บันทึกการปฏิบัติงานของ"สี่ดรุณี"...(2)


ได้ความรู้จากการบันทึกประสบการณ์การทำงานอย่างละเอียด..."โดยไม่คาดคิด"
ต่อจาก "บันทึกฯสี่ดรุณี"ตอนที่1 เพราะพี่เม่ยมีความคิดที่จะปรับปรุงภาระงานของนักเทคนิคการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ใหม่ ให้เหมาะสมกับปริมาณงานและกำลังคนในเวลาปัจจุบัน  จึงต้องนำบันทึกปฏิบัติงานที่เราได้บันทึกกิจกรรมต่างๆในความรับผิดชอบมาทบทวนดู ...เป้าหมายก็คือเพื่อหาข้อมูลจริงจากหน้างานกันไปเลย...
พี่เม่ยเลือกดูย้อนหลังกลับไป ก็พบการเดินทางของ KM ที่เข้ามาหาพวกเราแบบ "ไม่รู้ตัว" จริงๆค่ะ...
  • ช่วงสองปีแรกที่เริ่มต้นการใช้บันทึกใหม่ๆ  การบันทึกของทุกคนจะเป็นลักษณะของการรายงานกิจกรรม เช่น วันนี้เตรียมน้ำยา lot ใหม่... วันนี้เบิกน้ำยา A, B, C เรียบร้อยแล้ว.... วันนี้ส่งใบสั่งซื้อสารเคมีไปแล้ว ฝากตามด้วย....หรือ ฝากทดสอบราย...ซ้ำอีกครั้งด้วย เพราะไม่แน่ใจ.... เป็นต้น ยังไม่พบประเด็นความรู้ใหม่อะไร นอกจากการมอบหมายงานที่เป็นระบบมากขึ้นกว่าการบอกด้วยปากเปล่า  และช่วยลดปัญหาช่องว่างในการส่งต่องานเมื่อมีการหมุนเวียนจุดปฏิบัติงานได้
  • สองปีถัดมา...เอ๊ะ! สะดุดตาเมื่อเริ่มเห็นการบันทึกปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติงานลงในสมุด  บางปัญหาก็บันทึกการแก้ไขไว้ด้วย บางปัญหาก็โยนค้างไว้ และเครื่องหมายดอกจันแดงๆว่า ระวัง!นะอาจจะเจอแบบนี้... 
    มีช่างมาซ่อมเครื่องมือ แนะนำอะไรใหม่ๆไว้ก็บันทึกไว้ คนตามหลังมาอ่านก็ได้รู้...ทุกคนเริ่มที่จะบันทึกประสบการณ์ในการทำงานของตนเองลงเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในสมุดส่งงาน และถ่ายทอดวิธีการทำงาน (เช่นการแก้ไขปัญหา...การติดต่อประสานงาน...)ไว้ให้คนอื่นอ่านด้วย
  • ถัดมาอีกสองสามปี ข้อมูลในบันทึกฯเริ่มมีคุณค่ามากขึ้น  พี่เม่ยได้พบความรู้ใหม่จากหลายๆบันทึกของดรุณีทั้งสี่ บางเรื่องบันทึกกันเป็นหน้าๆเลยค่ะ เช่นบันทึกของดรุณีน้อยนามว่า "น้องหรู" ...ที่บันทึกไว้ว่า...
  1. พบปัญหาการย้อมสีพิเศษ (PAS staining) เมื่อเม็ดเลือดขาวที่เป็นผลบวกควบคุมกลับย้อมไม่ติดสี
  2. ทำการทบทวนตรวจสอบน้ำยาทุกตัว คือน้ำยาตัวที่ 1 และน้ำยาตัวที่ 2... 
  3. ประสานงานกับผู้เตรียมน้ำยาให้เตรียมใหม่ ยังใช้งานไม่ได้อีก
  4. เตรียมน้ำยาใหม่อีก คราวนี้เน้นควบคุมทุกขั้นตอนการเตรียมตั้งแต่ตรวจสอบสารเคมีว่ามีการเปลี่ยนlot หรือไม่ ใช้น้ำกลั่นจากแหล่งเตรียมใด...
  5. ได้น้ำยาใหม่มา ก็ทดสอบเปรียบเทียบสลับกับน้ำยาเดิม เพื่อหาว่าน้ำยาตัวใดคือ "ตัวปัญหา"
  6. หาสาเหตุของปัญหา และสรุปว่าควรระมัดระวังในขั้นตอนใดบ้าง
  7. เสนอแนวทางการสต็อคน้ำยาใหม่ให้เหมาะสมกับการใช้งานและอายุของน้ำยาซึ่งพบว่า "สั้น" กว่าที่ตำราได้อ้างอิงไว้
คำตอบที่ได้จากทุกขั้นตอนเหล่านี้หาไม่ได้จากตำราค่ะ..."ตำราจะบอกไว้แต่เพียงวิธีที่ดีที่สุด แต่ไม่ได้บอกถึงปัญหาและวิธีแก้ไขอย่างที่เราประสบในการปฏิบัติงานจริงไว้  บันทึกฯนี้ บอกเราได้ค่ะ"  แบบนี้คนที่รับงานต่อก็สบายเลยค่ะ...
พี่เม่ยนำบันทึกฯมาทบทวนในครั้งนี้ นอกจากจะได้แนวคิดในการจัดแบ่งงานให้เหมาะสมกับปริมาณงานและกำลังคนแล้ว  ยังได้ความรู้ใหม่จากบันทึกของดรุณีน้อยทั้งหลายโดยไม่คาดคิด ความรู้นี้มีหลักฐานแสดงที่มาที่ไปอย่างชัดแจ้ง มีรายละเอียดและเชื่อมโยงแหล่งข้อมูลไว้เรียบร้อย....
KM เนียน เนี้ยน เนียน ในเนื้องานจริงๆค่ะ
หมายเลขบันทึก: 27093เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2006 20:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 10:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

 เรียนพี่เม่ย

 ตำรา เหมือน ตำ แล้ว ลา

 ประสบการณ์ ยิ่ง ทำ ยิ่งตำ(เสมือน ตำส้มตำ) ยิ่งนาน ยิ่งเชี่ยวชาญ มีแต่ พัฒนา

อย่างนี้ อีก 3 ดรุณีที่กล่าวถึง ก็เป็นนักบันทึกเจนเวทีด้วยซิ แต่เอ๊ะ ไม่ค่อยเห็นบันทึนบนบล็อกบ้างเลย

 

เรียน อ.หมอ JJ ค่ะ
ปกติพี่เม่ยก็ชื่นชอบ ส้มตำ อยู่แล้ว พออาจารย์บอกว่าการใช้ประสบการณ์เพื่อพัฒนางานเหมือนการตำส้มตำ ก็ยิ่งมีกำลังใจที่จะทำต่อไปข้างหน้าเรื่อยๆค่ะ......ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ
เรียน ท่านCKO ค่ะ
  • อีก 3 ดรุณีของพี่เม่ยนั้น เป็นทั้งนักบันทึก นักสังเกตและนักพัฒนาด้วยค่ะ
  • ส่วนเรื่องการเขียนบันทึกบนบล็อก พี่เม่ยคิดว่าต้องให้เวลาสำหรับความ "พร้อม" ของแต่ละท่านค่ะ!
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท