สรุปบทเรียนการต่อสู้เพื่อเอาชนะปัญหายาเสพติดของภาคประชาชน ภาคใต้ตอนล่าง: บ้านเจ็นตก


เราเป็นคนในพื้นที่ หากเราไม่ทำแล้วใครจะทำ

สรุปบทเรียนการต่อสู้เพื่อเอาชนะปัญหายาเสพติดของภาคประชาชน ภาคใต้ตอนล่าง:

บ้านเจ็นตก

 

พี่ชุติมา เกื้อเส้ง หรือพี่เจี๊ยบ เดิม ทำงานแผนชุมชน ในระดับภาค ระดับเขต แต่เมื่อ หันกลับมามองพื้นที่ของตัวเอง คือ บ้านเจ็นตก ตำบลตำนาน อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง  ยังไม่มีใครที่จะมาช่วยพัฒนา จึงกลับมาเริ่มทำแผนชุมชน ในพื้นที่ เมื่อ วันที่ 11 มีนาคม 2549 จึงได้เห็นว่า เรื่องเศรษฐกิจ เป็นเรื่องสำคัญ อย่างหนึ่ง รายได้ไม่พอรายจ่าย คนปากกัดตีนถีบ พ่อ แม่ลูกไม่มีเวลาให้กัน เกิดครอบครัวแตกแยก เด็กไร้ที่พึ่ง มีเด็กติดยามากขึ้น ติดเชื้อไวรัสเอดส์มากขึ้น จนเกิดการสูญเสียชีวิต ของเด็กจำนวนมาก ประมาณ 10 กว่าคนในช่วงนั้น   พี่เจี๊ยบถือว่าช่วงนั้นเป็นช่วงการสูญเสียของชุมชน เพราะเยาวชนถือเป็นอนาคตของพื้นที่  เป็นบทเรียนราคาแพง สถานการณ์เช่นนี้เป็นสถานการณ์ที่ต้องรีบแก้ไข และ เราเป็นคนในพื้นที่ หากเราไม่ทำแล้วใครจะทำ

          ด้วยความเชื่อและแนวคิดว่า ปากท้องเป็นเรื่องสำคัญ คนเราต้องอาศัยตัวเองได้ก่อน พึ่งพาตัวเองให้ได้เสียก่อนถึงจะช่วยเหลือคนอื่น คิดถึงคนอื่นได้ จึงมุ่งมั่นในการสร้างอาชีพให้กับเยาวชน คนว่างงาน ดึงเอาทุนในสังคม ที่มีอยู่ ดึง ความรู้จากคนในชุมชน องค์กรต่างๆ เพื่อที่จะพัฒนาอาชีพ  เช่นการแปรรูปข้าวซ้อมมือ  การใช้พืชสมุนไพรมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ  การเลี้ยงปลาบ่อพลาสติก การทำเค้ก แต่งหน้าเค้ก (ส่วนนี้พี่เจี๊ยบจะเป็นคนสอนเอง) ทุนบางอย่างนำมาจากชุมชน ทุนบางอย่างขอสนับสนุนมาจากหน่วยราชการเพื่อซื้ออุปกรณ์ ลงทุนแล้วอยู่ได้นาน หลังจากนั้นเราก็ใช้กิจกรรมมาช่วยหนุนเสริม พัฒนางานให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน

          เทคนิควิธีการที่จะนำเยาวชนที่ว่างงาน ไม่เรียนหนังสือ และไม่มีรายได้  เริ่ม ที่จะหันความสนใจของตัวเอง ไปด้านการพนัน ความเสี่ยงต่อการติดยา หรือเริ่มเข้ากลุ่ม พี่เจี๊ยบใช้วิธีการจับเข่าคุยกัน พูดคุยกันด้วยความจริงใจ (เด็กที่เตลิดไปแล้วกู่ไม่กลับส่วนมากเกิดจากการที่ผู้ใหญ่ไม่คุยไม่เชื่อมร้อยความเข้าใจให้กับเด็ก เมือ่เด็กพลาดก็ซ้ำเติมอีก เด็กก็จะยิ่งเตลิดไปใหญ่ ก็จะกู่กลับมายากยิ่งขี้น)  และ พี่เจี๊ยบ บอกว่าเรา จะไม่คุยเรื่องยาเสพติดแต่เราจะคุยเรื่องอาชีพ ให้ช่องทางในการประกอบอาชีพตามที่เค้าสนใจ แล้วเราเป็นผู้ประสานนำผู้รู้มาสอนให้  หากเราไปพูดเองไม่ได้ เราก็ไปหาพรานมาพูด หรือ หาหัวโจกของเขาไปพูด ขอเพียงให้เค้ามาเรียนรู้กับเราก่อน เด็ก 10 คนที่มาเรียนรู้กับเรา แล้วไปประกอบอาชีพสัก 2-3 คน ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จมากมายแล้ว หลังจากนั้นเราค่อยต่อยอด ต่อไป ให้คนที่ประสบผลสำเร็จ เป็นจ่าฝูงคอยดูแลน้องน้องต่อไป เค้าคนคอเดียวกัน พูดคุยกันรู้เรื่องมากกว่า อย่างกรณีตัวอย่างที่พี่เจี๊ยบภาคภูมิใจในช่วงแรกๆ เค้าทำงานห้องอาหาร เริ่มที่จะอยู่ในสังคมที่มีการติดยา เริ่มขายยา และโดนจับ เมื่อออกมา ชุมชนจะไม่เคยถามอะไร ไม่เข้าใกล้ ไม่สุงสิง เค้าก็อยู่อย่างลำบาก เก็บหอยเชอร์รี่มาขายให้พี่เจี๊ยบ กิโลกรัมละ 2 บาท พี่เจี๊ยบเห็นว่าหากปล่อยเช่นนี้เด็กก็ต้องดิ้นรนที่จะหาเงินให้กับตัวเอง และ อาจกลับไปสังคมเดิมๆ ได้อีก จึงพูดคุย ฝึกอาชีพให้จนบัดนี้ เด็กคนนี้สามารถมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ และ สามารถเป็นจ่าฝูงของคนอื่นได้

          ปัจจุบันนี้บ้านเจ็นตกสามารถบอกได้เลยว่าเป็นบ้านปลอดยาเสพติด ตัวชี้วัด ที่เห็นชัดเจน คือของไม่เคยหาย เมื่อเป็นแหล่งปลอดยา ก็จะเป็นจุดเสี่ยงอีกเหมือนกัน คือ กลายเป็นที่พักยา เพราะมันปลอดภัย เราจึงต้องขยายเครือข่ายไปยังหมู่บ้านอื่นๆที่ใกล้เคียง แม้ผู้นำยังไม่มีแนวคิดหรือนโยบาย ด้านนี้เหมือนเรา แต่เราก็มีกลุ่มสตรีที่มาเข้ากลุ่มด้วย เช่นแม่บ้านศาลาพระนาย ก่อนที่จะมาร่วมกลุ่มกับเราเขาปันรายได้กันวันละ 3 บาท แต่ปัจจุบันเค้ามีรายได้เดือนละ 8000 บาท การที่เค้ามีรายได้มากขึ้นเค้าก็มีงานมากขึ้น ต้องมีคนมาช่วยมากขึ้น เด็กบางคนที่ไม่มาทำขนม ก็มาส่งขนม แทน เราก็จะดึงเด็กกลุ่มเสี่ยง มาทำงานกับชุมชน ได้มากขึ้น  กลุ่มแม่บ้านคลองลำหลิง จนตอนนี้เราได้ คนอย่างพี่เจี๊ยบเป็นกลุ่ม มีเครือข่ายที่จะช่วยเหลือกันมากขึ้น  ส่งเสริมการออมกันมากขึ้น และ ทุกพื้นที่ช่วยกันค้นหาเด็ก เยาวชน กลุ่มเสี่ยง เข้ามาเรียนรู้ในกิจกรรม ตามความสนใจ ของเด็กๆ สร้างกระบวนการเรียนรู้ อย่างมีคุณค่า ผู้หญิงก็สอนให้รู้จักการวางตัว สอนให้รู้จักการนำพืชผักมาทำแกงส้ม เมื่อเด็กกลับไปทำที่บ้านก็เพิ่มความสัมพันธ์ในครอบครัวได้อีก ในปี 2552 ให้เด็กเยาวชนเข้ามาเรียนรู้ในศูนย์การรเรียนรู้ไม่น้อยกว่า 50 คน และ แกนนำต้องคุยกันเรื่อยๆ ต้องผนึกกำลังกันเสมอ ทั้งท้องถิ่นและท้องที่ นอกจากนี้เรามีมาตรการทางสังคม ต้องรีบนำเด็กกลุ่มเสี่ยงออกมาให้เร็ว และ หากใครติดคุกด้วยยาเสพติดจะไม่มีการประกัน

          การที่ป้าเจี๊ยบทำได้ขนาดนี้เนื่องจากได้ความร่วมมือจากชุมชน นำทุนที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้ให้เกิด ประโยชน์ เช่น สือมีชีวิต (บุคคลที่เคยสูญเสียจากยาเสพติด) บุคคลที่มีความรู้ในชุมชน ผู้นำชุมชน อบต. ที่เห็นว่าเราทำอะไร และมีความจริงใจในการทำแค่ไหน หน่วยงานราชการ มูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทย ปปส ภาค 9 เพราะ พี่เจี๊ยบเชื่อว่าเรา คนในพื้นที่ สามารถทำงานได้ในแนวราบ แต่ ในเชิงลึกเราต้องอาศัยหน่วยงานราชการ

          จากประสบการณ์การทำงานพี่เจี๊ยบบอก จะทำได้ดีขึ้นหากเรามีสื่อมาเรียนรู้ เพราะเราทำด้านนี้เราไม่เคยรู้เลยว่ามันอย่างไร และต้อง เราต้องทำภายใต้วิถีของเราไม่เร่งรีบ ต้องมีแกนใช้ทุนเดิมที่มีอยู่  ภูมิปัญญาในท้องถิ่นนำมาใช้ให้หมด  เพื่อป้องลูกป้องหลาน ป้องชุมชน ด้วยความรักและความอบอุ่น

 

หมายเลขบันทึก: 268669เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2009 00:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 13:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณแทนภาคประชาชนค่ะที่ลงให้เขาได้อ่านกันและเป็นกำลังใจให้ค่ะพี่ปู

สวัสดีคะ น้องส.ศรัณ

เช่นกันนะคะ ขอบคุณแทนประชาชนทุกคนที่มีคนตั้งใจทำงานร่วมกันอย่างน้องน้องนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท