จดหมายจากน้าถึงหลานฉบับที่ 6: 18 มิถุนายน 52 วันที่หกงานเทศกาลบินข้ามลวดหนาม


จัดทำขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาล บินข้ามลวดหนามตอน 2 เชียงใหม่

จดหมายจากน้าถึงหลาน ฉบับที่ 6: 18 มิถุนายน 52

วันที่หก งานเทศกาลบินข้ามลวดหนาม


เด็กๆในพม่า : เด็กๆ ของแผ่นดิน

 

ยัยหนู เด็กหญิงธิ๋ง ธิ๋ง และเด็กชายป่าไม้ จ๋า

 

วันนี้แล้วซินะที่หนูจะได้อ่านจดหมายที่เกี่ยวกับเรื่องของ หนู บ้าง จดหมายฉบับก่อนหน้า น้าเล่าแต่เรื่องของผู้ใหญ่ตัวโตๆแทบทั้งนั้น ทั้งๆที่จริงแล้วเด็กๆอย่างหนูก็เจอปัญหาไม่ต่างจากผู้ใหญ่แม้แต่น้อย น้าแอบคิดเล่นๆ ว่า หรือเป็นเพราะเรายังเด็ก ยังตัวเล็กอยู่ ปัญหาของเราเลยดูเล็กๆ เหมือนตัวเราไปด้วย และคนอื่นก็เลยมองไม่เห็น

 


เป็นเรื่องที่แปลกมากค่ะ !  เดือนที่แล้วน้าพึ่งจะเล่าเรื่องการศึกษาของเด็กๆชนเผ่าในประเทศลาวให้แม่ของยัยหนูฟัง ว่าการศึกษาเป็นปัญหาใหญ่มากของเด็กๆ ที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นทรัพยากรมนุษย์ในวันข้างหน้า แต่รัฐบาลลาวก็ให้ความสนใจน้อยเหลือเกิน รัฐบาลทุ่มเงินไปกับโครงการลงทุนสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ถนนหนทาง อาคาร สถานที่ราชการ จนในที่สุดวันนี้ประเทศลาวมีเด็กๆไม่รู้หนังสือ โดยเฉพาะเด็กชนเผ่าที่เป็นผู้หญิงสูงถึง 70 %

 


พวกหนูรู้ไหม ? นี้คือปัญหาใหญ่ของเด็กๆในประเทศพม่าเช่นเดียวกัน วันนี้จากภาวะสงครามระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับชนเผ่ากลุ่มต่างๆ นี้ยังไม่รวมภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำมาเนิ่นนานหลายทศวรรษ ภัยพิบัติจากเหตุการณ์นาร์กิสเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว และการบริหารประเทศแบบเผด็จการทหารพม่า สนใจแต่พวกพ้อง อำนาจของแต่กลุ่มตนเอง วันนี้องค์การยูเนสโกได้ประกาศชัดแล้วว่า ประเทศพม่ามีเด็กไม่ได้เรียนหนังสือสูงถึง 487,000 คน

 


ปกติแล้วถึงไม่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เด็ก ๆก็ค่อยได้มีโอกาสได้เรียนหนังสืออยู่แล้วค่ะ รัฐบาลพม่าให้เงินอุดหนุนโรงเรียนต่างๆน้อยมาก นี้เฉพาะแค่ในเขตเมืองที่ประชาชนพม่าอาศัยอยู่เท่านั้นนะคะ ในเขตรัฐต่างๆของชนเผ่ามิพักต้องพูดถึง รัฐบาลแทบจะไม่เหลียวแลให้ความสนใจ เพื่อนของน้าที่เป็นครูที่ย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าของพม่า เล่าให้ฟังว่า ปีที่แล้วและปีนี้รัฐบาลให้เงินสนับสนุนด้านการศึกษาน้อยมาก ทำให้ครูในโรงเรียนจึงไม่มีเงินซื้อหนังสือให้เด็กๆได้เหมือนแต่ก่อน ผู้ปกครองต้องแบกรับภาระค่าหนังสือและอุปกรณ์การเรียนเองทั้งหมด ซึ่งสูงถึงปีละ 20,000 จั๊ต (564 บาท) อันนี้เป็นแค่เด็กประถมเท่านั้น แต่สำหรับเด็กระดับมัธยมต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่า เป็นเงินประมาณ 40,00050,000 จั๊ต (1,1281,410 บาท)

 


พวกหนูอาจจะคิดว่าจำนวนเงินเท่านี้ไม่สูงเลย แต่หนูต้องเข้าใจนะคะว่า ค่าครองชีพ ค่าใช้จ่าย หรือค่าแรงของประชาชนในพม่าต่ำมาก เพียงไม่กี่ร้อยจั๊ต แต่ค่าใช้จ่ายการศึกษาสูงเป็นหมื่นจั๊ตขนาดนี้ พ่อแม่หรือผู้ปกครองคนไหนจะสามารถส่งเด็ก ๆเข้าโรงเรียนได้ สำหรับในพื้นที่ประสบภัยนาร์กิส ปากน้ำอิรวดี ยิ่งเลวร้ายกว่า โรงเรียนต่างๆ กว่า 4, 000 แห่ง ที่ถูกพายุไซโคลนนาร์กิสทำลายเสียหาย จนบัดนี้การซ่อมแซม การสร้างใหม่ก็มีไม่ถึง 10 % เด็ก ๆก็อยู่กันตามมีตามเกิดต่อไป

 

 


นอกจากเรื่องการศึกษาแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ ปัญหาเรื่องสุขภาพเด็ก ๆในพม่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตด้วยโรคต่างๆ ที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ สูงถึงปีละ 100,000- 150,000 คน หรือราว 270-400 คน/วัน ถือได้ว่ามากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย รองจากอัฟกานิสถาน โรคที่เด็กๆเสียชีวิตมากที่สุด คือ โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ปอดบวม ท้องร่วง ภาวะโลหิตเป็นพิษ หรือแม้กระทั่งโรคมาลาเรีย วัณโรค เอดส์ ท้องร่วง โดยเฉพาะวัณโรค พม่าเป็นประเทศที่เด็กป่วยด้วยวัณโรคมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเลยทีเดียวค่ะ ทั้งๆที่ทุกโรคที่น้าเล่ามา เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้แทบทั้งนั้น แต่รัฐบาลพม่าก็กลับไม่สนใจที่จะพัฒนาระบบสาธารณสุขที่ดี ที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้

 

 


ปัญหาเรื่องความอดอยากก็เป็นอีกปัญหาที่สำคัญ วันนี้ในพม่ายังมีเด็กที่เสียชีวิตเพราะความอดอยาก ไม่มีอาหารกินในแต่ละวันๆ เมื่อก่อนนี้เด็กๆอาจยังโชคดียังมีองค์การมนุษยธรรมนำอาหารไปแจกจ่ายชาวบ้านได้อยู่ แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ประท้วงในพม่าเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2549 การทำงานขององค์การต่างๆเหล่านี้เป็นไปได้ยากขึ้น ทางการพม่าไม่อนุญาตให้เอ็นจีโอทำงานได้ง่ายเหมือนแต่ก่อนแล้ว ต้องขออนุญาต ถูกตรวจสอบหลายขั้นตอน บางครั้งเด็กๆ จึงต้องไปหาของกินในป่าเพื่อประทังชีวิตแทน

 

 


สำหรับเด็กๆชนเผ่าในพื้นที่ที่ยังมีสงคราม ยังมีความขัดแย้งในการใช้อาวุธดำรงอยู่ สงครามและปัญหาการเมืองส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิเด็กและการใช้ความรุนแรงต่อเด็กๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งการสังหาร การละเมิดทางเพศ การถูกบังคับให้เป็นทหารเด็ก เป็นต้น โดยเฉพาะสถานการณ์การเกณฑ์ทหารเด็กในพม่าที่เพิ่มมากขึ้นเข้าขั้นวิกฤติ ทั้งจากกองทัพพม่าและกองกำลังชนเผ่าบางกลุ่ม เด็กๆต้องกลายไปเป็นทหารตั้งแต่อายุยังน้อย ถูกสังหารและเหยียบระเบิดตายเป็นจำนวนมากในระหว่างออกรบ วันนี้มีเด็กมากถึง 70,000 คน อายุต่ำสุด 11 ขวบถูกเกณฑ์เข้ากองทัพพม่าและอีก 7,000 คนถูกเกณฑ์โดยกองกำลังชนเผ่า

 


เห็นไหมคะ ! เด็กๆ  ปัญหาเด็กในพม่าที่น้าเล่ามา ไม่ใช่ปัญหา เด็กๆเลย แต่เป็นปัญหาของผู้ใหญ่ทั้งแผ่นดิน ที่ต้องสนใจ ใส่ใจ และหาหนทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ร่วมกัน

 

 

ด้วยความรัก

น้าป่าน

18 มิถุนายน 52

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 269180เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2009 08:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท