คนกับแผนยุทธศาสตร์


การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (4)

การบริหารเชิงยุทธศาสตร์เป็นเครื่องมือทางการบริหารที่ในปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ ในภาครัฐ และภาคเอกชนนิยมนำมาใช้ การบริหารเชิงยุทธศาสตร์ประกอบด้วยขั้นตอนหลัก 3 ขั้นตอน ในขั้นตอนแรกคือขั้นตอนของการกำหนดยุทธศาสตร์ ซึ่งต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และทิศทางการพัฒนาขององค์กร ที่โดยทั่วไปจะระบุไว้ในรูปของวิสัยทัศน์ (Vision) ซึ่งแสดงถึงจุดมุ่งหมายในอนาคตขององค์กรที่ต้องการให้บรรลุ ขั้นตอนต่อมาคือ การนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ ด้วยการวางแผนในการดำเนินงาน ที่นิยมเรียกกันว่าการเขียนแผนยุทธศาสตร์ ซึ่งต้องมีการระบุถึงเป้าหมาย รวมถึงต้องมีกระบวนการนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ และขั้นตอนสุดท้ายคือ ขั้นตอนการควบคุมและประเมินผลเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานมาถูกทาง ด้วยการกำกับ และติดตามประเมินผล ในแต่ละช่วงของขั้นตอนการปฏิบัติ

สำหรับองค์กรที่มีความมุ่งมั่นที่จะให้บรรลุถึงวิสัยทัศน์นั้น โดยทั่วไปมักสร้างผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการให้เป็นที่ยอมรับ มีความโดดเด่นแตกต่าง มีคุณภาพและราคา รวมทั้งคุณค่าที่ลูกค้าพึงพอใจสูงสุด ซึ่งปัจจัยสำคัญ คือ การบริหารกระบวนการผลิตสินค้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สามารถสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า สำหรับภาคราชการ ซึ่งลูกค้า ก็คือ ประชาชนนั่นเอง แต่การที่จะดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตได้นั้น ต้องอาศัยการจัดโครงสร้างองค์กรที่เหมาะสม มีการขับเคลื่อนและสร้างแรงจูงใจให้คนทำงาน มีระบบข้อมูลและสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจที่ดี รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อการสร้างสินค้าและตราสินค้า (Brand) ให้เป็นที่จดจำของผู้บริโภค ซึ่งในทางการบริหารเราเรียกสิ่งต่างๆ เหล่านี้ว่าเป็น สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Assets)

สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Assets) ได้แก่ ตราสินค้า ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ เทคโนโลยี และคน หรือที่เราสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ทุนมนุษย์ (Human capital) ทุนองค์กร (Organization capital) และทุนสารสนเทศและความรู้ (Knowledge and Information capital) ทุนเหล่านี้ถือเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญขององค์กร ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันแล้วว่า มีคุณค่า และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรได้มากกว่า สินทรัพย์ที่จับต้องได้ (Tangible Assets) เช่น อาคาร โรงงาน เครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ดังนั้นองค์กรต่างๆ จึงมุ่งความสนใจไปที่ การบริหาร และพัฒนาสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้เหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของทุนมนุษย์

การพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นั้นมีแนวคิดหลักในการพัฒนาอยู่ 2 แนวทางด้วยกัน คือ

1. หลักสมรรถนะ (Competency) ประกอบด้วย ความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skill) และคุณลักษณะสำคัญบางประการ (Attribute) เรียกว่า KSA

โดยองค์กรจะพิจารณาว่า หากจะปฏิบัติภารกิจในด้านต่างๆ ให้บรรลุผล พึงใช้คนที่มีสมรรถนะอย่างไรบ้างในแต่ละกลุ่มหรือสายงาน เช่น ต้องมีความรู้ทางวิชาการในสาขาใด มีทักษะที่สำคัญในสายงานนี้อะไรบ้าง เช่น ภาษาอังกฤษ การใช้คอมพิวเตอร์ การสื่อสาร เป็นต้น และทัศนคติในการทำงานนี้ให้ได้ผลดีคืออะไร เช่น การทำงานเป็นทีม การทำงานที่เน้นผลลัพธ์เป็นสำคัญ โดยอาจจัดเป็นระดับหรือคุณลักษณะเชิงประจักษ์ แล้วใช้เป็นแนวทางเพื่อการสรรหาบุคคลเข้ามาทำงาน การพัฒนาทุนมนุษย์ในแนวทางนี้ คือ การกำหนดคุณสมบัติของบุคคล เพื่อการสรรหา พัฒนา ใช้ให้เหมาะสมกับงาน และวางเส้นทางความก้าวหน้า ตลอดจนระบบเงินเดือน ค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับสมรรถนะ แนวทางนี้เป็นที่นิยม ซึ่งสำนักงาน ก.พ. ได้เริ่มประยุกต์ใช้ ปรากฏและระบุไว้ในพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 แล้ว

 

2. หลักการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ประกอบด้วย ความรู้ฝังลึก และความรู้ชัดแจ้ง การพัฒนาทุนมนุษย์ในแนวทางนี้ คือ ให้บุคคลหรือผู้ปฏิบัติงานได้ใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างให้คนมีความสามารถหรือเก่งเพิ่มขึ้น

จากความรู้ทั้งสองแบบดังกล่าว ทำให้เกิดวงจรการพัฒนาความรู้ เกิดประโยชน์แก่ตนเอง งาน และองค์กร

แนวทางนี้ เป็นที่นิยมใช้ทั่วไป ในภาคราชการไทยมีสำนักงาน ก.พ.ร. สนับสนุน ตามประเด็นสำคัญใน พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ทั้ง 2 แนวทางนี้ มิได้ขัดหรือแย้งกัน หากบูรณาการกันให้ดีแล้วจะเกิดประโยชน์แก่องค์กรอย่างยิ่ง คือ ใช้หลักการสรรหาคนเข้าทำงานตามสมรรถนะที่พึงประสงค์ ดูแลบำรุงรักษาจัดระบบให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง พัฒนางาน สุดท้ายจะเกิดผลให้องค์กรพัฒนาขึ้น หลายหน่วยงานประสบความสำเร็จในการบูรณาการแนวทางทั้ง 2 เข้าด้วยกันอาทิเช่น บริษัทในเครือปูนซิเมนต์ไทย และโรงงานน้ำตาลมิตรผล เป็นต้น

แม้ว่าในขณะนี้สภาพเศรษฐกิจของโลก ณ ปัจจุบัน ที่กำลังถูกวิกฤตเศรษฐกิจเล่นงานอย่างหนัก ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกอย่างอเมริกา อังกฤษ เยอรมัน ญี่ปุ่น รวมถึงสิงคโปร์ที่ประสบปัญหาและยอมรับภาวะความถดถอยทางเศรษฐกิจ ว่า มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศติดลบ บริษัทต่างๆ พากันปลดพนักงาน ประกาศล้มละลาย ไม่ว่าจะเป็นค่ายรถยักษ์ใหญ่ของอเมริกา บริษัทโซนี่ บริษัทไมโครซอฟท์ และอีกหลายๆ บริษัท ในช่วงสภาวะเช่นนี้ บริษัทควรหาวิธีว่าจะทำอย่างไร ที่จะสามารถรักษาความรู้ของพนักงานที่จะถูกปลดให้อยู่กับองค์กร หรือวิธีการที่จะทำให้องค์กรสามารถใช้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า สามารถสร้างคุณค่า สร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างนวัตกรรมให้กับองค์กร หรืออีกนัยหนึ่ง คือเราต้องเร่งสร้าง และพัฒนาทุนมนุษย์ให้มีความรู้ ความสามารถ และศักยภาพที่เพียงพอ เพื่อให้เขาเหล่านั้นมีความพร้อมเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อสามารถขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ให้กับองค์กรได้

ปัจจุบันแผนยุทธศาสตร์องค์กร โดยทั่ว ๆ ไปนิยมอธิบาย และสื่อสารด้วยการเขียนแผนที่เชิงยุทธศาสตร์ (Strategy Map) ตามหลัก Balanced Scorecard เห็นได้อย่างชัดเจนว่าหากจะให้องค์กรบรรลุถึง วิสัยทัศน์ ต้องผ่านกระบวนการขับเคลื่อนหรือการพัฒนาตามขั้นตอน คือ เริ่มจากมิติหรือด้านการเรียนรู้ขององค์กร ส่งผ่านไปด้านกระบวนการภายใน แล้วจึงจะส่งผลต่อด้านคุณภาพหรือส่งผลต่อความพึงพอใจของลูกค้าหรือประชาชนผู้รับบริการ ซึ่งเป็นตัวสะท้อนผลสำคัญถึงด้านประสิทธิผลที่องค์กรต้องการ ในภาคธุรกิจจะหมายถึง ผลกำไรหรือผลตอบแทนที่ยั่งยืน ในภาคราชการ หมายถึง การปฏิบัติตามพันธกิจที่ได้รับมอบหมาย ในมิติเริ่มต้นที่สำคัญในด้านการเรียนรู้ขององค์กรนั้น Kaplan และ Norton ได้ระบุองค์ประกอบสำคัญของมิติดังกล่าวไว้ 3 ส่วน คือ ทุนมนุษย์ ทุนสารสนเทศ และทุนองค์กร ว่าเป็นตัวขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่สำคัญขององค์กร และเป็นที่ยอมรับกันว่า ทุนมนุษย์ น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่สุด ในการบูรณาการและขับเคลื่อนร่วมกับอีก 2 ส่วน ดังนั้นการลงทุนในทุนมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่องค์กรพึงดำเนินการไม่ว่าเศรษฐกิจจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตาม การสนับสนุนให้บุคลากรได้มีโอกาสศึกษา ดูงาน ฝึกอบรม ในรูปแบบต่างๆ ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และถือว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นงบประมาณในด้านงบลงทุน มิใช่ด้านงบรายจ่าย เพื่อให้ทุนมนุษย์ในองค์กรมีความเข้มแข็งหรือมีขีดความสามารถสูงอันเป็นพื้นฐานสำคัญ เพราะเป็นที่ชัดเจนว่า คนเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในองค์กร องค์กรที่ประสบความสำเร็จทุกองค์กรเบื้องหลัง คือ มีคน หรือบุคลากรขององค์กรที่เข้มแข็ง มีขีดความสามารถสูงอยู่ในจำนวนที่มากพอเหมาะ ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ยิ่งต้องใช้ความสามารถของคนในการแก้ไขปัญหาและฟันฝ่าอุปสรรคในยามวิกฤตให้ฟื้นตัวโดยเร็ว ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองก็มีความจำเป็นต้องใช้ความสามารถของคนในการสร้างนวัตกรรม สร้างความสามารถทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน ดังนั้นการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จ เบื้องหลังที่แท้จริง คือ คน

การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (รวมบท)  ความสำคัญของคน  คนกับยุทธศาสตร์การแข่งขัน

หมายเลขบันทึก: 272196เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2009 11:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 22:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท