ThaiLivingWill
โครงการ ส่งเสริมการใช้สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

ขอตายที่บ้าน


“ผมอยากตายอย่างปลอดภัย หมายถึง การได้อยู่กับ ภรรยา ลูกหลาน ญาติ การตายที่บ้าน ท่ามกลางครอบครัวเป็นการตายที่สมบูรณ์ ถ้าตายที่โรงพยาบาล มันเหงา ไม่มีเพื่อน แล้วเราจะกลัว”

ใบไม้

หลายคนแสดงความปรารถนาที่จะตายที่บ้าน “ผมอยากตายอย่างปลอดภัย หมายถึง การได้อยู่กับ ภรรยา ลูกหลาน ญาติ การตายที่บ้าน ท่ามกลางครอบครัวเป็นการตายที่สมบูรณ์ ถ้าตายที่โรงพยาบาล มันเหงา ไม่มีเพื่อน แล้วเราจะกลัว” เป็นคำพูดจากลุงน้อย หนึ่งในผู้สนใจร่วมในเวทีรับฟัง ฯ


นายแพทย์พรเลิศ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “หลายคนปรารถนาจะตายที่บ้าน ถ้าทำได้ดังปรารถนาก็ถือว่ามีบุญ เพราะไม่ง่ายเลยที่ปัจจุบันคนเราจะตายที่บ้าน ในเวลาที่เราเจ็บป่วยทรมาน เช่น เลือดออก หายใจไม่ได้ หากกลับไปดูแลกันเองที่บ้านจะเป็นปัญหาพอสมควร ใครจะดูแล ดูแลได้ไหม”

“บางคนจึงไม่กลับบ้าน แต่อยู่โรงพยาบาลเพราะ ไม่อยากให้เป็นภาระกับญาติ”
ดังนั้นใครก็ตามที่ปรารถนาจะตายที่บ้านอาจต้องมีการสื่อสารพูดคุยกับญาติและแพทย์เสียก่อน ตั้งแต่ต้น ศ. แสวงกล่าว

เรื่องการใส่ท่อและเครื่องมือกู้ (หรือยืด)ชีวิต เป็นเรื่องที่ต้องใช้การพูดคุยและทำความเข้าใจร่วมกันหากใส่ท่อไปแล้ว อยากจะถอดออก และถ้าถอดท่อออกไป เกิดผู้ป่วยมีปัญหา เราจะรู้สึกว่าเป็นเหตุให้เกิดสิ่งนั้น ๆ หลายคนจึงไม่กล้าทำอะไร” นายแพทย์พรเลิศกล่าว “หรือบางที เรากังวลว่า หากเราไม่ใส่ท่อ จะเป็นการตัดโอกาสผู้ป่วยหรือไม่”

“ถ้าเราเห็นประโยชน์ชัดว่า การช่วยเหลือด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีต่าง ๆ จะช่วยได้ ก็อยากแนะนำให้ดำเนินการ แต่หากดูแล้วเห็นประโยชน์ไม่ชัด โอกาสก็น้อย เราอาจเลือกหนทางอื่นได้”
หมายเลขบันทึก: 270545เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2009 07:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

 

เรื่องการใส่ท่อและเครื่องมือกู้(หรือยืด)ชีวิต เป็นเรื่องที่ต้องใช้การพูดคุยและทำความเข้าใจร่วมกันหากใส่ท่อไปแล้ว อยากจะถอดออก และถ้าถอดท่อออกไป เกิดผู้ป่วยมีปัญหา เราจะรู้สึกว่าเป็นเหตุให้เกิดสิ่งนั้น ๆ หลายคนจึงไม่กล้าทำอะไรนายแพทย์พรเลิศกล่าว หรือบางที เรากังวลว่า หากเราไม่ใส่ท่อ จะเป็นการตัดโอกาสผู้ป่วยหรือไม่

ดิฉันเข้าใจและเห็นใจในเรื่องนี้คะ ไม่อยากว่าคุณหมอ หรือนางพยาบาล  แม่พึ่งเสียชีวิต ก่อนที่จะเสียชีวิต แม่ได้รับการใส่ท่อจากคุณหมอ เพื่อช่วยในการหายใจ พูดๆก็คือการให้โอกาส หรือต่อชีวิต

แต่ทำไม ท่อที่ให้ ที่ยัดลงไป แม่ดิ้นทุรนทุราย ไม่ยอมรับ และขัดขืน  พอใส่เข้าไปแล้ว แม่พยายามจะดึงออก ซึ่งตามความคิดของดิฉัน เห็นว่า เป็นการช่วย แต่แม่ทรมานมาก ดิ้นอยู่ตลอดเวลา แสดงว่ามันไม่ได้เป็นเครื่องช่วย หายใจ หรือยื้อชีวิตหรอก  เป็นเครื่องทรมานคนแก่มากกว่า  ถ้าเอาออกก็ต้องตาย    

ใส่ไปวันต่อมาแม่ก็ตายอยู่ดี ไม่รู้ตายเพราะเครื่องนี้หรือเปล่า ลิ้นจุกปาก เหมือนคนโดนบีบคอ แต่ก็ไม่ได้ว่าหมอหรอกคะ เพราะแม่ ท่านอายุ 80 แล้ว ถึงช่วยได้ ก็เป็นอัมพาต นอนเป็นเจ้าหญิงนิทรา รู้สึกว่า ลิ้นของแม่จะแข็ง ปากจะเบี้ยว ซึ่งหมอบอกว่า ซีกหนึ่งเป็นอัมพาตแล้ว เข้าใจว่าลิ้นแม่แข็ง แล้วยิ่งยัดสายลงไป มันไปถูกท่อหายใจหรือเปล่า มีเลือดออกมาด้วย  ดิฉันได้แต่คิด แต่ก็ต้องเฉย เพราะคุณหมอก็พยายามช่วยเต็มที่แล้ว  เวลามันฉุกละหุกด้วย

                 หมอบอกว่า แม่อยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยหายใจ  และตอนนี้ร่างกายของแม่ ไม่รับยา ไม่รับอาหาร  ถือว่าอวัยวะทั้งหลาย สมองไม่สั่งการแล้ว  อยู่ที่ว่าดิฉันจะต้องคัดสินใจ  ดิฉันไม่อยากจะให้แม่ต้องทรมานด้วยสายหายใจ อีก  แล้วแต่หมอจะทำ  ตอนดึงสายหายใจออกจากลำคอ  นางพยาบาลต้องใช้กำลังดึงโดยรวดเร็ว  อกของแม่แอ่นตามแรงดึง กว่าสายนั้นจะหลุดพ้นออกมาจากลำคอ มันไม่สั้นเลย ทั้งที่แม่ไม่รู้สึกตัว นำตาแม่ไหลรินออกมาข้างหนึ่ง ลูกไปเช็ดให้ แม่คงจะเจ็บปวดมากนะ  ตอนดึงสายออกมา แม่พูดไม่ได้ ตาก็ไม่ลืม ไม่รู้สึกตัวอะไรทั้งสิ้น ถ้าแม่พูดได้ แม่ก็จะว่า ให้เขามาทรมานแม่ทำไม

 

 ลองอ่าน thailivingwill

คิดว่าในกรณีนี้อาจไม่ได้มีการทำ living will ไว้

แต่ในสังคมถ้ามีคนเข้าใจว่าการทำ living will ไม่ได้เป็นการแช่ง

แต่เป็นการเตรียมการณ์ไว้ไม่ประมาท และป้องกันการฟ้องร้องแพทย์ด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท