กลับเข้า "บ้าน" ของเราแต่ละคนกันเถอะ


พรหมวิหาร ก็คือ ที่อยู่ หรือ บ้าน ของพรหมนั่นเอง

มีน้องคนหนึ่งเขียนความเห็นลงในบันทึกเรื่องการสอนภาษาอังกฤษด้วยเพลง Take Me Home, Country Roads ของจอห์น เดนเวอร์ ทำให้ผมนึกถึงคำว่า "home" หรือ "บ้าน" ในเชิงนามธรรมตามคติทางศาสนา และผมก็แสดงความเห็นตอบไปแล้ว แต่นึกขึ้นมาได้ว่าสิ่งที่ตอบไปน่าจะแบ่งปันในวงกว้างขึ้น จึงนำมาโพสต์เป็นบันทึกใหม่

ผมสะดุดใจกับคำว่าบ้านในเชิงนามธรรมนี้ตั้งแต่เมื่อครั้งไปเข้าร่วมรับการอบรมหลักสูตรของซาเทียร์ที่ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ม.มหิดลจัดขึ้นเมื่อต้นปีที่แล้ว 

พอเขียนบันทึกเรื่อง Take me home เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเสร็จก็เตรียมตัวไปสอนนักศึกษามหาวิทยาลัยชีวิตที่เรียนกับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม วิชา สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตและงาน ซึ่งมีกิจกรรมให้นักศึกษาอภิปรายคำสอนของศาสนาพุทธเรื่องพรหมวิหารธรรมด้วย เกิดความคิดผุดขึ้นมาว่า พรหมวิหาร ก็คือ ที่อยู่ หรือ บ้าน ของพรหมนั่นเอง จากนั้นก็คิดเชื่อมโยงกับแนวคิดเรื่องบ้านในเชิงนามธรรมของซาเทียร์ ที่ว่าบ้านที่แท้จริงของเราอยู่ "ภายใน" ตัวเรานี่เอง

ซาเทียร์ (Virginia Satir นักจิตบำบัดชาวอเมริกันที่มีผลงานด้านการให้การปรึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงตนและครอบครัว มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ.1916 - 1988) เชื่อว่าธรรมชาติเดิมแท้อันเป็นพลังแห่งความดีงามทั้งปวงฝังลึกอยู่ในตัวมนุษย์นี่เอง เพียงแต่เรามักขาดการเชื่อมโยง(connect) กับธรรมชาติเดิมแท้นี้ของเรา ผมจึงมีมติว่า ธรรมของพรหมทั้งสี่ตามคติของพุทธศาสนาอยู่ใน "บ้าน" ของมนุษย์ทุกคนอยู่แล้ว นั่นคือในบ้านนี้มีธรรมของพรหมทั้ง ๔ ครบอยู่แล้ว นั่นคือ

  1. เมตตา - ความรัก การให้อภัย
  2. กรุณา - การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือ
  3. มุทิตา - ความชื่นชมยินดีต่อความเจริญก้าวหน้าความสำเร็จของผู้อื่น ไม่อิจฉาตาร้อน
  4. อุเบกขา - การวางเฉยต่อความไม่สมบูรณ์พร้อมของเพื่อนมนุษย์ ไม่มีใครสมบูรณ์พร้อมแม้แต่ตัวเราเอง (ทุกคนรับผลแห่งกรรมดีและกรรมชั่วของตนเสมอ ไม่วันนี้ก็วันหน้า)

เราทุกคนล้วนเคยได้อยู่ใน "บ้าน" นี้กันมาทั้งนั้น เมื่อเรายังอยู่ในครรภ์และเกิดมาเป็นทารก แต่ประสบการณ์ระหว่างทางที่เราเผชิญมากว่าจะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ทำให้เราห่างจาก "บ้าน" ออกไปทุกที

หากเราได้พบครูทางจิตวิญญาณที่ดีช่วยชี้ทาง "กลับบ้าน" (take me home) ให้เราได้ก็ดี ซึ่งโดยทั่วไปศาสนาต่างๆ ก็ทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว

แต่ถึงที่สุดแล้ว เราแต่ละคนจะกลับถึง "บ้าน" ได้หรือไม่ ได้ใกล้บ้านแค่ไหน หรือเชื่อมโยงกับจิตวิญญาณเดิมแท้ของเราได้แค่ไหน ก็อยู่ที่ตัวเราแต่ละคนเอง เราต้องกลับบ้านเราด้วยตนเองเท่านั้น ครูเป็นเพียงผู้ชี้ทาง ไม่มีใครกลับแทนใครได้

น้องคนดังกล่าวเขียนว่า ...bring me back to "here and now" หรือ "...พาฉันกลับมาอยู่กับที่นี่และเดี๋ยวนี้" เรื่องนี้ก็สำคัญยิ่งสำหรับการพาตัวเรากลับบ้านในความหมายเชิงนามธรรมนี้ เพราะเราจะหลงทาง กลับไม่ถึงบ้านสักที หากไม่สามารถอยู่กับปัจจุบัน (now) กับความเป็นจริงตรงหน้า (here) เพราะมีแต่ "ที่นี่" และ "เดี๋ยวนี้" เท่านั้น ที่เราอยู่ได้จริง

อดีตที่ผ่านไปแล้ว ไม่มีใครกลับไปอยู่ได้จริงทางกายภาพ กลับไปได้ก็แต่ในความคิด ส่วนอนาตคนั้นทุกคนก็ยอมรับว่าไม่แน่นอนอยู่แล้ว

คนเรามีความทรงจำ (ทางพุทธเรียกว่า สัญญา) ดีและยาวนานกว่าสัตว์โลกชนิดอื่น สามารถเห็นภาพที่เกิดขึ้นนานแล้วได้ชัดเจน นั่นคือมีภาพที่เกิดเฉพาะในใจ หรือ "มโนภาพ" (มโน คือ ใจ) ถึงขั้นจิต(ใจ)รับรู้อารมณ์ในขณะที่เหตุการณ์(ที่เกิดผ่านไปแล้ว)นั้นได้ใหม่ แม้เหตุการณ์นั้นจะไม่ได้อยู่ "ที่นี่และเดี๋ยวนี้" แล้ว จึงสามารถเกิดอารมณ์กับสิ่งที่ผ่านมาแล้วได้ "เสมือน" กำลังเกิดอยู่ตรงหน้าในขณะนี้ได้ "ความจริงเสมือน" ที่ไม่ใข่ "ความจริงแท้" นี้มีพลังพอที่จะทำให้เราเกิดอารมณ์และแสดงพฤติกรรมหัวเราะหรือร้องไห้ได้อีก 

ผู้ที่ฝึกจิตตน เจริญสติจน "รู้เท่าทัน" จิตตน ก็จะกลับมาอยู่กับปัจจุบัน "ที่นี่และเดี๋ยวนี้" ได้ง่าย สามารถให้อภัย(เมตตา)ตนเองและผู้อื่นได้ง่าย

การฝึกตนให้สามารถอยู่กับ "ที่นี่และเดี๋ยวนี้" ในทางพุทธศาสนาเริ่มด้วยการ "รู้" ความเป็นจริงของโลกว่าสังขารนั้นเป็นทุกข์ ไม่เที่ยง และไม่มีตัวตน (ไม่ใช่ของเรา) แต่ไม่ใช่เป็นการ "รู้" ในระดับของ "ความรู้" ตามตรรกะเหตุผลเท่านั้น ผู้ที่อยู่กับ "ที่นี่และเดี๋ยวนี้" ได้จริง คือผู้ที่ "ตื่นรู้" ถึงขั้นที่ได้สัมผัสกับความจริงนั้ันในระดับของ "ความรู้สึก" (ด้วยใจ ไม่ใช่ด้วยหัวหรือสมองอย่างเดียว) คือ ทั้ง "รู้" และ "รู้สึก" เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ใช่รู้ว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง ไม่มีตัวตน เป็นอนัตตา แต่ใจปล่อยวางไม่ได้ ก็จะยังทุกข์อยู่อย่างนั้น

ผู้ที่สัมผัสกับการตื่นรู้ด้วยใจอย่างแท้จริงก็จะเบิกบาน มีความสุขจากการเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนั้น เสมือนหนึ่งได้กลับถึง "บ้าน" ตนอย่างแท้จริง

หลายคนอาจเคยสนทนากับผู้ตื่นรู้ที่ได้กลับถึงบ้านตามความหมายที่ว่านั้นมาแล้วหลายคน หรือเดินสวนไปสวนมากับท่านเหล่านั้นในชีวิตประจำวันโดยที่ไม่รู้ก็ได้

แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าเราแต่ละคนจะ "กลับบ้าน" ของเราอย่างไร.

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๑๘ มิ.ย.๕๒

 

หมายเลขบันทึก: 268995เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2009 13:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีครับผม

อ่านแล้วคิดถึงเพลงธรรมะที่เคยเรียนสมัยเด็ก มีประโยคหนึ่งกล่าวว่า

"พอมีใครไหนเลยใจไม่ไขว่คว้า รู้ว่าสิ่งใด ๆ เปลี่ยนผันย้อนมองตรองให้เข้าใจ"

สวัสดีคะ ไม่พลาดที่จะติดตามมาเยี่ยมเยียน มาอ่านเช่นเคย

ดีใจที่อาจารย์ นำประเด็นนี้มาเขียนอีก ดีใจจริงๆ ที่ได้คุยจุดเดียวกัน

เพราะเป็นมุมเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่เหลือเกินในหัวใจ

--------------------

สารภาพว่าฟังเพลง "Perhaps Love"ทีไร ซึ้ง

น้ำตาคลอๆได้ทุกที เมื่อถึงท่อนที่ร้องว่า

"And in those times of trouble,

When you are most alone.

The memory of love will bring you home."

เหมือนกับว่า จอห์น เดนเวอร์ ส่งอ้อมกอดผ่านบทเพลงแสนสวย มาให้เราสะนั่น

-----------------

และเพิ่มเติม พลอยนึกถึงไม่วายสำหรับ บทความหนึ่งที่ติดใจ มาจนวันนี้

เคยโดนกระแทกใจมาแล้วครึ่งหนึ่ง เมื่ออ่านบทความมติชนรายสัปดาห์ เขาเขียนว่า มีคณะกรรมการหลายฝ่ายหลายท่านหลายหน่วยงาน มาจัดสร้างองค์พระพรหมใหม่เมื่อครั้งองค์พระพรหมเอราวัณ ถูกทุบและผู้ทุบก็เสียชีวิตจากการรุม XXXX มีความวิตก และจัดสร้างทำพิธีอัญเชิญองค์พระพรหมมาสู่สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์อย่างเดิม มีกระบวนการมากมาย ในที่สุดผุ้เขียนลงท้ายว่า

จะมีใครบ้างไหมที่จะไปเยี่ยมเยียน ทำข่าว พ่อแม่ผู้เสียชีวิตที่ถูกรุมลงโทษมีใครบ้างไหมที่จะไปถามท่านเพียงว่าพ่อแม่ใจจะขาดเช่นไรรู้สึกอย่างไรที่รู้ว่าลูกเสียชีวิตจากความผิดพลาดที่ทำไปแล้ว และผุ้เขียนลงท้ายอย่างน่าซึ้งใจว่าไม่ต้องกังวลว่าองค์พระพรหมจะมาสถิต ณ สถานที่อันควรบูชายิ่งหรือไม่ เพราะที่แท้แล้ว “พรมอยู่ที่ในใจเราทุกคนนี้เอง” พรหมวิหารสี่นี้เอง วันนั้นถึงกับตลึงมันกระแทกเข้าไปที่ใจ

------------------------

เมื่อใดที่เผลอ เรามักผละออกจากพรหมหรือบ้านในใจ(home of here and now)

"เรามักเผลอไปเสมอ ว่าเราล้วนมาตัวเปล่า ลืมตัวถือกรรมสิทธิ์ในร่างกายจิตใจนี้

ลืมไปว่าไม่มีโกรธใด หลงใด โลภใด ไม่ได้รับการพิพากษา ให้ได้รับความเร่าร้อนแก่ตน

ลืมไปว่า ร่างกายนี้แค่ให้สมองมาคิด ให้จิตไว้กรุณา เราควรตอบแทนบุญคุณร่างกายนี้ที่เรายืมโลกใช้ชั่วคราวด้วยการสร้างคุณค่าทำความดี คิดดี เมตตากันและกัน เมตตาตัวเอง ลดละกิเลส ฝากคุณงามความดีแก่โลกนี้ไว้ "

ขอให้ความพยายามกลับบ้านของทุกคน จงสำเร็จผล

เดินทางไหนก็ได้ แล้วเราจะมาเจอกันที่เดียวกัน "home" และสวมกอดกัน

Someday I'll find you.

someday you'll find me too.

And when I hold you close.

I'll know that it's true.

อ่าน comment ผึ้งแล้วเลยคลิกเข้า Youtube ไปฟังเพลง Perhaps Love ที่ http://www.youtube.com/watch?v=jufQm1P7lDs&NR=1

ฟังเสร็จแล้วก็เกิดความคิดว่า กลับถึงบ้านแล้วอย่าลืมพูดคำว่า "Home sweet home" พูดแล้วก็ทำตามที่พูดด้วย อย่าให้เป็น home bitter home

ความจริง คำว่า "บ้าน" ยังมีความหมายทางวัฒนธรรมอีกมาก เช่น ช่วงสงกรานต์ที่รถราในกรุงเทพฯ เบาบางลงไปจนถนนหนทางว่างไปหมด ก็เพราะการ "กลับบ้าน" ของคนชนบทที่มาทำงานในเมืองกรุง

"บ้าน" จึงเป็นอะไรที่มี "ความหมาย" ในสังคมไทยมากเหลือเกิน

"บ้าน" เป็นที่เกิด ที่ฟูมฟักรักษาเราให้เติบโตขึ้นมา พอใครพูดว่ากลับไปเยี่ยมบ้าน เรามักจะถามว่ากลับไปว่า ไป "เยี่ยมแม่" เหรอ

"บ้าน" จึงมีความหมายถึงความเป็น "ครอบครัว" ที่มีพ่อ-แม่-พี่-น้อง-ปู่-ย่า-ตา-ยาย-ญาติโก-โหติกา-มิตร-สหายบรรดามีที่นับถือว่าเป็นญาติกันแม้ไม่ได้ร่วมสายเลือด

"บ้าน" ยังมีความหมายที่กว้างขึ้นมาอีกสำหรับคนชนบท หมายถึง "หมู่บ้าน" คำว่าหมู่บ้านเป็นภาษาทางการ ภาษาเขียน แต่ในภาษาพูด ไม่มีใครพูดคำว่า หมู่บ้าน มีแต่พูดว่าเขาเป็นคน "บ้าน" ไหนเท่านั้น เช่น "ผมมาจากบ้านหนองหมาว้อ"

"บ้าน" ยังมีความหมายในแง่ที่เป็นที่พักพิงแหล่งสุดท้ายสำหรับคนที่ "จนตรอก" ไม่มีที่ไปด้วย (in those times of trouble...") ไม่ว่าจะทำความผิด กระทั่งพลาดพลั้งไปทำร้ายคนอื่น ถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไล่จับ หนีหัวซุนหัวซุนมา เราจะ "คิดถึงบ้าน" สามารถกลับ "บ้าน" อันเป็นที่ที่เราวางใจว่า ณ ที่นั้นเราจะได้รับ ความรักการ ความเมตตา การให้อภัย ได้รับการเชื้อเชิญให้เข้า "บ้าน" ให้อ้อมกอดที่อบอุ่น ให้ข้าวกิน ให้น้ำดื่ม ที่หลับที่นอน ฯลฯ แก่เราเสมอ จากผู้ที่มีความรักความเมตตาต่อเราอย่างไม่มีเงื่อนไข (พระท่านสอนว่าบิดามารดาคือ "พรหม" ของลูก เพราะท่านมีคุณสมบัติของพรหมครบทั้งสี่อย่าง)

คนชนบทจำนวนมากขณะนี้ที่เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ถูกออกจากงาน หมดทางไป ก็พากัน "กลับบ้าน" กลับไปสู่ที่ที่เขารู้ดีว่าเป็นที่พึ่งพิงสุดท้ายได้เสมอ เพราะที่นี่มีความรักให้เขาเสมอ ด้วยเหตุนี้ The memory of love will bring you home เสมอ

คนไทยเรายังใช้คำว่า "กลับบ้านเก่า" ในวาระสุดท้ายแห่งชีวิตด้วย หลายคนก่อนกลับบ้านเก่าก็ยังสั่งเสียลูกหลานญาติพี่น้องว่า "ขอกลับไปตายที่บ้าน"

"บ้าน" จึงเป็นอะไรที่มีความหมายมากที่สุดอย่างหนึ่งของชีวิตเรา

เพราะบ้านคือพื้นที่ที่เรา "คุ้นเคย" เรารู้ทุกรายละเอียด เราสัมผัสได้ถึงความปลอดภัยเมื่ออยู่ในบ้าน ความอบอุ่นที่เราเคยได้รับตั้งแต่เยาว์วัย

แล้วเหตุไฉน พวกเราที่เดินทางไกลออกจากบ้านกันมายาวนาน จึงไม่หมั่นกลับมาเยี่ยม "บ้าน" ของเราบ้าง

 

ใช่ พี่พูดถุกที่สุด หากกลับบ้านด้วยความรู้สึกเบิกบาน&เปิดรับทุกอย่างรอบตัวได้

คงจะเดินเข้าบ้าน พร้อม ด้วยคำรำพึ่งว่า my "Home sweet home.!

และการจะสัมผัสได้ว่า ที่นั่นที่นี่ราวกับบ้านเรา เพราะผุ้คนและทุกอย่างมันเป้นอย่างนั้นของมันอยู่แล้ว คือมันน่ารัก มีความรักและน่ารัก มีศรัทธาของเขาอยุ่แล้ว .........มีอยู่แล้วพร้อมจะให้เรา หรือให้ใครๆ สัมผัสได้เสมอ .......และจะเป็นเช่นนั้นได้ ตัวเราเอง นั่นแหละเราต้องเห็น และสัมผัส และดึง "love-ความรักความเมตตา" ที่มีอยู่แล้วในหัวใจของเราออกมาให้พบ ก่อน :)แล้วไม่ว่าจะก้าวไปที่ไหนๆ ก็จะสงบสุข

กลับบ้าน ของเรา ณ here and now.

ขอบคุณครับ

กลับเข้าบ้านแล้ว

อย่าลืมเตรียมตัวเดินทางไกลนะครับ

น่าสนใจลองสมัครเรียน ป.โท แต่รายละเอียดยังไม่พอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท