พุทธเศรษฐศาสตร์: เศรษฐศาสตร์ปัญญานิยม


เศรษฐศาสตร์ปัญญานิยม

พุทธเศรษฐศาสตร์: เศรษฐศาสตร์ปัญญานิยม

                ผู้เขียนบล็อกได้อ่านหนังสือเรื่อง พุทธเศรษฐศาสตร์: วิวัฒนาการ ทฤษฎี และการประยุกต์กับเศรษฐศาสตร์สาขาต่างๆ ของ ศ.ดร.อภิชัย พันธเสน ที่กล่าวถึงวิวัฒนาการของทฤษฎีทางด้านเศรษฐศาสตร์ในยุคต่างๆ โดยกล่าวถึงแนวความคิด ความเชื่อ ข้อโต้แย้งในเชิงทฤษฎีของนักคิดสำนักต่างๆ ในช่วงเวลาต่างๆจนเกิดเป็น ทฤษฎีพุทธเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ผู้เขียนได้นำเสนอในปัจจุบัน จนสามารถเชื่อมโยงวิวัฒนาการของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ผ่านกระบวนทัศน์ของศาสตร์อื่นๆ เช่น วิทยาศาสตร์ ศาสนา จิตวิทยา เป็นต้นในแต่ละห้วงเวลาอย่างชัดเจน นอกจากนั้นในส่วนท้ายของหนังสือเล่มนี้ยังนำเสนอการประยุกต์พุทธเศรษฐศาสตร์กับเศรษฐศาสตร์ในสาขาต่างๆ โดยยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม

               แนวคิดพุทธเศรษฐศาสตร์ (Buddhism Economics) เป็นแนวความคิดที่ได้มีการนำเสนอมาตั้งปี ค.ศ.1973 ในงานเขียนของ E.F. Schumacher เรื่อง Small is Beautiful: A Study of Economics as if People Mattered ซึ่งกล่าวถึงพุทธเศรษฐศาสตร์ในแง่ที่สามารถยกระดับความเป็นมนุษย์ให้อยู่เหนือการแสวงหาวัตถุด้วยการสร้างความเจริญภายในจิตใจของปัจเจกบุคคล ซึ่งในมุมมองพุทธเศรษฐศาสตร์นี้ มุ่งเน้นให้การผลิตที่เกิดจากทรัพยากรในท้องถิ่นต้องตอบสนองความต้องการจำเป็นด้วยวิถีทางที่สมเหตุสมผล ในขณะที่การนำเข้าและส่งออกสินค้าไปยังที่ห่างไกลเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่สมเหตุสมผลอย่างมาก

              แม้ว่าแนวทฤษฎีนี้อาจจะมีความเป็นนามธรรมสูง แต่ ศ.ดร.อภิชัย พันธเสนสามารถเขียนถ่ายทอดในหนังสือของท่านได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจในชีวิตจริงได้ เช่น กิจกรรมการผลิตที่มุ่งเน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมและใช้วัตถุดิบอย่างมีค่าที่สุด การบริโภคตามอัตภาพ เป็นต้น ซึ่งแนวความคิดนี้เป็นแนวความคิดเศรษฐกิจแบบปัญญานิยมใช้ปัญญาในกระบวนการทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นแนวความคิดที่เหมาะสมในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานรากของประเทศอย่างยั่งยืน

               ในประเทศไทยมีบางชุมชนได้นำแนวความคิดนี้ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและในวิสาหกิจชุมชนต่างๆจนเกิดการพัฒนาในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนซึ่งควรที่จะนำมาถอดบทเรียนไว้เป็น Best Practices เพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวงกว้างต่อไป

                     ท่ามกลางกระแสบริโภคนิยมที่ไหลบ่าเข้ามาในประเทศไทย เราทุกคนต้องยืนหยัดที่จะฝ่ากระแสนี้ไปให้ได้ การใช้ปัญญากำกับการบริโภคจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนและปลดปล่อยมนุษย์ให้มีเสรีภาพจากวัตถุทั้งปวงอย่างแท้จริง

หมายเลขบันทึก: 272205เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2009 11:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 14:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

“ทฤษฎีพุทธเศรษฐศาสตร์” อ่านพร้อมกับพยายามทำความเข้าใจ โดยหลักการแล้วน่าจะคล้ายกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

ศ.ดร.อภิชัย พันธเสนได้อธิบายว่า "พุทธเศรษศาสตร์" คือ การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท