การวัดสมรรถนะเพื่อพัฒนางาน


การวัดสมรรถนะเพื่อพัฒนางาน

การวัดสมรรถนะเพื่อพัฒนางาน

ผู้เขียนบทความ  :  รองศาสตราจารย์เผียน  ไชยศร

 

                การที่จะปฏิบัติงานให้บรรลุผลได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น  สมรรถนะของผู้ปฏิบัติงานเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง หรือจะถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดก็ได้  ในการพัฒนางานจึงต้องมีการพัฒนาสมรรถนะของ

ผู้ปฏิบัติงานควบคู่กันไปด้วย

                สมรรถนะ ในที่นี้ หมายถึง ความสามารถหรือสมรรถภาพ อันได้แก่ ความรู้ ความคิด และทักษะ รวมทั้งคุณลักษณะและคุณธรรมที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานนั้น

                ผู้ปฏิบัติและเจ้าของงานหรือผู้บังคับบัญชาจำเป็นต้องทราบถึงระดับความสามารถหรือสมรรถนะที่แท้จริงของ

ผู้ปฏิบัติงาน และควรมีการประเมินเป็นระยะ ๆ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาคนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งยังผลต่อการพัฒนางานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                วิธีการและรูปแบบเครื่องมือวัดสมรรถนะ

 1.  วิธีการทดสอบ คือ การใช้คำถามหรือชุดของคำถาม คำสั่ง หรือสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นสื่อ

หรือ      สิ่งเร้าเพื่อให้ผู้ตอบหรือผู้ถูกทดสอบสนองตอบหรือปฏิบัติตามแนวที่ต้องการ เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่

แบบทดสอบในรูปแบบต่าง ๆ เช่น แบบเลือกตอบ แบบถูก-ผิด แบบจับคู่  แบบเติมคำ แบบอรรถนัย เป็นต้น

                       วิธีการทดสอบจะทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวัดสมรรถนะทางสมองและทักษะการปฏิบัติถ้าหากแบบทดสอบนั้นมีคุณภาพ ข้อจำกัดของแบบทดสอบมีอยู่หลายประเด็น  เริ่มตั้งแต่ผู้ออกข้อสอบจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งในเนื้อหาสาระและเทคนิควิธีการ จึงจะออกข้อสอบได้ดี  ส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาในการออกข้อสอบ  เช่น ปัญหาการออกข้อสอบเกี่ยวกับการวัดสมรรถภาพทางสมองระดับสูง ได้แก่ การวิเคราะห์  สังเคราะห์ และประเมินค่า  เป็นต้น  การออกข้อสอบอรรถนัยไม่เป็น  ออกได้แต่ข้อสอบอัตนัย  ซึ่งทำให้แบบทดสอบนั้นด้อยคุณภาพ นอกจากประเด็นผู้ออกข้อสอบแล้ว  การดำเนินการสอบ  การตรวจให้คะแนน และการแปลความหมายของคะแนน ก็มีความสำคัญต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและยึดหลักวิชา  จึงจะทำให้ได้ผลถูกต้องแม่นยำ

2.       วิธีการสัมภาษณ์  คือ การสนทนาโต้ตอบอย่างมีจุดมุ่งหมาย โดยผู้สัมภาษณ์ได้พบปะกับผู้ถูกสัมภาษณ์หรือ

ผู้ให้ข้อมูลโดยตรง  มีการไล่เลียงอย่างมีขั้นตอน เพื่อให้ได้มาซึ่งความจริงในสิ่งที่ต้องการ  เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ 

เค้าโครงการสัมภาษณ์และแนวทางการสัมภาษณ์  ซึ่งอยู่ในลักษณะของคำถามหรือประเด็นสนทนาที่จะนำไปสู่

เป้าหมายที่ต้องการ เป็นต้น

                       วิธีการสัมภาษณ์ นิยมใช้วัดบุคลิกภาพและคุณลักษณะทางสังคม  ทัศนะ ความคิดเห็นที่สำคัญ  การสัมภาษณ์มักใช้ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ซับซ้อนหรือซ่อนเร้น  ซึ่งเครื่องมืออื่นใช้ไม่ได้  ที่เรียกว่า การสัมภาษณ์แบบหยั่งลึก  คือ

มีการไล่เลียงจนได้ความจริง  ข้อจำกัดของการสัมภาษณ์ คือ มีความสิ้นเปลืองมาก ทั้งเวลา แรงงาน และค่าใช้จ่าย  ยากแก่

การควบคุม  ต้องอาศัยความคิดฉับไว  เพื่อปรับปรุง เปลี่ยนแปลงคำถาม หรือบทสนทนา  ให้สอดคล้องกับแนวทางที่จะนำไปสู่เป้าหมาย  ผู้สัมภาษณ์จึงต้องมีไหวพริบ   ปฏิภาณ  บุคลิกภาพ และมนุษยสัมพันธ์ที่ดี

3.       วิธีการให้ประเมินความรู้สึก  คือ  ให้เจ้าตัวหรือผู้ถูกประเมิน บอกหรือระบุความรู้สึก

หรือความเห็นจากการตัดสินใจหรือผลการประเมินในเรื่องใดเรื่องหนึ่งว่าเขามี หรือได้ปฏิบัติ หรือมีความพึงพอใจในเรื่องต่าง ๆ ที่ต้องการจะวัดหรือไม่  ในระดับใด เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบสอบถาม แบบตรวจสอบรายการ มาตราส่วนประมาณค่า เป็นต้น

                        วิธีการให้ประเมินความรู้สึกนี้  ใช้วัดเรื่องราวของตนเองได้ทุกด้าน ข้อจำกัดของวิธีนี้  คือ ความเข้าใจไม่ตรงกันในเกณฑ์การประเมิน ความรู้สึกว่า มี ไม่มี มาก น้อย ของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกันหรือไม่เท่ากัน  เพราะผู้ประเมิน

แต่ละคนยึดความรู้สึกของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประเมินสิ่งที่ให้คุณให้โทษแก่ตนเอง มักมีอคติ  ซึ่งส่งผลทำให้ความถูกต้องเที่ยงตรงในการประเมินลดน้อยลงไป

4.       วิธีการสังเกต  คือ  การสังเกตจากพฤติกรรม การแสดงออก รวมทั้งจากหลักฐาน

ผลงานในเรื่องนั้น ๆ เครื่องมือที่ใช้ช่วยในการสังเกต ได้แก่ แบบบันทึกในลักษณะต่าง ๆ เช่น แบบตรวจสอบรายการ 

มาตรส่วนประมาณค่า สังคมมิติ เป็นต้น

                       วิธีการสังเกต  นิยมใช้วัดผลงานภาคปฏิบัติ ทักษะการทำงาน และทักษะทางสังคม  คุณธรรม จริยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่เจ้าตัวไม่ประสงค์ที่จะเปิดเผย  หรือไม่ยอมให้ข้อมูลโดยวิธีวัดตามข้อ 1 3 ที่กล่าวมาแล้ว  ข้อจำกัดของการสังเกต คือ ต้องใช้เวลานาน โดยเฉพาะการสังเกตพฤติกรรม จะต้องมีการสังเกตซ้ำ เพื่อความแม่นยำ ซึ่งไม่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้นก่อนหรือหลังการสังเกตได้  นอกจากนั้นหากเจ้าตัวไม่ยินยอม  ก็ยากที่จะเก็บข้อมูลหรือหลักฐาน

เอกสารประกอบได้  ผลการสังเกตมักจะมีความคลาดเคลื่อนเนื่องจากอคติของผู้สังเกต

                หลักในการเลือกเครื่องมือเพื่อวัดสมรรถนะ  ควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

1.       มีความเที่ยงตรง หรือ วัดได้ตามวัตถุประสงค์ คือ สามารถวัดสิ่งที่ต้องการจะวัดได้

และมีความครอบคลุมในสิ่งที่ต้องการ

2.       มีความเชื่อมั่น คือ ให้ผลจากการวัดคงเดิม แน่นอน สามารถตรวจสอบได้

3.       มีความเป็นปรนัย คือ สาระ ภาษาที่ใช้ และเกณฑ์การให้คะแนนเป็นที่เข้าใจตรงกัน

4.       มีความสะดวกในการใช้ คือ ง่ายต่อการดำเนินการ การตรวจและการวิเคราะห์ผล

5.       มีความประหยัด  ทั้งด้านเวลา แรงงาน และค่าใช้จ่าย

------------------------

  ที่มา  หนังสือรวมบทความ  การพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรทางการศึกษา

คำสำคัญ (Tags): #บทความ
หมายเลขบันทึก: 271472เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2009 17:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 08:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

แวะมาเยี่ยมชมให้กำลังใจในการเขียนครับ

เป็นวิธีการที่มากมีประโยชน์ดี ในการเลือกเครื่องมือเพื่อวัดสมรรถนะของตนองเพื่องาน

มีประโยชน์ สามารถนำมาปรับใช้ได้ในทุกๆองค์กร

เครื่องมือนี้ผ่านผู้ทรงคุณวุฒิหรือยังคะ

หาค่าความเที่ยงตรงหรือยัง

อืม ลองใช้วัดสมรรถนะการทำงานนิพนธ์

ดูก่อนไหมจ้ะ

แวะมาทักทายจ้ะ

:D

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท