เข้าพรรษา “ทำนาที่หนองขอนดู่”


“…คั่นเจ้าได่ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพญา อย่าสิลืมซาวนาผู่ขี่ควยคอนกล้า...”

เข้าพรรษา “ทำนาที่หนองขอนดู่”

ขณะที่ผมนั่งเขียนบันทึกอยู่นี้ เป็นวันอาสาฬหบูชา ปี ๒๕๕๒ ก่อนวันเข้าพรรษา ๑ วัน และผมก็นั่งเขียนอยู่ที่ “เถียงนา” หรือ “กระท่อม” ที่เรารู้จัก ข้างหนองน้ำหลังบ้าน ที่ปู่ขุดไว้เมื่อกว่า ๔๐ ปีก่อน และเรียกชื่อหนองนี้ว่า “หนองขอนดู่” เพราะตอนขุดหนองนี้ใหม่ๆ ปู่ได้นำขอนไม้ประดู่ขนาดใหญ่มาวางไว้กลางหนอง เพื่อให้เป็นที่อยู่ของปลา ซึ่งขอนนี้ก็ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน แต่ก็ถูกกัดกร่อนไปมากทีเดียวตามกาลเวลา และขณะที่ผมเขียนบันทึกนี้ ผมก็คุยกับลุงและพ่อไปด้วย จึงได้ทราบย้อนหลังไปอีกว่า ขอนไม้ประดู่นี้ เป็นขอนไม้ที่เกิดและเติบโตขึ้นในที่นาข้างๆ หนองนี้นี่เอง แต่เกิดมาก็เห็นเป็นขอนแล้ว โดยที่ไม่ได้เห็นต้น เหลือเพียงตอที่พอถึงเวลาไถนาก็จะสะดุดอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นถ้าไล่เรียงอายุกันจริงๆ ก็เชื่อว่าไม้ประดู่ท่อนนี้มีอายุกว่า ๖๐ ปี ถ้ารวมกับอายุของไม้ก่อนที่จะถูกนำมาเป็นขอน ก็เชื่อได้ว่าขอนไม้ประดู่นี้มีอายุไม่น้อยกว่า ๑๕๐ ปีทีเดียว

    

นอกจากจะคุยกันเรื่องที่มาที่ไปของหนองน้ำหลังบ้านซึ่งจากเล็กจนโตผมก็ยังคงเห็นภาพแบบนี้ตลอด จะเปลี่ยนไปบ้างก็เพียงปริมาณน้ำที่ขึ้นอยู่กับดินฟ้า อากาศในแต่ละปีเท่านั้น ระหว่างการคุยกับพ่อและลุง ก็มีน้องๆ ที่เป็นลูกพี่ลูกน้อง และหลานๆ ตามมาสมทบกันที่ข้างหนองน้ำ เพื่อกินมื้อเที่ยงกันที่นี่ จึงเป็นโอกาสดีมากๆ ที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของหนองน้ำหลังบ้านตัวเอง พร้อมกับเรื่องอื่นๆ ที่ลุง ซึ่งปัจจุบันก็อายุ ๖๐ กว่าปีแล้ว ได้ถ่ายทอดให้ลูกๆ หลานๆ ฟัง เช่น เรื่องฝีปอบ เป็นต้น เด็กๆ ก็นั่งฟังและจินตนาการไปอย่างมีความสุข แต่ก็อาจจะมีข้อสงสัยอยู่บ้าง เพราะส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสเห็นหรือแม้แต่เคยได้ฟัง

 

สำหรับการทำนา หลายปีมานี้ ท้องทุ่งนาแถวนี้ส่วนใหญ่ได้ “ทำนาหว่าน”  กัน แต่ปีสองปีมานี้ พ่อกับแม่ พอจะมีเวลามากขึ้น จึงหันกลับมา “ทำนาดำ” เพราะได้ผลผลิตมากกว่า และที่สำคัญได้บรรยากาศของการทำนาแบบสมัยก่อน ที่แฝงไปด้วยปรัชญาของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน เพราะในขณะที่ทำก็จะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยน ถามสารทุกสุกดิบของแต่ละคน คละเคล้ากับการเล่นมุขบ้างเพื่อความสนุกสนาน ซึ่งปัจจุบันยากนักที่จะเจอเหตุการณ์แบบนี้ เพราะหลายๆ อย่างได้เปลี่ยนแปลงไป เช่น การนำ “รถไถ” มาใช้แทนควาย การว่าจ้างทำนาแทนการลงแขก เป็นต้น

  

สำหรับการหว่านแห ที่หนองน้ำแห่งนี้ พ่อ และลุงๆ น้าๆ ที่อยู่ที่บ้าน ยังคงมีการหว่านเป็นประจำ แต่ก็อีกครับ มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา จากการหาปลาเพื่อกินและแบ่งปันกัน ก็มีการขายออกไปบ้างในบางโอกาศ

ส่วนผม...เติบโตมากับท้องทุ่ง บรรยากาศกระท่อมปลายนาก็จริง แต่มาจนถึงวันนี้ผมกลับต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองมาเกือบครึ่งชีวิต และก็มีช่วงชีวิตแบบลูกชาวนาจริงๆ แบบผิวเผิน แต่สิ่งหนึ่งที่ผมจะยึดมั่นตลอดไป คือ ความภูมิใจและศรัทธาในความเป็นลูกชาวนาไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ครับ

  

วันนี้จึงเป็นอีกวันหนึ่งในชีวิตที่มีความรู้สึกดีดี ที่ได้มีโอกาสกลับบ้านในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา มาสัมผัสบรรยากาศท้องทุ่งนา และมีลุง อา พี่ๆ น้องๆ หลานๆ มาร่วมกันทำนา กินมื้อเที่ยงร่วมกัน ซึ่งก็หวังใจเพียงว่าเยาวชนคนรุ่นหลังเหล่านี้จะไม่ลืมบุญคุณของบรรพบุรุษที่เป็นชาวนา ที่สร้างให้เรามีวันนี้ แม้ว่าในอนาคตเด็กๆ เหล่านี้จะห่างหายการทำนาไปก็ตาม

“…คั่นเจ้าได่ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพญา

อย่าสิลืมซาวนาผู่ขี่ควยคอนกล้า...”

หมายเลขบันทึก: 274343เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2009 00:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

อ่านบทความแล้วทำให้สำนึกถึงต้นตระกูลเลยจริงๆ ว่าแต่บ้านเขวามันอยู่ส่วนไหนของสารคามค่ะ ตุลาคมนี้ว่าจะไปสารคามอยู่พอดี ดูจากรูปเข้าพรรษานี้น่าอยู่มากเลยค่ะ หวังว่าช่วงตุลาคมบรรยากาศคงไม่แตกต่างจากนี้สักเท่าไร

เห็นภาพถ่ายแล้วมีความสุขแทนคนบ้านเขวาจริงๆ

สวัสดีคะ

  • แวะมาชื่นชม โห! บรรยากาศน่าไปจังค่า
  • สนุกสนานจังเลย หุหุ

สวัสดีครับคุณกิตติพงศ์ ประวัติศาสตร์ชุมชนต้องชวนกันเล่าให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ ว่า นาบิ้งใหมู่บ้านนี้ใครเป็นคนขุด ดินก้อนแรกของถนนในหมู่บ้านใครเป็นคนทำ ตะปูตัวแรกที่ตอกทำศาลาใครเป็นคนต้คนตอก เหล่านี้คือที่มาของประวัติชุมชน ชอบใจประโยคนี้ครับ

"จึงเป็นโอกาสดีมากๆ ที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของหนองน้ำหลังบ้านตัวเอง พร้อมกับเรื่องอื่นๆ ที่ลุง ซึ่งปัจจุบันก็อายุ ๖๐ กว่าปีแล้ว ได้ถ่ายทอดให้ลูกๆ หลานๆ "

ภูมิปัญญาที่เรียนรู้ริมศาลาเวลาผู้เฒ่าเขามาคุยกัน เป็นความรู้ฝังลึกครับท่าน

สวัสดีและขอบคุณครับ

P  - บ้านหัน ตำบลเขวา อยู่เส้นทางระหว่างมหาสารคาม - ร้อยเอ็ด ครับ ห่างจากตัวเมืองไปประมาณ 8 กิโล สองฝั่งทางช่วงตุลานี้ ข้าวน่าจะกำลังเขียวชอุ่ม ทีเดียวครับ

P - เป็นความสนุกที่มีคุณค่าทีเดียวครับ สำหรับการนำเด็กๆ มาร่วมกิจกรรมนี้

P - เห็นด้วยอย่างยิ่งเลยครับ ประวัติศาสตร์ชุมชน เป็นภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อนๆ ที่ไม่ได้มีการบันทึก แต่ถ่ายทอดเป็นคำพูดจากคนรุ่นนั้น คุณค่าต่างๆ เหล่านี้ถ้าคนรุ่นหลังได้รับการถ่ายทอดจึงถือว่ามีค่ายิ่งครับ

ด้วยความเคารพรัก

อ่านแล้วคิดถึงบ้านตัวเองเลย...อยากกลับบ้าน..บ้านเราก็เปงแบบเนี่ย..พอถึงเวลาเกี่ยวเดี๋ยวให้เพื่อนช่วยกันนะแบบฟรีๆๆอิอิ

ขอบคุณครับคุณ manaschol ที่แวะเข้ามาเยี่ยม หวังว่ายังคงจำกลิ่นอายของท้องทุ่งบ้านเราได้นะครับ ถึงหน้าเกี่ยวอย่าลืมชวนหละ จะได้ร่วมด้วยช่วยกัน

ด้วยรัก

เป็นบรรยากาศที่สดชื่น รื่นรมย์มากๆ ค่ะ  

ได้คุยกับรุ่นพี่ทางร้อยเอ็ด เค้าก็เล่าว่าช่วงพรรษา ไปลงนานำ

แบบลงแขก กันเองในละแวกบ้าน ... มาเห็นภาพนี้แล้ว ชอบมากๆค่ะ

ขอบคุณภาพและเรื่องราวจรรโลงใจ ให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษา

...  คิดถึงเมื่อปีกลายได้กินข้าวเหนียว กับป่นกบ ที่เขียงนา แซบๆ

แค่คิด ก็น้ำลายสอแล้วค่ะ  มีความสุขอีหลี ทุกวี่วันเด้อค่า   

 

ขอบคุณครับ คุณ P poo 

  • ท้องทุ่งบ้านเรายังมีอะไรให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้อีกเยอะครับ
  •  ผมเองยังเสียดาย ที่ระบบการศึกษาบ้านเราทำให้เราห่างหายวิถีชีวิตแบบนี้ไป แต่ก็ไม่สายที่จะกลับไปเรียนรู้ ครับ
  • ว่าแต่...น่าอิจฉา ที่ได้กิน "ป่นกบ" ครับ ผมกลับรอบนี้ไม่ได้กินเลย แม่ทำแต่อาหารฝรั่งให้กิน เออ..คือ ซุปหมากเขือ นะครับ 555

ด้วยความเคารพรัก

 

55+หวัดดีคับพี่ชายผมไปไม่ทัน ซุปหมากเขือ อะคับ แต่ไปทันอาหารอิตาลี เออ..มันก็คือ แกงผักขี้เหล็ก อะคับรสชาดก็ขมๆอะคับแต่ก็โอเคคับกิกิ เสียดายกลับไปไม่ทันพอไปถืงพวกพี่กะหลานๆก็ดำนาสร็จละ?กิกิ

เป็นตาม่วนเนอะอาจารย์ เห็นแล้วคึดฮอดบ้าน

............กางเกงอาจารย์คือซิ่งแท้ครับ

น่าไปเที่ยวนะครับ ขอให้คุณแม่พาไปเที่ยวไม่ยอมให้ไปด้วยสักที วันปิยะคุณแม่หยุดหลายวัน โครตอยากไปมาก ๆ บ้านแม่เกิดที่นาดูนครับ แต่คุณแม่บอกว่ามาเรียนที่กทม. จบแล้วก็ทำงานที่ กทม. คุณแม่ผมชอบแอบกลับคนเดี่ยว ชอบกินแกงฮวกคับ คุณแม่ผมคนนาดูน 100 % ครับ ผมยังเหลือดมหาสารคามล้วน ๆ คับ น่าอิฉาลุงหรอกเพราะผมต้องไปสารคามให้ได้

เห็นแล้วคิดฮอดบ้าน อีกโดนอยู่จังซิได่เมือยบ้าน คั่นอาจารย์เมือบ้านอีกถ่ายฮูปมาเบิ่งอีกแน่เด้อ

เหน่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท