ร่วมจัดอบรมซ้อมแผนรับอุบัติเหตุกลุ่มชนจังหวัดขอนแก่น ตอน 2


ความชำนาญ เชี่ยวชาญจะเกิดขึ้น ต้องมีการฝึกฝนหมั่นซ้อม ซ้อม ไม่อ่อนซ้อมคะ

สวัสดีค่ะ หลังจากบันทึก

ครั้งนี้ขอนำภาพกิจกรรมวันซ้อมแผนมาให้ชมกันต่อค่ะ
หลังอบรม 1 วันให้กับอาสากู้ชีพหน่วยกู้ชีพองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและหน่วยกู้ชีพมูลนิธิในเขตอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น   วันต่อมาเป็นการนำความรู้สู่การปฏิบัติในสถานการณ์จำลอง
ผู้ควบคุมกำกับดูแลการฝึกซ้อมครั้งนี้ โดยทีมวิทยากรระดับชาติจากจังหวัดขอนแก่น คือ นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย จากโรงพยาบาลขอนแก่น  รศ.นพ.ไชยยุทธ ธนไพศาล จากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มข. ดร.วิภาดา วิจักขณาลัญฉ์ จาก วสส.ขอนแก่น และยังมี นพ.อนุชา  เศรษฐเสถียร จากโรงพยาบาลอุดรธานี ด้วย 
กิจกรรมนี้มีผู้ร่วมสังเกตจากหลายหน่วยงาน  อาทิ พี่ไพศาล โชติกล่อม ผู้แทนจาก สพฉ ปภ จากจังหวัดตรัง  แพทย์ พยาบาล วิทยากร MIMS จากโรงพยาบาลอุดรธานี  พยาบาลหัวหน้า ER พยาบาล จากโรงพยาบาลมหาสารคาม โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด พยาบาลหัวหน้า ER โรงพยาบาลทุกแห่งในเขตจังหวัดขอนแก่นทุกอำเภอ
การซ้อมครั้งนี้ มีหัวหน้าหน่วย พยาบาลของหน่วยกู้ชีพองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งมาคอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาดูแลการปฏิบัติงานของอาสากู้ชีพอย่างใกล้ชิด  เห็นชัดจากกรณีทีมแรกที่มาถึงของกู้ชีพ อบต เมืองเก่า 
กิจกรรมเริ่ม ตอน 8 โมงเช้าค่ะ  ทีม วสส และทีมผู้เขียนจากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ รับผิดชอบแต่งตัวผู้ป่วยสมมุติ โดยมีเจ้าหน้าที่อาสากู้ชีพของแต่ละหน่วยส่งตัวแทนมาแสดงบทบาทผู้ป่วยสมมุติในครั้งนี้ จำนวน 80 คนค่ะ
ใช้เวลาแต่งตัวและบอกบทให้แสดงบทบาทผู้ป่วยสมมุติจนเป็นที่เข้าใจ  ดร.วิภาดา ทีม วสส รับผิดชอบนำผู้ป่วยสมมุติไปยังสถานที่จำลองเหตุการณ์ 
ผู้เขียนและน้องอัมรา ยังได้รับผิดชอบเป็นทีมประเมินร่วมกับทีมโรงพยาบาขอนแก่นและวสส ขอนแก่น ด้วย เมื่อพูดคุยทำความเข้าใจแบบประเมินผลการซ้อมกันเสร็จตามไปที่เกิดเหตุ  ก่อนเวลาซ้อมครึ่งชั่วโมง  พอไปถึงได้รับมอบหมายให้ช่วยจัดสถานการณ์ซ้อมร่วมกับ ดร.วิภาดา และ คุณอู๋ หัวหน้า EMS โรงพยาบาลขอนแก่นด้วย
เริ่มเหตุการณ์  แจ้งเหตุ เวลา  10.11 น. ค่ะ
พวกเรา โทร  เข้า  1669  กระตุ้นระบบ คนละ 2 -3 ครั้งค่ะ ผลคือ ติดบ้าง ไม่ติดบ้าง   ติดแต่ไม่มีคนรับสาย
ถูกถามข้อมูลเหตุการณ์  ตามหลัก METHAIN ค่ะ 
หลังแจ้งเหตุ  10.17 น.ทีมตำรวจ  ทีมกู้ชีพอบต.เมืองเก่ามาถึงก่อน ตามด้วยทีมดับเพลิง ค่ะ
  
ทีมแรกเตรียมด้านความปลอดภัย สวมชุดอุปกรณ์ป้องกันตนเอง เข้าประเมินสถานการณ์ และกัน้บริเวณชั้นใน ห้ามผู้คนเข้าไปข้างในที่เกิดเหตุ เนื่องจากอาจเกิดเหตุอันตรายซ้อน และกั้นบริเวณโซนพื้นที่ทำงานรอบนอกอีกหนึ่งชั้น
 
ทีมบริการการแพทย์ขั้นสูงทีมแรกมาถึง เป็นทีมแพทย์ พยาบาล จากโรงพยาบาลขอนแก่น
 
ทีม ALS  นพ.นคร  ทิพย์สุนทรศักดิ์ วิทยากรอีกท่าน ครั้งนี้รับแสดงบทบาทเป็นหัวหน้าทีมแพทย์ที่ร่วมซ้อมค่ะ
เมื่อทีม ALS มาถึง หัวหน้าแพทย์มารับรายงานสถานการณ์จากทีมแรก  จากนั้นทำหน้าที่ 
  1. สวมเสื้อกั๊ก เพื่อแสดงสัญลักษณ์ผู้อำนวยการกู้ชีพ
  2. มอบหมายงานหัวหน้าทีมแพทย์ผู้รักษา  หัวหน้าทีมคัดแยก หัวหน้าทีมจัดเตรียมอุปกรณ์  หัวหน้าทีมเคลื่อนย้ายและนำส่ง ทุกคนสวมเสื้อแสดงสัญลักษณ์ประจำบทบาท
  3. หัวหน้าทีมแพทย์เตรียมพร้อมทีมรักษาพยาบาล จัดพื้นที่รักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุ 
  • พื้นที่ธงสีแดง สำหรับดูแลผู้ป่วยหนัก 
  • พื้นที่ธงเหลือง สำหรับผู้ป่วยอาการปานกลาง และ 
  • พื้นที่ธงเขียว  สำหรับผู้บาดเจ็บเล็กน้อย  
 
ทีมกู้ชีพทุกหน่วยที่มาถึงเข้ารายงานตัวกับผู้อำนวยการกู้ชีพ
ทีมกู้ชีพนคินทร์ ของผู้เขียนก็มาร่วมซ้อมด้วย  นำทีมโดยคุณหมอหงษ์ วริษฐา แพทย์ประจำบ้าน EM สาขาเวชศาตร์ฉุกเฉิน ปี 2  พยาบาล คุณกิตติพงษ์ EMS Nurse คุณสุมิตร เจ้าหน้าที่เวชกิจฉุกเฉิน EMT คุณโชคชัย FR อาสากู้ชีพ คุณกิตติ EMT-B พขร ค่ะ  
ทีมเรา เข้ารายงานตัวกับหัวหน้าทีมแพทย์ คุณหมอเจี๊ยบ พญ.นลินี แพทย์สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน หรือ EP จากโรงพยาบาลขอนแก่น  ทีมได้รับมอบหมายแยกย้ายกันไปดูแลประเมินและรักษาเบื้องต้นผู้บาดเจ้บตามบริเวณที่จัดไว้
 
ระหว่างนั้น ผู้อำนวยการกู้ชีพเข้าประเมินสถาการณ์ร่วมกับหัวหน้าฝ่ายตำรวจและหัวหน้าฝ่ายดับเพลิง  และรับรายงานตัวจากทีมกู้ชีพที่มาถึงในลำดับต่อมา 
เมื่อเหตุการณ์ปลอดภัย มอบหมายพยาบาลหัวหน้าทีมคัดแยก เข้าไปปฏิบัติหน้าที่คัดแยกผู้ป่วยในที่เกิดเหตุ โดยมีทีมอาสากู้ชีพตำบล เป็นทีม 
 
ภารกิจของทีมคัดแยก มีพยาบาล ER เป็นหัวหน้าทีม เข้าไปคัดแยกผู้ป่วยเป็นคู่ ๆ  ครั้งแรกคัดแยกผู้บาดเจ้บเล็กน้อย เดินได้ออกมาก่อน จากนั้นคัดแยกผู้บาดเจ้บที่นอนอยู่ทีละคน  เรียก ดูการหายใจ  จับชีพจร ติดป้ายข้อมือ แดง เหลือง เขียว ดำ (ตาย) เอาไว้ และมอบหมายให้อาสากู้ชีพยกเคลื่อนย้ายลำเลียงผู้บาดเจ็บไปยังจุดรักษาพยาบาล   
ระหว่างนั้น มีการประสานงานรายงานสถานกรณ์ผู้บาดเจ็บและขอรับการสนับสนุนช่วยเหลือจากทีมคัดแยก มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก และมีผู้ติดในซากรถ 
 
ผู้อำนวยการกู้ชีพประเมินความพร้อมทีมรักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุ และจำนวนพยาบาล จากนั้นประสานงานแจ้งให้ขอความช่วยเหลือจาก ป้องกันภัยจังหวัด และขอทีมบริการการแพทย์ขั้นสูง ALS เพิ่มเติม
ทีมอาสากู้ชีพ เริ่มขนย้ายผู้บาดเจ็บออกจากจุดเกิดเหตุมายังจุดรักษาพยาบาล วางตามบริเวณที่ตรงกับป้ายข้อมือผู้บาดเจ็บ แดง  เหลือง เขียว
ทีมแพทย์ พยาบาล บริเวณรักษาพยาบาลทำหน้าที่ประเมินคัดแยกซ้ำรอบที่สอง ผู้บาดเจ็บอาจมีอาการเปลี่ยนแปลง ก็ปรับสีป้ายข้อมือใหม่ให้ตรงกับอาการที่ตรวจพบ บันทึกข้อมูลในบัตรที่ป้ายข้อมือ  แดง  เหลือง  เขียว
ทีมรักษาพยาบาลสีแดงผู้บาดเจ็บ อาการหนัก
ทีมรักษาพยาบาลสีเหลืองผู้บาดเจ็บ อาการปานกลาง
ทีมรักษาพยาบาลสีเขียว ผู้บาดเจ็บ อาการเล็กน้อย
จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายเคลื่อนย้ายและรถพยาบาล จัดอาสากู้ชีพยกลำเลียงผู้บาดเจ็บขึ้นรถนำส่งโรงพยาบาลต่างๆในจังหวัดขอนแก่น  คือ โรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลศรีนครินทร์  โรงพยาบาลราชพฤกษ์ โรงพยาบาลเวชประสิทธิ์ 
ซึ่งโรงพยาบาลขอนแก่นมีซ้อมแผนรับอุบัติเหตุกลุ่มชนในโรงพยาบาลด้วย ส่วนอีก 3 แห่งไม่ซ้อมในโรงพยาบาล ค่ะ
ผู้อำนวยการกู้ชีพ ติดตามความก้าวหน้าประเมินสถานการณ์จากหัวหน้าทีมทุกฝ่าย เพื่อวางแผนรองรับกิจกรรมซ้อม
 
เมื่อสถานการณ์สงบ ทุกฝ่ายปฏิบัติหน้าที่เรียบร้อย
ก็วางแผนยุติสถานการณืร่วมกับหัวหน้าฝ่ายตำรวจ
จากนั้น  หัวหน้าฝ่ายตำรวจซึ่งขณะนั้นรับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการฝึกซ้อมในครั้งนี้ประกาศยุติสถานการณ์และขอบคุรผู้มีส่วนร่วมกิจกรรมทุกฝ่าย
ก็มาถึงเวลาถ่ายภาพกิจกรรมบันทึกความจำกันค่ะ
ทุกรายการเสร็จสิ้นซ้อม ณ จุดเกิดเหตุ  ทุกคนก็เดินทางกลับไปรับประทานอาหารกลางวันและร่วมกิจกรรมประเมินผล  ถอดบทเรียนต่อถึง 15.30 น.
การซ้อมแผนวันนี้  ก็ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของคนทำงานกู้ชีพทุกระดับ  เมื่อเกิดสถานการณ์กลุ่มชนหรือสาธารณภัยจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละทีมได้ดียิ่งขึ้นต่อไป  และจุดอ่อนที่พบในการซ้อมแต่ละด้านทีมต้องกับไปพูดคุยและปรับแผนกันเพื่อจัดซ้อมในโอกาสต่อไป  สำหรับการซ้อมครั้งต่อไป  มีใครกล่าวถึงบ้าง
  • ทาง สพฉ พี่ไพศาล กล่าวกับผู้เขียน ว่าต้องการให้จัดซ้อมในจังหวัดที่เหลือ คือ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ รับไปทำต่อค่ะ  
  • ส่วนที่ประชุมต้องการให้แต่ละอำเภอในจังหวัดขอนแก่นรับไปทำกิจกรรมซ้อมแผนต่อเช่นกันค่ะ
  • ทีมผู้ปฏิบัติงานต้องการซ้อมแผนรับอุบัติเหตุกลุ่มชนในโรงพยาบาล เหมือนกับทีมโรงพยาบาลขอนแก่นซ้อมด้วยค่ะ
  • ทีมวิทยากร  ต้องการซ้อมรับสาธารณภัย  ผู้บาดเจ็บ จำนวนมาก กว่า 1000 ราย จังหวัดจะมีแผนรับสาธารณภัยอย่างไร
  • ผู้ใหญ่บ้านที่กุดกว้าง  ต้องการให้พวกเราซ้อมแผนกันช่วงกลางคืนค่ะ 

อันนี้ต้องคิดกันใหม่ให้รอบคอบนะคะ เพราะทุกฝ่ายต้องอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยเป็นหลักที่ต้องตระหนักกันค่ะ 

จบรายงานค่ะ
กัญญา

หมายเลขบันทึก: 271723เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2009 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ

  • เปิดภาพ..โหลดยังไม่หมดค่ะ
  • รีบทักทายไว้ก่อน แล้วรอโหลดภาพอีกทีค่ะ
  • รักและคิดถึงสาวขอนแก่นนะคะ

ดีจังครับ ทีม รังสี มี เอี่ยวใหมครับ

P สวัสดีค่ะพี่ครูคิม

  • ขอบคุณค่ะ
  • ทีมสาวขอนแก่นคิดถึงพีครูคิมเช่นกันค่ะ
  • อดใจ Load รูปครบค่อยดูใหม่นะคะพี่

P สวัสดีค่ะ อาจารย์  JJ

  • ซ้อมในโรงพยาบาล  ทีมรังสีมีเอี่ยวแน่นอนค่ะ แต่ทางโรงพยาบาลไม่ได้ร่วมซ้อมครั้งนี้ เนื่องจากได้รับกลุ่มชนจริง ๆ แล้วเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2552 2 รอบ ผู้บริหารบอกสามารถใช้แผนรับฯได้ดีระดับหนึ่งค่ะ
  • ซ้อมนอกโรงพยาบาล มีแพทย์อุบัติเหตุ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน แพทย์นิติเวช และทีมกู้ชีพ 2 ทีมจากโรงพยาบาลเราค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท