การจัดการความรู้ในฐานะเครื่องมือเพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์ ตอน 7


การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (11)

ปัจจัยที่เอื้อ และส่งเสริมการจัดการความรู้ (Enabler Factors)

          ในการดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมการจัดการความรู้ให้ประสบผลสำเร็จนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยปัจจัยที่ เอื้อ และส่งเสริม (Enablers) เพื่อผลักดัน และสนับสนุนให้การดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมการจัดการความรู้ประสบผลสำเร็จ ซึ่งจากการศึกษาแนวคิด และรูปแบบการจัดการความรู้ที่ผ่านมา ทำให้เราทราบว่าปัจจัยที่เอื้อ และส่งเสริมให้การจัดการความรู้ในองค์กรประสบความสำเร็จจะต้องประกอบด้วย

1.      ภาวะผู้นำ (Leadership) ผู้นำถือเป็นปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของการจัดการความรู้ในองค์กรเป็นอย่างมาก เพราะผู้นำจะเป็นผู้สนับสนุน และส่งเสริมให้การจัดการความรู้ประสบความสำเร็จได้อย่างราบรื่น นอกจากนี้ผู้นำจะเป็นผู้กำหนดทิศทาง ค่านิยมร่วม และเป็นแบบอย่างที่ดี (Role model) อันจะนำไปสู่ความมุ่งมั่นร่วมกัน และทำให้การจัดการความรู้ในองค์กรประสบความสำเร็จในที่สุด  

2.    โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ซึ่งได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นเครื่องมือ และอุปกรณ์ต่างๆ สถานที่ รวมไปถึงโครงสร้างในการบริหารงาน และระบบงานภายในองค์กร

3.   วัฒนธรรม, พฤติกรรม และการสื่อสาร (Culture, Behavior and Communication) ในการจัดการความรู้ สิ่งที่มีความสำคัญ คือ การมีวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งมั่น และมีความเชื่อร่วมกัน ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งวัฒนธรรมร่วมนี้ จะทำให้เกิดพฤติกรรมที่ทุกคนในองค์กรแสดงออก และมีการสื่อสารเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเกิดขึ้น

4.  เทคโนโลยี (Technology) โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบเครือข่าย ที่จะอำนวยความสะดวก และช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ง่ายขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีระบบฐานข้อมูล ที่จะช่วยให้องค์กรสามารถจัดเก็บ ค้นหา และนำองค์ความรู้ และสารสนเทศไปใช้ได้อย่างสะดวก และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

5.   รางวัลและการแสดงความชื่นชม (Reward and Recognition) การให้รางวัลและการแสดงความชื่นชมถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงจูงใจ ให้พนักงานในองค์กรเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการความรู้ และแสดงออกถึงพฤติกรรมอันพึงประสงค์ แต่ทั้งนี้ การให้รางวัลและการแสดงความชื่นชมนั้น สามารถนำมาเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ได้ในระยะสั้น ๆ เท่านั้น เพราะเราควรมุ่งสร้างให้เกิดวัฒนธรรมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากกว่า ซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีกับองค์กรในระยะยาว

6. การวัดผล (Measurement) เป็นการดำเนินการเพื่อให้องค์กรสามารถทราบสถานะในการดำเนินการ การจัดการความรู้ในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถทบทวน จัดการ และปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้น

          การใช้การจัดการความรู้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทุนมนุษย์ เป็นศิลปะของผู้บริหารอย่างหนึ่งที่ต้องนำมาใช้ หรือปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทของหน่วยงานตนเอง ตามรูปแบบ กระบวนการ และเครื่องมือต่างๆ พึงระลึกเสมอว่า การจัดการความรู้ เป็นกระบวนการมิใช่เป้าหมาย โดยทั่วไปแล้วจะมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ ที่มีการพัฒนาคนขององค์กรให้มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานตามพันธกิจที่ได้รับมอบหมาย ใช้ความรู้ ความสามารถ ทักษะ และประสบการณ์ อันเกิดจากความรู้ฝังลึกและความรู้ชัดแจ้งเชื่อมโยงส่งเสริมกัน เพื่อให้องค์กรบรรลุต่อวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้ บุคลากรมีสมรรถนะ มีกำลังใจ มีความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจในการปฏิบัติหน้าที่ การจัดการความรู้จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญ แต่ใช้แล้วประสบความสำเร็จกับหน่วยงานหนึ่ง มิได้หมายความว่าจะนำมาใช้ได้กับอีกหน่วยงานหนึ่ง แล้วจะประสบความสำเร็จเสมอไป ต้องมีการปรับแต่งให้เหมาะสมกับบริบทขององค์กร จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่ต้องเฝ้าติดตาม สนับสนุน และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ใช้การจัดการความรู้ที่ถูกทาง ถูกที่ และถูกต้อง

การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (รวมบท)

การจัดการความรู้ในฐานะเครื่องมือเพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์

ตอน 1  ตอน 2  ตอน 3  ตอน 4  ตอน 5  ตอน 6  ตอน 7

การจัดการความรู้ 2 แนวทาง

หมายเลขบันทึก: 274914เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2009 08:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท