คนไทย...คอร์รัปชันโดยสายเลือด ?


การอธิฐาน คือ ความตั้งใจมั่นคง ตัดสินใจแน่นอนที่จะทำความดี เช่น ตั้งใจเรียนรู้ ตั้งใจรักษาสัจจะ ตั้งใจประกอบความเพียร ตั้งใจเสียสละ ตั้งใจทำบุญ ตั้งใจหาความสงบ เป็นต้น (พระธรรมกิตติวงศ์, ๒๕๔๖)

คนไทย...คอร์รัปชันโดยสายเลือด ?

 

ผมใช้ชื่อบันทึกนี้อย่าพึ่งบอกว่าแรงไปนะครับถ้ายังอ่านไม่จบ เพราะผมอยากจะชวนทุกท่านลองหันมาดูอีกมุมหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวันของเราชาวไทย ที่อาจจะนำมาสู่ปัญหาคอร์รัปชันในบ้านเราที่ยากแก่การแก้ไข

 

คอร์รัปชัน (Corruption) ตามความหมายของ Oxford Dictionary ฉบับ English – Thai ให้ความหมายไว้ว่า ความเสื่อมทรามทางศีลธรรม การฉ้อราษฎร์บังหลวง การทุจริต ซึ่งตามความหมายนี้ อาจจะตีความถึงการกระทำใดๆ ที่ไม่อยู่ในกรอบกฎหมาย จริยธรรม กฎระเบียบ ศีลธรรม ความดีงามของสังคม เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์แก่ตัวเองและพวกพ้อง ไม่ว่าจะด้วยการติดสินบน การข่มขู่ การใช้อำนาจบังคับ หรืออะไรก็ตามแต่ โดยบ่อยครั้งเราจะเห็นการคอร์รัปชันนี้เกิดขึ้นในสังคมไทยเราเสมอ

 

ขยับเข้ามาใกล้ตัวอีกนิด ในประเด็นของการติดสินบน  เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ เราลองหันกลับมามองการใช้ชีวิตประจำวันของเราสักนิดดีไหมครับ เพราะจริงๆ แล้วเราอาจจะมีนิสัยติดสินบนโดยสายเลือดอยู่ไม่น้อย !!!

 

นับตั้งแต่ การอธิษฐานขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ บ่อยครั้งที่เราเข้าใจเสมอว่าการอธิษฐาน เป็นการ ตั้งใจมุ่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง การตั้งจิตร้องขอสิ่งใดสิ่งหนึ่ง การนึกปรารถนาสิ่งที่ต้องการ จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น ตั้งจิตอธิษฐานขอพรจากพระ นึกอธิษฐานในใจขอให้เดินทางแคล้วคลาด เป็นต้น

 

บ่อยครั้งนอกจากเราจะอธิษฐาน “เพื่อขอ” แล้ว เรายัง “ติดสินบน” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อีกด้วย เช่น ถ้าได้ตามที่อธิษฐานแล้วจะถวายสิ่งของ อาหารต่างๆ เป็นต้น ทำให้เทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็เลยพลอย “รับสินบน” ไปตามๆ กันถ้าผลของการอธิษฐานนั้นเป็นจริง

 

ทั้งที่แท้จริงแล้วตามแก่นของศาสนา การอธิฐาน คือ ความตั้งใจมั่นคง ตัดสินใจแน่นอนที่จะทำความดี เช่น ตั้งใจเรียนรู้ ตั้งใจรักษาสัจจะ ตั้งใจประกอบความเพียร ตั้งใจเสียสละ ตั้งใจทำบุญ ตั้งใจหาความสงบ เป็นต้น (พระธรรมกิตติวงศ์, ๒๕๔๖) ซึ่งหากยึดตามความหมายนี้แล้ว หลังจากเราตั้งจิตอธิษฐานแล้ว ต้องหมั่นตั้งใจมั่นที่จะทำให้สิ่งที่เราต้องการเกิดขึ้นด้วยการกระทำของเราเอง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ก็ไม่ต้องมาแบกรับ “สินบน” ที่เรายัดเยียดให้ แต่เราได้ระลึกถึงความดีของท่านมายึดเหนี่ยว และตั้งมั่น ตั้งใจทำให้สิ่งที่เราต้องการเกิดขึ้นเอง

 

ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม เราคงชินตากับการ “(ติดสิน) บน” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของนักเรียน นักศึกษา ก่อนการสอบเข้าเรียนต่อ ที่จบลงด้วยการอธิษฐานว่าถ้าสอบได้ จะถวาย (ให้สินบน) แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น แต่หากการขอนั้นไม่ได้ประกอบกับการตั้งใจ ตั้งมั่น ที่จะอ่านหนังสือและเตรียมตัวสอบ การสอบคงไม่อาจประสบความสำเร็จได้

 

ที่ยกตัวอย่างนี้มาก็เพราะเป็นการเริ่มมีพฤติกรรมการ (ติดสิน) บน ในขณะที่อายุยังน้อย จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นนิสัยที่ติดตัวมาเสมือนหนึ่งเป็น “สายเลือด” ที่นำมาสู่การคอร์รัปชันได้ในอนาคต เพราะพอเรียนจบจะเข้าทำงาน แทนที่จะตั้งใจเตรียมตัวสอบแข่งขัน กลับมานั่งไล่ดูว่ามีญาติพี่น้องทำงานอยู่ที่ไหนบ้างที่จะพอช่วยเหลือได้ หรือถ้าไม่มีจะต้องใช้เงินเท่าไหร่ในการ “ติดสินบน” เพื่อให้ได้เข้าทำงานในตำแหน่งนั้น จนเราเห็นเป็นข่าวอยู่จนชินในทุกวันนี้ แน่นอนว่าปัญหาต่างๆ ที่ตามมาก็จะขยายวงออกไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ดังนั้นเราควรร่วมกันสร้างค่านิยมใหม่ที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นในสังคม โดยการปลูกฝังความหมายที่แท้จริงของการเป็นพุทธศาสนิกชน เริ่มด้วยการสร้างค่านิยมใหม่ในการอธิษฐานจิต ที่ทุกครั้งให้ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธองค์ มุ่งมั่นทำความดี รักษาศีล และตั้งใจปฏิบัติตนตามหน้าที่ให้ดีที่สุด ความสำเร็จ จึงจะเกิดขึ้นจากความดี และความเพียรของเราเอง ในขณะเดียวกันการกระทำแบบนั้นจะเป็นเกราะป้องกันที่แข็งแกร่งและยั่งยืนต่อการคอร์รัปชัน และการทำชั่วในรูปแบบต่างๆ เพราะเกราะนั้น คือ ความดีที่บริสุทธิ์ นั่นเอง

 

ด้วยความเคารพรัก,

หมายเลขบันทึก: 270028เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2009 14:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท