โครงการ การถอดบทเรียนการจัดการเรียนการสอนในคลินิกและการผลิตหนังสือรวมบทความภายใต้แนวคิด “ทันตแพทยศาสตร์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์” (มช.)


ทันตแพทย์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์, การถอดบทเรียน

ระบบบริการสุขภาพที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ (Humanized Health Care) เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในวงการสาธารณสุข แต่สำหรับวงการทันตแพทย์แล้วการนำแนวคิดนี้มาใช้ในการให้บริการผู้ป่วยยังไม่ชัดเจนนัก

ปีการศึกษา 2552 ที่ผ่านมา ภาควิชาทันตกรรมชุมชน คณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ริเริ่มนำแนวคิดนี้มาประยุกตฺใช้ในการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาทันตแพทย์ชั้นปีที่ 5 ในการฝึกปฏิบัติงานคลินิกทันตกรรมป้องกัน ซึ่งนักศึกษาทันตแพทย์ทุกคนจะได้รับมอบคนไข้เพื่อดำเนินการทางทันตกรรมป้องกัน โดยนักศึกษาทันตแพทย์จะมีเวลาพบปะคนไข้จำนวน 4 ครั้ง โดยในกระบวนการฝึกปฏิบัติงานจะมีการสอดแทรกแนวคิด Humanized Health Care เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ถึงการบริการแก่คนไข้โดยคำนึงถึงมิติของความเป็นมนุษย์ให้เน้นถึงการให้ความเอาใจใส่และทำความรู้จัก คนที่นักศึกษาต้องมีปฏิสัมพันธ์และมีหน้าที่ให้บริการให้มีน้ำหนักมากกว่าหรือเท่ากับความรู้” “ไข้ หรือ โรค ที่คนผู้นั้นเป็นอยู่  และหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการนี้ ภาควิชาเห็นว่ามีบทความที่นักศึกษาถ่ายทอดผ่านประสบการณ์ที่เกิดจากการเรียนรู้นั้นมีความน่าสนใจและจะสามารถนำไปสู่แนวทางที่เป็นรูปธรรมในการปฏิบัติตามแนวคิด Humanized Health Care ในงานทันตกรรมให้เกิดความชัดเจนได้ ภาควิชาจึงมีแนวคิดที่จะจัดพิมพ์เผยแพร่เพื่อให้นิสิตนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากร ทางทันตกรรมได้เรียนรู้ด้วย  ซึ่งคาดว่ากระบวนการคัดเลือกบทความ ปรับปรุงเนื้อหา จัดพิมพ์และเผยแพร่ไปยังแต่ละคณะ น่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนกันยายน 2552 ซึ่งจะทำให้เกิดสื่อที่ช่วยสื่อสารความเข้าใจในโรงเรียนทันตแพทย์ในการนำแนวคิด Humanized Health Care ไปใช้ในงานทันตกรรมให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป

หมายเลขบันทึก: 275006เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2009 12:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มาชื่นชมครับ สอน และ บริการ ด้วย หัวใจ ความเป็น มนุษย์ ได้บุญ ครับ

แผนงานโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุข

สรุปความคิดเห็นต่อโครงการ

1. หลักการและเหตุผลโครงการ (สอดคล้องกับกรอบประเด็นหลัก น่าสนใจ เป็นประโยชน์ เป็นไปได้ ฯลฯ)

เหมาะสม

2. วัตถุประสงค์ของโครงการ (เป็นไปได้ วัดได้ สอดคล้องกับหลักการและเหตุผล)

เหมาะสม

3. ตัวชี้วัดและวิธีการประเมิน

(สมเหตุสมผล ตรงประเด็น เป็นไปได้)

เหมาะสม

4. วิธีการดำเนินโครงการ (เน้น participation, empowerment)

โปรดปรับปรุง

4.1 น่าจะมีการบันทึกกระบวนการทำงานในขั้นตอนการคัดเลือกบทความและขั้นตอนการพัฒนาบทความร่วมกันระหว่างนักศึกษากับอาจารย์ โดยอาจมอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบหรือทีมงานในการบันทึกตลอดโครงการ และจ่ายค่าตอบแทนตามเกณฑ์ของ

ทพ.สส.

5. วิธีการสังเคราะห์องค์ความรู้ (ใช้วิจัย KM ประชุม ฯลฯ)

โปรดปรับปรุง

5.1 ให้นำบันทึกจาก 4.1 เขียนไว้ใน blog ของแผนงานฯ (gotoknow.org/blog/ismile) เพื่อเกิดประโยชน์ในการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม (รวมถึงอาจนำบทความบางตอน post ไว้เป็นตัวอย่าง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องกับวิชาทันตกรรมป้องกันจากคณะอื่นๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนก่อนสักระยะหนึ่ง ก่อนนำไปรวบรวมจัดทำหนังสือที่สมบูรณ์)

6. งบประมาณ (ประหยัด สมเหตุสมผล มีประสิทธิภาพ ฯลฯ)

เหมาะสม

เลยเวลาสิ้นสุดโครงการไปแล้วครับ,งานยังไม่เสร็จดี แต่ก็ใกล้เต็มที

เอาบทความที่เสร็จแล้วมาแบ่งกันอ่านก่อนครับ

ฟันผุ สิว และความสุขของฝ้าย

นทพ.เมทินี ใจเที่ยง

ระหว่างฟันผุ กับ สิวขึ้น อะไรเป็นปัญหาสำคัญมากกว่ากัน?

หากถามนักศึกษาทันตแพทย์ คำถามนี้คงตอบได้ไม่ยาก เพราะส่วนมากก็คงจะตอบว่าฟันผุ แต่ในสายตาคนทั่วไป ฟันผุสำคัญอย่างนั้นเชียวหรือ?

แม้ว่าฉันเพิ่งได้ยินเรื่อง humanized health care เมื่อไม่นานมานี้ และหลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องใหม่ แต่ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์ เคยกล่าวเอาไว้ว่า “ฉันไม่อยากให้เธอเป็นหมอแต่อย่างเดียว แต่อยากให้เธอเป็นคนด้วย” คำพูดนี้นอกจากจะสะท้อนให้เห็นว่าทรงเป็นแพทย์ที่ห่วงใยคนไข้แล้ว ยังทรงห่วงแพทย์รุ่นใหม่ว่าจะหลงลืมสิ่งสำคัญที่สุดไป คือการยังอยู่ในฐานะมนุษย์แม้จะมีหัวโขนและหน้าที่รับผิดชอบชีวิตผู้อื่นอยู่ก็ตาม คำพูดประโยคสั้น ๆ นี้กระมังที่พอจะอธิบายความหมายของ humanized health care ได้โดยไม่ยืดยาวเกินไปนัก และพอจะเป็นแรงบันดาลใจให้ฉันตรึกตรองถึงคำนี้อีกครั้ง

นึกย้อนกลับไปยามฉันยังเยาว์ ฉันมีความฝันที่คงจะเป็นฝันร่วมกับเด็กอีกหลายๆคน คือฝันอยากเป็นหมอเพื่อช่วยเหลือผู้คน เมื่อเติบใหญ่ฝันนั้นไม่เคยเปลี่ยน แม้จะเบนเข็มมาเรียนทันตแพทย์เพราะเห็นว่าเหมาะกับตัวเองมากกว่า ก็ยังคงคิดว่าจะได้ช่วยคนอื่นเท่าที่ช่วยได้ อุดมการณ์ในขณะนั้นแรงกล้าจนไม่คิดว่าจะมีอะไรสามารถเปลี่ยนแปลงมันได้ ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป แปลกแต่จริงที่เมื่อยามสวมถุงมือกับเสื้อกาวน์ขาว ๆ ดูสะอาดตานั้น ความเป็นคนมันกลับลดลงไปอย่างน่าประหลาดใจ จนดูราวกับว่าการเรียนรู้ในคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งนี้นอกจากฉันจะเรียนรู้ที่จะเป็นหมอแล้ว บางครั้งฉันยังรู้สึกว่าจะต้องเลือกว่าจะเป็นหมอหรือเป็นคนอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นด้วย

ยังจำได้…เมื่อครั้งที่ฉันได้มีคนไข้เป็นของตัวเองครั้งแรกนั้นรู้สึกว่าหัวใจพองโตและคนไข้ของฉันช่างสำคัญเหนืออื่นใด แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปก็ชักจะจำคนไข้ไม่ได้เสียแล้ว เคยมีคนตัดพ้อกับฉันว่า “ผมจำหมอฟันของผมได้นะ แต่คุณหมอไม่เคยจำผมได้เลย” หรือไม่ก็บ่นว่า “ได้คุยกับหมอฟันน้อยมาก ดูเหมือนเวลาเป็นเงินเป็นทองไปหมด” ฉันเองก็เคยเป็นคนไข้จัดฟันของคุณหมอท่านหนึ่งเหมือนกัน ความเก่งของหมอนั้นฉันไม่สงสัยเลย แต่แม้จะพบคุณหมอเป็นประจำตลอดสามปี ฉันก็รู้จักได้เพียงแต่ชื่อของหมอและรู้ว่าหมอเรียนจบจากต่างประเทศเท่านั้น

เมื่อเวลาผ่านไป… ฉันเองก็ยอมรับว่าไม่สามารถจดจำคนไข้ทุกคนได้เช่นกัน บ่อยครั้งก็ถามคำถามที่เคยถามไปแล้วซ้ำ ๆ อาจเป็นเพราะทำงานด้วยความตั้งใจ มุ่งมองที่งานจนลืมด้านอื่นๆของชีวิตไปหมด บางครั้งคิดว่าน่าจะใช้หัวใจทำงานมากกว่านี้ แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไรหากเราใช้ความรู้สึกมากจนเลยขีดคั่นความพอดี หรือการใช้ความรู้สึกในการทำงานนั้นดีจริงหรือไม่ ไม่ใช่ความรู้สึกหรอกหรือที่สร้างความลำบาก ทุกข์ใจ ความเศร้าสลด และงานที่ไม่สำเร็จ… การจะเป็นหมอที่ดีนั้นยากจริง ๆ ....

การฝึกปฏิบัติงานในคลินิกทันตกรรมป้องกันมอบประสบการณ์ชีวิตด้านใหม่ให้แก่ฉัน คือการบอกว่าให้ลองเป็นหมอที่ไม่ต้องสวมถุงมือหรือเสื้อกาวน์ขาวตัวยาว มีให้แต่คนไข้ เก้าอี้ธรรมดา และเวลาอันดูยาวนานในสายตาของฉัน ขอสารภาพตามตรงว่าเมื่อต้องพูดคุยแต่เพียงอย่างเดียวนั้น ฉันกลับไม่กล้าเรียกตัวเองว่าหมอ เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า และเสียความมั่นใจ คงเพราะอีโก้ที่เคยมีถูกสั่นคลอนด้วยสายตาคาดหวังจากคนไข้และภาระที่ถูกมอบหมายจากอาจารย์คือ “การเข้าใจคนอื่น…” (เจอแบบนี้เป็นใครก็เสียเซลฟ์กันทั้งนั้น) แต่การเข้าใจคนอื่นช่างเป็นงานที่ท้าทายและฉันก็คิดว่าได้พยายามทำอย่างเต็มที่แล้วเช่นกัน

คนไข้ของฉันเป็นเด็กนักเรียนชั้นม.1 ชื่อว่าน้องฝ้าย ฝ้ายเล่าให้ฉันฟังว่าครูได้พยายามคัดกรองเด็กที่มีฟันผุมาก ๆ เพื่อมาเข้ารับบริการที่คลินิกทันตกรรมป้องกัน ตามการประสานงานระหว่างโรงเรียนและคณะทันตแพทยศาสตร์ เด็กธรรมดา ๆ คนหนึ่งจึงกลายเป็นคนที่ถูกครูตราหน้าว่าเป็นตัวอันตรายทั้งที่เจ้าตัวไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วยและไม่มีความต้องการจะรักษาอะไรเลย เมื่อแรกพูดคุยกับน้องฝ้ายนั้น ฉันรู้สึกว่าน้องฝ้ายเป็นเพียงเด็กธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่เรื่องฟันยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่ควรให้ความสำคัญ คงมีแต่เพียงทันตแพทย์เท่านั้นที่รี่ไปชี้ว่า “หนูมีปัญหาเสียแล้ว”

ฉันยังจำได้ตอนที่อยู่ ม.1 ฉันคิดไปว่าสำหรับวัยนั้นฟันผุคงไม่สำคัญไปกว่าสิวขึ้น และเราจะว่าอย่างไร หากมีคนมาบอกว่าเรามีสิวมากติดอันดับเจ็ดของห้อง เราจะรู้สึกว่าคนนั้นมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะมานับสิวของเราและสอนวิธีทำความสะอาดใบหน้าพร้อมเคล็ดลับกำจัดสิวหรือไม่ และเราจะว่าอย่างไรหากวิธีนั้นทั้งหมดก็ไม่อาจรักษาสิวของเราได้ ทำได้เพียงป้องกัน และหากเรามีสิวเม็ดใหม่ขึ้นมา เราจะต้องโทษตัวเองว่าเราไม่ได้ดูแลตัวเองเท่าที่ควรอย่างนั้นหรือ

ความจริงก็คือฝ้ายฟันผุเพราะฝ้ายยังมีชีวิตและฝ้ายต้องใช้ชีวิต ความจริงก็คือฝ้ายมีฟันผุเพราะเธอชอบกินอาหารที่เด็กคนไหน ๆ ในโลกก็ชอบ ความจริงก็คือฝ้ายหาความสุขระหว่างรอรถนักเรียนมารับด้วยการกินและเล่น ความจริงก็คือร้านอาหารแถวนั้นไม่ได้ขายอาหารชีวจิต ความจริงก็คือที่บ้านของฝ้ายเป็นร้านขายขนมที่ยั่วยวนใจยามหิว ความจริงก็คือแม่ของฝ้ายทำงานหาเงินคนเดียวและไม่มีเวลาดูแลให้ฝ้ายแปรงฟันก่อนนอน ความจริงก็คือ…ฯลฯ

แล้วฉันจะกล้าว่าอย่างไรได้ นอกจากยอมรับและเข้าใจ แม้ไม่อาจเข้าไปนั่งในหัวใจคนอื่นได้จริงๆ แต่ในฐานะที่เคยเป็นเด็ก ฉันรู้ว่าการที่ครูหรือใครก็ตามมาคัดเลือกเราให้อยู่ในกลุ่มของคนที่มีปัญหานั้น สามารถสร้างบาดแผลในหัวใจดวงเล็ก ๆ ได้ สำหรับเด็กที่กำลังย่างเข้าสู่วัยรุ่น แค่การประคับประคองชีวิตให้อยู่ได้ในสังคมปัจจุบันก็ยากยิ่งพออยู่แล้ว ฟันผุและเหงือกอักเสบคงไม่ทำให้ถึงกับตาย และไม่ทำให้โศกเศร้าเสียใจได้เท่ากับ สิวขึ้น แฟนทิ้ง รักเขาข้างเดียว ทะเลาะกับเพื่อน หรือการไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วตัวเองเป็นใคร

ฉันจึงไม่พยายามทำให้ฝ้ายมองเห็นปัญหาใหญ่กว่าที่มันเป็นจริง ๆ ฉันจึงไม่ยัดเยียดให้ฝ้ายสักแต่คิดเรื่องฟัน และรู้สึกผิดไปมากกว่าที่ควรจะเป็น ฉันพยายามบอกฝ้ายว่าพี่เข้าใจ แม้มันจะเป็นเพียงแค่ลมปาก แต่ฉันก็อยากให้ฝ้ายรับรู้ว่าตราบใดที่พี่ไม่ได้สวมเสื้อกาวน์ มันก็ไม่เป็นปัญหาเลยจริงๆ

สิ่งหนึ่งที่ฉันค้นพบจากการพยายามเรียนรู้ในการทำงานทันตกรรมป้องกันก็คือ จากตอนแรกที่ไม่กล้าเรียกตัวเองว่าหมอเมื่อไร้เครื่องมือ แต่เมื่อได้นั่งลงคุยกับคนไข้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อเรียนรู้ชีวิตคนอื่นอย่างเปิดใจแล้ว ภายหลังจึงเห็นถึงความงาม และพบว่าไม่อาจจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นหมอจริงๆไปได้มากกว่านี้แล้ว

หาก humanized health care ถือการเข้าใจคนอื่นเป็นสำคัญแล้ว แม้ฉันไม่อาจพูดแทนใจใครได้ แต่การพยายามเข้าใจและมีหัวใจของการอยากจะเข้าใจคนไข้นั้นสำคัญ ทันตแพทย์ควรเห็นคุณค่าชีวิตมนุษย์ ไม่เพียงแต่เพราะคุณค่านั้นเกิดจากการที่คนคนนั้นคิดเหมือนกับเรา ดำเนินชีวิตตามมาตรฐานของเรา แต่เคารพความงามของความแตกต่างด้วย สิ่งเหล่านี้ก็คงพอจะช่วยให้เราตอบตัวเองได้บ้างในวันที่เกิดคำถามยากๆ เช่นว่า วันนี้เราเป็นหมอที่ดีแล้วหรือยัง?

ในฐานะคริสเตียนฉันมีความเชื่ออย่างหนึ่งที่มั่นคงเสมอว่าพระเจ้าทรงสร้างจิตสำนึกในใจมนุษย์ทุกคน เราไม่จำเป็นต้องมีการศึกษาสูงเราก็รู้ว่าควรทำดีกับคนรอบข้างอย่างไรและการกระทำใดที่ใจเราจะฟ้องว่าผิด แต่หากเราเลือกที่จะละเลย นานวันเข้าเมื่อเราทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก เราก็จะไม่รู้สึกผิดอีกต่อไปและมีใจหยาบกระด้าง เรื่องนี้ก็คงเหมือนกับการที่เราเลือกจะมองข้ามความเป็นคนและเรื่องอื่นๆในชีวิตของคนไข้เพื่อให้การทำงานของเรานั้นง่าย วันหนึ่งเราจะชินและไม่รู้สึกผิดกับสิ่งที่เราไม่ใส่ใจ ในที่สุดเราจะคิดว่า humanized health care เป็นอุดมคติมากเกินไป ขณะเดียวกันเมื่อใจเราแข็งกระด้าง ความเป็นหมอที่เราเคยภาคภูมิใจ แท้จริงแล้วก็เหลือเพียงอาชีพที่หาเลี้ยงตัวเองแขนงหนึ่งเท่านั้น…

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท