั้นมีความสุขทันที  ได้รับผลของกรรมนั้นทันที

แล้วเราจะทำให้ Attraction Process  กระบวนการสร้างแรงดึงดูดเกิดขึ้นได้อย่างไรค่ะ

ไม่ยากค่ะเพื่อนๆ  สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ทรงสอนเอาไว้ตั้ง 2552 ปีมาแล้ว  ปัจจุบันก็สืบทอดกันมาผ่านครูบาอาจารย์ทั้งหลายและในหนังสือพระไตรปิฎกก็บอกไว้ค่ะ  ถ้าพวกเราเชื่อและปฏิบัติตาม  รับรองค่ะ  ได้ผลดีแน่นอนค่ะ  ซึ่งหลักธรรมที่ช่วยสร้างแรงดึงดูดดี-ดี เข้ามาในชีวิตเรา ช่วยทำให้เราสามารถประสบความสำเร็จแบบง่ายๆ ทำได้สบายๆ 2 เรื่องค่ะ ได้แก่ สังคหวัตถุ 4 และพรหมวิหาร 4

สังคหวัตถุ 4 ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยว คือ หลักธรรมที่ยึดเหนี่ยวใจบุคคล เป็นการผูกไมตรี เอื้อเฟื้อ เกื้อกูลและประสานหมู่ชนไว้ในสามัคคี หรือเป็นหลักการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน มีอยู่ 4 ประการ ได้แก่

1. ทาน การให้ คือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ แบ่งปัน ช่วยเหลือกันด้วยสิ่งของตลอดถึงให้ความรู้และแนะนำสั่งสอน คุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้เราไม่เป็นคนละโมบ โลภมาก เห็นแก่ตัวค่ะ

2. ปิยวาจา หรือ เปยยวัชชะ วาจาเป็นที่รัก วาจาดูดดื่มน้ำใจ หรือวาจาซาบซึ้งใจ คือกล่าวคำสุภาพไพเราะอ่อนหวานสมานสามัคคี ให้เกิดไมตรีและความรักใคร่นับถือ ตลอดถึงคำแสดงประโยชน์ประกอบด้วยเหตุผลเป็นหลักฐานจูงใจให้นิยมยอมตาม การพูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน พูดด้วยความจริงใจ ไม่พูดหยาบคายก้าวร้าว พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เหมาะสำหรับกาลเทศะ พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับการพูดเป็นอย่างยิ่ง เพราะการพูดเป็นบันไดขั้นแรกที่จะสร้างมนุษย์สัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้น วิธีการที่จะพูดให้เป็นปิยวาจานั้น จะต้องพูดโดยยึดถือหลัก4 ประการ คือ 1.เว้นจากการพูดเท็จ 2.เว้นจากการพูดส่อเสียด 3.เว้นจากการพูดคำหยาบ 4.เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ คุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้เราเป็นคนมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น  เป็นที่รักของผู้อื่นด้วยค่ะ

3. อัตถจริยา การประพฤติประโยชน์หรือการประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น คือ ขวนขวายช่วยเหลือกิจการ บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ตลอดถึงช่วยแก้ไขปรับปรุงส่งเสริมในทางคุณธรรม จริยธรรม  คุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้เราเป็นคนมีจิตอาสา  สร้างสรรค์ ช่วยเหลือ  พัฒนาสังคมค่ะ

4. สมานัตตตา  ความมีตนเสมอ คือ ทำตนเสมอด้วยปลาย ปฏิบัติสม่ำเสมอกันในชนทั้งหลาย และเสมอในสุขทุกข์โดยร่วมรับรู้ร่วมแก้ไข ตลอดถึงวางตนเหมาะแก่ฐานะ ภาวะ บุคคล เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม ถูกต้องตามธรรมในแต่ละกรณี  คุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้เราเป็นคนมีความกตัญญู กตเวที มีจิตใจหนักแน่น ไม่โลเล ช่วยสร้างความนิยม และไว้วางใจให้แก่ผู้อื่นอีกด้วยค่ะ

พรหมวิหาร 4 ธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ, ธรรมประจำใจอันประเสริฐ, หลักความประพฤติที่ประเสริฐบริสุทธิ์, ธรรมที่ต้องมีไว้เป็นหลักใจและกำกับความประพฤติ จึงจะชื่อว่าดำเนินชีวิตหมดจด และปฏิบัติตนต่อมนุษย์สัตว์ทั้งหลายโดยชอบ พรหมวิหารนี้ บางทีแปลว่า ธรรมเครื่องอยู่ของพรหม, ธรรมเครื่องอยู่อย่างพรหม, ธรรมประจำใจที่ทำให้เป็นพรหมหรือให้เสมอด้วยพรหม, หรือธรรมเครื่องอยู่ของท่านผู้มีคุณยิ่งใหญ่ มีอยู่ 4 ประการ ได้แก่

1. เมตตา ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข มีจิตอันแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า

2. กรุณา ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของปวงสัตว์ ความทุกข์ คือ สิ่งที่เข้ามาเบียดเบียนให้เกิดความไม่สบายกายไม่สบายใจ และเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน พระพุทธองค์ทรงสรุปไว้ว่าความทุกข์มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

1. ทุกข์โดยสภาวะ หรือทุกข์ตามธรรมชาติของร่างกาย เช่น การเกิด เจ็บไข้ แก่และตาย ซึ่งสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่เกิดมาในโลกจะต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมเรียกว่า กายิกทุกข์

2. ทุกข์จรหรือทุกข์ทางใจ เป็นความทุกข์ที่มีสาเหตุอยู่นอกตัวเรา เช่น เมื่อปรารถนาแล้วไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์  การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ รวมเรียกว่า เจตสิกทุกข์

3. มุทิตา ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง กอปรด้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป คำว่า "ดี" ในที่นี้ หมายถึง การมีความสุขหรือมีความเจริญก้าวหน้า ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีจึงหมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น ไม่มีจิตใจริษยา ความริษยา ความไม่สบายใจ ความโกรธ ความฟุ้งซ่าน ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีกว่าตน เราต้องหมั่นฝึกหัดตนให้เป็นคนที่มีมุทิตา เพราะจะสร้างไมตรีและผูกมิตรกับผู้อื่นได้ง่ายและลึกซึ้งด้วย

4. อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตราชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้งรู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตนพิจารณาเห็นว่า ใครทำดีย่อมได้ดี ใครทำชั่วย่อมได้ชั่ว ตามกฎแห่งกรรม  เมื่อเราเห็นใครได้รับผลกรรมในทางที่เป็นโทษเราก็ไม่ควรดีใจหรือคิดซ้ำเติมเขาในเรื่องที่เกิดขึ้น เรามีความปรารถนาดี คือพยายามช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ อย่างถูกต้อง ไม่ผิดศีลธรรม

ผู้ดำรงในพรหมวิหาร ย่อมช่วยเหลือมนุษย์สัตว์ทั้งหลายด้วยเมตตากรุณา และย่อมรักษาธรรมไว้ได้ด้วยอุเบกขา  และพรหมวิหาร 4 เรียกอีกอย่างว่า อัปปมัญญา 4 เพราะแผ่สม่ำเสมอโดยทั่วไปในมนุษย์สัตว์ทั้งหลาย ไม่มีประมาณ ไม่จำกัดขอบเขต ซึ่งพรหมวิหารมีในผู้ใด ย่อมทำให้ผู้นั้นประพฤติปฏิบัติเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ด้วยสังคหวัตถุเป็นต้นและวิธีการที่จะเข้าใจและปฏิบัติพรหมวิหาร 4 ให้ถูกต้องนั้น ต้องรู้จักกับสมบัติและวิบัติของธรรม 4 ประการด้วยนะคะ  แบบนี้ค่ะ

สมบัติ (ความสมบูรณ์หรือความสัมฤทธิ์ผล) วิบัติ (ความล้มเหลว หรือการปฏิบัติผิดพลาด ไม่สำเร็จผล)

1.

เมตตา

สมบัติ = สงบหายไร้ความแค้นเคืองไม่พอใจ วิบัติ = เกิดเสน่หา

2.

กรุณา

สมบัติ = สงบหายไร้วิหิงสา วิบัติ = เกิดความโศกเศร้า

3.

มุทิตา

สมบัติ = สงบหายไร้ความริษยา วิบัติ = เกิดความสนุกสนาน

4.

อุเบกขา:

สมบัติ = สงบหายไม่มีความยินดียินร้าย วิบัติ = เกิดความเกิดความเฉยด้วยไม่รู้ (เฉยโง่ เฉยเมย เฉยเมิน)

       ข้าศึก คือ อกุศลซึ่งเป็นศัตรูคู่ปรับที่จะทำลายหรือทำธรรมนั้นๆ ให้เสียไป

1.

เมตตา

ข้าศึกใกล้ = ราคะ ข้าศึกไกล = พยาบาท คือความขัดเคืองไม่พอใจ

2.

กรุณา

ข้าศึกใกล้ = โทมนัส คือความโศกเศร้าเสียใจ ข้าศึกไกล = วิหิงสา

3.

มุทิตา

ข้าศึกใกล้ = โสมนัส (เช่น ดีใจว่าตนจะพลอยได้รับผลประโยชน์)

 

 

ข้าศึกไกล = อรติ คือความไม่ยินดี ไม่ใยดี ริษยา

4.

อุเบกขา

ข้าศึกใกล้ = อัญญาณุเบกขา (เฉยไม่รู้เรื่อง เฉยโง่ เฉยเมย)

 

 

ข้าศึกไกล = ราคะ (ความใคร่) และปฏิฆะ (ความเคือง) หรือชอบใจและขัดใจ

   ตัวอย่างมาตรฐาน ที่แสดงความหมายของพรหมวิหารได้ชัด ซึ่งคัมภีร์ทั้งหลายมักยกขึ้นอ้าง

1.

เมื่อลูกยังเล็กเป็นเด็กเยาว์วัย แม่ - เมตตา รักใคร่เอาใจใส่ ถนอมเลี้ยงให้เจริญเติบโต

2.

เมื่อลูกเจ็บไข้เกิดมีทุกข์ภัย แม่ - กรุณา ห่วงใยปกปักรักษา หาทางบำบัดแก้ไข

3.

เมื่อลูกเจริญวัยเป็นหนุ่มสาวสวยสง่า แม่ - มุทิตา พลอยปลาบปลื้มใจ หรือหวังให้ลูกงามสดใสอยู่นานเท่านาน

4.

เมื่อลูกรับผิดชอบกิจหน้าที่ของตนขวนขวายอยู่ด้วยดี แม่ - อุเบกขา มีใจนิ่งสงบเป็นกลาง วางเฉยคอยดู

รู้สึกดีใจไหมค่ะเพื่อนๆ  ที่ได้รู้ความลับของวิธีการสร้างแรงดึงดูดดี-ดีหรือวิธีการสร้างกรรมดี-ดี กันแล้ววันนี้  อยากลองทำตามดูบ้างไหมค่ะบทต่อไปเราจะมาลงลึกในรายละเอียดกันต่อไปอีกค่ะ ในเรื่อง การคิดเชิงบวก ที่จะทำให้เรามีความสุข ความร่ำรวย การมีคู่ครองที่ดีและประสบความสำเร็จในชีวิต  เพราะทุกความคิดมีแรงดึงดูด  คราวหน้าเราจะดึงดูดเรื่องดี-ดีเข้ามาในชีวิตเรากันค่ะ 555  สมปรารถนาแน่นอน

ขอบคุณทุกท่านที่อ่าน  ขอให้เจริญในธรรมนะคะ บุญรักษา  ธรรมคุ้มครองค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 275151เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2009 15:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 13:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อนุโมทนาขอรับมีประโยชน์มากถ้าลงมือทำทำแล้วก็ทำ..

..ขอเสริมวิธีการทำความเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดใช่พรหมวิหารสี่หรือไม่ดังนี้ขอรับ

เมตตา..

-มีความเป็นไปโดยอาการที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลเป็นลักษณะ  

-มีการนำประโยชน์เกื้อกูลมาเป็นหน้าที่

-มีการจำกัดความอาฆาตเป็นผลปรากฏ

-มีการพิจารณาเห็นความดีที่น่าพอใจเป็นเหตุใกล้

กรุณา..

-มีความเป็นไปโดยอาการขจัดทุกข์คนอื่นเป็นลักษณะ

-มีความทนไม่ได้ต่อทุกข์คนอื่นเป็นหน้าที่

-มีความไม่เบียดเบียนเป็นผลปรากฎ

-มีการได้เห็นสัตว์ที่ถูกครอบงำว่าเป็นสัตว์ไม่มีที่พึ่งเป็นเหตุใกล้

มุทิตา..

-มีความยินดีเป็นลักษณะ

-มีความไม่ริษยาเป็นหน้าที่

-มีการกำจัดความไม่ยินดีเป็นผลปรากฎ

-มีการได้เห็นความถึงพร้อมแห่งเหล่าสัตว์เป็นเหตุใกล้

อุเปกขา..

-มีความเป็นไปโดยอาการเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลายเป็นลักษณะ

 -มีอันเห็นความเป็นผู้เสมอในสัตว์ทั้งหลายเป็นหน้าที่

-มีอันระงับการยินดียินร้ายเป็นผลปรากฎ

-มีการเห็นความเป็นไปในเหล่าสัตว์ว่ามีกรรมเป็นของตน เหล่าสัตว์จักมีความสุขก็ดี จักพ้นทุกข์ก็ดี ฯลฯตามการกระทำของตนเป็นเหตุใกล้

 

ธรรมะสวัสดี..

ขอบคุณนะคะ

ที่ช่วยอธิบายเพิ่มเติมให้เพื่อนๆได้อ่านและเข้าใจมากขึ้น

อนุโมทนาบุญด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท