K II
มังกรนิทรา- คนเก่งฟ้าประทาน

การศึกษาระบาดวิทยา


การศึกษาระบาดวิทยา

การศึกษาระบาดวิทยา

 

การประยุกต์ใช้หลักการและเทคนิคทางระบาดวิทยา

 1.สืบหาแหล่งของโรคที่ทราบสาเหตุหรือสามารถระบุสิ่งก่อโรคได้

2.สอบสวนและควบคุมโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุ หรือยังไม่สามารถระบุสิ่งก่อโรคได้

3.ศึกษาลักษณะทั่วไปของโรค

4.วางแผนการเฝ้าระวังและควบคุมโรค

5.ประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของมาตรการควบคุมโรคต่างๆ

6.วิเคราะห์การตัดสินใจทางคลินิก

 

องค์ประกอบของการศึกษาระบาดวิทยา

1. การศึกษาระบาดวิทยาเชิงคุณภาพ   (Qualitative investigation) 

  • เป็นการศึกษาที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อหาข้อมูลเชิงคุณภาพเป็นหลัก
  • ข้อมูลเชิงคุณภาพในทางระบาดวิทยา ได้แก่ ชนิดสัตว์เป้าหมาย ชนิดหรือ สายพันธุ์ของเชื้อก่อโรค เป็นต้น
  • การศึกษาระบาดวิทยาเชิงคุณภาพ แบ่งตามวัตถุประสงค์หลักของการศึกษา เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

1 . การศึกษาลักษณะทั่วไปของโรค  (Natural history of disease) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษระการเกิดโรคในประชากรเป้าหมาย ตลอดจนลักษระของประชากรเป้าหมาย สิ่งก่อโรค และสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคในงานอภิบาลอาหาร  การศึกษาในลักษณะนี้ อาจเทียบได้กับการวิเคราะห์ความเสี่ยง

2 . การทดสอบสมมติฐานเกี่ยวกับปัจจัยก่อโรค (Causal hypothesis testing)  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดและการแพร่กระจายของโรค ในงานอภิบาลอาหาร  การศึกษาลักษระนี้อาจเทียบได้กับการหาจุดควบคุมความเสี่ยง

2. การศึกษาระบาดวิทยาเชิงปริมาณ  (Quantitative investigation)

  • เป็นการศึกษาที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อหาข้อมูลเชิงปริมาณเป็นหลัก
  • ข้อมูลเชิงปริมาณในทางระบาดวิทยา ได้แก่ อัตราการเกิดโรค สัดส่วนของประชากรที่ป่วย ความเสี่ยงของการเกิดโรค ในประชากรกลุ่มต่างๆ ปริมาณความเสี่ยงของการเกิดโรคที่เพิ่มขึ้นจากการสัมผัสปัจจัยเสี่ยง เป็นต้น
  • การศึกษาระบาดวิทยาเชิงปริมาณแบ่งตามวัตถุประสงค์หลักของการศึกษา เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่

1 . การสำรวจ (Survey)  มีวัตถุประสงค์เพื่อประมาณความชุกของโรคและความชุกของปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในประชากร โดยการวัดสัดส่วนของประชากรที่ป่วยและประชากรที่สัมผัสปัจจัยเสี่ยง ร เวลาหนี่ง เพียงครั้งเดียว เรียกอีกอย่างว่า การศึกษาแบบ Cross sectional  หรือการศึกษาความชุก (Prevalence study)

2 . การเฝ้าระวัง (Surveillance and monitoring) มีวัตถุประสงค์ เพื่อติดตามการเกิดและการแพร่กระจายของโรคและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในประชากร เป้าหมายอีกนัยหนึ่งคือ การประมาณอุบัติการณ์ ของโรคและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในประชากร เป้าหมาย อีกนัยหนึ่งคือ การประมาณอุบัติการณ์ของโรคในช่วงเวลาที่ทำการเฝ้าระวัง  ทั้งนี้ อาจทำการเฝ้าระวังไปเรื่อยๆ โดยไม่มีจุดสิ้นสุด การเฝ้าระวังนี้ นอกจากจะทราบข้อมูลเชิงปริมาณ ของการเกิดโรคแล้ว ยังสามารถใช้ยืนยันการปลอดจากโรคซึ่งหมายถึงการไม่พบโรคได้อีก

3 . การศึกษาทางระบาดวิทยา(Epidemiological study) มีวัตถุประสงค์เพื่อประมาณระดับความสัมพันธ์ ระหว่างปัจจัยเสี่ยงต่างๆ กับการเกิดโรค หรือ ประมาณความเสี่ยงของการเกิดโรคในสถานการณ์ต่างๆ  การศึกษาทางระบาดวิทยานี้ มีการใช้เทคนิคทางสถิติช่วยในการประมาณความน่าจะเป็น ต่างๆ และอาจเป็นการศึกษาด้วยการสังเกต หรือการศึกษาทดลอง

4 . การสร้างแบบจำลอง(modeling)  มีวัตถุประสงค์เพื่อทำนายการเกิดและการแพร่กระจายของโรคในสภาพแวดล้อมของปัจจัยเสี่ยงต่างๆ สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ หรือ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ และ สังคม  การสร้างแบบจำลองนี้ จะใช้เทคนิคทางคณิตศาตร์ช่วยในการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์  ในการคำนวณความน่าจะเป็นของการเกิดโรคในประชากรต่างๆ 

5 . การควบคุมโรค(Disease control) มีวัตถุประสงค์ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของมาตรการป้องกันและควบคุม โรค โดยการประมาณจำนวนสัตว์ที่มีความเสี่ยงที่อาจไม่ป่วยเนื่องจาก มาตรการดังกล่าว ตลอดจนศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของมาตรการควบคุมและป้องกัน โดยการประมาณผลตอบแทนของมาตรการต่างๆ และการสูยเสียเนื่องจากการเกิดโรคในประชากร

 

การศึกษาระบาดวิทยา

การศึกษาระบาดวิทยาของปัญหาใดๆ ก็ตาม สามารถแบ่งได้เป็น 4 ลักษณะ

1. การศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนา

  (Descriptive Epidemiology)

2. การศึกษาระบาดวิทยาเชิงวิเคราะห์

   (Analytical Epidemiology)

3. การศึกษาระบาดวิทยาเชิงทดลอง

   (Experimental Epidemiology)

4.การศึกษาทฤษฎีทางระบาดวิทยา

   (Theoretical Epidemiology)

 

1. การศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนา

  • เป็นการศึกษาเพื่อระบุถึง ขนาด ความรุนแรง ของปัญหาต่างๆ อัตราอุบัติการณ์ อัตราความชุก ผลการศึกษาอธิบายการเกิดโรคในประชากรสัตว์ ว่า เกิดอะไรขึ้น (What) เกิดกับใคร(Who) ที่ไหน(Where) เมื่อไร(When) และมากน้อยเพียงใด(How much)
  • การศึกษาชนิดนี้มีจุดประสงค์เพื่อทำให้ทราบถึงการกระจายของโรคหรือปัญหานั้นๆเกิดขึ้นในสถานที่(Place) กลุ่มประชากร(Person) และเวลาใด (Time) อันจะนำไปสู่การวางแผนแก้ไขปัญหานั้น
  • เป็นการศึกษาขึ้นพื้นฐานเพื่อทำความเข้าใจลักษณะของโรคและการกระจายของโรคนั้นไปตามลักษณะต่าง ๆ ซึ่งจะสามารถนำไปสู่การสร้างสมมติฐานเพื่อศึกษาเพิ่มเติมต่อไปให้เข้าใจถึงสาเหตุและวิธีการถ่ายทอดโรคนั้นๆ
  • ตัวอย่าง การศึกษาการเกิดและแพร่กระจายของโรคไข้หวัดสัตว์ปีก ในประเทศเกาหลี ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอุบัติการณ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดสัตว์ปีกสายพันธุ์ต่างๆ โดยการสำรวจหาเชื้อไวรัสไข้หวัดสัตว์ปีก ในตลาดไก่ที่มีชีวิต การศึกษาในลักษณะนี้ นอกจากจะสามารถประเมินอุบัติการณ์หรือความชุกของโรคแล้ว ยังสามารถใช้ยืนยันการปลอดจากโรคได้อีกด้วย

2. การศึกษาระบาดวิทยาเชิงวิเคราะห์

  • เป็นการศึกษาวิเคราะห์ค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างโรค

   (Outcome หรือ Disease) และปัจจัยที่สงสัยว่าจะเป็นสาเหตุของโรคหรือปัญหา (Exposure) เป็นการพิสูจน์ยืนยันให้ชัดเจนว่า ปัจจัยที่สงสัยนั้น เป็นสาเหตุของการเกิดโรคนั้นๆหรือไม่ การศึกษานี้จึงมีจุดประสงค์เพื่ออธิบายถึงสาเหตุ (Determinant) ของการเกิดโรค ซึ่งในการศึกษาชนิดนี้สามารถทำการศึกษาได้ทั้งแบบย้อนหลัง ระยะสั้น หรือแบบไปข้างหน้า รูปแบบวิธีการมักจะมีกลุ่มประชากรศึกษาเปรียบเทียบหรืออ้างอิง โดยจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการพิจารณาเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือ ความถูกต้อง ความไว ความลำเอียง ความผิดพลาดหรืออคติชนิดต่างๆด้วย

  • เป็นการศึกษา เพื่อหาสาเหตุของการเกิดโรค หรือ สถานการณ์ที่สนใจ โดยใช้ รูปแบบการศึกษา และ การวิเคราะห์ทางสถิติ ช่วยในการตอบข้อสงสัย
  • เป็นการศึกษาปัญหาขั้นถัดไปโดยพิสูจน์สมมติฐานที่ได้จากการศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนา เพื่ออธิบายให้เข้าใจยิ่งขึ้นว่าปัญหานั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร
  • ตัวอย่าง เช่น การศึกษาปัจจัยเสี่ยงของการพบเชื้อแบคทีเรียที่ต้านทานยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์ ซึ่ง การใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มเป็นปัจจัยที่เพิ่มโอกาสของการพบเชื้อแบคทีเรีย ที่ต้านทานยาปฏิชีวนะ ผลการศึกษาลักษณะนี้ สามารถนำไปใช้กำหนดมาตรการในการป้องกันหรือควบคุมโรคได้โดยตรง

3. การศึกษาระบาดวิทยาเชิงทดลอง

  • การศึกษาชนิดนี้มีจุดประสงค์เพื่อตอบคำถามให้ชัดเจนยิ่งขึ้นในการพิสูจน์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค ผลของศึกษาทดลองวัดได้โดยเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับปัจจัยที่กำหนดให้นั้น เกิดผลหรือไม่เกิดผลแตกต่างจากกลุ่มที่ไม่ได้รับปัจจัยนั้นหรือไม่ อย่างไร
  • เป็นการศึกษาปัญหาขั้นสุดท้ายโดยทดลองให้เห็นจริงเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการนำผลไปใช้ขั้นต่อไป
  • เป็นการศึกษาเพื่อ ค้นหาวิธีใหม่ๆ เช่น วีธีการรักษา วัคซีน
  • เช่น การทดลองวิธีการติดต่อของพยาธิ Trichinella spp. ซึ่งเป็นพยาธิตัวกลมในเนื้อสุกร จากสิ่งแวดล้อมไปสู่ม้าซึ่งเป็นสัตว์กินพืช โดยผ่านการบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อนเนื้อสัตว์ เป็นต้น

4.การศึกษาทฤษฎีทางระบาดวิทยา

  • คือ การสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อทำนายรูปแบบการระบาดของโรค การศึกษาในลักษณะนี้ เป็นการใช้ข้อมูลการระบาดของโรคครั้งที่ผ่านมา เพื่อทำนายทิศทาง ความรุนแรง ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโรคในอนาคต ตลอดจนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกัน เช่น การใช้แบบจำลองทำนายการแพร่กระจายของโรค FMD ในประเทศอังกฤษ

      ซึ่งทำนายการระบาดในวงกว้างหากไม่ทำการกำจัดสัตว์ป่วยอย่างรวดเร็ว   อันเป็นที่มาของมาตรการทำลายสัตว์ป่วยภายใน 24 ชั่วโมง ของการตรวจพบเพื่อควบคุมโรค เป็นต้น

 

งานระบาดวิทยากับงานสัตวแพทย์

1.งานบริการสุขภาพสัตว์รายตัว

2.งานจัดการสุขภาพฝูงสัตว์

3.งานสัตวแพทย์สาธารณสุข

 

วิธีการพื้นฐาน Basic approch

  • วิธีการศึกษาทางวิทยาการระบาดโดยทั่วไป ประกอบด้วยขั้นตอน หลักๆ ดังต่อไปนี้

        1 .ศึกษารวบรวมข้อเท็จจริง

        2. การตั้งสมมติฐาน

        3. การวิเคราะห์สมมติฐาน

        4. การทดลองเพื่อทดสอบสมมติฐาน

        5. วิธีวิทยาการระบาดเชิงทฤษฎี 

1 . ศึกษารวบรวมข้อเท็จจริง

  • เป็นการสังเกต บันทึกข้อเท็จจริง เกี่ยวกับโรค ในกลุ่มประชากร ซึ่งส่วนใหญ่ แล้วจะได้ ข้อเท็จจริง จากการใช้เทคนิคในการสำรวจ ซึ่งจะเป็นการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับธรรมชาติและความสำคัญของการเกิดโรค ซึ่งต้องระลึกไว้เสมอ ว่าข้อมูลที่ได้จะต้องเป็นข้อเท็จจริงไม่ใช่ สมมติฐาน
  • โรคที่เราทำการศึกษา จะต้องแยกออกจากโรคอื่นๆ อย่างชัดเจน
  • ตัวแปรต่างๆ ที่เราจะต้องศึกษา รวบรวมข้อเท็จจริง ได้แก่ เรื่อง เวลา สถานที่ และ กลุ่มประชากร

เวลา พิจารณารายละเอียดในเรื่อง เวลาที่เกี่ยวข้องกับปี ฤดูกาล เดือน วัน  หรือบางเรื่องอาจศึกษาถึงระดับชั่วโมง เช่น การศึกษาเกี่ยวกับอาหารเป็นพิษ   ซึ่งจากการศึกษาเรื่องเวลา จะทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับอิทธิพลของฤดูกาล  ระยะฟักตัวของโรค  เป็นต้น

สถานที่  การกระจายของโรค ตามสภาพทางภูมิศาสตร์ จะมีความเกี่ยวข้อง กับสภาพทาง นิเวศน์วิทยา  การขาดสารอาหาร การมีพาหะนำโรคต่างๆ  โรคที่เกี่ยวข้อง กับการประกอบอาชีพ   

ประชากร ปัจจัยต่างๆ เกี่ยวกับประชากร เช่น ชนิดสัตว์  พันธุ์สัตว์  เป็นปัจจัยที่จะต้องนำมาพิจารณาประกอบในการศึกษาเกี่ยวกับโรค

 

2 . การตั้งสมมติฐาน

  • เราสามารถ ตั้งสมมติฐานได้โดยวิธีการหลักๆ 4 วิธี ดังต่อไปนี้

  2.1 วิธีใช้ความแตกต่าง (Method of difference)

  2.2 วิธีการใช้ความเหมือนกัน(Method of agreement)

  2.3 วิธีใช้ความผันแปรไปด้วยกัน (Method of concomitant variation )

  2.4 วิธีเปรียบเทียบกับความรู้ที่มีอยู่ (Method of analogy)

2.1 วิธีใช้ความแตกต่าง (method  of difference)

   ถ้าความถี่ของการเกิดโรคมีความแตกต่างกันภายใต้สถานการณ์ 2 แบบ ที่แตกต่างกัน อาจจะบ่งชี้ถึงสาเหตุของการเกิดโรค ซึ่งเมื่อมีการเปรียบเทียบ 2 สถานการณ์ ที่แตกต่างกันแล้ว อาจพบปัจจัยที่มีความแตกต่างกันมากที่สุด การศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการเกิด ในสุกร แอฟริกา กับสุกรไทย อาจมีหลายปัจจัยมากเข้ามาเกี่ยวข้อง  แต่การพบว่ามีความชุก ของโรค mannosidosis ในโคพันธุ์ แองกัส ในขณะที่ไม่พบโรคนี้โคพันธุ์ อื่นๆ แสดงว่า ปัจจัยทางพันธุกรรม มีผลต่อโรค

2.2 วิธีการใช้ความเหมือนกัน(Method of agreement)

 ยกตัวอย่าง การตั้งสมมติฐานโดยใช้วิธีการนี้ เช่น การพบว่าการมีการเกิดโรค Salmonellosis ในอัตราใกล้เคียงกันในสุกรที่มีการเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ ที่มีปัจจัยหลายๆอย่าง แตกต่างกัน มีเพียงปัจจัยเดียวที่เหมือนกันคือ การใช้ อาหารที่ผสมกระดูกป่น จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ทำให้เราตั้งสมมติฐาน ได้ว่า การให้อาหารที่ผสมกระดูกป่นจากข้อเท็จจริงดังกล่าว ทำให้เราตั้งสมมติฐาน ได้ว่า การให้อาหารที่ผสมกระดูกป่น  มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดโรค Salmonellosis

2.3 วิธีใช้ความผันแปรไปด้วยกัน (Method of concomitant variation )

วิธีนี้เป็นการตั้งสมมติฐาน โดยใช้ความเข้ม หรือ ความถี่ของปัจจัยที่มีความแตกต่างกันแล้ว มีผลให้ความถี่ของการเกิดโรคแตกต่างกัน เช่น ประชากรสัตว์ 2 กลุ่ม ที่ดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคต่างกัน   จะทำให้ มีความถี่ของการป่วย   แตกต่างกัน

2.4 วิธีเปรียบเทียบกับความรู้ที่มีอยู่ (Method of analogy)

วิธีนี้ใช้การเปรียบเทียบรูปแบบของการเกิดโรค..โรคหนึ่ง ที่เรายังไม่ทราบแน่ชัด กับ อีกโรคหนึ่งที่เรามีความรู้ ความเข้าใจ อย่างชัดเจนแล้ว ถึงแม้วิธีการนี้จะมีข้อผิดพลาด ทำให้เราเข้าใจในบางเรื่องผิด แต่ก็เป็นวิธีการที่มีประโยชน์ ประหยัดเวลาในการศึกษา

3.การวิเคราะห์สมมติฐาน

  • การวิเคราะห์เพื่อทดสอบสมมติฐาน

 โดยการวิเคราะห์ แบบย้อนหลัง (Retrospective)  หรือปกติมักใช้วิธี Case control หรือ วิเคราะห์ แบบมองไปข้างหน้า (Prospectiveหรือ Cohort)

 

  • Retrospective เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่แล้ว ได้จากการสำรวจ การศึกษาทางคินิก หรือ ข้อมูลที่มีการตีพิมพ์ตามแหล่งต่างๆ
  • Prospective หรือ Cohort จะมีการแบ่งประชากรออกเป็นกลุ่ม ควบคุม กลุ่มทดสอบ ก่อนแล้วจึงทำการศึกษา

 4 . การทดสอบสมมติฐานโดยการทดลอง

ในทางสัตวแพทย์ ทำได้ง่ายกว่าการทดลองในคนมาก และโดยทั่วไปแล้วการทดสอบสมมติฐานโดยการทดลองนี้ เป็นวิธีการขั้นสุดท้าย ที่ใช้ในการทดสอบ เพื่อความแน่ใจว่าสมมติฐานดังกล่าวถูกต้องหรือไม่

5. วิธีวิทยาการระบาดเชิงทฤษฎี

เช่น   การสร้างแบบจำลอง  การวิเคราะห์โดยคอมพิวเตอร์  การวิเคราะห์ระบบ เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 271259เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2009 16:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

พี่เก่งน่ารัก

พี่โตโน่

น้องมุกรักพี่เก่ง

นองมุกรักพี่โตโน่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท