Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

Attraction Process กระบวนการสร้างแรงดึงดูด 1


“สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้” พุทธพจน์ จากพระไตรปิฎก

โลกของเรามีแรงดึงดูดมากมาย ซึ่งเป็นพลังงานที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่พวกเราสามารถรู้สึกและสัมผัสกับมันได้ โดยผ่านกระบวนการต่างๆ ทำให้ตัวเราเองสามารถสร้างแรงดึงดูดได้เหมือนกัน  เราทุกคนต่างต้องการสิ่งดีดีเข้ามาในชีวิต ต้องการความสุข สมหวัง สำเร็จ ในทุกเรื่อง เพราะรักสุข เกลียดทุกข์ จึงดิ้นรน แสวงหา  โชคดีของเราแล้วละค่ะ  ที่เราจะได้รู้ว่า  เราสามารถสร้างแรงดึงดูดดีๆเข้ามาในชีวิตของเราได้  ความสุข  สำเร็จ  รอเราอยู่ตรงหน้าแล้วค่ะ มาค่ะเรามาเรียนรู้กันว่า  เราจะสร้างแรงดึงดูดอย่างไร ให้มีแต่สิ่งดีดีเข้ามาในชีวิตเรา

            อย่างที่บอกไปแล้วนะคะในเรื่องของ “Law of Attraction” กฎแห่งการดึงดูด ที่จะดึงดูดสิ่งดีดีเข้ามาในชีวิตเราhttp://gotoknow.org/blog/dhammasecret/274676  เราพบว่า ในทางพระพุทธศาสนาก็คือ กฎแห่งกรรม หรือกฎแห่งการกระทำ นั่นเอง ดังนั้น เพื่อความเข้าใจในกระบวนการสร้างแรงดึงดูด  เราจะมาทำความเข้าใจ ในเรื่องของ กรรมและกฎแห่งกรรมก่อนนะคะ

กรรม (ภาษาสันสกฤต : กรฺม, ภาษาบาลี : กมฺม) แปลว่า "การกระทำ" ได้แก่ กระทำทางกาย เรียก กายกรรม ทางวาจา เรียก วจีกรรม และทางใจ เรียก มโนกรรม

กรรม แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1.      กรรมดี เรียกว่า กุศลกรรม หรือ บุญกรรม

2.      กรรมชั่ว เรียกว่า อกุศลกรรม หรือ บาปกรรม

กรรม  เป็นการกระทำ, การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา ทางกายก็ตาม ทางวาจาก็ตาม ทางใจก็ตาม

อกุศลกรรม เป็นกรรมที่เป็นอกุศล, กรรมชั่ว, การกระทำที่ไม่ดี ไม่ฉลาด ไม่เกิดจากปัญญา ทำใหเสื่อมเสียคุณภาพชีวิต หมายถึง การกระทำที่เกิดจากอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ หรือโมหะ

กุศลกรรม เป็นกรรมที่เป็นกุศล, กรรมดี, การกระทำที่ดี ฉลาด เกิดจากปัญญา ส่งเสริมคุณภาพของชีวิตจิตใจ หมายถึง การกระทำที่เกิดจากกุศลมูล คืออโลภะ อโทสะ หรืออโมหะ การจำแนกประเภทของกรรม

กรรมดี หรือ กรรมชั่วก็ตาม กระทำทางกาย วาจา หรือทางใจก็ตาม สามารถจำแนกอีก เป็นประเภทต่าง ๆ ได้หลายแบบ ดังนี้

1.      กรรมจำแนกตามเวลาการให้ผลของกรรม (ปากกาลจตุกะ) 4 อย่าง

2.      กรรมจำแนกตามหน้าที่ของกรรม (กิจจตุกะ) 4 อย่าง

3.      กรรมจำแนกตามลำดับการให้ผลของกรรม (ปากทานปริยายจตุกะ) 4 อย่าง

4.      กรรมจำแนกตามฐานที่ให้เกิดผลของกรรม (ปากฐานจตุกะ) 4 อย่าง

จำแนกตามเวลาการให้ผลของกรรม (ปากกาลจตุกะ)

การกระทำทางกาย วาจา ใจ ทั้งที่เป็นฝ่ายดีหรือไม่ดีก็ตาม ย่อมตอบสนองแก่ผู้กระทำ ไม่เร็วก็ช้า เวลาใดเวลาหนึ่ง  แสดงกำหนดเวลา แห่งการให้ผลของกรรม มี 4 อย่าง คือ

1.      ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม หมายถึง กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน คือในภพนี้

2.      อุปปัชชเวทนียกรรม หมายถึง กรรมที่ให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือในภพหน้า

3.      อปราปริเวทนียกรรม หมายถึง กรรมที่ให้ผลในภพต่อๆไป

4.      อโหสิกรรม หมายถึง กรรมเลิกให้ผล ไม่มีผลอีก

จำแนกตามหน้าที่ของกรรม (กิจจตุกะ)

กรรมมีหน้าที่ ที่จะต้องกระทำ 4 อย่าง คือ

1.      ชนกกรรม หมายถึง กรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด กรรมแต่งให้เกิด

2.      อุปัตถัมภกกรรม หมายถึง กรรมสนับสนุน กรรมที่ช่วยสนับสนุนหรือซ้ำเติม ต่อจากชนกกรรม

3.   อุปปีฬิกกรรม หมายถึง กรรมบีบคั้น กรรมที่มาให้ผล บีบคั้นผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมนั้น ให้แปรเปลี่ยนทุเลาลงไป บั่นทอนวิบากมิให้เป็นไปได้นาน

4.   อุปฆาตกกรรม หมายถึง กรรมตัดรอน กรรมที่แรงฝ่ายตรงข้ามกับชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรม เข้าตัดรอนการให้ผลของกรรมทั้งสองอย่างนั้น ให้ขาดไปเสียทีเดียว

จำแนกลำดับการให้ผลของกรรม (ปากทานปริยายจตุกะ)

จำแนกตามความยักเยื้อง หรือ ลำดับความแรงในการให้ผล 4 อย่าง

1.      ครุกกรรม (หนังสือพุทธธรรมสะกดครุกกรรม หนังสือกรรมทีปนีสะกดครุกรรม) หมายถึง กรรมหนัก ให้ผลก่อน เช่น ฌานสมาบัติ 8 หรือ อนันตริยกรรม

2.      พหุลกรรม หรือ อาจิณกรรม หมายถึง กรรมที่ทำมาก หรือ ทำจนเคยชิน ให้ผลรองจากครุกรรม

3.      อาสันนกรรม หมายถึง กรรมจวนเจียน หรือ กรรมใกล้ตาย คือกรรมที่ทำเมื่อจวนจะตาย จับใจอยู่ใหม่ๆ ถ้าไม่มีสองข้อก่อน ก็จะให้ผลก่อนอื่น

4.   กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม หมายถึง กรรมสักแต่ว่าทำ กรรมที่ทำไว้ด้วยเจตนาอันอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้นโดยตรง ต่อเมื่อไม่มีกรรมอันอื่นให้ผลแล้ว กรรมนี้จึงจะให้ผล

จำแนกตามฐานที่ให้เกิดผลของกรรม (ปากฐานจตุกะ)

แสดงที่ตั้งแห่งผลของกรรมสี่อย่าง เป็นการแสดงกรรมโดยอภิธรรมนัย (ข้ออื่นๆข้างต้นเป็นการแสดงกรรมโดยสุตตันตนัย)

1.      อกุศลกรรม

2.      กามาวจรกุศลกรรม

3.      รูปาวจรกุศลกรรม

4.      อรูปาวจรกุศลกรรม

นอกจากความรู้ในเรื่องของกรรมดีกรรมชั่วแล้ว ยังมีการอธิบายกรรมในอีกนัยหนึ่ง ซึ่งอธิบายถึงกรรมดำกรรมขาว จำแนกเป็นกรรม 4 ประการ คือ

กรรมดำ กรรมขาว

1. กรรมดำมีวิบากดำ ได้แก่ บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมปรุงแต่งกาย วาจา ใจ อันมีความเบียดเบียนบุคคลอื่น ย่อมได้เสวยเวทนาที่มีความเบียดเบียน เป็นทุกข์โดยส่วนเดียว เช่น เป็นผู้ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ มีจิตประทุษร้ายต่อพระตถาคต ยังพระโลหิตให้ห้อขึ้น ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ ดื่มน้ำเมา

2. กรรมขาวมีวิบากขาว ได้แก่ บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมปรุงแต่งกาย วาจา ใจ อันมีไม่ความเบียดเบียนบุคคลอื่น ย่อมได้เสวยเวทนาที่ไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุขโดยส่วนเดียว เช่น เป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์ จากการประพฤติผิดในกาม จากการพูดเท็จ จากการพูดส่อเสียด จากการพูดคำหยาบ จากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่มากไปด้วยความเพ่งเล็งอยากได้ มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบ

3. กรรมทั้งดำทั้งขาวมีวิบากทั้งดำทั้งขาว ได้แก่ บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมปรุงแต่งกาย วาจา ใจ อันมีความเบียดเบียนบุคคลอื่นบ้าง ไม่ความเบียดเบียนบุคคลอื่นบ้าง ย่อมได้เสวยเวทนาที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่ความเบียดเบียนบ้าง มีทั้งสุขและทั้งทุกข์ระคนกัน

4. กรรมไม่ดำไม่ขาวมีวิบากไม่ดำไม่ขาว ได้แก่ เจตนาใดเพื่อละกรรมดำอันมีวิบากดำ เจตนาใดเพื่อละกรรมขาวอันมีวิบากขาว และเจตนาใดเพื่อละกรรมทั้งดำทั้งขาวมีวิบากทั้งดำทั้งขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม เช่น ผู้ปฏิบัติตามมรรคมีองค์แปด โพชฌงค์เจ็ด

กฎแห่งกรรม คือ กฎธรรมชาติ ข้อหนึ่ง ที่ว่าด้วยการกระทำ และผลแห่งการกระทำ ซึ่ง การกระทำและ ผลแห่งการกระทำนั้น ย่อมสมเหตุ สมผลกัน เช่น ทำดี ย่อมได้รับผลดี ทำชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว เป็นต้น

กรรมใดใครก่อ ตนเองเท่านั้นที่จะได้รับผลของสิ่งที่กระทำ

กรรมในปัจจุบันเป็นผลมาจากการกระทำในอดีต

และกรรมที่ก่อไว้ในปัจจุบันเป็นเหตุที่จะส่งผลสืบเนื่องต่อไปยังอนาคต

กรรมดี-กรรมชั่ว ลบล้างซึ่งกันและกันไม่ได้

ถึงแม้ว่าการทำกรรมดีจะลบล้างกรรมชั่วเก่าที่มีอยู่เดิมไม่ได้ แต่มีส่วนช่วยให้ผลจากกรรมชั่วที่มีอยู่เดิมผ่อนลง คือ การผ่อนหนักให้เป็นเบา (ข้อนี้ อุปมาได้กับ การที่เรามีน้ำขุ่นข้นอยู่แก้วหนึ่ง หากเติมน้ำบริสุทธิ์ลงไปแล้ว มิสามารถทำให้น้ำขุ่นกลับบริสุทธิ์ได้ แต่ทำให้น้ำขุ่นข้นนั้นกลับเจือจางลงและใสยิ่งขึ้นกว่าเดิม)

 

การให้ผลของกรรม

การให้ผลของกรรมมีสองชั้น คือ การให้ผลของกรรมชั้นธรรมดาอย่างหนึ่ง และการให้ผลของกรรมในชั้นศีลธรรมอีกอย่างหนึ่ง การให้ผลของกรรมชั้นธรรมดา เป็นการให้ผลโดยไม่คำนึงถึงว่าถูกหลังความชอบธรรมหรือไม่ เช่นนาย A โกงเงินหลวง หรือขโมยทรัพย์มา นาย A ก็จะได้เงินนั้นมา และถ้านาย A ใช้เงินซื้อบ้าน นาย A ก็จะได้อยู่บ้านนั้น นี่เป็นการให้ผลของกรรมชั้นธรรมดา แต่การให้ผลของกรรมหาได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้นไม่ กรรมที่ทำลงไปยังจะให้ผลในชั้นศีลธรรมอีก คือ ถ้าทำดีจะต้องได้รับผลดีอย่างแน่นอน และถ้าทำชั่วก็จะต้องได้รับผลชั่วอย่างหลีกไม่พ้น

กรรมบางอย่างอาจจะให้ผลในชาตินี้ เรียกว่า ทิฎฐธรรมเวทนียกรรม กรรมบางอย่างอาจจะให้ผลในชาติหน้า ที่เรียกว่า อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมบางอย่างอาจจะให้ผลในชาติต่อๆ ไป ที่เรียกว่า อปราปรเวทนียกรรม

การปลูกพืชหรือต้นไม้ ไม่ใช่พอวางเมล็ดลงไปในดิน พืชหรือต้นไม้จะขึ้นและให้ผลทันที พืชบางอย่างก็ให้ผลเร็ว พืชบางอย่างก็ให้ผลช้าเป็นปีๆ เช่น ข้าว เพียง ๔ - ๕ เดือนก็ให้ผล แต่ต้นมะม่วง กว่าจะให้ผลก็ใช้เวลาถึง ๕ ปี

ตาทิสํ วปเต พีชํ : บุคคลเมื่อหว่านพืชเช่นไร

ยาทิสํ ลพเต พลํ : ก็ย่อมได้รับผลเช่นนั้น

กลฺยาณการี กลฺยานํ : เมื่อทำดี ย่อมได้ดี (ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้ผลดี)

ปาปการี จ ปาปกํ : ทำชั่ว ย่อมได้ชั่ว(ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว)

~~~ขุทฺทกนิกาย ธมฺมปทกถาย~~~ 

การที่เราเห็นคนทำความชั่วยังได้ดีมีสุขอยู่ เพราะกรรมชั่วยังไม่ให้ผลค่ะ กรรมดีที่เขาเคยทำยังเป็น อุปัตถัมภกกรรม คอยสนับสนุนอยู่ เมื่อใดที่กรรมดีอ่อนกำลังลง กรรมชั่วก็จะมาเป็น อุปฆาตกรรม ทำให้ผู้นั้นต้องเปลี่ยนชีวิตอย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น เศรษฐีอาจจะต้องเป็นยาจก เคยเป็นผู้ยิ่งใหญ่มีอำนาจวาสนา อาจจะถูกฟ้องร้องต้องโทษจำคุก หรือต้องเที่ยวหลบหนีเร่ร่อนไม่มีแผ่นดินจะอยู่ คนที่ไม่เชื่อเรื่องของกรรม มักจะมองเห็นผลของกรรมชั้นธรรมดาเท่านั้น จึงเป็นผู้มีสายตามืดมัว มองไม่เห็นการให้ผลของกรรมชั้นศีลธรรม บุคคลเหล่านี้มักจะเป็นคนไม่เชื่อในเรื่องตายแล้วเกิด คิดว่าคนเราเกิดมาเพียงชาตินี้ชาติเดียว ก็สิ้นสุดลง คนพวกนี้เมื่อทำความชั่วและความชั่วยังไม่ให้ผลก็คิดว่าตนเป็นคนฉลาด ดูถูกพวกที่เชื่อเรื่องกรรมว่าเป็นคนโง่ งมงาย คนพวกนี้เหมือนคนที่กินขนมเจือยาพิษ ตราบใดที่ยาพิษยังไม่ให้ผลก็คิดว่าขนมนั้นเอร็ดอร่อย ดีที่สุด สมตามพุทธภาษิตที่ว่า

 มธุวา มญฺญติ พาโล ยาว ปาปํ น มุจฺจติ

คนโง่ย่อมจะเห็นบาปเป็นน้ำผึ้ง ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล

เป็นไงค่ะเพื่อนๆ  พอจะเข้าใจกระบวนการสร้างแรงดึงดูดหรือกระบวนการสร้างกรรมบ้างไหมค่ะบทต่อไปเราจะมาลงลึกในรายละเอียดกันต่อไปอีกค่ะ  ถึงวิธีการสร้างแรงดึงดูดที่ดี ที่จะทำให้เรามีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิต (อิ อิ) และแล้วความลับ  ก็จะไม่เป็นความลับอีกต่อไปแล้วค่ะ 555

ขอบคุณทุกท่านที่อ่าน  ขอให้เจริญในธรรมนะคะ

บุญรักษา  ธรรมคุ้มครองค่ะ

Attraction Process กระบวนการสร้างแรงดึงดูด 2

http://gotoknow.org/blog/dhammasecret/275151

หมายเลขบันทึก: 275019เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2009 12:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท