มิสเตอร์ฆ่ายุง รับซื้อศพยุง


แมกกาซีนแปลก ฉบับวันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน 2552

มิสเตอร์ฆ่ายุง...รับซื้อยุง

ช่วงนี้มีข่าวการแพร่ระบาดของโรคชิคุนกุนยาในแถบภาคใต้ซึ่งสาเหตุของโรคมาจากยุงลาย ความจริงโรคนี้ก็ไม่ใช่โรคใหม่อะไรเพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งโดยเกิดขึ้นครั้งแรกในทวีปอัฟริกาและในไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่พบโรคนี้พร้อมกับช่วงที่มีไข้เลือดออกระบาดเมื่อปีพ.ศ.2501 แต่กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งในปีนี้ ทางที่ดีเราควรป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัดไว้เป็นดีที่สุด จะว่าไปประเทศเมืองร้อนอย่างบ้านเราต้องพบกับปัญหาแมลงซึ่งเรียกว่าเป็นสัตว์ใกล้ตัวที่สร้างความรำคาญให้กับทุกบ้าน แถมยังเป็นพาหะนำโรค โดยเฉพาะเจ้ายุงซึ่งเผลอไม่ได้เป็นต้องกัดเลือดเราตลอดและเป็นเช่นนี้มานานแล้ว ยุงนั้นเป็นแมลงชนิดหนึ่งที่มีชีวิตอยู่คู่โลกมานานกว่า 2,000 ปีและมันจะยังคงอยู่ต่อไป ยุงชอบอากาศร้อนอาศัยอยู่ในภูมิประเทศร้อนชื้นกว่า 135 ประเทศทั่วโลกและมันก็มีมากมายหลายร้อยชนิด ไม่ว่าจะทำอย่างไรมันก็คงจะไม่หมดไปจากโลกนี้เพราะยุงสามารถปรับตัวเข้ากับบรรยากาศของโลกไม่ว่าหนาวหรือร้อนได้เป็นอย่างดี เจ้ายุงตัวเล็กๆมีฤทธิ์เหลือร้ายสามารถทำให้มนุษย์ตายได้ปีละหลายล้านคนจากโรคที่มียุงเป็นพาหะ ได้แก่ โรคไข้เลือดออกจากยุงลาย ไวรัสมาลาเรียจากยุงก้นป่อง เชื้อไข้สมองอักเสบหรือโรคเท้าช้างจากยุงรำคาญ เป็นต้น

            สำหรับการป้องกันและกำจัดยุงนั้น ได้มีการคิดวิธีการหลากหลายวิธีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น การฉีดพ่นหมอกควันทำลายยุง ทายากันยุง จุดยากันยุง ปลูกต้นไม้ไล่ยุง หรือไม่ก็พ่นยาฆ่ายุง ซึ่งวิธีการเหล่านี้ล้วนมีผลต่อสภาพแวดล้อม และก็มีวิธีการแบบอ้อมๆที่ถูกบรรจุเป็นหลักสูตรให้เราเรียนกันในวิชาสร้างเสริมลักษณะนิสัย (สลน.) ตั้งแต่สมัยประถม (ชื่อเรียกวิชาในสมัยผู้เขียนเรียนซึ่งไม่รู้ปัจจุบันวิชานี้ใช้ชื่อว่าอะไร) ซึ่งสอนกันมาว่าให้ใช้ทรายอะเบตใส่ในน้ำเพื่อป้องกันและทำลายลูกน้ำหรือทำลายแหล่งน้ำขังอันเป็นที่สำหรับยุงวางไข่ แต่ก็มีวิธีสุดท้ายที่ต้องลงทุนค่าอุปกรณ์สักหน่อยแต่สามารถทำลายยุงอย่างได้ผลโดยไม่สร้างมลพิษและไม่ใช้สารเคมีอีกทั้งสามารถดักจับยุงได้ปริมาณมากอีกด้วย นั่นคือวิธีการดักดูดยุงโดยใช้หลักการทางธรรมชาติ วิธีการนี้ใช้การเปิดหลอดไฟแบล็กไลต์ล่อให้ยุงบินเข้ามาใกล้และใช้กำลังจากใบพัดลมดูดยุงลงไปเก็บยังถุงตาข่ายด้านล่าง

            วิธีการดักยุงที่ใช้เครื่องดักดูดนี้แท้จริงได้ถูกใช้งานกันมานานแล้วในแวดวงชีววิทยา ในหมู่นักทดลอง นักวิชาการ เพื่อดักยุงและแมลงสำหรับการศึกษา จนต่อมาได้มีคนไทยคิดนำวิธีการนี้มาทำเป็นเครื่องดักยุงเพื่อการดักดูดยุงเป็นหลัก คนไทยคนนี้คือคุณอาณัติ ขำขจร ผู้ซึ่งได้รับฉายาว่ามิสเตอร์บัคคิวเลอร์หรือผู้ฆ่ายุงนั่นเอง คุณอาณัติเป็นคนไทยคนแรกที่ได้พัฒนาเครื่องดักยุงให้เหมาะสมกับการใช้งานมากขึ้น สามารถนำมาใช้กับบ้านพักอาศัย โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร สวน ไร่นา ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ซึ่งสถานที่ที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเป็นลูกค้าเครื่องดักยุงของเขาแทบทั้งสิ้น แม้กระทั่งต่างประเทศ อาทิเช่น มาเลเซีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ฯลฯ ก็ยังสั่งซื้อด้วย

คุณอาณัติ ขำขจร ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผุสดีทอง มัสคีโต อีเลคทริคอล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดักดูดยุง แมลงเอนกประสงค์ ลดปริมาณยุง แมลง และลดสารพิษ คุณอาณัติเป็นคนกรุงเทพฯ จบการศึกษาที่พาณิชยการสีลม ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญการประดิษฐ์คิดค้นแต่อย่างใด แต่ที่มาของผลงานกับดักยุงที่มีชื่อเสียงและส่งขายทั่วโลกนั้น เริ่มมาจากจุดเริ่มต้นตอนที่คุณอาณัติได้ไปทำธุรกิจค้าวัวที่จังหวัดพิจิตรในปี 2541 ช่วงปลายปีเกิดปัญหามียุงมากัดวัวมากมายจนวัวป่วยและตายลงและยุงยังได้สร้างความรำคาญให้ชาวบ้านในระแวกใกล้เคียง คุณอาณัติจึงได้คิดหาทางแก้โดยเริ่มจากการซื้อเครื่องดัดยุงมาลองใช้ และก็พบว่าได้ผลดีมากสามารถดักยุงได้หลายกิโลกรัม (ยุงหนัก 1 กิโลกรัมมีประมาณ 350,000 ตัว) ต่อมาจึงได้ทดลองทำเครื่องดูดยุงขึ้นเองเพื่อลดต้นทุน ซึ่งเครื่องดูดยุงเครื่องแรกที่คิดค้นขึ้นทำจากเศษวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นและราคาไม่แพง มีกระป๋องและฝาหม้อข้าวมาเป็นส่วนประกอบ และเมื่อนำไปให้ชาวบ้านทดลองใช้ปรากฎว่าได้ผลดี ต่อมาภายหลังจึงได้ทำการพัฒนาไปเรื่อยๆจนกระทั่งได้รูปแบบที่ถูกยิ่งขึ้นแถมดักยุงได้มากกว่าเดิมจึงเริ่มผลิตส่งเข้าตีตลาดเป็นเจ้าแรก  

ช่วงแรกตลาดก็ทำท่าว่าจะไปได้ดีเพราะเครื่องดูดยุงของคุณอาณัติใช้ได้ผล แถมยังมีราคาถูกกว่ารายอื่นในท้องตลาด แต่ทำตลาดไปได้พักเดียวปรากฏว่ามีคู่แข่ง โดยเฉพาะโรงงานมอเตอร์ เพราะมอเตอร์เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ใช้เป็นพัดลมดูดยุง แต่แทนที่คุณอาณัติจะล้มเลิกเขากลับคิดหาไอเดียใหม่ๆมาตีตลาดด้วยการออกแบบเครื่องดักยุงให้มีรูปลักษณ์สวยงามน่าใช้และเหมาะแก่การใช้งานมากขึ้น โดยจากเดิมที่เครื่องดักยุงมักจะเป็นกระป๋องสีดำๆ ไปวางไว้ตรงไหนของบ้านก็ดูขี้เหร่ ๆ มิสเตอร์ฆ่ายุงได้ปฏิวัติปรับเปลี่ยนเครื่องดักยุงให้เข้ากับเฟอร์นิเจอร์แต่ละสไตล์  โดยเฉพาะทีเด็ดที่จ้างชาวบ้านที่เคยสานกระจาดกระด้งให้มาสานเครื่องดักยุงแทน ประดิษฐ์เป็นเครื่องดักยุงภูมิปัญญาไทยเก๋ไก๋ทันสมัย อัพเกรดสินค้าให้ขายได้ในตลาดหรูที่เน้นงานดีไซน์ และจากตลาดในประเทศคุณอาณัติมองไกลถึงตลาดส่งออก เครื่องดักยุงของมิสเตอร์บัคคิลเลอร์ได้ส่งขายไปยังประเทศมาเลเซียอีกด้วย เนื่องจากช่วงนั้นเกิดโรคไข้สมองอักเสบที่เกิดจากยุงระบาดหนักคนตายเป็นร้อย เพื่อนของคุณอาณัติที่อยู่ที่นั่นเห็นว่าเครื่องดักยุงใช้ได้ผลดีก็เลยสั่งให้คุณอาณัติทำส่งไปขายจนมีออเดอร์สั่งมาหลายร้อยเครื่อง เป็นจุดเริ่มของธุรกิจส่งขายยังต่างประเทศและได้จดลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายในปี 2542   

จะว่าไปแล้วต้นแบบของเจ้าเครื่องดักยุงนั้นความจริงมีชาวญี่ปุ่นประดิษฐ์ไว้นานแล้วถึง 50 ปี แต่คุณอาณัติเป็นผู้ริเริ่มนำมาพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ภูมิปัญญาไทยที่อยู่ในเครื่องดักยุง ชาติไหนเห็นก็สะดุดตาอยากซื้อหาไปประดับบ้าน เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ดูดยุงแบบปลอดสารพิษ ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงให้ร่างกายทรุดโทรม และที่สำคัญไอเดียนี้เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าจากหลักร้อยเป็นหลักพัน เครื่องดักยุงฝีมือคนไทยมีให้เลือกหลากหลายแบบโดยเน้นความปลอดภัยจากการใช้งานเป็นหลัก และได้จดสิทธิบัตรไว้ 10 กว่าแบบ บางแบบมีการพัฒนาติดตั้งวิทยุเพิ่มเข้าไปด้วย แบบที่ขายได้ดีที่สุดคือ TT2 ซึ่งเป็นรูปแบบที่พัฒนาจากถังน้ำ 20 ลิตร มีโครงสร้างทำจากวัสดุพิเศษไม่ใช่เศษวัสดุเหลือใช้ ซึ่ง TT2 นี้นอกจากขายให้หน่วยงานราชการแล้วยังได้ขายให้ญี่ปุ่น ที่เกาะมากัสก้า เครื่องดักยุงสามารถทำลายยุงอย่างได้ผลเพราะไม่ใช่เพียงไล่ยุงแต่ยังลดอัตราการวางไข่ของยุงได้โดยตรง

    ปัจจุบันเครื่องดักยุงของบริษัทผุสดีทอง มัสคีโต อีเลคทริคอล นี้มีวางจำหน่ายในร้านคลินิกหมอมวลชนทั่วประเทศประมาณ 150 สาขา ห้างแม็คโคร โดยกลุ่มลูกค้าที่มาซื้อหาไปใช้มีตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์โรงเรียน ร้านอาหาร โรงพยาบาล หรือแม้แต่ร้านอุปกรณ์ไฟฟ้าก็มาซื้อไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง สำหรับราคานั้นเครื่องดักยุงแบบที่ทำด้วยไม้จักรสาน จำหน่ายในราคา 2,000-2,200 บาท, เครื่องขนาดเล็กนั้นขายในราคา 1,200 บาท, ส่วนรุ่น TT2 ซึ่งเป็นรุ่นที่ขายได้ดีที่สุดขายในราคา 1,500 บาท และต่อไปจะจำหน่ายในราคาถูกลงราคาต่ำกว่า 1,000 บาท เพื่อให้ชาวบ้านได้มีโอกาสได้ใช้ สำหรับกำลังการผลิตนั้นบริษัทผุสดีทอง มัสคีโต อีเลคทริคอล มีโรงงานผลิตตั้งอยู่ที่จังหวัดพิจิตรและหนองแขม มีทีมงานกว่า 20 คน มีกำลังผลิต 3,000 เครื่องต่อเดือน ส่วนในเรื่องราคา เมื่อเห็นราคาหลายคนอาจจะคิดว่าแพงไปหรือเปล่าสำหรับการลงทุนฆ่ายุง แต่ถ้าไปเทียบกับของนอกซึ่งใช้งานได้ไม่ต่างกันนั้นเรียกว่าถูกกว่ามากเพราะของนอกเขาราคาเป็นหลักหมื่นหลักแสนใช้ก๊าซล่อยุง แต่เครื่องจับยุงของไทยราคาแค่หลักพัน  และพัฒนาก้าวไกลขนาดฝรั่งต้องสั่งซื้อนำไปขายในอิตาลี ออสเตรเลียโดยใช้ชื่อยี่ห้อ MR.BUG KILLER

 และคุณอาณัติยังได้ประกาศรับซื้อศพยุงหรือยุงที่ตายแล้วด้วย! คุณคงสงสัยว่าจะมีใครเอายุงมาขายให้เพราะโดยปกติแล้วกว่าเราจะหายุงมาได้แต่ละตัวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย คำตอบก็คือยุงที่ชาวบ้านเอามาขายนั้นก็มาจากยุงที่ตายเพราะเครื่องดักยุงของมิสเตอร์บัคคิวเลอร์นั่นเอง เวลาไปตั้งไว้ในที่ที่มียุงเยอะๆอย่างคอกเลี้ยงสัตว์ก็จะฆ่ายุงได้เป็นกิโลๆ เรียกว่าเวลาไปรับซื้อกันแต่ละทีนั้นได้ยุงรวมกันมากเป็นหลักร้อยกิโลเลยก็ว่าได้ ส่วนราคาค่าตัวยุงนั้นก็ไม่ได้สูงเท่าไรคิดราคากันเป็นกิโล กิโลละ 10 บาทเท่านั้น  แต่อาศัยว่าอย่างน้อยก็ยังขายเป็นเงินได้ดีกว่าทิ้งไปเฉยๆ สำหรับเมื่อรับซื้อมาแล้วคุณอาณัติจะเอาไปทำอะไร คุณอาณัติเขาก็จะนำมันไปตากแห้งแล้วเอาไปแพ็คขายเจ้าของบ่อเลี้ยงปลาเพราะศพยุงนั้นเป็นอาหารชั้นดีให้กับปลา ให้โปรตีนสูง จากผลการส่งตรวจวิเคราะห์ นักวิชาการกรมประมงพบว่ายุงมีโปรตีนสูงถึงร้อยละ 60 และยังมีแร่ธาตุ วิตามินซีอีกด้วย จึงเหมาะแก่การนำมาทำอาหารปลาพิเศษหรือ “ยุงอบแห้ง” เมื่อใดก็ตามมีศพยุง 1 กิโลกรัม หรือราว 350,000 ตัวขึ้นไป สามารถโทรศัพท์เรียกใช้บริการได้ทันที แต่มีข้อแม้ว่า ศพยุงต้องปลอดสารเคมีใด ๆ ทั้งสิ้น คือ ต้องฆ่ายุงด้วยวิธีการทางธรรมชาติเท่านั้น
แต่ที่จริงจะว่าไปวัตถุประสงค์หลักของคุณอาณัติเขาน่าจะหวังผลทางการตลาดมากกว่า เนื่องจากการรับซื้อศพยุงได้ทีละมากๆนั้นเป็นการการันตีได้ว่าเจ้าเครื่องดูดยุงของมิสเตอร์บัคคิวเลอร์นั้นทำผลงานได้ดีเยี่ยมจริงๆ    

สนใจเครื่องดักยุง ภูมิปัญญาไทย ดีไซน์ไทย
ติดต่อคุณอาณัติ โทร. 0-2584-2659, 0-81806-6296, 0-86324-8357

หมายเลขบันทึก: 269890เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2009 00:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท