วิธีเรียนของนักศึกษาไทย...ต่างกันไกลกับนักศึกษาออสซี่


ได้มีโอกาสสอนหัวข้อการแปลผลทางห้องปฏิบัติการเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมารวมแล้ว 4 ชั่วโมง เหนื่อยมากกับการเตรียมการสอน เพราะเวลาในแต่ละวันมีน้อยเหลือเกิน ทำงานประจำทั้งวัน แต่ก็ผ่านมาด้วยดี ประเมินคร่าวๆจากการตอบคำถามของนักศึกษาในชั่วโมงสุดท้ายและจากกระดาษที่ให้พวกเขาแปลผลกรณีศึกษาและโน้ตเรื่องราวที่เรียนเพื่อใช้ในการแปลผลแล็บ

สอนนักศึกษาบ้านเราแล้วก็นึกย้อนอดีตเมื่อตอนที่ไปเรียนต่อโท-เอกที่ออสเตรเลีย ทำให้ได้เป็นทั้งนักเรียนในช่วงปีแรกๆ ได้เรียนบางวิชาในห้องเล็คเช่อร์พร้อมกับนักศึกษาแพทย์และเภสัชของเขา บอกได้ว่าบรรยากาศในการเรียนต่างกันมากกับบรรยากาศในบ้านเรา นักศึกษาเราพร้อมที่จะดูดเอาความรู้ที่คนสอนส่งมาให้ ในขณะที่นักศึกษาออสซี่ที่เคยพบ จะช่างสงสัย เรียนแบบอยากรู้อยากเห็นมากกว่า ผู้สอนจะต้องตอบคำถามบ่อยกว่า มีการโต้ตอบกันมากกว่านักศึกษาไทย น่าจะเป็นผลมาจากวัฒนธรรมและระบบการเรียนตั้งแต่เด็กๆด้วย ไปนั่งเรียนร่วมกับเขาแล้วเราก็พลอยสนุกไปด้วย

เมื่อตอนที่เราต้องเป็นติวเตอร์และมีสอนแล็บตอนที่เรียนเอก 2 ปีสุดท้ายให้นักศึกษาของเขา ก็พบว่าเป็นคนสอนนักศึกษาออสซี่ก็สนุกไม่เบื่อเลย เพราะเขาจะไม่ตั้งท่าดูดซับจากเราท่าเดียว ส่วนใหญ่จะช่างสงสัย ช่างคิดช่างถาม เห็นได้ค่อนข้างชัดว่าเขาเรียนเพราะอยากรู้อยากเห็นมากกว่าเด็กไทย อยากเห็นบรรยากาศอย่างนั้นในเด็กบ้านเราจริงๆ

ตั้งใจไว้ก่อนแล้วว่า อยากเป็นคนสอนแบบที่ชวนให้คนเรียนคิดไปด้วย สมัยเป็นนักเรียน นักศึกษาจะเป็นคนที่จดเล็คเชอร์ได้เก่งมาก เพราะมักจะอ่านมาก่อนแล้วว่าอาจารย์จะสอนอะไร แต่ไม่เคยอยากเป็นคนสอนเลย เพราะคิดว่าไม่ชอบวิธีการเรียนการสอนที่มีอยู่ในบ้านเรา เมื่อได้กลับมาทำงานสอนครั้งนี้ เลยตั้งใจไว้เลยว่า จะพยายามไม่สอนแบบที่เคยเห็นๆมา อยากให้นักศึกษารู้จักเชื่อมโยงและใช้ความคิดมากกว่าแค่มาดูดเอาเรื่องราวที่เรียนไปจากเรา ซึ่งจริงๆแล้วเนื้อหานั้น ถ้าอยากรู้ก็หาอ่านเอาได้จากตำรามากมายอยู่แล้ว ผลจากการได้สอนครั้งนี้บอกได้ว่าได้เห็นนักศึกษาไม่ต่ำกว่า 3 คนที่ทำให้เราได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่อยากเห็น แสดงว่าวิธีการสอนก็น่าจะมีส่วนช่วยให้คนเรียนเปลี่ยนวิธีเรียนเหมือนกันค่ะ 

หมายเลขบันทึก: 273336เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2009 23:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • สวัสดีค่ะ คุณโอ๋
  • เห็นด้วยค่ะ ว่าเด็กๆ บ้านเราไม่ค่อยสงสัย รึอีกนัยหนึ่งสงสัยแต่ไม่ใคร่กล้าซักถาม วัฒนธรรมให้ตามผู้ใหญ่ละมั๊งคะ
  • มีบ้างเหมือนกันที่รุ่นพี่ผ่านประสบการณ์การคัดง้างทางความคิดกับอาจารย์แล้วถูกกลั่นแกล้งด้วยอคติของคนสอน แล้วส่งประสบการณ์มาให้รุ่นน้อง
  • เราจึงได้ยินประโยค กับอาจารย์ท่านนั้น อย่าได้เถียงเชียวนะ รุ่นพี่ติดเอฟมาแล้วด้วย
  • ถ้าระบบตรวจสอบดีๆ คงช่วยหนุ่มๆ สาวๆ ที่มีความคิดริเริ่มและอยากเรียนรู้ได้นะคะ
  • อาจจะดูลบไปนิดนึงนะคะ แต่ถ้าเราไม่ยอมรับว่ามีปัญหา ปัญหามันก็ไม่ถูกแก้ไข จริงมั๊ยคะ
  • สุดท้ายค่ะ ปกติมักแอบเข้ามาเยี่ยมบันทึกคุณโอ๋เสมอๆ ค่ะ วันนี้ถูกจริต เลยขอตอบบ้าง ;-)

สวัสดีครับพี่โอ๋

หนึ่งในสาเหตุสำคัญก็คือวัฒนธรรมไทยหรือแม้แต่จะเรียกว่าของเอเชียก็ได้ที่ว่า

เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด

ให้มีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่

ระบบการรับน้องตามมหาวิทยาลัยที่ยังเน้นความเป็นอาวุโส

และอีกหนึ่งก็คือระบบการเรียนในชั้นประถมวัยที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้เด็กซักถามในชั้นเรียนซักเท่าไร เด็กก็ลยเรียนแบบรับๆความรู้เข้าไป จนเมื่อโตขึ้นก็เคยชินกับสิ่งที่ตัวเองเรียนมาว่าอย่างน้อยที่สุดก็ผ่านมาโดยตลอดตั้งแต่เล็กจนโต

วิธีแก้ไข น่าจะต้องวัดผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ซะใหม่ ในบางวิชาที่ต้องอาศัยการค้นคว้าหาสิ่งใหม่ ให้เด็กเป็นคนตั้งคำถามเอง วิธีนี้น่าจะได้ผลดีแต่ควรจะเริ่มต้นตั้งแต่ชั้นประถมวัยครับ

ข้างล่างนี้เป็นบทความที่ผมคัดลอกมาจาก forward mail ที่เพื่อนๆส่งมาให้ครับ

FW: ไร้กรอบ

***เคยได้ยินชื่อ ดร.วรภัทร ภู่เจริญ ไหมครับ??

เขาเคยเป็นวิศวกรขององค์การอวกาศนาซา

ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ 20 กว่าปีก่อน

เคยได้รับรางวัลงานวิจัยที่ดีที่สุดระดับโลก

เกี่ยวกับเครื่องยนต์ไอพ่น

ตัดสินใจกลับเมืองไทยเพราะ

1.อยากดูแลพ่อแม่

2.ไม่อยากเป็นพลเมืองชั้นสองในบ้านพักคนชรา

3.อยากเที่ยว และ

4.ชอบกินอาหารอร่อย

เคยเป็นอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ก่อนจะออกมาตั้งบริษัทที่ปรึกษาของตัวเอง

ผมประทับใจบทสัม ภาษณ์ของ ดร.วรภัทรใน 'เสาร์สวัสดี'

ของ 'กรุงเทพธุรกิจ ' มาก

คนอะไรก็ไม่รู้ ชีวิตมันส์เป็นบ้า

ความคิดก็กวนเหลือหลาย

ตอนที่เขาเป็นอาจารย์

วิธีการสอนหนังสือของเขาแปลกกว่าคนอื่น

'ผมออกนอกกรอบตลอดเวลา'

เขาบอก

เขาเคยพาเด็กวิศวะไปที่ริมสระว่ายน้ำ

เรียนไปและดูนิสิตสาว ๆ ว่ายน้ำไป

ด้วยคาดว่าคงไปเรียนเรื่อง 'คลื่น'

ระหว่างท่าฟรีสไตล์ กับท่าผีเสื้อ

คลื่นที่เกิ ดขึ้นของท่าไหนถี่กว่ากัน

ระหว่างชุดทูพีซกับวันพีซ

แรงเสียดทานกับน้ำ ชุดไหนมากกว่ากัน

แนวการศึกษาน่าจะออกไปทำนองนี้

แต่ที่ชอบที่สุดคือตอนที่เขาออกข้อสอบ

ข้อสอบของเขาสั้นและกระชับมาก

'จงออกข้อสอบเอง พร้อมเฉลย'

โหย....เด็กวิดวะอึ้งกันทั้งห้อง

คำตอบส่วนใหญ่เป็นการตั้งโจทย์แบบง่ายๆ

เช่น ปั้นจั่นมีกี่ชนิด

ผลปรากฎว่าได้ศูนย์กันทั้งห้อง

เพราะเป็นคำตอบที่ไม่ได้แสดงความคิดที่ลึกซึ้ง สมกับที่เรียนมาทั้งเทอม

เหตุผลที่ดร.วรภัทรออกข้อสอบ ด้วยการให้นิสิตออกข้อสอบเอง เป็นเหตุผลที่ตรงกับใจผมมาก

'ชีวิตคนเราจะรอให้อาจารย์ตั้งโจทย์อย่างเดียวไม่ได้

ต้องหาโจทย์มาเอง คิดแล้วทำ

ถ้าผิดแล้วอาจารย์จะปรับให้'

เขามองว่าเด็กรุ่นใหม่ติดนิสัยเด็กกวดวิชา

รอคนคาบทุกอย่างมาป้อนให้ไม่รู้จักคิดเอง

'ถ้ารอและตั้งรับ

คุณก็เป็นพวกอีแร้ง

แต่พวกคุณแย่กว่า

เพราะเป็นแค่ลูกอีแร้ง

คือ รออาหารที่คนอื่นป้อนให้'

โหย....เจ็บ ผมเชื่อมานานแล้วว่า

ชีวิตของคนเรา

เป็นข้อสอบอัตนัย

ที่ต้องตั้งโจทย์เอง และตอบเอง

ไม่ใช่ข้อสอบปรนัย

ที่มีคนตั้งโจทย์ และมีคำตอบเป็นทางเลือก ก-ข-ค-ง

ถ้าใครที่คุ้นกับ 'ชีวิตปรนัย' ที่มีคนตั้งโจทย์ให้และเสนอทางเลือก

1-2-3-4 คนคนนั้นชีวิตจะไม่ก้าวหน้า เพราะต้องพึ่งพาคนอื่นตลอดเวลาติดกับ

'กรอบ'

ที่คนอื่นสร้างให้

ไม่เหมือนกับคนที่รู้จักคิด และตั้งคำถามเอง

เรื่องการตั้งคำถามกับชีวิต เป็นเรื่องสำคัญมาก อย่าลืมว่า

เพราะมี 'คำถาม' จึงมี 'คำตอบ'

เมื่อมี 'คำตอบ' เราจึงเลือกเดิน

พูดถึงเรื่องการตั้งคำถาม ผมนึกถึง 'โสเครติส' เขาเป็นนักปรัชญาเอกของโลก

ที่สอนลูกศิษย์ด้วยการสนทนา ตั้งคำถามให้ลูกศิษย์ตอบ

สร้างองค์ความรู้จาก 'คำถาม' กลยุทธ์ของ 'โสเครติส' ในการสอน คือ

ไม่ให้ความเห็นใดๆ แก่นักเรียน และทำลายความมั่นใจของ นักเรียนที่เชื่อว่าตนเองรู้

'โสเครติส' เชื่อว่าเมื่อเด็กตระหนักใน

'ความไม่รู้' ของตนเอง

เขาจะเริ่มต้นแสวงหา 'ความรู้'

แต่ถ้าเด็กยังเชื่อมั่นว่าตนเองมี 'ความรู้' เขาก็จะไม่แสวงหา 'ความรู้ '

การตั้งคำถามของโสเครติสจึงมีเป้าหมาย

โจมตีและทำลายความเชื่อมั่นในภูมิความรู้ของนักเรียน

เป็นกลยุทธ์เท 'น้ำ' ให้หมดจากแก้ว

เมื่อแก้วไม่มีน้ำแล้ว จึงเริ่มให้เขาเท 'น้ำ' ใหม่ ใส่แก้วด้วยมือของเขาเอง

'น้ำ' ที่ลูกศิษย์แต่ละคนเทลงแก้วด้วยมือตัวเองมาจาก

'คำตอบ' ที่เขาค้นคิดขึ้นมาเอง

'คำตอบ' จาก 'คำถาม' ของ 'โสเครติส'

'โสเครติส' นิยามศัพท์คำว่า 'คนฉลาด' และ 'คนโง่' ได้อย่างน่าสนใจ

'คนฉลาด' ในมุมมองของ

'โสเครติส' นั้นไม่ใช่คนที่รู้ทุกเรื่องแต่

'คนฉลาด' คือคนที่รู้ว่าตัวเองไม่รู้

ส่วน

'คนโง่' นั้น คือคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้

แต่ทำตัวราวกับเป็นผู้รู้

***ไม่น่าเชื่อว่าก่อนหน้านี้

ผมยังมีความภาคภูมิใจใน 'ความรู้'

ของตนเอง แต่พออ่านถึงบรรทัดนี้

ทำไมผมเริ่มรู้สึกว่า

ตัวเองไม่รู้อะไรเลย***

ลองหาความรู้ใหม่ ๆ ให้กับตัวคุณเอง

'คนฉลาด' คือคนที่รู้ว่าตัวเองไม่รู้

ส่วน

'คนโง่' นั้น คือคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้

แต่ทำตัวราวกับเป็นผู้รู้

**   **   **

Mr Poonchai

I would like to copy your word and send it to my son, it is a very great comment.

Dear K Ooh, it is a very interersting diary, thank you very much ;P

ยินดีมากครับที่บันทึกหรือcommentต่างๆที่ผมเขียนจะเป็นประโยชน์กับทุกคนไม่มากก็น้อย

I am really appreaciate if anything that i have written is useful.

actually something in the comment is not mine but i got it from my freind and would like to share with all my freinds in this blog.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท